หากเราจะลองหลับตา และจินตนาการถึงโลกที่หุ่นยนต์ทำงานแทนตำรวจจราจร หุ่นยนต์กลายเป็นสาวโรงงาน หุ่นยนต์ทำกะเพราไก่ไข่ดาวให้เราทาน หรือหุ่นยนต์คอยซักเสื้อผ้าให้เรา
ในบ้านเรา อาจยังจินตนาการภาพเหล่านั้นไม่ออก ทว่าในญี่ปุ่น เรื่องเหล่านี้กลายเป็นเรื่องที่ดูเหมือนเข้าใกล้ความจริงเข้าทุกที และหุ่นยนต์ต้นแบบรุ่นล่าสุด ก็แทบที่จะลบเส้นแบ่งระหว่างความเป็นมนุษย์และเครื่องจักรให้เลือนลางลงทุกที
เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา หุ่นยนต์แอนดรอยด์"เพศหญิง" ที่มีชื่อประจำตัวว่า "เจมินอยด์ เอฟ" (Geminoid F) ได้เดินทางไปยังฮ่องกง เธอได้ร้องเพลงและยิ้มแย้มทั้งทายกับมนุษย์ที่มาต้อนรับและถ่ายรูปเธอ
ฮิโรชิ อิชิกูโร ผู้อำนวยการห้องวิจัยจักรกลอัจริยะ มหาวิทยาลัยโอซาก้า ผู้สร้างสรรค์เธอขึ้นมา ที่ได้ชื่อว่าเป็นกูรูด้านหุ่นยนต์จากแดนอาทิตย์อุทัย ได้ตั้งโปรแกรมภายในคอมพิวเตอร์บิวต์-อิน ให้เธอแสดงพฤติกรรมได้ถึง 65 แบบ เพื่อให้เธอมีเสน่ห์และ"เข้าถึงได้ง่าย" จึงไม่แปลกใจที่ขณะนี้"เจมินอยด์ เอฟ" ได้กลายเป็นหุ่นยนต์ที่ฉลาดที่สุดในโลกไปแล้ว
เมื่อปี 2006 อิชิกูโร ได้สร้างปรากฏการณ์ไปทั่ววงการเทคโนโลยีของโลก เมื่อเขาสร้างหุ่นยนต์แอนดรอยด์ที่เลียนแบบตนเอง ที่ใช้ชื่อว่า เจมินอยด์ เอชไอ-1 (Geminoid HI-1) ที่เว็บไซต์ซีเอ็นเอ็นยกย่องว่า เขาเป็น 1 ใน 8 บุคคลอัจริยะที่จะเปลี่ยนแปลงชีวิตของมนุษย์ กระทั่งในปี 2008 สถานีโทรทัศน์บีบีซี ได้จัดทำสารคดีชุด Man-Machine เพื่อยกย่องการทำงานของเขา
ทั้งนี้ ความแตกต่างที่เห็นได้ชัด ระหว่างหุ่นยนต์ตัวก่อนและเจมินอยด์ เอฟ ก็คือจำนวน"ตัวกระตุ้น" หรือระบบจักรกลที่ควบคุมพฤติกรรม โดยเจมินอยด์ เอชไอ-1 จะมีถึง 50 ขณะที่เจมินอยด์ เอฟ มีเพียง 12 ที่ทำให้ค่าใช้จ่ายในการสร้าง ลดลงจาก 30 ล้านบาท เหลือราว 3,300,000 บาท
นักวิทยาศาสตร์ยังสามารถลอกเลียนพฤติกรรมของมนุษย์ โดยใช้อุปกรณ์ส่งสัญญาณอิเล็กทรอนิกส์ที่อยู่ในคอมพิวเตอร์บิวต์-อินในตัวหุ่นยนต์ ที่ทำให้เธอสามารถยิ้ม ขมวดและทำคิ้วย่นได้ แต่ด้วยผิวที่ทำจากซิลิโคน อาจทำให้อารมณ์ที่สื่อผ่านยังดูไม่ชัดเจนนัก
ช่วงที่ผ่านมา เจมินอยด์ เอฟ ต้องออกงานสังคมมากกว่าปกติ โดยเมื่อปีก่อนเธอได้ขึ้นเวทีโชว์ความสามารถที่งานโตเกียว อาร์ท เฟสติวัล และยังได้เป็นนางแบบเสื้อผ้าในตู้กระจกของห้างสรรพสินค้าทาคาชิมายา ในย่านชินจูกุ ของกรุงโตเกียว
แน่นอนว่า เป็นไปไม่ได้ที่จะทำนายได้ว่า ต่อไปเราจะใช้หุ่นยนต์เพื่อวัตถุประสงค์เช่นใด ขณะที่มันเริ่มได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
อิชิกูโรกล่าวว่า การนำเจมินอยด์ เอฟ ไปประยุกต์ใช้ในทางปฏิบัติอยู่ในระดับที่"ไม่มีขีดจำกัด" เธออาจรับบทบาทเป็นนางแบบ คุณครู หรือไม่ก็พนักงานต้อนรับ "เราสร้างเทคโนโลยี แต่เราไม่ควบคุมการประยุกต์ใช้"
อิชิกูโรกล่าวว่า ที่สุดแล้ว หุ่นยนต์จะกลายเป็นเพื่อนที่ไว้ใจได้ของมนุษย์ หรือเข้าขั้นคนสนิทได้หรือไม่ เป็นเรื่องที่น่าลองเสี่ยงดู เขากล่าวว่า หากมีเทคโนโลยีที่"ใช่" เขาก็สามารถสร้างหุ่นยนต์แอนดรอยด์ ที่สามารถคิด กระทำ และตอบสนองได้เช่นเดียวกับมนุษย์
"มนุษย์คืออะไร?" อิชิกูโรกล่าว "โปรดให้คำจำกัดความ และเราก็จะก็อปปี้เสีย"