นางนันทวัลย์ ศกุนตนาค อธิบดีกรมส่งเสริมการส่งออก เปิดเผยว่าตามนโยบายของนายภูมิ สาระผล รมช.พาณิชย์ให้ส่งเสริมการพัฒนาสินค้าเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม รวมทั้งการสร้างตราสินค้า นวัตกรรมและการสร้างสรรค์ กรมฯจึงได้ดำเนินการจัดนิทรรศการแสดงศักยภาพด้านการออกแบบและความคิดสร้างสรรค์ของอุตสาหกรรมไทย ครั้งที่ 2 ณ เมืองมิลาน ประเทศอิตาลี ระหว่างวันที่ 17 - 22 เมษายน 2555 ณ อาคารซุปเปอร์สตูดิโอ พิว( Superstudio Piu) ในช่วงงาน “มิลานแฟร์ ครั้งที่ 51” (SALONE DEL MOBILE) เพื่อเป็นการประชาสัมพันธ์ผลงานออกแบบสินค้าไทยให้เป็นที่รู้จักในระดับสากล
“กรมฯและสมาคมที่เกี่ยวข้องได้คัดเลือกสินค้าเฟอร์นิเจอร์และของตกแต่งบ้านจากผู้ประกอบการ 26 บริษัท และได้ชิ้นงานที่จะจัดแสดง 30 ชิ้นงาน ในจำนวนนี้มีบริษัทที่ได้รับรางวัล DEmark 18 บริษัท ส่วนใหญ่เป็นผลงานต้นแบบจากนักออกแบบชั้นแนวหน้าของเมืองไทย รวมทั้งสินค้าที่มีคุณภาพสูงที่ได้เครื่องหมายรับรองไทยแลนด์ ทรัสต์ มาร์ก(TTM) เพื่อเข้าร่วมนิทรรศการฯ ภายใต้แนวคิด ”การออกแบบของไทยจากรากเหง้าภูมิปัญญาต่อยอดสู่ผลงานที่พัฒนาอัตลักษณ์ไทยสู่ความเป็นสากล” นางนันทวัลย์ กล่าว
ทั้งนี้ได้ช่วงชิงจังหวะที่อิตาลีจัดงานใหญ่ “มิลานแฟร์” ทำให้ช่วงเวลาดังกล่าวนี้เป็นงานสำคัญยิ่งใหญ่ของเมืองมิลาน และเป็นแหล่งรวมผู้ที่อยู่ในวงการออกแบบจากทั่วโลก รวมทั้งมีผู้ให้ความสนใจติดตามและเข้าชมงานดังกล่าวเป็นจำนวนมาก ดังนั้นการจัดนิทรรศการฯในอาคารซุปเปอร์สตูดิโอ พิว พื้นที่ใกล้เคียงการจัดงานมิลานแฟร์ นอกจากจะเป็นการเปิดวิสัยทัศน์ของบุคลาการที่ทำงานด้านออกแบบและส่งเสริมมูลค่าเพิ่มแล้ว ยังเป็นการช่วยสร้างภาพลักษณ์ของสินค้าที่มีคุณภาพ และตอกย้ำความสำคัญเรื่องการพัฒนาสินค้าอีกด้วย
ตัวอย่างของการพัฒนาไม่หยุดยั้งของผู้ประกอบการไทย ทำให้เก้าอี้ซีทเบลท์(Seatbelt) แบรนด์”สครับเตอร์” ที่ออกแบบโดยดีไซน์เนอร์ไทยชื่อ “นัษฐพงศ์ เจริญกิติวรากรณ์” ที่นำเข้าไปทำตลาดในสหรัฐฯ โดยบริษัท ฟิลลิปส์ คอลเลคชั่น จำกัด ได้เข้าไปอยู่ในฉากสำคัญของภาพยนตร์แอ็คชั่นเขย่าขวัญชื่อดัง “เกม ล่า เกม( The Hunger Games) ที่ติดอันดับหนังทำเงินติดบ๊อกซ์ออฟฟิตถึง 3 สัปดาห์รวด รวมรายได้กว่า 300 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในฉากที่นางเอกของเรื่องถูกคัดเลือกให้รอ 2-3 วัน ก่อนเข้าไปเล่นเกมส์ และในเร็วๆ นี้ เก้าอี้ตัวนี้จะถูกนำไปแสดงในงานแสดงสินค้าเฟอร์นิเจอร์ใหญ่ในสหรัฐฯ (Spring High Point International Home Furnishings) ระหว่างวันที่ 21-26 เมษายนนี้ด้วย
สำหรับสถิติการส่งออกสินค้าเฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วนในช่วง 2 เดือนแรกของปี 55(มกราคม – กุมภาพันธ์ 55) มีมูลค่ากว่า 171 ล้านเหรียญสหรัฐฯ มีอัตราการขยายตัวลดลง 6.48 % อันเนื่องมาจากเหตุอุทกภัยในปลายปี 54 ซึ่งคาดว่าจะต่อเนื่องถึงการส่งออกสินค้าในไตรมาสที่ 1-2 ผู้ผลิต/ผู้ส่งออกเฟอร์นิเจอร์ไทยที่ได้รับความเสียหายต้องใช้เวลาเพื่อการฟื้นฟูกิจการ รวมถึงการปรับตัวและพิจารณาใช้ไม้ทางเลือกอื่นที่เป็นไม้นำเข้าและมีราคาถูกกว่า นอกเหนือจากไม้ยางพาราที่อาจมีราคาสูงขึ้น เนื่องจากภาวะการแข่งขันกับความต้องการใช้วัตถุดิบจากเวียดนามและจีน อย่างไรก็ดีกรมฯเห็นว่า ผู้ประกอบการควรปรับเน้นทำตลาดแบบเฉพาะกลุ่ม(Niche Market)ซึ่งสามารถปรับตัวได้ดีกว่าในสถานการณ์เดียวกัน นอกจากนี้แนวโน้มการส่งออกเฟอร์นิเจอร์จากไม้แผ่นเรียบ เช่น Particle Board และ MDFBoard คาดว่าจะเติบโตได้ดีกว่า