พระราชประวัติ พระสมเด็จ พุฒาจารย์(โต) พรมรังษี ตอนที่2

                                   พระราชประวัติ สมเด็จพุฒาจารย์ (โต) พรมรังษี

 

บอกหวย

พระองค์ทรงพระสรวล แล้วทรงถามว่า "ได้ยินข่าวเขาว่า เจ้าคุณบอกหวยเขาถูกกันจริงหรือ"

ท่านเจ้าคุณทูลว่า "อาตมภาพจะขอแถลงแจ้งคำให้การแก้พระราชกระทู้โดยสัตย์ว่า ตั้งแต่อาตมภาพได้อุปสมบทมา ไม่เคยเอ่ยวาจาว่าหวยจะออก ด.กวางเหมงตรง ๆ เหมือนดังบอก ด.กวางเหมง แต่สมเด็จบรมบพิตรพระราชสมภารเจ้าอย่างวันนี้ ไม่เคยบอกแก่ผู้ใดเลย"

รัชกาลที่ ๔ ได้ฟังแล้วทรงพระสรวล แล้วทรงจุดเทียน พระธรรมกิตติจับตาลปัตรแฉกขึ้นธรรมาสน์ เมื่ออาราธนาแล้ว ก็ถวายศีล ถวายศักราช พอถึงปีชวดท่านก็ย้ำ "ฉศก ฉศก ฉศก"

สมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวกำลังทรงพระอักษรอยู่ ได้ทรงฟังปีชวด ฉศก ย้ำ ๆ อยู่นาน ก็เงยพระพักตร์ขึ้นพนมหัตถ์รับว่า "ถูกแล้ว ชอบแล้ว เจ้าคุณ" แต่กาลก่อนที่ล่วงมาแล้ว เดิมเลข ๖ ท้ายศักราช เขียนและอ่านต่อ ๆ มาว่า "ฉ้อศก" นั้นไม่ถูก แล้วมีรับสั่งกรมราชเลขาได้ตราพระราชบัญญัติ ออกประกาศเป็นใบปลิวให้รู้ทั่วกันทั่วพระราชอาณาจักรว่า "ตั้งแต่ ปีชวด ฉศก เหมือนศกนี้มีเลข ๖ เป็นเศษท้าย ไม่ให้เขียนและอ่านว่า ฉ้อศก อย่าเขียนตัว อ เคียงไม่ให้เขียนไม้โท ลงไปเป็นอันขาด ให้เขียน ฉ เฉย ๆ ก็พอ ถ้าเขียนและอ่านว่า ฉ้อศกอีก จะต้องว่าผู้นั้นผิดและฝ่าฝืน" กรมราชเลขาก็บันทึกและออกประกาศให้ทราบทั่วกัน

ตรัสแล้วก็นิมนต์ท่านเทศน์ต่อไป

พระธรรมกิตติก็ตั้งคัมภีร์บอกศักราชต่อจนจบ ถวายพระพรแล้วเดินคาถาจุณณียบท อันมีมาในพราหมณ์สังยุตตนิกายปาฏิกวรรคนั้น แปลถวายว่า ยังมีพราหมณ์ผู้หนึ่งแกนั่งคิดว่า ...กูจะเข้าไปหาพระสมณโคดมแล้ว กูจะถามปัญหากับเจ้าสมณโคดมดูสักหน่อย...พราหมณ์ผู้นั้น คิดฉะนี้แล้วแกจึงลงอาบน้ำดำน้ำเกล้าในห้วยแล้วแกออกจากบ้านแก แกตั้งหน้าตรงไปพระเชตวันมหาวิหาร ถึงแล้วแกจึงตั้งข้อถามขึ้นต้น แกเรียกกระตุกให้รู้ตัวขึ้นก่อนว่า "โภ โคตม นี่แน่ะพระโคดมฯ"

ครั้นท่านว่ามาถึงคำว่า "นี่แน่ะพระโคดม" เท่านี้แล้ว ก็กล่าวว่าคำถามของพราหมณ์ และคำเฉลยของพระผู้มีพระภาคเจ้านั้นมีอยู่เป็นประการใด สมเด็จพระบรมบพิตรเจ้าได้ทรงตรวจตราตริตรองแล้ว ก็ได้ทรงทราบแล้วทุกประการ ดังรับประทานวิสัชนามา ก็สมควรแก่เวลาแต่เพียงนี้ เอวัง ก็มีด้วยประการดังนี้ ขอถวายพระพรฯ

พอยถาสัพพีแล้ว ก็ทรงพระสรวลตบพระหัตถ์ตรัสว่า เทศน์เก่งจริง พวกพราหมณ์ที่เขาถือตัวว่าเขารู้มากเขาแก่มาก เขาไม่ใคร่ยอมเคารพพระพุทธเจ้านัก เขามาคุย ๆ ถาม พอแก้รำคาญต่อนาน ๆ เขาก็เชื่อในธรรมเขาก็สำเร็จเป็นพระโสดาฯ ที่ความดำริของพราหมณ์ผู้เจ้าทิฐิทั้งหลาย เขาวางโตทุกคน เจ้าคุณแปล อหํ ว่ากูนั้นชอบแท้ ทางความดีจริง ๆ ก็ได้รับพระราชทานรางวัล ๑๖ บาท เติมท้องกัณฑ์ ๒๐ บาท รวมเป็น ๓๖ บาท

วันนั้นหวยก็ออก ด.กวางเหมงจริง ๆ กิตติศัพท์ในการใบ้หวยของเจ้าคุณธรรมกิตติ (โต) ก็ระบือไปไกล ข้าราชการ คุณหญิงคุณนาย ผู้ดีมีจน ขึ้นกุฏิเจ้าคุณบันไดไม่แห้ง ท่านก็แกล้งห่มจีวรผืนละ ๑๐ วัน ไม่ยอมซัก เพื่อไม่ให้คนมาเซ้าซี้ขอหวยท่าน กระนั้นก็ตามผู้คนไม่ยอมถอย แม้นางกำนัลหม่อมห้ามก็ขึ้นหาพระธรรมกิตติ (โต) ไม่เว้นทุกวัน ท่านเจ้าคุณเลยเอาน้ำปัสสาวะราดรดบริเวณรอบ ๆ กุฏิ เพื่อให้คนรังเกียจไม่ขึ้นไปหาท่าน คนก็ยังแน่นกุฏิอยู่ทุกวัน

ใบ้หวย

 

 

 

วันหนึ่งนางกำนัลของเจ้าจอมอ่อนได้ขึ้นมาขอหวย ก.ข. บอกว่า "ท่านเจ้าคุณขา ดิฉันไม่ค่อยมีเงิน ขอหวยสักตัวเจ้าค่ะ" อุตส่าห์หิ้วปิ่นโตจากวังมาให้ แล้วทำยักคิ้วยักหน้า พระธรรมกิตติมองไปมองมา ก็โพล่งขึ้นมาว่า "ตูดน่าเล่น"

นางกำนัลโมโหใหญ่ กลับไปฟ้องรัชกาลที่ ๔ พระเจ้าแผ่นดินไม่ทรงว่ากระไร รับสั่งว่า "ขรัวโต ไม่มีเจตนาในทางอกุศลหรอก อย่าคิดมาก" วันนั้นหวย ก.ข. ออกตัว ต. ดังไปทั้งวัง

ความดังนี้ ทำให้พระธรรมกิตติ (โต) ไม่มีเวลาปฏิบัติธรรม มีคนมารบเร้าขอหวยอยู่เรื่อย อยู่มาวันหนึ่งท่านไม่รู้จะไล่ญาติโยมที่มาอย่างไร ก็นั่งถ่ายอุจจาระลงมา คนบ้าหวยในสมัยนั้นก็บอกต่อ ๆ กันว่า ท่านเจ้าคุณขี้ ท่านใบ้ ข. ในงวดนี้ เจ้ากรรมหวย ก.ข. ก็ออกตัว ข. จริง ๆ ท่านเจ้าคุณดังระเบิด ทั่วทุกหัวระแหงในบางกอก แม้ในชนบทก็รู้จักพระเดชพระคุณ ถึงกิตติศัพท์ใบ้หวยเหมือนมีตาทิพย์

หวยสมัยนั้นออกทั้งภาคเช้าและภาคเย็น มีพวกอั้งยี่คุมตลอดคลองสองฝั่งและย่านติดแม่น้ำ จากพระราชวังถึงแยกเจริญกรุง อั้งยี่รถเล็กคุม และจากหน้าโรงหวยถึงสะพานเหล็กตกอยู่ในอิทธิพลของอั้งยี่สามแต้ม โดยมีเถ้าแก่ฮงเป็นเจ้ามือหวยใหญ่ เมื่อหวยพระอาจารย์โตเข้าเรื่อย ๆ เจ้ามือหวยต้องการจะฉีกหน้าเจ้าคุณธรรมกิตติ (โต) จึงให้ลูกน้องปลอมเป็นลูกศิษย์ไปขอหวยด้วย เจ้าสัวเจ้ามือหวยเถื่อนกำชับลูกน้องว่า ต้องซุ่มดูที่กุฏิ เจ้าคุณให้หวยอะไรรีบมาบอก ลูกน้องก็รับคำ ไปตามคำบัญชาของเจ้าสัว

หวยตกน้ำ

 

 

 

เฝ้าอยู่ถึงบ่าย ลูกน้องเจ้าสัวก็วิ่งมารายงานว่า หวยของขรัวโตคือ "ต" เถ้าแก่ฮงก็สั่งลูกน้องปลดหวย "ต" ทิ้งลงน้ำไป ฝ่ายคนใช้ล้างจานของเจ้าสัวบังเอิญเห็นหวยลอยน้ำ "นี่มันหวยของเจ้าสัวนี่ ทำไมตกน้ำ" จึงหยิบขึ้นไปแขวนใหม่ในที่เดิม โดยไม่รู้ว่าเจ้าสัวเป็นคนสั่งให้โยนทิ้ง

เรื่องบังเอิญแท้ ๆ หวยวันนี้ก็ออกตัว ต. เจ้าสัวถึงกับอุทานว่า ไอ้ห่า หวยขรัวโตตกน้ำแล้วยังขึ้นมาแขวนใหม่ในที่เดิม โดยไม่รู้ว่าเจ้าสัวเป็นคนสั่งให้โยนทิ้ง

เรื่องบังเอิญแท้ ๆ หวยวันนั้นก็ออกตัว ต. เจ้าสัวถึงกับอุทานว่า ไอ้ห่า หวยขรัวโตตกน้ำแล้วยังขึ้นมาแขวนได้โว้ย

ท่านเจ้าคุณพระธรรมกิตติ มีกิตติศัพท์ดังไปทั่วทุกคุ้งน้ำ ไม่เป็นอันทำวัตรปฏิบัติธรรม เพราะต้องคอยต้อนรับนักเล่นหวย ท่านเจ้าคุณถึงกับรำพึงและกล่าวขึ้นลอย ๆ ว่า "ขรัวโตดีก็ว่า ขรัวโตบ้า ขรัวโตบ้าก็ว่าขรัวโตดี"

ครั้นถึงเดือน ๑๑ ขึ้น ๑๔ ค่ำ ปีขาล พุทธศักราช ๒๓๙๗ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงตั้งพระธรรมกิตติ (โต) เป็นพระเทพกวีศรีวิสุทธินายก ตรีปิฎกปรีชามหาคณฤศร บวรสังฆาราม คามวาสี ขณะนั้นท่านเจ้าคุณมีอายุ ๖๖ ปี

ทรงติดกัณฑ์เทศน์สลึงเฟื้อง

 

 

 

เมื่อพรรษายุกาลมากขึ้น ท่านยิ่งแตกฉานในสรรพวิชากาล สามารถเทศน์ให้ผู้ฟังหัวเราะก็ได้ เทกระเป๋าทำบุญก็ได้ ดังจะเห็นได้จากครั้งหนึ่ง ขณะยังเป็นพระเทพกวี ท่านเจ้าคุณเทศน์คู่กับพระพิมลธรรม (ถึก) วัดพระเชตุพนฯ เสมอมา การเทศน์ของท่านเผ็ดร้อนถึงอกถึงใจคนฟัง จนความทราบถึงพระกรรณสมเด็จพระจอมเกล้าฯ ทรงนิมนต์เจ้าคุณทั้งสองเข้าไปเทศน์ในพระบรมมหาราชวัง

สมเด็จพระจอมเกล้าทรงติดเงินกัณฑ์เทศน์สลึงเฟื้อง

พระกวีเทพไหวทัน หันมาบอกพระพิมลธรรมว่า เจ้าถึกจ๋าเจ้าถึก เจ้าถึกรู้หรือยัง

พระพิมลธรรมถามว่า จะให้รู้อะไรหนา

อ้าวท่านเจ้าถึงยังไม่รู้ตัว โง่จริง ๆ แฮะ

ท่านเจ้าถึกถามรุกใหญ่ว่า จะให้รู้อะไรอีกนอกคอกเปล่า ๆ

พระเทพกวีว่า จะนอกคอกทำไม เรามาเทศน์กันวันนี้ ในวังไม่ใช่หรือ

รับว่า ในวังน่ะซี

ก็ในวัง ในคอก ในกำแพงด้วยซ้ำ รู้ไหมล่ะ

รู้อะไรนะ?

จงรู้เถิดจะบอกให้ว่า ท่านเจ้าถึงนั้นหัวล้านมีศรี ฝ่ายพระเทพกวีนั้นหัวเหลือง สมเด็จพระบรมบพิตร จึงทรงติดให้สลึงเฟื้องรู้ไหม?

พอหมดคำ ก็ฮาครืนบนพระที่นั่ง สมเด็จพระจอมเกล้าฯ เลยพระราชทานรางวัลองค์ละ ๑๐ บาท

"พ่อจงเอาเงินนี้มาแบ่ง จงจัดแจงให้เข้าใจ พ่อถึกหัวล้าน พ่อโตหัวเหลือง เป็นหัวละเฟื้องสองไพฯ"

ปรากฏได้อีกฮาใหญ่ ผลก็คือได้เงินพระราชทานติดกัณฑ์เทศน์องค์ละ ๑๐ บาท คราวนี้เจ้าจอมคิกคักกันแซ่ คุณเฒ่าคุณแก่ยิงเหงือกยิงฟันอ้าปากกันหวอไปหมด สมเด็จพระจอมเกล้า ฯ ทรงพระสรวลแล้วมีรับสั่งให้ถวายพระธรรมเทศนา ปุจฉาวิสัชนาสืบไปจนจบ

เทศน์ถวายสั้นที่สุด

ในตอนต้นแผ่นดินรัชกาลที่ ๔ มีพระราชพิธีสำคัญในพระราชวังหลวงติดต่อกัน ๓ วัน พระเทพกวี (โต) ได้รับนิมนต์เข้าไปถวายพระธรรมเทศนาทั้ง ๓ วัน

วันแรก ท่านก็ถวายพระธรรมเทศนาเรียบร้อยพอสมควรแก่เวลา ท่านเจ้าคุณก็ถวายพระพรลาไป

ขึ้นวันที่ ๒ พระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชประสงค์จะฟังธรรมเทศนาสั้น ๆ ด้วยมีพระราชหฤทัยจดจ่อกระวนกระวายต่อจ้าจอมชั้นเอกอุท่านหนึ่งใกล้จะมีประสูติกาล โดยมีพระราชประสงค์จะเข้าไปดูว่าเป็นพระราชโอรสหรือพระราชธิดา ท่านเจ้าคุณพระเทพกวีรู้ด้วยญาณวิถี จึงถวายวิสัชนายืดยาวเป็นพิเศษ โดยไม่สนใจว่าพระเจ้าอยู่หัวจะทรงกระวนกระวายเพียงใด

รุ่งขึ้นวันที่ ๓ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงทราบว่าได้พระราชโอรสแล้วทรงสบายพระทัย ใคร่จะสดับฟังพระธรรมเทศนายาว ๆ แต่คราวนี้ท่านเจ้าคุณพระเทพกวี (โต) ขึ้นต้นด้วยการถวายศีล บอกศักราช ถวายพระพร ตั้งนะโม ๓ จบ แปลอรรถอกสองสามคำ แล้วก็กล่าวว่า "ไม่ว่าจะถวายพระธรรมเทศนาหมวดใด ๆ มหาบพิตรก็ทรงทราบหมดแล้ว เอวังก็มีด้วยประการฉะนี้" แล้วลงจากธรรมาสน์ไป

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงมีพระราชดำรัสถาท่านว่า "ขรัวโตเมื่อวานเทศน์ยาว วันนี้เทศน์สั้น เพราะเหตุประการใดหรือ"

เจ้าประคุณสมเด็จ ถวายพระพรว่า "เมื่อวานอาตมภาพเห็นมหาบพิตรทรงมีพระราชหฤทัยกังวลขุ่นมัวเป็นอันมากจะดับเสียได้ ก็โดยทรงสดับพระธรรมเทศนาให้มากเข้าไว้ แต่วันนี้เห็นว่าทรงมีพระราชหฤทัยผ่องแผ้วขึ้นแล้ว จะไม่ทรงสดับเสียก็ยังได้"

พระจอมเกล้าฯ ทรงแย้มพระโอษฐ์สรวล ไม่ทรงตัดพ้อต่อว่าแต่ประการใด

ออกนอกราชอาณาจักร

 

 

 

มีอยู่ครั้งหนึ่งที่ในหลวงกริ้ว พระเทพกวีเมื่อครั้งเทศน์ถึงประเพณีอินเดีย ซึ่งใช้ระบบคลุมถุงชน เรือล่มในหนองทองไม่ไปไหนเสีย ท่านเจ้าคุณพระเทพกวีเทศน์ถึงการตั้งกรุงกบิลพัสดุ์ และการตั้งวงศ์สักยะ ในพระปฐมสมโพธิปริเฉทที่ ๑ นั้น แต่ในสมัยใช่กาลจะเทศน์พระปฐมสมโพธิปริเฉทที่ ๑ ไม่ใช่กลางเดือน ๖ ท่านก็นำไปเทศน์ถวายว่า เมื่อตั้งกรุงกบิลพัสดุ์แล้ว มีการนำพระโอรสกษัตริย์ในวงศ์เดียวกันมาอภิเษก ตามลัทธิคติของพวกพราหมณ์ที่พากันนิยมว่า แต่งงานกันเองไม่เสียวงศ์จนเป็นโลกบัญญัติสืบมาช้านาน จนถึงกษัตริย์โอกากะรัชกาลที่ ๑ รวมพี่น้อง ๗ องค์ เจ้าชาย ๓ เจ้าหญิง ๔ ออกจากเมืองพระราชบิดามาตั้งเป็นราชธานี ขนานนามว่ากรุงกบิลพัศดุ์ตามบัญญัติของกบิลฤาษี ต่อไปนี้ก็แต่งงานราชาภิเษกพี่เอาน้อง น้องเอาพี่ เอากันเรื่อยไม่ว่ากัน เห็นตามพราหมณ์เขาถือมั่นว่า อสัมภินวงศ์ ไม่แตกพี่แตกน้องแน่นแฟ้นดี บริสุทธิ์ไม่เจือไพร่ คราวนี้เลียนอย่างมาถึงประเทศใกล้เคียงมัชฌิมประเทศ ก็พลอยเอาอย่างกันสืบ ๆ มา จนถึงสยามประเทศก็เอาอย่าง เอาพี่เอาน้องขึ้นราชาภิเษกและสมรสกันเป็นธรรมเนียมมา

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ไม่พอพระราชหฤทัย มีรับสั่งว่า "ขรัวโตว่าฉันนี่ ต้องออกจาราชอาณาจักรของฉันเดี๋ยวนี้ ภายใน ๓ วันนี้ต้องออกพ้นจากดินแดนของฟ้า"

พระเทพกวี (โต) ทูลว่า "ถวายพระพรมหาบพิตร อาตมภาพออกจากราชอาณาจักรสยามแน่ ไม่ต้องถึง ๓ วัน ภายในวันเดียวจะไปให้พ้นพระราชอาณาจักรของมหาบพิตร"

สมเด็จพระจอมเกล้า ฯ กริ้วจัด ให้มหาดเล็กติดตามพระเทพกวีไปดูว่า ขรัวโตจะออกจากราชอาณาจักรสยามได้ในหนึ่งวันเท่านั้นละหรือ ขรัวโตเหาะได้หรืออย่างไร

มหาดเล็กเดินต้อยตามหลังพระเทพกวี (โต) ซึ่งรวบรวมอัฐบริขารอาหารต่าง ๆ พร้อมกระโถนย้ายจากกุฏิเข้าไปนั่งในโบสถ์กับพระประธาน ก็กลับมากราบบังคมทูลว่า ท่านเจ้าคุณพระเทพกวีโกหก เวลานี้ยังอยู่ในวัดระฆังฯ ไม่ได้เดินทางออกจากพระราชอาณาจักรแต่อย่างใด พระเจ้าค่ะ

รัชกาลที่ ๔ เสด็จพระราชดำเนินมาที่วัดระฆังฯ ด้วยพระองค์เอง ตรัสว่า "ขรัวโต ไหนบอกว่าจะออกจากราชอาณาจักรสยาม แล้วทำไมมาอยู่ในที่นี้"

พระเทพกวีทูลว่า "ถวายพระพร มหาบพิตร ขณะนี้อาตมภาพอยู่ในพุทธจักร พระเจ้าอยู่หัวพระราชทานพัทธสีมาแล้วเป็นเขตพุทธาวาส จึงมิได้อยู่ในราชอาณาจักรของพระองค์ ตั้งแต่วันมีพระราชโองการ อาตมภาพไม่ได้ลงดินของมหาบพิตรเลย ก็กินข้าวที่ไหน ไปถานที่นั่น ขอถวายพระพร บิณฑบาตบนโบสถ์นี้ ฉันถานในกระโถน"

ท้ายที่สุดรัชกาลที่ ๔ ซึ่งเป็นพระมหากษัตริย์ทรงไว้ซึ่งทศพิธราชธรรม ก็ทรงขอโทษ และมีรับสั่งว่า ให้ขรัวโตอยู่ในราชอาณาจักรของฟ้าได้

เวรต่อเวร

 

 

 

คราวหนึ่งพระวัดระฆังฯ เกิดวิวาทกัน พระแดงตีหัวพระเปี๊ยก พระเปี๊ยกมาฟ้องพระเทพกวี เจ้าอาวาสวัดระฆังฯ พระเทพกวีชี้ว่าคุณตีเขาก่อน พระเปี๊ยกเถียงว่าผมไม่ได้ทำ พระแดงตีกระผมฝ่ายเดียว พระเทพกวีย้ำว่าก็คุณตีเขาก่อน เขาก็ต้องตีคุณ คุณน่ะผิด ฉันจะจ่ายค่ายาค่าทำขวัญให้ เรื่องนี้ให้เลิกแล้วต่อกัน

พระเปี๊ยกทำเรื่องร้องอุทธรณ์ต่อสมเด็จพระวันรัต (เซ่ง) วัดอรุณฯ เจ้าคณะกลาง ให้พระเถระสอบส่วนว่าพระเทพกวีตัดสินไม่ยุติธรรม สมเด็จพระวันรัต (เซ่ง) เรียกพระเทพกวีเข้าชี้แจง ท่านก็ยืนคำเดิมว่า พระเปี๊ยกผิดเช่นเดิม สมเด็จพระวันรัตถามว่า เจ้าคุณพระเทพกวี รู้อย่างไรว่าพระเปี๊ยกตีก่อน ท่านตอบว่าท่านรู้ตามพุทธฎีกาว่า "เวรไม่ระงับเพราะจองเวร เวรต่อเวร มันตอบแทนกัน ฉันเห็นตามคำพระพุทธเจ้า จึงกล้าวิจารณ์พิจารณาว่า พระเปี๊ยกในอดีตไปตีพระแดง ปัจจุบันชาติจึงถูกพระแดงตีหัวแตก"

สมเด็จพระวันรัต (เซ่ง) เถียงไม่ขึ้น เพราะพระเทพกวีอ้างพุทธฎีกา จึงว่า "ถ้าเช่นนั้น ท่านเจ้าคุณ จงระงับอธิกรณ์ อย่าให้เป็นเวรกัน" แล้วนิมนต์ท่านกลับ

หลังจากนั้น พระเทพกวี กล่าวธัมมิกถาพรรณนาอานิสงส์ของผู้ระงับเวร พรรณนาโทษของผู้จองเวรให้พระเปี๊ยกและพระแดงฟัง ชี้ให้เห็นบาปบุญคุณโทษ ไม่พึงจองเวรอาฆาตมาดร้ายต่อไป แล้วท่านเอาเงินทำขวัญและค่ายามอบให้พระเปี๊ยก ๓ ตำลึง และว่า "ท่านทั้งสองไม่ผิดฉันเป็นผู้ผิดจ้ะ เพราะฉันปกครองไม่ดี"

แก้พระวิวาทกัน

 

 

 

อยู่มาวันหนึ่ง ขณะที่พระเทพกวี (โต) นั่งเอกเขนกนอกกุฏิ ท่านเห็นพระวัดระฆังฯ ๒ รูปชี้หน้าด่ากัน เสียงดังลั่นวัด ท่านเจ้าคุณพระเทพกวีลุกเข้ากุฏิจัดดอกไม้ ธูปเทียนใส่พาน รีบเดินเข้าไปหาพระทั้งสองแล้วทรุดตัวนั่งคุกเข่า ทำท่าถวายดอกไม้ธูปเทียนให้พระคู่นั้น แล้วอ้อนวอนฝากตัวว่า "พ่อเจ้าประคุณพ่อจงคุ้มครองฉันด้วย ฉันฝากตัวกับพ่อด้วย ฉันเห็นจริงแล้วว่า พ่อเก่งเหลือเกิน เก่งพอได้ เก่งแท้ ๆ พ่อเจ้าประคุณ ขรัวโตฝากตัวด้วย"

พระทั้งคู่ก็เลยเลิกวิวาท มาคุกเข่ากราบพระเทพกวี และท่านก็กราบตอบ กราบกันไปกราบกันมาอยู่พักหนึ่ง ผลที่สุดพระวัดระฆัง ฯ คู่นี้เลิกเป็นปากเสียงกัน ทำให้พระลูกวัดอื่น ๆ ไม่กล้าทะเลาะกันอีก

ยถาอตริ

 

 

 

พระเทพกวี (โต) เป็นที่โปรดปรานของพระเจ้าอยู่หัว วันหนึ่งท่านเจ้าคุณได้รับนิมนต์ไปฉันในพระบรมมหาราชวัง เมื่อฉันเสร็จแล้ว ท่านเจ้าคุณพระเทพกวีขึ้น "ยะถาวาริวะหา ปุราปะริ ปุเรนติ สาคะรัง เอวะเมวะ อิโต ทินนัง เปตานัง อุปะกัปปะติ อิจฉิตัง ปัตถิตัง ตุมหัง ขิปปะเมวะ สะมิชฌะตุ สัพเพ ปุเรนตุ สังกัปปา จันโท ปัณณะระโส ยะถา มะณิโชติระโส ยะถาฯ" สมเด็จพระจอมเกล้าฯ ทรงสัพยอกว่า ทำไมจึงไปให้เปรตเสียหมด คนที่ทำจะไม่ได้บ้างหรือ ท่านเจ้าคุณพระเทพกวีขึ้นอนุโมทนาวิธีใหม่ว่า "ยะถา วาริ วะหา ปุรา ปะริปุเรนติ สาคารัง เอวะ เมวะ อิโต ทินนัง ทายะกานัง ทายิกานัง สัพเพสัง อุปะกัปปะติฯ" สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระสรวลตรัสว่า ยถาอุตริ สัพพี อุตตรอย แล้วพระราชทานรางวัล ๖ บาท ให้พระเทพกวี (โต)

 

ปฏิปทา

 

 

 

 

 

กล่าวขานกันว่าท่านเข้าวังทีใด อะไรมิอะไรก็ขยายให้เป็นที่พอพระราชหฤทัย และได้รับรางวับทุกครั้ง แต่เมื่อท่านพ้นประตูวังว่าแล้วมักไม่ใครมีเงินเหลือในย่าม เพราะมหาดเล็กในวังต่างล้วงย่ามของท่านเอาเงินไปหมด กลับถึงวัดระฆังฯ เหลือเงินอย่างมากที่สุดก็ ๑๘ สตางค์ เท่าที่จดจำสถิติมา

ท่านเจ้าคุณเป็นพระเถระผู้ใหญ่ ซึ่งมีจรรยาอาการประพฤติอ่อนน้อม ท่านมีความประพฤติผิดจากชาวบ้านทั่วไป ไม่ว่าพระสงฆ์หรือเณรแบกคัมภีร์เรียนมา ถ้าท่านเจ้าคุณพบเข้าแม้จะเป็นกลางถนน ท่านเป็นต้องหมอบก้มลงกราบ ถ้าพระเณรไม่ทันพิจารณา สำคัญว่าท่านเจ้าคุณก้มลงเคารพตนและก้มเคารพตอบท่านเมื่อไร เมื่อนั้นต่างคนต่างหมอบแต้เคารพอยู่ที่นั่น สร้างความครึกครื้นแก่ผู้พบเห็นเสมอ ๆ

สมเด็จ

 

 

 

ครั้นถึงวันขึ้น ๙ ค่ำ เดือนยี่ ปีชวด พุทธศักราช ๒๔๐๗ ในงานเฉลิมพระชนมพรรษาครบ ๖๐ พระพรรษาของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยที่สมเด็จพระพุฒาจารย์ (สน) วัดสระเกศฯ ถึงแก่มรณภาพ จึงโปรดเกล้า ฯ ให้สถาปนาพระเทพกวี (โต) แห่งวัดระฆังฯ ขึ้นเป็นสมเด็จพระพุฒาจารย์ องค์ที่ ๕ ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ดังความปรากฏในคำประกาศดังต่อไปนี้

สำเนาตัวอย่างย่อความ

คำประกาศ

ทรงสถาปนาสมเด็จพระพุฒาจารย์ ( โต ) พรหมรังษี

วันขึ้น ๙ ค่ำ เดือนยี่ ปีชวด พระพุทธศาสนกาลเป็นอดีตภาคล่วงแล้ว ๒๔๐๗ พรรษา

ด้วยพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

ทรงมีพระราชดำริว่า พระเทพกระวี มีพระพรรษายุกาล ประกอบด้วยรัตตัญญูมหาเถร

ธรรมยั่งยืนมานาน แลมีปฏิภาณปรีชา ปีฏกกลาโกศล แลฉลาดในโวหารนิพนธ์ เทศนา

ปริวัติวิธี แลทำกิจในสุตนั้นด้วยดีไม่ย่อหย่อน อุตสาหะสั่งสอนพระภิกษุสามเณรโดยสมควร

อนึ่งไม่เกียจคร้านในราชกิจบำรุงพระพรมราชศรัทธา ฉลองพระเดชพระคุณเวลานั้น ๆ

Credit: http://www.jarun.org/contact-webmaster.html
#นานสาระ
sekimi
เจ้าของบทประพันธ์
สมาชิก VIPสมาชิก VIPสมาชิก VIP
11 ม.ค. 53 เวลา 17:05 2,896 5 60
แชร์สกู๊ป
กรุณา Login เพื่อแสดงความคิดเห็น
ส่ง Scoop ให้เพื่อน
แจ้งลบไม่เหมาะสม
ความคิดเห็น

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Loading...