ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายวันซำซูดิน ดินวันฮูเซ็น ประธานชมรมต้มยำกุ้ง ในประเทศมาเลเซีย เปิดเผยว่าหลังจากที่นักการเมืองและสื่อในประเทศไทยหลายแขนงเสนอข่าวว่า พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการ ศอ.บต. พบปะกับแกนนำขบวนการพูโล ที่ประเทศมาเลเซีย และนำเอารูปและชื่อของตนไปเขียนว่าเป็นนายซำซูงดิง คาน ทำให้มีผลกระทบกับตนและชาวมุสลิมในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่อยู่ในชมรมต้มยำกุ้งอย่างมาก เนื่องจากทำให้เกิดความเข้าใจผิดว่าตนเป็นแกนนำพูโลและชมรมต้มยำกุ้งเป็นขบวนการแบ่งแยกดินแดน ถูกสันติบาลมาเลเซีย จับตาและติดตามความเคลื่อนไหว ซึ่งอาจจะส่งผลให้รัฐบาลมาเลเซีย ไม่ไว้วางใจ และผลักดันให้คนจำนวนหนึ่ง ที่เข้าไปทำงานเป็นลูกจ้างในร้านต้มยำกุ้งออกจากประเทศ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อความเป็นอยู่และอาชีพของพวกตน
"ชมรมต้มยำกุ้งเกิดขึ้นกว่า 20 ปี เป็นการรวมตัวของคนมุสลิมใน 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อให้ความช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ทั้งในเรื่องการทำงาน ในเรื่องเงินทุน และการอยู่อาศัยในประเทศมาเลเซีย ซึ่งยอมรับว่ามีแรงงานในร้านต้มยำกุ้งส่วนหนึ่ง ไม่มีใบอนุญาตในการทำงาน เป็นแรงงานเถื่อน ที่ถือหนังสือเข้าประเทศในรูปแบบทัวริสต์ และในรูปแบบ บอร์เดอร์พาส คือไปเยี่ยมญาติ ต้องมีการจ๊อบหนังสือเดินทางเข้า-ออก ทุกเดือน การก่อตั้งเป็นชมรม จึงเป็นการช่วยเหลือแรงงานใน 5 จังหวัดให้อยู่ได้อย่างปลอดภัย ซึ่งไม่มีเรื่องของการก่อการร้ายอย่างที่เป็นข่าว" นายวันซำซูดินกล่าว
นายวันซำซูดิน กล่าวต่อไปว่า ปัจจุบันเฉพาะในกรุงกัวลาลัมเปอร์เมืองหลวงของมาเลเซียเพียงแห่งเดียว มีร้านต้มยำกุ้งของคนไทยจำนวน 5,000 กว่าร้านแต่ละร้านมีแรงงานหรือลูกจ้าง ที่เป็นคนใน 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ทำงานอยู่ 20-30 คน เฉพาะที่นี่ที่เดียวมีแรงงานไทยกว่า 100,000 คน ถ้ารวมร้านต้มยำกุ้งและแรงงานไทยทั้ง 13 รัฐ มีแรงงานจากจังหวัดชายแดนภาคใต้ทำงานอยู่กว่า 200,000 คน มีรายได้คนละ 8,000-20,000 บาทต่อเดือน ซึ่งเงินเหล่านี้ส่วนหนึ่งส่งไปให้ครอบครัว ดังนั้นหากประเทศมาเลเซียเข้มงวด กวาดล้างแรงงานที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมายแรงงาน และหวาดระแวงว่าชมรมต้มยำกุ้งเป็นภัยและสร้างปัญหาระหว่างประเทศจะมีผลกระทบกับแรงงานไทยในทันที
"ที่ผ่านมาหน่วยงานของรัฐ ไม่เคยให้ความสำคัญกับแรงงานไทยในร้านต้มยำกุ้ง ทั้งที่แรงงานเหล่านี้ส่งเงินกลับประเทศปีละหลายร้อยล้านบาท ยกเว้นก่อนจะมีการเลือกตั้ง ก็จะมี ผู้สมัครและพรรคการเมือง เข้าไปพบปะ และกล่าวว่าจะมีนโยบายในการแก้ปัญหาแรงงาน แต่ขอให้กลับมาลงคะแนนเลือกตั้ง หลังจากเลือกตั้งเสร็จ ก็ไม่มีการทำตามคำพูด ดังนั้นเมื่อมีการประสานงานจากเจ้าหน้าที่รัฐว่า ศอ.บต. มีนโยบายในการช่วยเหลือแรงงานไทยที่อยู่ในชมรม ทั้งในเรื่องทำให้แรงงานเป็นแรงงานที่ถูกต้อง และหาเงินกู้ในการลงทุน ตนเองจึงยินดีที่จะมาพบกับคณะของ พ.ต.อ.ทวี ทั้งที่กรรมการในชมรมรุ่นเก่าๆ ได้เตือนว่า อย่ายุ่งกับเจ้าหน้าที่รัฐ เพราะมีแต่จะเดือดร้อน แต่ตนเองเห็นว่า ศอ.บต.มีเจตนาดี จึงยอมมาพูดคุยด้วย" นายวันซำซูดินระบุ