เกือบเสียผู้เสียคนเหมือนกันสำหรับการด่วนคอมเม้นต์แบบออกตัวแรงส์...ของผม บนพาดหัวข่าวใหญ่ "คมชัดลึก" ฉบับเช้าวันศุกร์ที่ผ่านมา คำตอบของผมในแว้บแรกที่มีต่อข่าว "ภาพโป๊โผล่จอภาพกลางรัฐสภา" คือ "เจ้าหน้าที่สวิตช์ภาพผิดจากคอมพิวเตอร์ในห้องควบคุมไปปรากฏบนจอภาพ" เพราะเรื่องนี้เดิมเคยอธิบายได้เลยแบบไม่ต้องค้นคว้าเพิ่มว่า "ภาพทุกภาพที่ปรากฏบนจอวงจรปิดต้องผ่านออกมาจากห้องควบคุมเสมอ" ...ผลของการตอบเร็วเกินของผมผนวกกับการได้แรงส่งของนักเล่าข่าวอันดับ1 ของประเทศที่เล่าข่าวอย่างออกรสชาติทางทีวี เป็นการส่งจนท.ฝ่ายโสตฯ ของรัฐสภาไทยขึ้นสู่เมรุเผาศพทางสังคมในแบบที่พวกเขาไม่ต้องการ
แต่เดิมผมมีความเข้าใจเป็นอย่างดีจากเทคโนโลยี Wireless เนื่องจากเล่นอุปกรณ์เหล่านี้มาตั้งแต่แรกเริ่มวางจำหน่าย และชอบเรื่อง AV (Audio & Video นะครับ หาใช่ Adult Video) มากพอๆ กับเรื่องไอที เครื่องเสียงในบ้านก็ใช้ทั้งแบบ Bluetooth และ DLNA ส่วน WiFi ก็เป็นเรื่องที่คุ้นเคยกันอยู่ จึงรู้กฎของอุปกรณ์เหล่านี้ว่ามันจะ "ถามเสมอ" เมื่อมีไฟล์หรือสิ่งแปลกปลอมถูกส่งเข้ามาในเครื่อง
ความจริงที่ปฏิเสธไม่ได้คือ Firmware หรือซอฟต์แวร์ควบคุมอุปกรณ์ถูกพัฒนาอย่างเสมอจากประเทศผู้ผลิต ซึ่งในบางครั้งแม้แต่ผู้จัดการผลิตภัณฑ์นั้นๆ ยังไม่สามารถตามอัพเดทได้หมด อ่านจาก Fact Sheet มันก็ไม่ได้เขียนบอกไว้เพราะเป็น Minor Change เล็กๆ น้อย ..สิ่งที่ดีที่สุดคือ "ต้องลองซื้อมาใช้เอง" จึงจะได้นั่งแคะนั่งแกะนั่งกดไปตามเมนูต่างๆ แล้วลองใช้ฟังก์ชันแบบครบทุกเม็ด!
เรากำลังพูดถึงเทคโนโลยี DLNA ที่เป็นกุญแจสำคัญของเรื่องนี้ครับ! DLNA ย่อมาจาก Digital Living Network Alliance ที่พี่ใหญ่ Sony ตั้งฟอรั่มพัฒนาขึ้นมาตั้งแต่ปี 2003 ด้วยปณิธานที่ว่า "จะให้เครื่องใช้ไฟฟ้าแนว Smart Device ทั้งหลายเชื่อมต่อโยงใยถึงกันได้ด้วยมาตรฐานเดียวกัน"
มีบริษัท AV เข้าร่วมกับโซนี่ถึง 225 บริษัทรวมถึง Samsung ที่ยอมร่วมแนวทางแบบหล่อขอตั้งชื่อเองว่า All Share ซึ่งถือเป็นเทคโนโลยีเดียวกันที่ขอไปหล่อในแบรนดิ้งตัวเอง ..LG เองก็เรียก DLNA ว่า Smart Share ...ศาสดา Apple ก็มี DLNA ใน "แบบเฉพาะ" ของตัวเองที่เรียกว่า AirPlay ที่หวังให้สาวกเพิ่งอุปกรณ์อีกตัวที่ชื่อ Apple TV (แต่ยังใจดีเปิดช่องให้นักพัฒนาทำแอพอย่าง iMediaShare ฯลฯ มาคุยกับ DLNA ของทุกค่ายได้)
ทีนี้เรื่องของเรื่องคือจอมอนิเตอร์เจ้าปัญหาในรัฐสภาคือ LG Smart TV รุ่น 65LW6500 เป็นไซส์ขนาดใหญ่ตู้ม 65" ในแบบที่ถ้าวางไว้ในบ้านจะทำให้บ้านช่องดูไฮโซขึ้นมาเลยล่ะ
จอนี้เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตด้วยอุปกรณ์ WiFi Dongle (ขนาดคล้าย USB Thumb Drive) หรือจะต่อผ่านสาย LAN ก็ได้แต่อาจไม่เฟี้ยวเท่า ..แน่นอนครับมันมีความสามารถ DLNA
ผมยอมถอยจอนี้ออกจากห้างพารากอนเพื่อมาทดสอบสดๆ ในรายการแบไต๋ไฮเทค เมื่อเย็นวันเสาร์ที่ผ่านมา โดยถ่ายทอดสัญญาณสดไปยัง MangoTV มีผู้เข้าร่วมชมสดๆ ในสตูดิโอมากพอๆ กับครั้งประวัติการณ์รายการครบรอบ 5 ปีที่ผมทำสปาเกตตีเลี้ยงผู้ชมทั้งสตูดิโอ
แต่ครั้งนี้ผมไม่ต้องเลี้ยงสปาเกตตี แต่ผู้ชมก็มากันแน่นขนัด เนื่องด้วยเป็นเรื่องที่กำลังอยู่ในความสนใจของประชาชนเป็นอย่างมาก ผมได้นำคลิปภาพที่สื่อมวลชน 2 สำนักบันทึกไว้ได้ มาเปิดในรายการโดยชี้ให้สังเกตจุดมุมซ้ายบนของจอภาพที่มีตัวอักษรสีขาวปรากฏ อยู่เพียงวินาทีกว่าๆ ก่อนที่จะหายไป จุดนี้ "ตรงกันเผง" กับลักษณะการส่งภาพจาก "โทรศัพท์มือถือ SmartPhone" ที่มี DLNA ไปยังจอภาพ เรื่องใหม่ที่ผมได้เรียนรู้จากเหตุการณ์นี้ก็คือ "Firmware รุ่นใหม่ของ DLNA ยกเลิกกฎ "ถามเสมอ" ไปเรียบร้อย" เนื่องจากวิศวกรมอง "ความสะดวกในการใช้งาน " เดิม DLNA เกิดมาหลายปีแต่ไม่ค่อยมีคนนิยม เพราะมันใช้งานยาก ไหนมือหนึ่งจะต้องกดแชร์ภาพจากอุปกรณ์ อีกมือหนึ่งยังต้องกดรีโมทตอบรับไฟล์ แล้วถ้าพิจารณากันแบบจริงๆ จังแล้ว Smart TV เป็นจอภาพสำหรับใช้ในบ้าน และ DLNA ก็ออกแบบมาเพื่อ "ใช้ในบ้าน" แล้วทำไมจะต้องมี Security ให้วุ่นวายปวดกะโหลกคนใช้ล่ะ?
ด้วยวิธีคิดนี้เขาจึงถอดประโยคคำถามออก แล้วยอมให้ภาพจากเครื่องที่กด Share ส่งตรงขึ้นสู่จอได้เลย
Smart TV ที่ออกแบบมาใช้ในบ้าน ถึงมันจะฉลาดขนาดไหนมันก็ยังตอบตัวเองไม่ได้ว่านี่ฉันกำลังอยู่ในบ้านหรืออยู่ในรัฐสภา!?!
เหตุการณ์ที่เป็นไปได้และเป็นไปจริงๆ ในวันพุธที่ 18 ก็คือ มีผู้ใช้งาน Smart Phone นายหนึ่ง (ซึ่งไม่ทราบว่าเขามีตำแหน่งใด) เชื่อมต่อโทรศัพท์ของตัวเองกับ WiFi ของรัฐสภาซึ่ง เป็น "วง WLAN เดียวกัน" กับที่จอเจ้าปัญหานี้เชื่อมต่ออยู่ ในขณะที่เขากำลังเปิดดูภาพกิ๋วกิ้วอยู่นั้น เขากด Share ภาพสู่จอนี้ ...งานนี้วิเคราะห์ไปไม่ถึงเจตนาว่าตั้งใจส่ง หรือ พลาด คิดแบบมุมมองบวกอาจจะมองได้ว่าเขาแค่คิดจะแชร์ให้เพื่อนคนข้างๆ แต่กดเลือกอุปกรณ์ปลายทางผิด จากมือถือเพื่อนกลายเป็น "จอภาพของประเทศ" ..หรืออาจจะไม่ได้คิดแชร์กะใคร เพียงแค่กดผิดกับการลองฟังก์ชันกุ๊กกิ๊กๆ เป็นการส่วนตัวก็เป็นได้
จุดที่บ่งชี้ได้ว่าเขาคนนี้รู้ตัวว่ากดผิด ก็คือภาพกิ๋วกิ้วนั้น "หายวับไป" ภายในเวลาไม่นานเนื่องจากพอเขารู้ตัวเขาก็รีบกดปิด ..ลองจินตนาการถึงคน "ขนหัวลุก" คนหนึ่งที่ขนแขนชูชันวูบวาบหลังพบว่าภาพจากมือถือตัวเองขึ้นสู่ยอดเสารัฐสภาไทย นะครับ คิดกันในแง่ดี ...ที่แน่ๆ งานนี้คนไม่รู้อิโหน่อิเหน่ที่เคยขนหัวลุก เพราะเราชี้เป้าไปที่เขาอย่าง "จนท.ฝ่ายโสตฯ" พ้นมลทินในทันทีแล้วครับ! ผมเรียนผูกต้องเรียนแก้ และขอโทษกับการเป็นมนุษย์สายวู่วามให้ความเห็นในแนวออกตัวแรงส์...ครับ เจอตัวเป็นๆ กันเมื่อไหร่ผมขอวิ่งเข้าไปโอบกอดขอโทษคุณด้วยมิตรไมตรีปรองดองนะครับ
รักทุกคนและจะพยายามทำหน้าที่ทุกอย่างให้ออกมาดีที่สุดครับ
ขอบคุณเพื่อนร่วมก๊วนของผมด้วย จิ๊กโก๋ไอทีพี่หลาม, อาจารย์ศุภเดช ปีเตอร์กวงควงมือถือ และทีมงานแบไต๋ไฮเทคทุกคนครับที่ร่วมสร้างความกระจ่างด้วยกันในครั้งนี้
ปล. เชิญชมคลิป "ผ่าเทคโนโลยีป่วนรัฐสภาไทย" ได้ใน Youtube ด้วยการค้นตามชื่อคลิปได้เลยครับ หรือกระแทก Channel เรา youtube.com/beartaihitech