แนะตั้งฟาร์มทากดูดเลือด ส่งจีนทำยาโด๊ปขายเศรษฐี

จีนติดต่อนักวิจัยกรมอุทยานฯ ขอซื้อ “ทาก” อบแห้งไม่อั้น หวังจะเอาไปทำยาโด๊ปให้กับพวกเศรษฐีใหม่ แต่กฎหมายยังไม่เปิดช่องให้ส่งออก อยากให้ศึกษาและแก้ไขเพื่อสร้างอาชีพใหม่ให้ประชาชน

วันนี้ (29 มี.ค.) นายอำนวย อินทรักษ์ ผู้ช่วยหัวหน้าอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ในฐานะผู้วิจัยชีววิทยาทาก ในอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ เปิดเผยว่า ตัวแทนจากชมรมผู้สื่อข่าวการท่องเที่ยวจากประเทศจีนได้ติดต่อมายังตนโดยระบุว่า ได้รับทราบจากสถานทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทยว่า ในเมืองไทยมีผู้ศึกษาในเรื่องวงจรชีวิตของทาก จึงสืบค้นข้อมูลจากอินเทอร์เน็ตและเดินทางมาพบที่เขาใหญ่ เพื่อสอบถามเรื่องการเพาะเลี้ยงและขยายพันธุ์ทาก เพราะนายทุนที่ประเทศจีนมีความต้องการในการรับซื้อทากอบแห้งปริมาณไม่จำกัดและให้ราคาสูง คาดว่าจะนำไปใช้ประกอบเป็นเครื่องยาจีน ซึ่งเขาต้องการทากไปเป็นตัวอย่าง แต่ตนได้อธิบายว่าเราเป็นหน่วยงานราชการไม่สามารถดำเนินการเช่นนั้นได้ เพราะทากเป็นแม้ไม่ใช่สัตว์ป่าคุ้มครอง แต่ส่วนมากก็อยู่ในเขตป่าอนุรักษ์ ดังนั้นหากจะดำเนินการเรื่องนี้จะต้องมีขั้นตอนการอนุญาตตามกฎหมายให้ถูกต้องเสียก่อน เขาก็เข้าใจและยืนยันว่าจะดำเนินการทุกอย่างผ่านสถานทูต ทั้งนี้ตนได้แจ้งเรื่องนี้ให้นายดำรงค์ พิเดช อธิบดีกรมอุทยานฯ รับทราบแล้ว และได้รับยืนยันมาว่า ไทยยังไม่อนุญาตให้เพาะเลี้ยงทากขาย

“ถ้ายอมให้เลี้ยงขายได้น่าจะเป็นเรื่องดี เพราะทากเป็นสัตว์ที่มีแต่คนรังเกียจ ขยะแขยง ในระบบนิเวศทากเป็นปรสิตชั่วคราวหรือเป็นตัวทำลาย สร้างคนรำคาญให้กับคนและสัตว์ ในทฤษฎีฝรั่งบอกว่าทากเป็นผู้บริโภคในระบบนิเวศ ยังไม่แน่ชัดว่ามีประโยชน์ต่อระบบนิเวศอย่างไร คนที่มาคุยกับผมเขายืนยันว่าทุกอย่างต้องถูกต้องตามกฎหมายเท่านั้น และเป็นรายแรกที่มาสอบถามข้อมูลเกี่ยวกับทากในเชิงพาณิชย์ หากทุกอย่างถูกต้องตามขั้นตอนของกฎหมายจริง ผมก็พร้อมสนับสนุน ในเรื่องความรู้ในการเพาะเลี้ยงและขยายพันธุ์ อย่างไรก็ตามต้องใช้สัตว์เป็นๆ มาให้ทากดูดเลือด เช่น หมา แมว กระต่าย หรือหนู และต้องไม่เป็นอันตรายต่อสัตว์เหล่านี้ ถ้ากรมอุทยานฯ ให้ความสนใจหรือสนับสนุนอย่างถูกต้องตามกฎหมาย ผมพร้อมจะอบรม สนับสนุนและเป็นที่ปรึกษาให้ในนามของกรมอุทยานฯ เพราะจะสามารถเป็นอาชีพของประชาชนได้ แต่เรื่องนี้ต้องมีการพูดคุยในรายละเอียดให้ชัดเจนก่อน” นายอำนวยกล่าว

ด้านนายธีรภัทร ประยูรสิทธิ รองอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืชกล่าวว่า ทากเป็นสัตว์ป่า เพราะส่วนใหญ่มีแหล่งอาศัยอยู่บริเวณชายป่าหรือในป่าอนุรักษ์ ที่ผ่านมาทราบว่ามีการใช้ประโยชน์จากทากในเรื่องการสกัดเอาสารชะลอการแข็งตัวของเลือด ไปใช้เป็นแนวทางในการรักษาโรคเส้นเลือดหัวใจอุดตัน หรือใช้ทากเป็น ๆ ดูดเลือดเสียจากบาดแผลเป็นต้น และในส่วนของประเทศไทยเองคณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดลก็กำลังมีการศึกษาเรื่องนี้อยู่


นายธีรภัทร กล่าวอีกว่า จีนยังนิยมซื้อซากสัตว์อบแห้งจากไทยเป็นจำนวนมาก ทั้งไส้เดือน และตุ๊กแกซึ่งส่งออกปีละ 2-3 ล้านตัว ถือเป็นอันดับต้น ๆ ของโลก ขณะนี้กรมอุทยานฯ ซึ่งดูแลอนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ (ไซเตส) กำลังจะเข้าไปดูว่าจำเป็นจะต้องมีการจำกัดการส่งออกซากตุ๊กแกหรือตุ๊กแกอบแห้งหรือไม่ ถึงแม้จะเพาะเลี้ยงได้แล้ว แต่ส่วนมากก็ยังมีการจับตามบ้านเรือน หรือตามชายป่า โดยเฉพาะตุ๊กแกป่าที่มีความสวยงามมักถูกจับส่งขายตามสวนสัตว์หรือคนที่นิยมสัตว์แปลก ราคาในประเทศตัวละ 10 ดอลลาร์หรือราว 300 บาท เมื่อไปถึงต่างประเทศจะราคาพุ่งเป็น 900-1,500 บาท หากจับมากเกินไปจะส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศได้ เพราะตุ๊กแกเป็นสัตว์ที่ควบคุมประชากรสัตว์ชนิดอื่นในธรรมชาติ เช่น แมลง หรือหนูตัวเล็ก ๆ.

30 มี.ค. 55 เวลา 00:49 3,223 4 10
แชร์สกู๊ป
กรุณา Login เพื่อแสดงความคิดเห็น
ส่ง Scoop ให้เพื่อน
แจ้งลบไม่เหมาะสม
ความคิดเห็น

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Loading...