คณะกรรมการเซ็นเซอร์สั่งแบน"เชคสเปียร์ต้องตาย" ติดเรท"ห้ามฉาย" เกรง"ก่อความขัดแย้งในชาติ"

นี่อาจเป็นข่าวร้ายสำหรับวงการภาพยนตร์ไทยอีกครั้ง จากเหตุการณ์เมื่อปี 2553 คณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวิดิทัศน์ พิจารณาไม่ผ่านและไม่อนุญาตให้ฉายภาพยนตร์เรื่อง "Insects in the Backyard" ซึ่งกำกับโดย "ธัญญ์วาริน สุขะพิสิษฐ์" เพราะมีเนื้อหาขัดต่อมาตรา 29 ในพ.ร.บ.ภาพยนตร์ พ.ศ. 2551

 

ด้วยเหตุผลที่ว่าหนังมีเนื้อหาทำลายและขัดต่อความสงบเรียบร้อย หรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรืออาจกระทบกระเทือนต่อความมั่นคงของรัฐและเกียรติภูมิของประเทศไทย เช่นบางฉากมีภาพลามกอนาจาร จึงมีความเห็นว่าไม่อนุญาตให้ฉาย

 

ผ่านมาเกือบ 2 ปี ปัญหาเก่าที่ยังค้างคาใจหลายๆคน ยังไม่ทันจางไปจากความทรงจำของคนดูหนัง ปัญหาที่ยังคงมีการถกเถียงก็เกิดขึ้นอีกครั้งหนึ่ง



ในวันนี้ (3 เม.ย.) ทีมงานผู้ผลิตได้ออกมาเปิดเผยทางเฟซบุ๊กว่าภาพยนตร์เรื่อง "เชคสเปียร์ต้องตาย" (ShakespeareMustDie) ไม่ผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการฯให้เผยแพร่ภาพยนตร์เรื่องนี้ ซึ่งก็คือการได้รับ "เรต ห" หรือ"ห้ามฉาย" นั่นเอง

 

 

 

โดยทีมงานเขียนผ่านสเตตัสว่า "หนังเรื่องนี้ ไม่ได้รับความเห็นชอบ "ให้ฉาย" จากกรรมการเซ็นเซอร์ จำนวน 7 คนเพราะเกรงว่าคนดูจะแยกไม่ได้ว่า อันไหน "เรื่องจริง" หรือ "เรื่องแต่ง" ก่อนที่จะระบุว่า "เราไม่ได้รับอนุญาต ให้ฉายในราชอาณาจักรไทย" และกล่าวยืนยันว่า "นี่คือ บทหนังที่ถอดมาจาก บทประพันธ์ของเชคสเปียร์ ตัวต่อตัว คำต่อคำ"

 

ต่อมาเว็บไซต์ shakespearemustdie.com ได้เผยแพร่บันทึกการตรวจพิจารณาภาพยนตร์เรื่อง "เชคสเปียร์ต้องตาย" ซึ่งกรรมการ 4 คนจากคณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์ คณะที่ 3 ที่ลงนามในมติห้ามเผยแพร่หนังเรื่องนี้ในราชอาณาจักร เพราะมีเนื้อหาก่อให้เกิดการแตกสามัคคีระหว่างคนในชาติ ประกอบไปด้วย พล.ต.ต.เอนก สัมพลัง ประธานคณะกรรมการ, นายเขมชาติ เทพไชย กรรมการ, นายวีระชัพ ทรัพยวณิช กรรมการ และนายมานิตย์ ชัยมงคล กรรมการและเลขานุการ ขณะที่กรรมการอีก 3 ราย ที่ไม่ได้ลงนามในมติดังกล่าว ได้แก่ นางสุวณา สุวรรณจูฑะ, นายอนุชา ทีรคานนท์ และนายสามารถ จันทร์สูรย์

 

ทั้งนี้ เฟซบุ๊ก Bioscope Magazine ได้ตัดทอนข้อความตามเอกสารการพิจารณาบางส่วนมาเผยแพร่ดังนี้

 

 

วาระการพิจารณา:

 

คณะกรรมการฯ พิจารณาเห็นว่า ภาพยนตร์เรื่อง เชคสเปียร์ต้องตาย (SHAKESPEARE MUST DIE) มีเนื้อหาที่ก่อให้เกิดการแตกความสามัคคีระหว่างคนในชาติ ตามกฏกระทรวงกำหนดลักษณะของประเภทภาพยนตร์ พ.ศ.๒๕๕๒ ข้อ ๗ (๓)

 

จึงมีมติ ไม่อนุญาต โดยจัดเป็นประเภทภาพยนตร์ที่ห้ามเผยแพร่ในราชอาณาจักร ตามมาตรา ๒๖ (๗) แห่งพระราชบัญญัติภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ. ๒๕๕๑

 

 

 

 

 

โดยในเว็บไซต์ของภาพยนตร์กล่าวอย่างเด่นชัดว่า"ภาพยนตร์ขนาดยาว เนื้อหาอิงจากบทประพันธ์ของวิลเลียม เชคสเปียร์ นักประพันธ์เอกของโลก ถ่ายทอดในรูปแบบภาพยนตร์ โดยถอดความหมาย "คำต่อคำ" เพื่อคงความสวยงามของภาษากวีโดยใช้ภาษาไทย นับเป็นภาพยนตร์เชคสเปียร์ไทยเรื่องแรก"

 

รายงานข่าวระบุว่า หลังจากส่งหนังเพื่อให้คณะกรรมการพิจารณาจัดเรตติ้ง ไปตั้งแต่วันพุธที่แล้ว (28 มี.ค.) จนกระทั่งวานนี้ (2 เม.ย.) คณะกรรมการพิจารณาฯ ดูหนังไปแล้วถึงสามรอบ แต่ก็ยังไม่สามารถพิจารณาได้ ขณะที่ผู้สร้างก็ไม่ยอมตัดทอนส่วนใดส่วนหนึ่งออกจากหนัง
 


 


 


 


 


ทั้งนี้ในเว็บไซต์ของสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัยระบุเรื่องย่อของภาพยนตร์เรื่องนี้ไว้ว่า

 

"เรื่องราวแห่งการเมืองและไสยศาสตร์ ที่แปลเป็นไทยอย่างซื่อตรงต่อต้นฉบับละคร “โศกนาฏกรรม แม็ตเบธ” ของวิลเลี่ยมเชคสเปียร์ กวีเอกของโลก โดยมีการดัดแปลงเพื่อให้เป็นภาษาภาพยนตร์ และเข้ากับบริบทของวัฒนธรรมไทย หนังผีเชคสเปียร์เรื่องนี้ดำเนินไปพร้อม ๆ กันสองโลก ในโลกของโรงละคร โลกของขุนพลกระหายเลือด มักใหญ่ใฝ่สูง งมงามในไสยศาสตร์ ผู้สถาปนาตนเองขึ้นเป็นราชาโดยการฆาตกรรม และโลกภายนอก ในชีวิตร่วมสมัยของนักปกครองเผด็จการของประเทศสมมุติแห่งหนึ่ง ผู้ที่งมงายในไสยศาสตร์ โหดเหี้ยมบ้าอำนาจ ซึ่งมีชื่อเรียกว่าท่านผู้นำ และภริยาไฮโซน่าสะพรึงกลัวของท่าน เหตุการณ์ต่าง ๆ ในสองโลกแฝดนี้ ส่องสะท้อนเข้าหากัน ค่อย ๆ เริ่มซึมเข้าหากัน จนกระทั่งสุดท้ายมันประสานงากันอย่างรุนแรง และโหดร้าย เมื่อคณะละครต้องชดใช้ด้วยชีวิต โทษฐานอุตริแสดงละครเรื่องนี้ในสังคมที่ปกครองโดยมนุษย์ เช่นท่านผู้นำ พวกเขาคิดอย่างไรที่จะต่อสู้กับความกลัวด้วยศิลปะ"


 


 


ล่าสุด มานิต ศรีวานิชภูมิ ในฐานะผู้อำนวยการสร้างได้ออกคำชี้แจง "แถลงข่าวเรื่อง หนังไทยเชคสเปียร์โดนแบนโดยรัฐบาลไทย" ในเว็บไซต์ shakespearemustdie.com ซึ่งมีใจความดังนี้:
 


วันที่ 3 เมษายน 2555

บ่ายวันนี้ คณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์ (กองเซ็นเซอร์) ในกรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม ภายใต้รัฐบาล ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร มีมติสั่งห้ามฉาย ‘เชคสเปียร์ต้องตาย’ ภาพยนตร์เรื่องสุดท้ายที่ได้รับทุนสร้างจากกองทุนส่งเสริมภาพยนตร์ของ สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย (สศร.) กระทรวงวัฒนธรรม ภายใต้โครงการไทยเข้มแข็งของรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ในปี 2553 ซึ่งเพิ่งสร้างเสร็จและเข้าตรวจพิจารณาปีนี้

ตามเอกสารบันทึกการตรวจพิจารณาภาพยนตร์ (แนบมาใน attachment) : “คณะกรรมการฯ พิจารณาเห็นว่า ภาพยนตร์เรื่องเชคสเปียร์ต้องตาย (Shakespeare Must Die) มีเนื้อหาที่ก่อให้เกิดการแตกความสามัคคีระหว่างคนในชาติ ตามกฎกระทรวงกำหนดลักษณะของประเภทภาพยนตร์ และวีดิทัศน์ พ.ศ. 2552 ข้อ 7 (3)

“จึงมีมติไม่อนุญาต โดยจัดเป็นประเภทภาพยนตร์ที่ห้ามเผยแพร่ในราชอาณาจักร ตามมาตรา 26 (7) แห่งพระราชบัญญัติภาพยนตร์และวิดีทัศน์ พ.ศ. 2551”

ภาพยนตร์เรื่อง ‘เชคสเปียร์ต้องตาย’ เป็นภาพยนตร์ไทยที่สร้างขึ้นจากบทละคร ‘โศกนาฏกรรมแม็คเบ็ธ’ (The Tragedy of Macbeth) ของ วิลเลียม เชคสเปียร์ (William Shakespeare) กวีเอกของโลก เป็นเรื่องราวของขุนพลที่มักใหญ่ใฝ่สูงอย่างไร้ขอบเขต และคลั่งไคล้ในไสยศาสตร์ เมื่อมีแม่มดมาทักว่าจะได้เป็นกษัตริย์ในภายหน้า และโดยการยุยงของภรรยา เขาสังหารพระราชาเพื่อสถาปนาตนเองขึ้นเป็นกษัตริย์ แม็คเบ็ธปกครองแผ่นดินด้วยความบ้าอำนาจ พาให้บ้านเมืองตกอยู่ในยุคมืดมนแห่งความหวาดกลัว โดยที่ตัวเขาเองก็ปราศจากความสุข ต้องใช้ความรุนแรงอย่างไม่มีที่สิ้นสุด เพื่อรักษาอำนาจของตน

อนึ่ง ละครเรื่องแม็คเบ็ธนี้ เมื่อปีที่แล้วได้มีการจัดแสดงโดยคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย นอกจากนี้ ‘แม็คเบ็ธ’ นั้น บรรจุอยู่ในหลักสูตรการศึกษาของเด็กมัธยมต้นทั่วโลก (ในทุกประเทศที่ใช้ภาษาอังกฤษ) มาเป็นเวลาหลายชั่วคน และได้ถูกสร้างเป็นภาพยนตร์มาแล้วหลายครั้ง รวมทั้งโดยนักทำหนังอินเดีย ญี่ปุ่น และจีน เป็นต้น

เหตุการณ์นี้ทำให้ผมเห็นว่า เราไม่สามารถพูดถึงเรื่องศีลธรรม ความโลภ ความบ้าอำนาจ ความมักใหญ่ใฝ่สูงอันไร้ขอบเขตกันได้อีกแล้วในประเทศไทย ผู้คนอยู่กันด้วยความกลัว ราวกับว่าอยู่ใต้แม็คเบ็ธในบทละครของเชคสเปียร์จริงๆ มันแปลกประหลาดมากที่องค์กรของกระทรวงวัฒนธรรมลุกขึ้นแบนหนังที่กระทรวงวัฒนธรรมเองเป็นผู้สนับสนุน และกองเซ็นเซอร์ ภายใต้กรมส่งเสริมวัฒนธรรม เห็นควรแบนเชคสเปียร์

ด้วยความนับถือ

มานิต ศรีวานิชภูมิ

ผู้อำนวยการสร้าง ‘เชคสเปียร์ต้องตาย’


 

 

 

 


 

กรุณา Login เพื่อแสดงความคิดเห็น
ส่ง Scoop ให้เพื่อน
แจ้งลบไม่เหมาะสม
ความคิดเห็น

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Loading...