วิกฤตความขัดแย้งประเทศไทย ตั้งแต่ปี 2548 จวบจนกระทั่งปัจจุบัน ยังคงคุกรุ่นอยู่ทุกบริบทการเมือง
การต่อสู้ทางความคิดของ "มวลชน 2 ขั้ว" มีการสร้างสัญลักษณ์ขึ้นมาเป็นเครื่องหมายการแบ่งฝักแบ่งฝ่าย
ฝ่ายหนึ่ง "กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.)" ใช้ "สีเหลือง" เป็นสัญลักษณ์ในการเคลื่อนไหว
อีกฝ่าย "กลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.)" เลือกใช้ "สีแดง" เป็นเครื่องหมายแทนการต่อสู้
และด้วยความรุนแรงของความแตกแยก ได้ทำให้ "ประชาชน" จำนวนหนึ่งปฏิเสธการสวมสีเสื้อ "เหลือง" และ "แดง" ไปในบางจังหวะ เพื่อแสดงให้เห็นถึงการจำกัด ฝัก-ฝ่ายทางการเมือง
แต่สำหรับ ขัตติยา สวัสดิผล ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย (พท.) หรือ "น้องเดียร์" ลูกสาวสุดที่รักของ พล.ต.ขัตติยะ สวัสดิผล หรือ "เสธ.แดง" หนึ่งในแนวร่วมคนสำคัญของ "ฝ่ายเสื้อแดง" กลับเคยสวมเสื้อทั้ง "สองสี" คือทั้ง "เหลือง" และ "แดง" มาแล้ว
"เดียร์ก็เหมือนกับอีกหลายๆ คนตอนนั้นที่ไปในการชุมนุมของกลุ่ม พธม. คือหลายคนก็คงคิดแบบเดียร์ว่าอยากลองไปดูว่า ไปแล้วเป็นอย่างไร
เพราะช่วงนั้นเมืองไทยไม่เคยมีม็อบใหญ่ขนาดนั้น หลายคนที่ไปก็เพราะอยากเห็นว่าม็อบบุกทำเนียบรัฐบาลมันเป็นอย่างไร" น้องเดียร์เปิดฉากเล่าย้อนวันวานที่เคยไปปรากฏตัวที่เวที พธม. ซึ่งเป็นมวลชนกลุ่มหลักในการเดินหน้าขับไล่รัฐบาลไทยรักไทยของ "พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร" อดีตนายกรัฐมนตรี
"เดียร์พูดตอนนี้ก็ไม่กลัวว่า พธม.เขาจะเกลียดเดียร์หนักเข้าไปอีกแล้ว เพราะทุกวันนี้เขาก็เกลียดเดียร์จะตายอยู่แล้ว ไม่ว่าเดียร์จะตอบดีหรือไม่ดีเขาก็เกลียด" เธอยืนยันถึงการพูดเรื่องเกี่ยวกับ "สี" ทางการเมืองของชีวิต
"น้องเดียร์" เล่าว่า ช่วงนั้นเธอไปที่เวที พธม.
ก็เพื่ออยากดูว่ามันเกิดอะไรขึ้นเท่านั้น เพราะมวลชนจำนวนมากๆ แล้วมาต่อสู้ทางการเมืองจนส่งผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงของประเทศนั้น ถือเป็นเรื่องแปลกใหม่สำหรับเด็กสาวอย่างเธอ
"หากถามว่าขณะนั้นหัวใจของเดียร์เป็นสีเหลืองหรือเปล่า... มันคงจะเป็นอย่างนั้นไม่ได้ แต่ถ้าถามว่าเราไปชุมนุมจริงไหม ก็จริง และสื่อก็ประโคมข่าวกัน แต่เราตามเพื่อนไป ในใจไม่ได้คิดอะไร และไปแค่ 1-2 ครั้งเท่านั้น ไม่ได้ไปชุมนุมด้วยตลอด ที่เดียร์ดังขึ้นมาก็เพราะอาปอง (อัญชลี ไพรรีรัก พิธีกรบนเวทีการชุมนุม พธม.ขณะนั้น) พูดขึ้นมาว่า ขนาดลูกสาวเสธ.แดงยังเป็นเสื้อเหลืองมาชุมนุมเลย เพราะวันที่เดียร์ไปก็ได้ส่งข้อความไปหาอาปองว่า ตอนนี้เดียร์อยู่ข้างล่างเวที อาปองพูดอยู่บนเวที ยังไงก็สู้ๆ นะ...
...ตอนนั้นที่เราไปก็แค่อยากรับข่าวทั้ง 2 ทาง ก็เป็นการรับฟังอีกมุมหนึ่งเท่านั้น เพราะเราเป็นคนที่สนใจการเมืองเป็นทุนอยู่แล้ว ยอมรับว่าไป แต่ถามว่าเป็นพธม.จ๋าไหม
ก็ไม่ (เสียงแข็ง) และตรงนี้ก็มีส่วนที่ทำให้ในช่วงที่คุณพ่อ (เสธ.แดง) เสียชีวิต คนเสื้อแดงก็ไม่ยอมรับเดียร์เหมือนกัน"
เธอขยายความกรณีที่คนเสื้อแดงไม่ให้การยอมรับเธอว่า ช่วงแรกๆ ที่ พล.ต.ขัตติยะ ผู้เป็นพ่อ ถูกยิงในระหว่างร่วมชุมนุมกับกลุ่มคนเสื้อแดง บริเวณสี่แยกราชประสงค์ ก่อนจะเกิดเหตุการณ์สลายการชุมนุมเดือนพฤษภาคม 2553 คนเสื้อแดงหลายคนแสดงความเกลียดชังเธอออกมาด้วยซ้ำ
"ก่อนที่คุณพ่อจะเสียชีวิต เราก็ไปดูแลท่าน คนเสื้อแดงบางคนที่มา แสดงตัวเลยว่าเกลียดเรา ถึงขนาดมีคำพูดตอกย้ำความเจ็บปวด ว่า เป็นไงล่ะ สะใจหรือยังที่เห็นพ่อตาย ทีอย่างนี้ล่ะมานั่งสำนึก ซึ่งตอนนั้นเราก็เสียใจ ก็ได้เพียงแต่อธิบายชี้แจงไป เพราะเราอยากบอกว่า ในความเป็นจริง ปัญหาระหว่างพ่อลูกคู่นี้ ในทางการเมืองไม่เคยมีเลยสักครั้งเดียว" ขัตติยาย้ำ
"น้องเดียร์" เล่าว่า แม้ภาพภายนอกเธอและคุณพ่อจะถูกมองว่าอยู่ใน "ขั้วการเมือง" ที่ตรงข้ามกันอย่างสิ้นเชิง
แต่ทัศนคติทางการเมืองไม่เคยกระทบกระเทือนความสัมพันธ์ของ "พ่อ" กับ "ลูก"
แถมยังทำให้ทั้งสองคนเข้าใจกันดี แล้วก็เป็น "เสธ.แดง" เอง ที่บอกกับ "เธอ" ว่า "อย่าปฏิเสธข่าวการไปร่วมเวที พธม." !!!
ซึ่งสิ่งที่ยืนยันได้ดีคือ "น้องเดียร์" - "เสธ.แดง" พ่อลูกผู้ถูกมองจากสังคมภายนอกว่า "ต่างขั้วการเมือง" อยู่ร่วม "พรรคขัตติยะธรรม" ที่เสธ.แดงก่อตั้งขึ้นด้วยกัน
"ตอนนั้นคุณพ่อทำพรรคขัตติยะธรรมเอาไว้ก่อนที่คุณพ่อจะเสีย
ระดมสมาชิกพรรคก่อตั้งขึ้นมา ระหว่างที่คุณพ่อมีชีวิตอยู่ก็ให้เดียร์เป็นสมาชิกพรรคเอาไว้ด้วย แล้วก็พูดว่าถ้าเกิดมีการยุบสภาเกิดขึ้น กฎหมายเปลี่ยนอะไรก็แล้วแต่ น้องเดียร์เตรียมลง ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ เบอร์ 1 ของพรรคขัตติยะธรรมด้วย
และนั่นเป็นจุดสำคัญเลยที่ทำให้เราได้ก้าวเข้าสู่การเมือง เมื่อคุณพ่อถูกลอบยิง เสียชีวิต เราก็ตัดสินใจขึ้นเป็นหัวหน้าพรรคขัตติยะธรรม"
การขึ้นเป็น "หัวหน้าพรรคขัตติยะธรรม" เพื่อสานต่อเจตนารมณ์ของ "ผู้เป็นพ่อ" ทำให้สปอตไลต์ทางการเมืองจับมาที่เธอ !!!
กระทั่ง อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีในขณะนั้นตัดสินใจยุบสภา แล้วกำหนดให้มีการเลือกตั้งในวันที่ 3 กรกฎาคม 2554 "น้องเดียร์" ก็ได้รับเทียบเชิญจาก "แกนนำ พท." ให้เข้าร่วมงานการเมือง โดยมีเงื่อนไข เป็นพื้นที่ "เซฟโซน" ที่จะทำให้เธอได้เป็น ส.ส. ในสภาค่อนข้างแน่นอน
"บอกไม่ได้ค่ะว่าใครเป็นคนเชิญ แต่มีผู้ใหญ่ในพรรคติดต่อกันมาหลายคน รวมทั้งแกนนำ นปช. ที่มาคุยและเป็นห่วง เพราะด้วยความที่เราเป็นลูกคนเดียวของคุณพ่อ มีผู้ใหญ่มาถามเราคำเดียวเลยว่า อยากเล่นการเมืองไหม เดียร์ก็บอกว่า เดียร์สนใจ เขาก็บอกว่าถ้าสนใจเราก็มาช่วยกัน เดียร์ก็เลยตกลง เพราะฐานเสียงก็ฐานเดียวกันอยู่แล้ว และที่สำคัญคือเรามีแนวความคิดเดียวกัน...
...ตอนเราอยู่กับคุณพ่อ เราเห็นความคิดของคุณพ่อ คุณพ่อบอกเสมอว่าการชุมนุมของคนเสื้อแดงไม่ใช่แค่ พ.ต.ท.ทักษิณ แต่มันก้าวข้ามคำว่าทักษิณไปแล้ว มันคือการเรียกร้องในสิ่งที่มันเกิดการกระทำที่เรียกว่า สองมาตรฐาน เราต้องการการปฏิบัติที่เป็นธรรม เดียร์ก็บอกตัวเองตลอดนะว่า แล้วเราจะนั่งดูดายต่อไปได้อย่างไร พอเราใช้ชีวิตในสังคมก็เห็นว่ามันไม่เป็นธรรมจริงๆ ดังนั้น เรามาร่วมกันสู้ดีกว่า"
ซึ่งการตัดสินใจของเธอในวันนั้น นำมาซึ่งการได้เป็น "ส.ส." ในวันนี้
"น้องเดียร์" ยืนยันว่า การเดินเข้ามาเป็น "ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ" พรรค "พท." ของเธอ ไม่ใช่การ "เปลี่ยนสี" หลังจากที่ "ผู้เป็นพ่อ" ถูกลอบยิงเสียชีวิต
แต่มันเป็นทัศนคติทางการเมือง ที่มีอิทธิพลอย่างยิ่งต่อการเลือกทิศทางทางการเมืองที่เชื่อว่าจะทำประโยชน์ได้มากกว่า โดยเฉพาะเรื่อง "การปรองดอง"
"หากการเมืองปรองดองกันได้ เสื้อเหลือง-เสื้อแดง ก็จะหมดไป แล้วสิ่งที่เหลือ ก็คือความปรองดอง" น้องเดียร์ยืนยัน !!!