มือถือแข่งดุบิ๊กเนมไล่บี้เฮาส์แบรนด์ ลดราคายกแผงตีกินตลาดบนยันล่าง

สมรภูมิมือถือเดือด "เฮาส์แบรนด์-แบรนด์เล็ก" ปรับตัว หลังสินค้าแบรนด์ดังทั้ง "ฟีเจอร์โฟน-สมาร์ทโฟน" ลดราคาต่อเนื่อง ตีกินมาร์เก็ตแชร์ เฮาส์แบรนด์ปรับตัวอุตลุด "จีเนท" เพิ่มไลน์สินค้า "เวลคอม" ลงสนามสมาร์ทโฟนเต็มตัว ฟาก "ไอ-โมบาย" เพิ่มแพ็กเกจ 3GX



นายฑัศ เชาวนเสถียร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท จีเนท เอ็กซ์เพรส จำกัด เจ้าของโทรศัพท์มือถือแบรนด์ "จีเนท" กล่าวกับ "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า การแข่งขันในตลาดโทรศัพท์มือถือเฮาส์แบรนด์ปัจจุบันจะมีการแข่งขันสูงขึ้น ทำให้ทุกค่ายต้องคิดหาผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ เพื่อสร้างความแตกต่าง เพราะระดับราคาสินค้าลดลงต่อเนื่อง มีสมาร์ทโฟนราคาไม่แพงออกสู่ตลาดเป็นจำนวนมาก โดยมีแบรนด์ใหญ่ ๆ ลงมาเล่นด้วย ขณะที่ฟีเจอร์โฟนซึ่งเคยเป็นรายได้หลักของเฮาส์แบรนด์แข่งที่ฟังก์ชั่นไม่ได้

"ปีที่แล้วมีฟีเจอร์โฟนในตลาด 7 ล้านเครื่อง ราคาเฉลี่ย 1 พันบาท ปีนี้ตลาดรวมฟีเจอร์โฟนคงไม่เปลี่ยนไปมากนัก แต่ราคาคงปรับลดลงเหลือไม่ถึงพันบาท"

สำหรับ "จีเนท" ปรับตัวโดยเริ่มออกแบบผลิตภัณฑ์ใหม่รองรับ 3G มีจุดเด่นที่กระจายสัญญาณไว-ไฟในราคาไม่เกิน 2 พันบาท เทียบกับแบรนด์อื่น ๆ จะถูกกว่าเกือบ 1 พันบาท แต่ไม่มีฟังก์ชั่นโทรศัพท์ วางตลาดเดือน พ.ค.นี้ มีเป้าหมายจำหน่ายได้ 1 แสนเครื่องต่อเดือน

"เรามีแชร์ในตลาดฟีเจอร์โฟน 30% ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมามีสินค้าออกสู่ตลาดมากกว่า 200 รุ่น ปีที่ผ่านมาขายไปไตรมาสละ 7 แสนเครื่อง และเริ่มขยายไลน์ไปยังสมาร์ทโฟนและแท็บเลต ราคาเริ่มต้นที่ 4,500 และ 5,900 บาท เพื่อไม่ให้ผูกอยู่กับฟีเจอร์โฟนอย่างเดียว แท็บเลต G-PAD ทำยอดขายได้ 1 แสนเครื่อง หลังวางตลาด 3 เดือน"

อีกหนึ่งเฮาส์แบรนด์ดัง "เวลคอม" นายรุด จารุจันทร์ ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด บริษัท นิวเทล คอร์ปอเรชั่น จำกัด กล่าวในทำนองเดียวกันว่า ตลาดเฮาส์แบรนด์ในปีนี้จะไม่ดีเท่าปีที่ผ่านมา เพราะอินเตอร์แบรนด์ลงมาเล่นในตลาดฟีเจอร์โฟน ซึ่งถือเป็นตัวทำรายได้หลักของเฮาส์แบรนด์ โดยกดราคาเหลือไม่ถึงหนึ่งพันบาททำให้เฮาส์แบรนด์ต้องปรับราคาลงมาเช่นกัน ส่งผลถึงระดับราคาสินค้าโดยรวมต่ำลง

"ตลาดล่างสำหรับฟีเจอร์โฟนยังต้องมี เพราะยังมีกลุ่มผู้บริโภคที่ต้องการใช้งานแค่โทรเข้าโทรออก เช่น กลุ่มแม่บ้าน หรือผู้สูงอายุ เป็นต้น แต่เราก็จะหันมาเน้นสมาร์ทโฟนมากกว่าปีที่แล้ว ด้วยกระแสที่กำลังมา โดยใช้ความได้เปรียบเรื่องการผลิตสินค้าราคาคุ้มค่าสู้กับแบรนด์อินเตอร์ แต่ต้องขึ้นอยู่กับผู้บริโภคจะเปิดใจยอมรับแบรนด์เวลคอมมากเพียงใด"

นายรุดกล่าวต่อว่า การเปิดตัวสินค้าเน้นแผนระยะสั้น เพราะความต้องการในตลาดเปลี่ยนแปลงค่อนข้างเร็ว อินเตอร์แบรนด์ลงมาเล่นตลาดฟีเจอร์โฟนและสมาร์ทโฟนราคาถูก ดังนั้นบริษัทจะเน้นแข่งขันกับเฮาส์แบรนด์ด้วยกันเพื่อเป็นที่หนึ่งในกลุ่มนี้ การแข่งขันหลักหนีไม่พ้น "ราคา" ทำให้กำไรค่อยหดลง ทุกแบรนด์จึงต้องต่อสู้เพื่ออยู่ให้ได้ปีที่ผ่านมาเวลคอมมียอดขายเดือนละ 5-7 หมื่นเครื่อง และปีนี้จะมีสินค้ากว่า 20 รุ่นออกสู่ตลาด ราคาตั้งแต่ 2,000-10,000 บาท

ด้านนายฑิตพล จันทรอุไร ผู้จัดการฝ่ายอำนวยการผลิตภัณฑ์ บมจ.สามารถ ไอ-โมบาย กล่าวว่า การทำตลาดของบริษัทจะแยกเป็นสมาร์ทโฟนและฟีเจอร์โฟนอย่างชัดเจน โดยไม่เน้นนำเสนอสเป็กเครื่องและฟังก์ชั่น

การใช้งานในฟีเจอร์โฟน จะอาศัยความได้เปรียบด้านแอปพลิเคชั่นที่บริษัทในเครือให้บริการผนวกเข้ากับโทรศัพท์มือถือ เช่น การดูดวง, เช็กผลบอล และโซเชียลเน็ตเวิร์ก ส่วนสมาร์ทโฟนเน้นสเป็กสูงในราคาถูกกว่าตลาด ทั้งผูกแพ็กเกจไปกับ I-Mobile 3GX เพื่อให้การใช้ด้านดาต้าของลูกค้าสะดวก ไม่ต้องไปหาโอเปอเรเตอร์อื่นเพื่อซื้อซิมมาใช้งาน

นอกจากนี้ ไอ-โมบายจะลดจำนวนสินค้าใหม่ที่จะเปิดตัวจาก 25 รุ่นในช่วงครึ่งปีแรก เหลือ 15-20 รุ่น เน้นการทำสินค้าที่ตอบโจทย์ผู้บริโภคเป็นกลุ่ม ๆ ปัจจุบันมีสินค้าในตลาด 35 รุ่น

"ปีนี้มีงบฯการตลาดประมาณ 200 ล้านบาท ใช้โปรโมตและขยายช่องทางจัดจำหน่ายไปยังร้านค้าปลีกไอที"

ผู้บริหาร "ไอ-โมบาย" กล่าวต่อว่า ปี 2554 ที่ผ่านมา มียอดขาย 3.4 ล้านเครื่อง ราคาเฉลี่ย 1,400 บาท แบ่งเป็นสมาร์ทโฟน 1 แสนเครื่อง ราคาเฉลี่ย 5,000 บาท ที่เหลือเป็นฟีเจอร์โฟน ระดับราคา 1,000-1,500 บาท คาดว่าในปีนี้จะไม่ต่างจากเดิมนัก มียอดรวม 3.4-3.5 ล้านเครื่อง แต่ราคาเฉลี่ยต่อเครื่องจะขยับขึ้นเป็น 2,000 บาท มาจากสมาร์ทโฟนกว่า 5 แสนเครื่อง แต่ราคาปรับลดลงเหลือ 4,000-4,500 บาท เป็นฟีเจอร์โฟน 3 ล้านเครื่อง ราคาเฉลี่ยเท่ากับปีที่ผ่านมา

นอกจากดีกรีการแข่งขันในสมรภูมิเฮาส์แบรนด์จะเข้มข้นขึ้นแล้ว แบรนด์อินเตอร์ที่ห่างหายไปนานก็หวนคืนสังเวียนอาทิ "เอ็นอีซี" ที่แต่งตั้งให้ "เอสไอเอส" เป็นดิสทริบิวเตอร์ทำตลาดสมาร์ทโฟน ซีรี่ส์ "MEDIAS" โดยปีนี้จะนำเข้ามาทั้งหมด 7 รุ่น รุ่นแรกหน้าจอ 4 นิ้ว แบบ IPS รองรับระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ 2.3.6 ซีพียู 1 GHz ตั้งเป้ามีมาร์เก็ตแชร์ 5% ในตลาดรวมสมาร์ทโฟนภายใน 3 ปี

เช่นกันกับ "ออปโป้" เข้ามาทำตลาดในเมืองไทยมากว่า 3 ปี ที่ผ่านมาเน้น "ฟีเจอร์โฟน" กลุ่มพรีเมี่ยมทำให้สินค้ามีราคาสูงกว่าฟีเจอร์โฟนทั่วไป ตัดสินใจเลิกทำตลาดฟีเจอร์โฟนถาวร หันไปเน้นที่สมาร์ทโฟนเป็นหลัก เมื่อเร็ว ๆ นี้เพิ่งเปิดตัว FIND 3 สมาร์ทโฟนตัวแรก พร้อมทยอยเปิดตัวอีก 6 รุ่นตลอดปี ราคา 7 พัน-1 หมื่นบาทปลาย

ด้านนายถกลรัตน์ แก้วกาญจน์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไวร์เลส ดีไวซ์ ซัพพลาย จำกัด (WDS) ดิสทริบิวเตอร์โทรศัพท์มือถือในเครือเอไอเอส กล่าวถึงภาพรวมตลาดในปีนี้ว่า น่าจะมียอดขายที่ 12-15 ล้านเครื่อง โดยสมาร์ทโฟนน่าจะเติบโตขึ้นไม่น้อยกว่า 50% ปีนี้สมาร์ทโฟนน่าจะมีส่วนแบ่งในตลาดรวมถึง 40% ฟีเจอร์โฟนแม้ยังมีส่วนแบ่ง 60% แต่ยอดขายค่อนข้างทรงตัว ลูกค้าส่วนใหญ่เป็นผู้บริโภคต่างจังหวัด
 

กรุณา Login เพื่อแสดงความคิดเห็น
ส่ง Scoop ให้เพื่อน
แจ้งลบไม่เหมาะสม
ความคิดเห็น

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Loading...