ทำความรู้จัก มะม่วงพันธุ์ใหม่จากไต้หวัน

แต่เดิมนั้น พันธุ์มะม่วงจากต่างประเทศเข้าสู่ประเทศไทยโดยภาครัฐเป็นส่วนใหญ่ที่สั่งเข้ามาเพื่อการศึกษาวิจัยปรับปรุงพันธุ์ตามสถานีวิจัยการเกษตรต่างๆ เป็นสายพันธุ์ที่มาจากสหรัฐอเมริกา ถึงแม้ได้เปรียบขนาดของผลค่อนข้างใหญ่ ผิวหนากว่า แต่รสชาติไม่อร่อยและกลิ่นขี้ไต้แรง จึงไม่ได้รับความนิยมจากชาวสวนมะม่วงของไทย


แต่ปัจจุบันพบว่ามะม่วงสายพันธุ์จากต่างประเทศเริ่มได้รับความสนใจ โดยเฉพาะมะม่วงจากไต้หวันได้รับความนิยมจากเกษตรกรไทยอย่างมาก ซึ่งสั่งกิ่งพันธุ์เข้ามาโดยเอกชน การพัฒนาการเกษตรของไทยในปัจจุบัน คงปฏิเสธกันไม่ได้ว่า ภาคเอกชนได้มีการพัฒนาล้ำหน้าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในภาครัฐไปมาก พันธุ์พืชใหม่ๆ แปลกๆ ให้ผลผลิตสูง โดยเฉพาะไม้ผลภาคเอกชนสามารถสั่งเข้ามาได้อย่างรวดเร็ว ในขณะที่หน่วยงานในภาครัฐติดขัดในเรื่องงบประมาณและระเบียบที่ต้องดำเนินไปตามขั้นตอนด้วยความล่าช้า


มะม่วงไต้หวันมีลักษณะเด่นที่สีสันสวยสดงามสะดุดตา ต่างจากมะม่วงของเรา ขนาดของผลก็ใหญ่กว่า แต่รสชาติคงจะสู้มะม่วงเราไม่ได้ พื้นที่ปลูกมะม่วงสายพันธุ์ไต้หวันภายในประเทศกำลังเพิ่มขึ้น โดยคาดหวังว่าจะเป็นพันธุ์ที่ตลาดญี่ปุ่นต้องการ นอกเหนือไปจากมะม่วงน้ำดอกไม้ เฉกเช่นเดียวกับที่ทางไต้หวันส่งมะม่วงไปขายที่ญี่ปุ่น ด้วยตลาดญี่ปุ่นต้องการมะม่วงผิวสีแดง


เราเริ่มรู้จักมะม่วงสายพันธุ์ไต้หวันที่ขนาดของผลใหญ่ๆ จากมะม่วงพันธุ์จินหวงหรือที่คนไทยรู้จักกันในชื่อของพันธุ์นวลคำและพันธุ์เขียวใหญ่ โดยมะม่วงจินหวงนำเข้ามาที่โครงการหลวงก่อน เกิดจากการปรับปรุงพันธุ์โดย นายหวง จิน หวง (Mr. Huang Jin-huang) ชาวไต้หวัน ไต้หวันยังมีมะม่วงอีกหลายสายพันธุ์ที่ได้พัฒนาปรับปรุงพันธุ์จนเป็นสายพันธุ์ใหม่ปลูกเป็นการค้า ทั้งๆ ที่ดั้งเดิมนั้นไต้หวันไม่มีมะม่วงบนเกาะมาก่อน มะม่วงไม่ใช่พันธุ์พืชที่มีถิ่นกำเนิดที่ไต้หวัน มะม่วงถูกนำเข้ามายังไต้หวันโดยทางเรือ พ่อค้าชาวดัตช์นำพันธุ์มาจากอาณานิคมในแปซิฟิกตอนใต้ เชื่อว่าเป็นเกาะชวา ราวปี พ.ศ. 2104 หรือประมาณร่วม 450 ปี


การเพาะปลูกมะม่วงในไต้หวันเริ่มในปีต่อมา ปี พ.ศ. 2105 มีมากกว่า 5 สายพันธุ์ พันธุ์แรกที่ถูกนำเข้ามาเป็นมะม่วงพื้นเมือง พันธุ์ ทู่ หรือ ถู้ (Tu) ที่พบอยู่ทั่วๆ ไปเป็นมะม่วงพันธุ์เล็ก น้ำหนักประมาณ 120 กรัม หรือประมาณ 8 ผล ต่อ 1 กิโลกรัม ขนาดเท่าๆ กับไข่ไก่ขนาดใหญ่ ผิวสีเขียวอมเหลือง ผลแก่มีรสหวานอมเปรี้ยว ความหวานประมาณ 14.9 องศาบริกซ์ ผลที่ยังไม่แก่มีรสเปรี้ยวจัด เนื้อหยาบมีเสี้ยนเส้นใยมาก เหม็นกลิ่นขี้ไต้ เมล็ดใหญ่ หนักราว 27 กรัม หรือ ร้อยละ 23 ของน้ำหนัก ถ้าไม่รับประทานผลสุกก็จะดอง มะม่วงทู่จะสูงถึง 10 เมตร วิธีเก็บใช้ตาข่ายขึงใต้ต้นแล้วเขย่าให้ร่วงหรือใช้ไม้สอย


มะม่วงเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญของไต้หวัน มีพื้นที่เพาะปลูก 18,000 เฮกตาร์ (ประมาณ 112,500 ไร่) แบ่งเป็นการปลูกมะม่วงพื้นเมือง 1 ใน 3 และมะม่วงปรับปรุงพันธุ์ 2 ใน 3 มะม่วงปรับปรุงพันธุ์ ได้แก่ พันธุ์อ้ายเหวิน (Aiwen) ก็คือพันธุ์เออร์วิน (Irwin) มีการปลูกมากที่สุดเป็นพื้นที่ 7,500 เฮกตาร์ (46,500 ไร่) รองลงมาคือ พันธุ์จินหวง ประมาณ 2,400 เฮกตาร์ (15,000 ไร่)


มะม่วงพันธุ์อ้ายเหวิน (Aiwen) ถูกนำเข้ามาไต้หวันจากฟลอริดา เมื่อปี พ.ศ. 2493 ให้ นายเฉิน ฮั่น ชิ (Chen Han-Chih) เกษตรกรเมืองยู่จิง (Yujing) ปลูกและคัดเลือกพัฒนาสายพันธุ์จนได้สายพันธุ์ที่นิ่ง ปรับตัวเข้ากับภูมิประเทศได้ จึงขยายไปปลูกที่เมืองไทนาน (Tainan) และผิงตุง (Pingtung) การเก็บผลควรเก็บเมื่อแก่จัด มะม่วงพันธุ์อ้ายเหวิน (Aiwen) เรียกอีกชื่อว่า Zai Jin Huang หมายถึง มะม่วงที่สุกคาต้น ไม่ต้องนำมาบ่มอีก ผลขนาดกลาง 350-450 กรัม หรือประมาณ 3 ผล ต่อกิโลกรัม พันธุ์เออร์วิน (Irwin) เป็นมะม่วงลูกผสมระหว่างพันธุ์ฮาเดน (Haden) และพันธุ์ลิปเพนส์ (Lippens) เมื่อปี พ.ศ. 2482 ที่เมืองไมอามี รัฐฟลอริดา ไต้หวันเริ่มปลูกเป็นการค้า เมื่อปี พ.ศ. 2513


มีมะม่วงไต้หวันลูกผสมสายพันธุ์หนึ่งที่อยู่ในความสนใจคือ พันธุ์ยู่เหวิน หรือ แดงจักรพรรดิ ที่ไต้หวันเรียกชื่อมะม่วงสายพันธุ์ว่า “อี้เหวิน” หรือ “พันธุ์อี้เหวิน เบอร์ 6” เป็นมะม่วงกินสุกที่มีรสชาติอร่อยมาก ชื่อของมะม่วงพันธุ์นี้สร้างความสับสนให้กับชาวสวนมะม่วงมืออาชีพและมือสมัครเล่น ด้วยชื่อที่มีมากกว่า 1 ชื่อ จึงเกิดคำถามจากชาวสวนว่า ที่แท้มันคือมะม่วงอะไร

 

 

ใครเป็นผู้นำมะม่วงยู่เหวินเข้ามา?
ยังคงเป็นเรื่องที่กังขาว่า ใครเป็นคนแรกที่นำมะม่วงสายพันธุ์ยู่เหวินเข้ามาในประเทศไทย แต่ผู้ที่เปิดตลาดมะม่วงยู่เหวินเป็นรายแรกๆ ในประเทศไทยให้เป็นที่รู้จักกันคือ คุณวิรังโก ดวงจินดา เกษตรกร อยู่บ้านเลขที่ 24 หมู่ที่ 1 ตำบลหลักสอง อำเภอบ้านแพ้ว จังหวัดสมุทรสาคร ผู้พัฒนาพันธุ์แก้วมังกรออกมาหลากหลายสายพันธุ์ ปลูกแก้วมังกรในพื้นที่ 80 ไร่ มะม่วงยู่เหวินมาสู่สวนคุณวิรังโกได้อย่างไร ต้องย้อนไปเกือบ 10 ปี คุณวิรังโกได้ยอดพันธุ์มาจากเจ้าหน้าที่คนหนึ่ง (ไม่ประสงค์ให้ออกนาม) ที่ไปสัมมนาและดูงานด้านมะม่วงที่ไต้หวัน ขากลับได้นำยอดพันธุ์มะม่วงยู่เหวินมาด้วย และได้นำไปให้คุณวิรังโก เนื่องจากเป็นผู้ที่มีประสบการณ์ด้านไม้ผลมานาน ประกอบกับเคยรู้จักกันมาก่อน หลังจากขยายกิ่งมะม่วงยู่เหวินของคุณวิรังโกได้จำนวนหนึ่งซึ่งไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร คุณเสน่ห์ ลมสถิต (ลุงเล็ก) ทราบข่าวถึงความแปลกใหม่ของมะม่วงพันธุ์นี้ จึงเป็นผู้มาทาบกิ่งด้วย เป็นผู้ที่มีความสามารถในการทาบกิ่งมะม่วงหาตัวจับยากอยู่แล้ว ลุงเล็กทาบกิ่งมะม่วงยู่เหวินได้นับพันกิ่ง กิ่งมะม่วงยู่เหวินของคุณวิรังโกถูกแบ่งไปปลูกที่นนทบุรีจำนวนหนึ่งตามข้อตกลงกัน และอีกจำนวนหนึ่งขายไปสุโขทัย สวนลุงเล็กที่นนทบุรียังคงชื่อ มะม่วงยู่เหวิน ส่วนกิ่งที่สุโขทัยเปลี่ยนเป็น มะม่วงจักรพรรดิเปลือกแดง หรือแดงจักรพรรดิ


ลุงเล็ก บอกว่า ยู่เหวินรุ่นแรกน่าจะเป็นยู่เหวิน เบอร์ 4 ที่แพร่กระจายไปปลูกอยู่ทั่วประเทศล้วนผ่านคมมีดของลุงเล็กปาดกิ่งทาบทั้งนั้น ยู่เหวิน เบอร์ 6 นั้นมีกิ่งพันธุ์จำหน่ายแล้ว โดยชมรมเผยแพร่ความรู้ทางการเกษตร จังหวัดพิจิตร ส่วนจะใช่ ยู่เหวิน เบอร์ 4 หรือไม่นั้นรอพิสูจน์ เพราะลุงเล็กก็สั่งยู่เหวิน เบอร์ 6 กิ่งเสียบยอดจากไต้หวันเข้ามาอีกเหมือนกัน

 

 

กำเนิดมะม่วงพันธุ์ยู่เหวิน (Yu-wen)
มะม่วงพันธุ์ยู่เหวิน (Yu-wen) เป็นมะม่วงลูกผสม ปลูกในไต้หวันมานานประมาณ 20 ปี ไต้หวันซึ่งได้ชื่อว่าเป็นผู้นำในการปรับปรุงพันธุ์พืชผักผลไม้ที่มีการพัฒนาสายพันธุ์พืชมาเป็นระยะเวลายาวนานและต่อเนื่องจนเกิดพืชพันธุ์ใหม่ๆ หลายๆ สายพันธุ์ ถึงแม้ว่าพืชบางสายพันธุ์ไม่ได้มีถิ่นกำเนิดในไต้หวัน แต่เมื่อนำเข้าไปปรับปรุงสายพันธุ์ มีการเพาะปลูกมากขึ้นจนกลายเป็นพืชท้องถิ่นไป ญี่ปุ่นก็นำมะม่วงเข้ามาในไต้หวันเหมือนกัน ระหว่างปี พ.ศ. 2438-2488 โดยลูกเรือ และมีพันธุ์ใหม่ที่นำเข้าจากประเทศอินเดีย มะม่วงพันธุ์ยู่เหวิน (Yu-wen) เป็นมะม่วงลูกผสมระหว่าง พันธุ์จินหวง (Jinhuang) กับมะม่วง พันธุ์เออร์วิน หรือ อ้ายเหวิน ถูกปรับปรุงสายพันธุ์โดยชาวสวนมะม่วงเมืองไทนาน (Tainan) ชื่อ นายกัว เหวินชง (Guo Wenzhong) ประเทศไต้หวัน โดยตั้งชื่อจากเมืองท่ายู่จิง (Yujing) กับคำต้นนามสกุลของเขาคือ เหวิน มะม่วงยู่เหวิน ถูกนำเข้ามาขยายพันธุ์ปลูกในประเทศไทยเกือบ 10 ปีแล้ว มีข้อเด่นคือ ผลใหญ่ รสชาติขณะดิบหรือห่าม มัน กรอบ หวานไม่มีเปรี้ยวปน ผลสุกหวานหอม ไม่มีเสี้ยนและไม่เละ เคี้ยวหนึบอร่อยมาก มีความโดดเด่นที่สีของผลมะม่วงยู่เหวิน ทั้งผลดิบหรือสุกจะเป็นสีม่วงเข้มสวยงามมาก นายกัวยังคงปรับปรุงพันธุ์มะม่วงต่อมา เขาพัฒนามะม่วงยู่เหวิน หมายเลข 4 ที่ได้ครั้งแรก ได้ตั้งชื่อว่า พันธุ์เกอร์ทูด (Gertrude) จากนั้นได้คัดเลือกสายพันธุ์อีก 19 สายพันธุ์ จนได้ “ยู่เหวิน หมายเลข 6” มีความหวาน 18 องศาบริกซ์ หนัก 1.8-2 กิโลกรัม เปลือกหนา เสี้ยนใยมาก

 

 

นักขยายพันธุ์มะม่วงมือหนึ่ง

สวนคุณเสน่ห์ ลมสถิต หรือรู้จักกันในชื่อ สวนลุงเล็ก เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร ของจังหวัดนนทบุรี ลุงเล็กเป็นเกษตรกรไทยอีกรายหนึ่งที่ได้มีการรวบรวมสายพันธุ์มะม่วงไทยโบราณและสายพันธุ์ต่างประเทศไว้มาก นักท่องเที่ยวที่มาเที่ยวชมสวน ส่วนใหญ่มาดูความแปลกใหม่ของม่วงพันธุ์ต่างๆ ที่ไม่เคยเห็น เช่น ผลใหญ่มาก อย่างโชคไพบูลย์ (จ้าวลงกา) มะม่วงผลสีแดงสดอย่าง เออร์วิน และลองชิมมะม่วงที่มีรสชาติดีกัน วันหนึ่งได้มีโอกาสไปสนทนากับ ลุงเล็ก ที่แผงขายกิ่งมะม่วง ตลาดนัดจตุจักร โครงการ 17 หลังจากที่ติดต่อกันทางโทรศัพท์อยู่หลายปี ต้นปีนี้ (2555) ผู้เขียนจึงลงมาหาลุงเล็กเพื่อหาข้อมูลเกี่ยวกับมะม่วงจากปากของแก ลุงเล็กชวนให้ไปเที่ยวสวนมะม่วงของแกที่นนทบุรี แต่ขอเป็นโอกาสหน้าดีกว่า


ลุงเล็ก เดิมเป็นช่างไม้ทำเฟอร์นิเจอร์ แต่ชอบอาชีพเกษตรกรรม จึงเริ่มต้นอาชีพเกษตรกรรม ทั้งๆ ที่ยังไม่มีประสบการณ์ในด้านนี้


ลุงเล็ก ลองทำสวนผัก ปลูกผักกาดขาว ผักกวางตุ้ง ผักบุ้ง ฯลฯ แต่ต้องขาดทุนหมดเงินไปหลายแสนบาท เนื่องจากขาดความรู้ความเข้าใจในเรื่องกลไกของการตลาด เลิกจากปลูกผักเปลี่ยนมาทำสวนผลไม้ ปลูกชมพู่ทับทิมจันท์ ชมพู่เพชรสายรุ้ง ที่กำลังได้รับความนิยมในขณะนั้น


ชมพู่ที่ปลูกให้ผลผลิตดี มีคุณภาพดีและรสชาติหวาน ขายส่งให้พ่อค้าคนกลางได้กิโลกรัมละ 18 บาท มีเพื่อนคนหนึ่งแนะนำให้ลองนำผลผลิตชมพู่ไปขายเอง โดยไม่ต้องผ่านพ่อค้าคนกลาง ลุงเล็กจึงขายเอง ได้กิโลกรัมละ 80 บาท ในช่วงเวลานั้นสามารถขายได้ถึงวันละ 400 กิโลกรัม หลังจากนั้นไม่นานก็มีการปลูกชมพู่ทับทิมจันท์กันมากขึ้น ทำให้ราคาตกฮวบ ไม่ดีเหมือนเก่า
 

 

การทำสวนชมพู่นั้นต้องใช้แรงงานมาก ทิ้งห่างจากมันไม่ได้ ต้องคอยดูแลอย่างใกล้ชิด ความเหน็ดเหนื่อยมาก อีกทั้งสังขารที่ไม่ค่อยอำนวยกับการทำงานหนัก ทำให้ลุงเล็กเริ่มจะท้อ จนกระทั่งมีเพื่อนที่ขายต้นมะม่วงอยู่บอกว่า ไม่คิดจะปลูกมะม่วงบ้างหรือ เพราะทุกอย่างของมะม่วงขายได้เกือบหมด ลุงเล็กจึงได้ตัดสินใจปลูกมะม่วง 7 ไร่ เป็นสายพันธุ์แปลกและหายาก รวบรวมพันธุ์มะม่วงทั้งในและต่างประเทศมาปลูก ตระเวนหาซื้อกิ่งพันธุ์ไปทั่ว ทั้งที่ตลาดนัดจตุจักรเองก็ไปหาซื้อ จากนั้นได้ขยายพันธุ์และขายกิ่งพันธุ์มะม่วง ลุงเล็กได้ขายกิ่งพันธุ์มะม่วงและผลผลิตมะม่วงมานานกว่า 10 ปีแล้ว พันธุ์เออร์วิน ลุงเล็กได้พันธุ์มาจากออสเตรเลีย ปลูกไว้ที่สวนหลายปีเช่นกัน

 

 

ลุงเล็ก บอกว่า แม้ให้ผลิตดีสีสวย แต่เป็นโรคแอนแทรกโนสง่าย รสชาติของมะม่วงไทยดีกว่า กิ่งพันธุ์จากสวนลุงเล็ก รับรองคุณภาพได้ว่า เป็นกิ่งพันธุ์มะม่วงตรงตามสายพันธุ์ ไม่หลอกลวงลูกค้า ไม่มีการย้อมแมวขาย ไม่มีกิ่งเสียบยอด มีแต่กิ่งทาบ กิ่งทาบมีความแข็งแรง แต่กิ่งใช้ต้นตอ 2 ต้น ถ้ากิ่งใหญ่ใช้ต้นตอเพิ่มขึ้นอีก และที่สำคัญไม่เคยเปลี่ยนชื่อสายพันธุ์มะม่วงที่จะทำให้เกิดความสับสนในเรื่องของสายพันธุ์ ลุงเล็ก อยู่บ้านเลขที่ 53/1 หมู่ที่ 5 ตำบลขุนศรี อำเภอไทรน้อย จังหวัดนนทบุรี 11150 โทร. (081) 445-8792 และ (089) 697-8828 หรือมีเวลาว่างลองไปคุยกับแกได้ในวันพุธ-วันพฤหัสบดี ตลาดนัดจตุจักร ที่โครงการ 17 แกจะไปขายกิ่งพันธุ์มะม่วง มีข้อสงสัยเรื่องมะม่วงถามแกได้ ไม่มีปิดบัง แกเป็นคนมีอัธยาศัยดีมาก ยิ้มง่ายและเป็นกันเอง ราคากิ่งพันธุ์ไม่แพง ขึ้นอยู่กับพันธุ์ แพงไปต่อรองได้ มีแถม ถ้าเป็นหน้ามะม่วง แกเอามะม่วงหายากมาขาย แถมให้ลูกค้าไปลองชิมเสมอ

 

 

สวนของลุงเล็ก ได้รวบรวมมะม่วงสายพันธุ์ไต้หวันไว้หลายสายพันธุ์ เช่น


1. หงหลง (มังกรแดง) เป็นพันธุ์แรกที่ลุงเล็ก สั่งเข้ามา 10 กว่าต้น ได้กระจายพันธุ์ให้กับคนสนิทไปหลายต้น คาดว่าอีกปีกว่าคงออกสู่ตลาด สีผิวเป็นสีชมพูอมม่วงน่ารัก เนื้อละเอียด เสี้ยนเส้นใยเกือบไม่มี ผลขนาดปานกลาง 400-500 กรัม เมล็ดเล็ก ผิวบาง ความหวานพอดี รสดี กลิ่นหอมคล้ายกลิ่นท้อ ปัจจุบันยังไม่มีจำหน่าย กิ่งที่ลุงเล็กให้เพื่อนไปปลูกนั้น ติดผลให้ลูกแล้ว
 

 

2. หงเซียงหยา (งาช้างแดง) มีแหล่งกำเนิดที่มณฑลไป๋เซ่อ (Baise) สาธารณรัฐประชาชนจีน เปิดตัว ในปี พ.ศ. 2538 หลังจากที่ พ.ศ. 2541 พื้นที่เพาะปลูกได้เพิ่มจำนวนมาก ว่ากันว่าเดิมทีได้พันธุ์นี้มาจากพม่า ในปี พ.ศ. 2532 ปลูกที่ย่งเต๋อ (Yongde) มณฑลยูนนานก่อน ลักษณะผลมีผลยาวคล้ายมะม่วงหนังกลางวัน ส่วนปลายโค้งคล้ายงาช้าง อ่อนช้อยอ้อนแอ้น ด้านที่ถูกแดด ผิวเป็นสีชมพูเข้ม ลักษณะสวยงามมาก น้ำหนัก 400-750 กรัม เป็นเนื้อส่วนที่กินได้ 78% เป็นส่วนเมล็ดระหว่าง 14-16% เนื้อละเอียดอ่อนที่มีเส้นใยน้อย คุณภาพดี เก็บเกี่ยวได้ประมาณปลายเดือนกรกฎาคม
 

3. ฉ่วยเถา ผลไม่ใหญ่มาก ผลสีแดง มีจุดเด่นที่มีกลิ่นคล้ายผลท้อ
 

 

4. ผิงเหวิน หรือ ผิงกั่วเหวิน ผลใหญ่มากผลค่อนข้างกลม น้ำหนัก 2-3 กิโลกรัม ผิวจะเปลี่ยนจากสีม่วงเข้มเป็นสีแดงเมื่อแก่ ความหวาน 18 องศาบริกซ์ กิ่งพันธุ์ได้เปิดตัวแล้วในงานเกษตรแฟร์ ปี 2555 ที่ผ่านมาแล้วเช่นกัน แต่ไม่ใช่เป็นกิ่งพันธุ์จากสวนลุงเล็ก ซึ่งลุงเล็กบอกว่า รอให้ขยายพันธุ์ได้จำนวนมากพอแล้วจึงจะออกจำหน่าย เพื่อไม่ให้เกษตรกรต้องผิดหวังจากกิ่งพันธุ์หมด
 

5. หงไคเท่อ (เคียทท์แดง) คล้ายกับพันธุ์เคียทท์ แต่มีผิวสีแดงเข้ม ผลใหญ่มาก น้ำหนัก 1.35-3 กิโลกรัม ผลรูปไข่ ความหวาน 12 องศาบริกซ์
 

6. เกาสง เบอร์ 3 (เซี่ยเสวี่ย-หิมะฤดูร้อน) ผลมีขนาดค่อนข้างเล็ก ผลคล้ายโชคอนันต์ ผลแก่มีผิวสีเหลืองอ่อน ยังติดรสชาติของมะม่วงพื้นเมือง แต่ไม่มีเส้นใยหยาบ
 

7. ซื่อมี่ ข้อมูลพันธุ์นี้มีน้อย เป็นมะม่วงสุกผิวสีเหลือง ผลไม่ใหญ่มาก
 

8. หงมี่หวง (น้ำผึ้งสีแดง) ผลสีแดงหอมหวานกว่าเออร์วิน เนื้อมีเส้นใยน้อยกว่า เนื้อละเอียดอ่อนมาก แต่เนื้อแข็ง
9. จินซิง (Jin Xing) พันธุ์ใหม่ล่าสุดที่สั่งเข้ามา มีผลแดงใหญ่ จากการปรับปรุงพันธุ์ของ นายฮัว จินซิง (Hou Jinxing) แห่งเมืองหนานหัว (Nanhua) เป็นมะม่วงลูกผสม ใช้ต้นพ่อพันธุ์เคียทท์กับต้นแม่เออร์วิน ผิวแก่สีออกแดงเลือดนกสดใสสวยน่ารัก หนักเกือบกิโลกรัม เส้นใยน้อย เมล็ดลีบ มีกลิ่นหอม


ลุงเล็ก เน้นสายพันธุ์ที่มีผลใหญ่และมีสีแดง น้ำท่วมเมื่อปีที่แล้วคิดว่า มะม่วงสายพันธุ์ไต้หวันเหล่านี้คงจมอยู่ในน้ำ ตายหมด อุตส่าห์สะสมประคบประหงมอย่างดี แต่ลุงเล็กได้เตรียมรับสถานการณ์ไว้แล้ว ตั้งแต่เตรียมขุดเอาขึ้นมาใส่กระถางไว้บนห้างร้านสูงกว่าน้ำจะท่วมถึง และนำยอดไปเสียบกับมะม่วงต้นใหญ่ในสวน สวนลุงเล็กมีคันดินล้อมรอบไว้แล้ว เครื่องสูบน้ำติดตั้งไว้พร้อมที่จะระบายออก เหมือนโชคเข้าข้างลุงเล็ก สวนมะม่วงของแกไม่ถูกน้ำท่วมเสียหายมาก มะม่วงสายพันธุ์ไต้หวันยังรอดอยู่ ด้วยความสามารถที่ประจักษ์ เจ้าของสวนจากไต้หวันได้ให้แกช่วยขยายมะม่วงพันธุ์ดีจากไต้หวัน ระหว่างนี้ลุงเล็ก รอพันธุ์มะม่วงใหม่อีก 2 พันธุ์ อยู่ในขั้นตอนการจัดส่ง เป็นพันธุ์มะม่วงปากีสถาน ผลใหญ่ ผิวเหลือง และพันธุ์หงจู ผลใหญ่ ผิวแดง มะม่วงพันธุ์หงจู ทาง ดร. กาญจนา สุทธิกุล (สำเร็จการศึกษาจากไต้หวันและเชี่ยวชาญเรื่องมะม่วง ทำหัวข้อวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกเกี่ยวกับมะม่วงเออร์วิน) ได้รับคำตอบจาก รศ.ดร. เชี่ย ชิ่ง ชาง ว่า เป็นสายพันธุ์ที่ชาวไต้หวันไม่นิยมซื้อมาบริโภค ส่วนใหญ่นำไปไหว้เจ้า ยังมีปริมาณน้อยไม่แพร่หลาย เพราะเป็นสายพันธุ์ที่ผสมโดยชาวสวน จึงมีผลผลิตเฉพาะบางราย เนื้อมีเสี้ยนมาก ความหวานของเนื้อด้านที่อยู่ใกล้เมล็ดประมาณ 15-17 องศาบริกซ์ ส่วนเนื้อที่อยู่ใกล้เปลือกยังคงแข็งและเป็นแป้งเพราะพัฒนาช้ากว่าส่วนที่อยู่ใกล้เมล็ด ความหวานประมาณ 11-13 องศาบริกซ์ หากจะรอให้ส่วนนี้หมดความเป็นแป้งและหวานขึ้น ส่วนที่อยู่ใกล้เมล็ดจะกลายเป็นเจลไปหมดเพราะเซลล์แบ่งตัวมานานจนหมดอายุขัยไปแล้ว ในแง่ของความหอมหวาน แค่เทียบกับมะม่วงแก้วยังไม่ได้เลย ฉะนั้น ข้อมูลที่ปรากฏผ่านหนังสือพิมพ์และเผยแพร่ไปเป็นล้านฉบับ จะเชื่อถือได้แค่ไหนอย่างไร


นอกจากมะม่วงแล้วยังมีชมพู่ยักษ์จากไต้หวัน (เชียงซ่วยปาจ่าง) ผลละ 8 ขีด รอให้ขยายกิ่งพันธุ์ได้มากพอจึงจะออกจำหน่ายต่อไป กิ่งพันธุ์ได้เปิดตัวแล้วในงานเกษตรแฟร์ ปี 2555 เช่นกัน


การสั่งซื้อกิ่งพันธุ์มะม่วงไต้หวัน สามารถสั่งซื้อได้จาก อี-เมล ที่ Fujimori Garden, และ Tonlin Garden Center มีมะม่วงพันธุ์ใหม่ๆ หลายพันธุ์ แต่การซื้อจะกำหนดวงเงิน จะซื้อ 2-3 กิ่งไม่ขายให้ สั่งซื้อแต่ละครั้งเป็นหมื่นบาทขึ้นไป กิ่งเสียบยอดที่ส่งมาถูกล้างรากออกหมด บางกิ่งแห้งกรอบ ลุงเล็กบอกว่า เสี่ยงดวงเอา บางเที่ยวไม่รอดสักต้น อย่างมะม่วงเฮยเชียง (มะม่วงกลิ่นหอมผิวเขียวดำ) กิ่งพันธุ์มะม่วงจากไต้หวันที่ลุงเล็กสั่งเข้ามา แกขายแบ่งให้ผู้เขียนอย่างละพันธุ์เสมอ ด้วยผู้เขียนชอบสะสมพันธุ์มะม่วงไว้ที่บ้าน (ไม่ได้ทำเป็นอาชีพ) ซึ่งแกก็มักแบ่งให้กับเพื่อนไปปลูกตามสถานที่ต่างๆ อย่างน้อยก็ไว้เป็นแหล่งสำรองพันธุ์ หากพันธุ์ของแกหมดไป


กิ่งที่ออกจากสวนลุงเล็ก ต้องเป็นกิ่งทาบเท่านั้น บทความนี้อย่างน้อยก็ช่วยทำให้เกษตรกรคลายความสงสัยไปได้ว่า ชื่อมะม่วงปริศนา ยู่เหวิน และ แดงจักรพรรดิ คือพันธุ์เดียวกัน

22 เม.ย. 55 เวลา 17:07 9,295 4 50
แชร์สกู๊ป
กรุณา Login เพื่อแสดงความคิดเห็น
ส่ง Scoop ให้เพื่อน
แจ้งลบไม่เหมาะสม
ความคิดเห็น

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Loading...