พระราชประวัติ พระสมเด็จ พุฒาจารย์(โต) พรมรังษี ตอนที่3

                 พระราชประวัติ พระสมเด็จ พุฒาจารย์(โต)พรมรังษี

 

 

 

 พระคาถาชินปัญชร

ชะยาสะรากะตา พุทธา เชตตะวา มะรัง สะวาหะนัง

จะตุสัจจาสะภัง ระสัง เย ปิวิงสุ นะราสะภา

ตัณหังกะราทะโย พุทธา อัฏฐะวีสะติ นายะกา

สัพเพ ปะติฏฐิตา มัยหัง มัตถะเก มุนิสสะรา

สีเล ปะติฏฐิโต มัยหัง พุทโธ ธัมโม ทะวิโลจะเน

สังโฆ ปะติฏฐิโต มัยหัย อุเร สัพพะคุณากะโร

หะทะเย เม อะนุรุทโธ สารีปุตโต จะ ทักขิเณ

โกณฑัญโญ ปิฏฐิภาคัสมิง โมคคัลลาโน จะ วามะเก

ทักขิเณ สะวะเน มัยหัง อาสุง อานันทะราหุโล

กัสสะโป จะ มหานาโม อุภาสุง วามะโสตะเก

เกเลนเต ปิฏฐิภาคัสมิง สุริโยวะ ปะภังกะโร

นิสินโน สิริสัมปันโน โสภิโต มุนิปุงคะโว

กุมาระกัสสะโป เถโร มะเหสี จิตตะวาทะโก

โส มัยหัง วะทะเน นิจจัง ปะติฏฐาสิ คุณากะโร

ปุณโณ อังคุลิมาโล จะ อุปาลีนันทะสีวะลี

เถรา ปัญจะ อิเม ชาตา นะลาเฏ ติละถา มะมะ

เสสาสีติ มะหาเถรา ชิตะวันโต ชิโนระสา

ชะวันตา สีละเตเชนะ อังคะมังเคสุ สัณฐิตา

ระตะนัง ปุระโต อาสิ ทักขิเณ เมตตะสุตตะกัง

ธะชัคคัง ปัจฉะโต อาสิ วาเม อังคุลาละกัง

ขันธะโมระปะริตตัญจะ อาฏานาฏิยะสุตตะกัง

อากาเส ฉะทะนัง อาสิ เสสา ปาการะสัณฐิตา

ชินา นานา วะระสังยุตตา สัตตัปปาการะลังกะตา

วาตะปิตตาทิสัญชาตา พาหิรัชฌัตตุปัททะวา

อะเสสา วินะยัง ยันตุ อนันตะชินะเตชะสา

วะทะโต เม สะกิจเจนะ สะทา สัมพุทธะปัญชะเร

ชินะปัญชะระมัชเฌนหิ วิหะรันตัง มะหีตะเล

สะทา ปาเลนตุ มัง สัพเพ เต มะหาปุริสาสะภา

อิจเจวะมันโต สุคุตโต สุรักโข

ชินานุภาเวนะ ชิตุปัททะโว

ธัมมานุภาเวนะ ชิตาริสังโค

สังฆานุภาเวนะ ชิตันตะราโย

สัทธัมมานุภาวะ ปาลิโต ชะจะรามิ ชินะปัญชะเรติ

เมื่อท่องบ่นจนแม่นยำดีแล้ว ในงานพระราชพิธีหนึ่ง ท่านเจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) พรหมรังษี ได้เจริญพระคาถาชินปัญชร ถวายแด่พระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ ทรงสดับแล้ว ชอบพระทัย ตรัสว่า พระคาถานี้ดี ขรัวโตเอามาจากไหน? เจ้าประคุณสมเด็จทูลตอบว่า ถวายพระพรมหาบพิตร พระคาถาบทนี้อาตมาเก็บความจากคัมภีร์โบราณผูกหนึ่ง ซึ่งได้จากลังกาประเทศ พระคาถาบทนี้มีคุณานุภาพมากมาย ผู้ได้ได้จำเริญภาวนาไว้เสมอจะเจริญด้วย ลาภยศ เจริญชนมายุยืนยาวปราศจากภัยอันตรายทั้งปวง

ตั้งแต่วันนั้นมา สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระราชกระแสรับสั่งให้เจ้าจอมหม่อมห้าม และเหล่าข้าราชการใกล้ชิดพระยุคลบาทเจริญภาวนาพระคาถาบทนี้

จุดไต้เข้าวัง

อีกคราวหนึ่งเจ้าประคุณสมเด็จ จุดไต้ลูกใหญ่ลุกโพลงเดินเข้าไปในพระบรมมหาราชวัง ในตอนกลางวันแสก ๆ ตะวันตรงหัวทีเดียว ร.๔ ทอดพระเนตรเห็นเช่นนั้น ก็ตรัสว่า "ขรัวโต ๆ ในหลวงรู้แล้วละว่าจะบอกอะไรในหลวง" เจ้าประคุณสมเด็จก็ไม่ปริปากพูดอะไรสักคำ เอาไต้ลูกนั้นทิ่มกับกำแพงวังแล้วเดินกลับออกมาเฉย ๆ

ข้อนี้เล่าว่า ในช่วงนั้น ร. ๔ ทรงหมกมุ่นกับเจ้าจอมหม่อมห้ามและการละเม็งละครหนักข้อไปหน่อย สมเด็จท่านจะถวายพระพรเตือนตรง ๆ ก็เกรงพระราชหฤทัย จึงแสร้งจุดไต้เข้าไปทูลเตือนในฐานะนักปราชญ์ด้วยกัน ร.๔ จึงรีบตรัสว่า "รู้แล้ว ๆ"

จำนำพัดยศ

ครั้นถึงวันฉัตรมงคลของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) พรหมรังษี ได้รับอาราธนาไปร่วมในพระราชพิธี

เมื่อสังฆการีมานิมนต์แล้ว ท่านเจ้าประคุณสมเด็จก็ข้ามเรือที่ท่าน้ำ ระหว่างนั้นแม่ค้าขายแตงโม ซึ่งอยู่ที่ท่าข้ามถามว่า "เจ้าประคุณสมเด็จจะไปไหน?" ท่านบอกว่า "วันนี้ในหลวงนิมนต์ไปฉันเพลที่วัดพระแก้ว เนื่องในงานฉัตรมงคล"

แม่ค้าแตงโมพูดต่อไปว่า "อิฉันมีเรื่องใหญ่ขอปรึกษาเจ้าประคุณสมเด็จหน่อยเจ้าค่ะ" ท่านถามว่า "จะปรึกษาอะไร" เขาบอกว่า "มีเรื่องใหญ่ อิฉันมีลูกสาวเป็นทาสเขาอยู่กับเถ้าแก่ฮง เจ้าของหวย ก.ข. เป็นเบี้ยทาสอยู่ ๓ บาท ลูกสาวคนนี้กำลังแรกรุ่น ถ้าแก่ฮงยืนคำขาดมาเจ้าค่ะว่า ถ้าไม่เอาเงินไปไถ่เขา จะเอาลูกสาวทำเมีย ลูกสาวอิฉันไม่ยอม ขอร้องให้ดิฉันช่วย อิฉันก็ไม่มีเงิน จึงต้องขอพึ่งบารมีของท่านเจ้าประคุณสมเด็จเจ้าค่ะ"

ท่านเจ้าประคุณสมเด็จ ล้วงในย่ามมีเงินอยู่แค่ ๑๘ สตางค์ ไม่พอจะไถ่ตัวได้ นิ่งอยู่อิดใจหนึ่ง ท่านโพล่งขึ้นว่า ได้การเงิน ๓ บาท ไม่เป็นปัญหา วันนี้เอ็งได้แน่ แล้วท่านเจ้าประคุณสมเด็จก็หยิบตาลปัตรให้แม่ค้าแตงโมถือไว้ ต่างว่าจำนำพัดกับนางพร้อมกำชับว่า วันนี้จะไปไหนไม่ได้ ให้รออยู่ตรงนี้ ถ้าไปที่อื่นขรัวโตหัวขาดแน่

แม่ค้าแตงโมก็ถามว่า "แล้วแตงโมเต็มลำเรือนี้จะทำอย่างไรล่ะ พระเดชพระคุณ" ท่านเจ้าประคุณสมเด็จ ตอบว่า ก็เททิ้งน้ำไป วันนั้นแตงโมลอยเต็มแม่น้ำ คนโจษจันกันใหญ่ ถามว่าใครเทแตงโมลงแม่น้ำ ก็มีคำตอบว่า สมเด็จโตเทลงแม่น้ำ พวกเล่นหวยรุมแทง ต. (ปิดติด) กันทั้งสองฝั่งฟากแม่น้ำเจ้าพระยา คืนนั้นหวย ก.ข. ออกตัว ต.จริง ๆ เจ้าประคุณสมเด็จถึงถูกโจษขานว่าให้หวยดุจเอามือไปล้วงเอง

ย้อนกลับไปถึงเหตุการณ์ในวัดพระแก้ว พอถวายภัตตาหารพระเถรานุเถระฉันเสร็จแล้ว ต่างก็ยกพัดยศกันพรึ่บพรั่บ คงเหลือแต่ท่านเจ้าประคุณสมเด็จ (โต) องค์เดียวที่นั่งตาปริบ ๆ พระเจ้าอยู่หัวทอดพระเนตรเห็นเข้าก็พิโรธ สั่งสังฆการี (แหวง ป.๙ ประโยค) เข้าไปถามท่านเจ้าประคุณสมเด็จ ว่า พัดหายไปไหน สังฆการีก็คลานมาถามว่า "พระเดชพระคุณเจ้าประคุณสมเด็จ พัดไปไหนเสีย" ท่านเจ้าประคุณสมเด็จ (โต) ไม่ค่อยชอบพวกที่จบเปรียญเป็นมหาแล้วสึกออกมาเป็นสังฆการี ท่านก็แกล้งตอบไปว่า "เธอไปทูลพระเจ้าอยู่หัว พัดของขรัวโตเอาไปจำนำเขา" สังฆการีคลานต้วมเตี้ยมไปกราบบังคมทูลรัชกาลที่ ๔ ตามที่บอก พระเจ้าอยู่หัวมีรับสั่งว่า "ไปถามเจ้าคุณซิว่า จำนำไว้กี่บาท" สังฆการีก็คลานมาถามอีก ท่านเจ้าประคุณสมเด็จตอบว่า "จำนำไว้ ๓ บาท" สังฆการีก็ไปกราบบังคมทูลว่า จำนำไว้ ๓ บาท พระเจ้าอยู่หัวกริ้วหนักตรัสว่า "เฮ้ยมึงไปถามว่าจำนำไว้ ๓ บาท จำนำไว้ที่ไหน พิธีของกูจะเสียอยู่แล้วมึงรู้หรือเปล่า" สังฆการีก็คลานมาถามอีก ท่านเจ้าประคุณสมเด็จ กล่าวว่า "อาตมภาพจำนำไว้กับแม่ค้าแตงโมที่ท่าน้ำ" รัชกาลที่ ๔ จึงให้เงิน ๓ บาทไปไถ่มา ในที่สุดก็ยถาสัพพีกันจนพิธีเสร็จ

ทำบุญถึงคนจน

หลังจากทำบุญวันฉัตรมงคล ในวันรุ่งขึ้นรัชกาลที่ ๔ มีพระราชกระแสให้ตำรวจวังนิมนต์เจ้าประคุณสมเด็จเข้าเฝ้า ตำรวจวังได้ไปหาท่านที่วัดระฆังฯ และบอกว่า "ในหลวงมีพระบรมราชโองการให้นิมนต์สมเด็จ ไปเข้าเฝ้า" สมเด็จพระพุฒาจารย์ ถามตำรวจผู้นิมนต์ว่า "พ่อเป็นอะไรจ๊ะ"

"เกล้ากระผมเป็นตำรวจวัง" ตำรวจกราบนมัสการ

"ฉันไม่ไปจ้ะ" สมเด็จพระพุฒาจารย์ว่า ครั้นแล้วก็ออกเดินไป ตำรวจวังได้รีบย้อนเข้าไปกราบทูลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวว่า "ขอเดชะ ข้าพระพุทธเจ้าได้ไปนิมนต์แล้ว ท่านว่า ท่านไม่มา"

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ตรัสถามว่า "แล้วท่านพูดว่าอะไรบ้างล่ะ"

ตำรวจหลวงกราบบังคลทูลว่า "ท่านถามว่า ข้าพระพุทธเจ้าเป็นอะไร ข้าพระพุทธเจ้าตอบท่านว่าเป็นตำรวจวังพระพุทธเจ้าข้า"

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้ทรงฟังเช่นนั้นก็ทรงพระสรวล เพราะรู้ทันในคำของสมเด็จพระพุฒาจารย์ จึงมีรับสั่งขึ้นใหม่ว่า

"สังฆการีอยู่ไหน ไปนิมนต์ขรัวโตมานี่"

สังฆการีรับคำสั่งใส่เกล้าฯ วิ่งแน่วตามไปทันสมเด็จพระพุฒาจารย์ กราบนมัสการว่า "โปรดเกล้าฯ ให้นิมนต์พระคุณเจ้า"

สมเด็จพระพุฒาจารย์ก็ย้อนถามอีกว่า "พ่อเป็นอะไรจ๊ะ"

ครั้นสังฆการีทูลว่า "เป็นสังฆการี"

สมเด็จพระพุฒาจารย์ จึงได้หันกลับเดินเข้าไปเฝ้า

เมื่อท่านเจ้าประคุณสมเด็จ ไปถึงในวัง พระเจ้าอยู่หัวก็ถามว่า "นี่ขรัวโต ทำไมจึงทำเช่นนั้นในวันสำคัญของฉัน ฉันเสียหน้าขายหน้าหมด" ท่านเจ้าประคุณสมเด็จ ตอบว่า "ถวายพระพรมหาบพิตร ถ้าขรัวโตไม่ทำเช่นนั้นแล้วมหาบพิตร อันวันฉัตรมงคลเป็นวันสำคัญที่จะให้พระองค์สืบสันติวงศ์ได้ถาวรและปลอดภัยอยู่ในเศวรฉัตรด้วยบุญบารมี หากวันสำคัญเช่นนี้ พระองค์ไม่สามารถทำบุญถึงคนจนได้ กุศลที่ไหนจะเสริมส่งพระองค์ ที่ขรัวโตทำเช่นนั้น เนื่องจากยายแต้มมีลูกสาวอยู่คนหนึ่ง จำนำไว้กับเถ้าแก่ฮง และเถ้าแก่ฮงจะเอาเป็นเมีย ถ้าไม่เอาเงิน ๓ บาทไปไถ่ แม้ในวันฉัตรมงคลอันสำคัญนี้ ขรัวโตจะทำเช่นนั้น ทำให้พระองค์ไม่พอพระทัย แต่ทำไปเพื่อให้พระองค์ได้สร้างกุศลถึงคนจน ขอถวายพระพร" พอท่านเจ้าประคุณสมเด็จทูลอย่างนี้ในหลวงทรงยิ้มแต้เลย พูดว่า "ขรัวโตทำดี ในวันฉัตรมงคล ฉันได้ทำบุญถึงคนจนด้วย"

พบกับบาทหลวง

ในรัชกาลที่ ๔ นั้น เป็นยุคที่ชาวฝรั่งตื่นตัวเข้ามาในกรุงสยามมากที่สุด เป็นพวกพ่อค้าวานิชบ้าง เป็นนักสอนศาสนาบ้าง เป็นพวกที่ศึกษาเกี่ยวกับการล่าเมืองขึ้นบ้าง และอะไรต่อมิอะไรเป็นอันมาก เพราะยุคนี้ไม่มีนโยบายกีดกันชาวต่างชาติเข้ามาในประเทศเหมือนชาติอื่น ๆ

บรรดาชาวต่างชาติที่เข้ามาสยามครั้งกระนั้น ปรากฏว่า มีพวกมิชชั่นนารี คือ พวกบาทหลวงสอนศาสนา และเผยแพร่ศาสนาคริสต์เป็นมากกว่าพวกอื่น ที่มักจะเข้าเฝ้ารบกวนพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทั้งในด้านขอให้พระราชทานศาสนูปถัมภ์ และไต่ถามถึงเหตุการณ์ต่าง ๆ เกี่ยวกับลัทธิขนบธรรมเนียม และข้อสำคัญก็คือ เรื่องอันเกี่ยวกับพระบวรพุทธศาสนา และโดยเหตุที่มิชชันนารีพวกนี้สนใจในหลักธรรมของพระบวรพุทธศาสนามาก จึงครั้งหนึ่งได้เข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท กราบทูลไต่ถามพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวว่า

"ลัทธิหลักธรรมของพระบวรพุทธศาสนา ตลอดจนศีลที่ประชาชนและภิกษุสามเณรถือเป็นวัตรปฏิบัติ รู้สึกว่าลุ่มลึกยิ่งนัก สงสัยว่ายังจะมีผู้ใดประพฤติปฏิบัติได้โดยสมบูรณ์อยู่หรือพระพุทธเจ้าข้า?"

ครั้นฝรั่งได้ยินกระแสพระราชดำรัสว่า "มีซิ" จากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว แล้วก็กราบทูลอีกว่า

"ผู้ใดเล่าที่เป็นผู้ทรงคุณวิเศษสามารถประพฤติธรรมและศีลสมบูรณ์เช่นนั้น ข้าพระพุทธเจ้าจะมีเกียรติรู้จักท่านผู้นั้นได้หรือไม่พระพุทธเจ้าข้า?"

เล่ากันว่า พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้มีรับสั่งให้สังฆการีเข้าเฝ้า รับสั่งว่า "พระธรรมการ แกพาคณะบาทหลวงเหล่านี้ไปหาสมเด็จพระพุฒาจารย์วัดระฆังฯ" แล้วหันมาตรัสกับคณะบาทหลวงผู้สอนศาสนาว่า "ท่านจงไปกับผู้นี้ เขาจะพาท่านไปพบกับผู้ทรงคุณธรรมวิเศษของพระพุทธศาสนา" เท่านั้นแล้วก็เสด็จขึ้น

ข้างพระธรรมการตำแหน่งสังฆการี เมื่อรับพระบรมราชโองการใส่เกล้าฯ ก็นำคณะบาทหลวงไปหาท่านเจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ (ต) ที่วัดระฆังโฆสิตาราม เมื่อไปถึงก็กราบนมัสการสมเด็จพระพุฒาจารย์ แล้วแจ้งเนื้อความให้สมเด็จทราบตามพระบรมราชโองการทุกประการ

พอสมเด็จพระพุฒาจารย์ได้ทราบกระแสพระราชดำรัสเช่นนั้น ก็ทราบโดยปัญญาทันทีว่า พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระราชประสงค์จะให้ท่านเป็นผู้โต้ตอบปัญหาที่เกี่ยวแก่การปฏิบัติธรรมขั้นสูง อันเป็นส่วนพระปรมัตถ์แก่คณะบาทหลวง เพื่อเป็นการเชิดชูเกียรติแก่พระบวรพุทธศาสนา กับอีกประการหนึ่งเพื่อเป็นการแสดงให้รู้ว่าในประเทศสยามก็ยังมีผู้ปฏิบัติธรรมแห่งพระพุทธศาสนา นับเป็นหน่อเนื้อศากยบุตรอยู่อีกไม่น้อยเหมือนกัน

มีเรื่องเล่ากันว่า การเจรจาไต่ถามและลองภูมิได้เป็นไปอย่างถึงพริกถึงขิง เพราะบาทหลวงคณะนั้นได้ศึกษาภาษาไทย และพูดไทยได้ดี ผลของการอภิปรายถึงข้อปฏิบัติเกี่ยวกับศีล และการบำเพ็ญธรรมได้จบลงด้วยคณะบาทหลวงกล่าวคำสรรเสริญสมเด็จพระพุฒาจารย์ว่า

"พระคุณเจ้าเป็นผู้ทรงคุณธรรม วิเศษในพระพุทธศาสนาอย่างแท้จริง" แต่แล้วก็เหน็บเอาในตอนท้ายว่า "แต่ส่วนทางโลก พระคุณเจ้าไม่รู้อะไรเลย"

สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) ย้อนตอบไปว่า

"อย่าว่าแต่อาตมภาพจะไม่แจ้งโลกเลย แม้แต่พวกท่านก็อยู่ในลักษณะ ไม่แจ้งโลกเหมือนกัน"

บาทหลวงคนหนึ่งแย้งว่า "คณะกระผมแจ้งซิ พระคุณเจ้า คือ แจ้งว่า โลกนี้กลมไม่ใช่แบน แล้วหามีปลาอานนท์หนุนอยู่เหมือนคนไทยเข้าใจกันไม่"

ใจกลางโลก

คำพูดของฝรั่งเท่ากับตบหน้าท่านเจ้าประคุณสมเด็จและคนไทยทั่วไปอย่างฉาดใหญ่ทีเดียว แต่สมเด็จพระพุฒาจารย์กลับหัวเราะงอหายพลางว่า "เข้าใจกันไปคนละทางเสียแล้วละท่าน อาตมภาพคิดว่าเป็นการแจ้งโลกแบบโลกวิทู หาได้คิดไปถึงโลกกลม โลกแบนอย่างท่านกล่าวไม่ อ้ายเรืองโลกกลมอย่างท่านกล่าวนั้น อาตมภาพก็แจ้งเหมือนกัน ซ้ำแจ้งต่อไปอีกว่า ใจกลางของโลกนั้นอยู่ตรงไหนอีกด้วยซ้ำไป"

คณะบาทหลวงงุนงงด้วยคำเจรจาฉะฉานของสมเด็จพระพุฒาจารย์เป็นอันมาก ต่างแลดูตากัน ครั้นแล้วบาทหลวงผู้หนึ่งกราบนมัสการถามว่า "พระคุณเจ้า ทราบถึงที่ตั้งใจกลางโลกจริง ๆ หรือขอรับ"

"ก็จริงนะซี อาตมภาพไม่เคยกล่าวมุสาวาทเลย" ท่านเจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ตอบ

"ถ้าเช่นนั้นจะพาคณะกระผมไปดูที่ตั้งใจกลางโลกได้ไหมขอรับ?" พวกบาทหลวงรุมล้อมกันหมายต้อนสมเด็จให้จนมุมจนได้

"อ๋อได้ซิจะไปเมื่อไรล่ะ" สมเด็จพระพุฒาจารย์พูด

"เดี๋ยวนี้ได้ไหมขอรับ?" คณะบาทหลวงเร่งเร้าเพื่อจะดูทีว่าสมเด็จจะสามารถไปที่ใจกลางโลก ในทรรศนะของท่านอย่างไร

"ได้" สมเด็จตอบสั้น ๆ พลางลุกขึ้นครองจีวรให้เป็นปริมณฑลตามสมณสารูป แล้วเอื้อมไปหยิบไม้เท้า และกล่าวกับฝรั่งว่า "ตามอาตมภาพมา"

บาทหลวงทั้งคณะลุกขึ้นพร้อมกัน แล้วตามท่านเจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ลงจากกุฏิ พากันออกมายืนอยู่ที่พื้นดินบริเวณหน้าบันไดเบื้องล่าง

ณ ที่ตรงนั้นเอง ท่านเจ้าประคุณสมเด็จได้เอาไม้เท้าที่ถือปักลงไปในพื้นดินพลางชีมือให้คณะบาทหลวงดู แล้วกล่าวว่า

"ใจกลางโลกอยู่ที่ตรงนี้"

คณะบาทหลวงทั้งหมดต้องตะลึกและงุนงงในเรื่องใจกลางของโลกตามทรรศนะของสมเด็จพระพุฒาจารย์อีกครั้งหนึ่ง ครั้นแล้วค้านเสียงหลงว่า

"เป็นไปไม่ได้ดอกพระคุณเจ้าขอรับ ที่นี่มันหน้าบันไดกุฏิพระคุณเจ้าแท้ ๆ "

สมเด็จพระพุฒาจารย์ชี้มือไปที่ไม้เท้าพลางพูดยิ้ม ๆ ว่า "ก็ท่านกล่าวยืนยันว่าโลกนี้กลมไม่ใช่แบบอยู่เมื่อครู่นี้เอง เมื่อโลกนี้กลมจริงอย่างท่านว่า ที่นี่ก็เป็นใจกลางโลก ถ้าท่านสงสัยก็ขอให้วัดดูเถิดว่าจากศูนย์กลางที่ไม้ปักนี้ อ้อมไปโดยรอบทุกด้าน แล้วที่ตรงนี้จะเป็นใจกลางโลกจริง"

คณะบาทหลวงเพิ่มความงุนงงกันเป็นครู่ใหญ่ ครั้นคิดออกก็ถอดหมวกคำนับท่านเจ้าประคุณสมเด็จพร้อมกัน แล้วกล่าวว่า "จริงของพระคุณเจ้า ใจกลางโลกอยู่ตรงนี้ พระคุณเจ้าทรงคุณธรรมวิเศษจริง ๆ" ว่าแล้วคณะบาทหลวงก็รีบนมัสการลากลับทันที

สังคายนาพระไตรปิฎก

วันเดือนปีไม่ปรากฏ ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระราชดำริจัดสังคายนาพระไตรปิฎก รัชกาลที่ ๔ โปรดให้ท่านเจ้าประคุณสมเด็จ (โต) เข้าร่วมสัมมนาด้วย แต่ท่านไม่ยอมไปเป็นดังนี้ถึง ๓ ครั้ง

รัชกาลที่ ๔ ทรงเรียกท่านเจ้าประคุณสมเด็จไปในวัง ตรัสถามว่า "เพราะเหตุใดขรัวโตจึงไม่ยอมเข้าร่วมสัมมนาในการปรับปรุงพระไตรปิฎก" ท่านจึงกราบทูลว่า "ขอถวายพระพรมหาบพิตร ขรัวโตนี้เกิดในยุครัตนโกสินทร์ ขรัวโตนี้ยังไม่ได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์ ถ้าในพระไตรปิฎกนั้น บางคำพูดเป็นขององค์สัมมาสัมพุทธเจ้าที่แท้จริง สันดานขรัวโตเกิดว่าไอ้นี่มันไม่ไพเราะ ไม่เพราะพริ้ง ตัดมันออกไป เติมคำหวาน ๆ สละสลวยลงไป ฟังแล้วน้ำลายไหล อาตมภาพหรือจะหนีพ้นการลงนรก การที่อาตมภาพไม่มาก็เพราะกลัวตกนรกพระเจ้าค่ะ" รัชกาลที่ ๔ ตรัสว่า จริงของขรัวโต จึงเลิกสัมมนาแต่นั้นมา และไม่เอาเรื่องกับท่าน

รู้รสเหล้า

ท่านเจ้าประคุณสมเด็จมีคติประจำใจว่า เรื่องการสอนคนนั้นต้องเอาความจริงมาพูด สิ่งใดที่ทำไม่ได้สิ่งนั้นจะไม่พูด และสิ่งใดที่ยังไม่มีประสบการณ์ สิ่งนั้นก็จะไม่พูดเช่นกัน ภาวะไม่เหือนกับอาจารย์สอนธรรมคนอื่น ๆ ท่านเจ้าประคุณสมเด็จถึงกับลงทุนสร้างพระพุทธรูปก่ออิฐถือปูนองค์หนึ่ง หน้าตักกว้างสองศอก หันพระพักตร์เข้าข้างฝาผนัง ด้านตะวันออกองค์พระห่างจากฝาผนังราวหนึ่งศอก ซึ่งอยู่ในวิหารละแวกบ้านสาว ตรอกวัดใหม่อมตรส บางขุนพรหม

Credit: http://www.jarun.org/contact-webmaster.html
#นานาสาระ
sekimi
เจ้าของบทประพันธ์
สมาชิก VIPสมาชิก VIPสมาชิก VIP
11 ม.ค. 53 เวลา 17:37 2,893 2 30
แชร์สกู๊ป
กรุณา Login เพื่อแสดงความคิดเห็น
ส่ง Scoop ให้เพื่อน
แจ้งลบไม่เหมาะสม
ความคิดเห็น

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Loading...