ทอง VS ปรอท

 

 

 

 

 

ทอง VS ปรอท

 



 

ร้านทอง ตกเป็นจำเลยบ่อยครั้ง ว่าขายทองผสม ขายทองไม่เต็ม ขายทองชุบให้ โดยสาเหตุหนึ่งที่ถือว่าเป็นอันดับต้นๆเลยทีเดียวคือ ปรอท สารที่จัดว่าเป็นอันตรายแต่ยังคงมีใช้อยู่ในชีวิตประจำวันอยู่มาก ลองมาทำความรู้จักมันเพิ่มดีไหมครับ..

ธาตุ ปรอท เป็นที่รู้จักกันมาตั้งแต่สมัยโบราณ ได้มีการบันทึกไว้ว่าอารีสโตเติล (Aristotle) รู้จักปรอทเมื่อ 1600 ปีก่อนคริสต์ศักราช ปรอทมีชื่อภาษาอังกฤษว่า mercury แต่มีสัญญลักษณ์ Hg ซึ่งตั้งขึ้นโดย Berzelius มาจากคำลาติน hydrargyrum ซึ่งมีความหมายว่าเงินเหลว (liquid silver) เพราะลักษณะภายนอกเหมือนโลหะเงิน แต่สามารถไหลหรือกลิ้งไปมาได้ทำนองเดียวกับของเหลว ต่อมาได้มีการเรียกว่า "quicksilver" ซึ่งเป็นชื่อที่ใช้เรียกกันมาตั้งแต่สมัยโบราณเช่นกัน คนโบราณรู้จักนำปรอทไปชุบหรือเคลือบผิวโลหะต่าง ๆ เช่น ทองแดง ทองคำ ในสมัยกลางนักเล่นแร่แปรธาตุ (alchemist) ได้พยายามหาวิธีเปลี่ยนปรอทให้เป็นทองคำ (ในตารางธาตุ ทองเป็นธาตุลำดับที่ 79 ส่วนปรอท เป็นธาตุลำดับที่ 80 ติดกันเลยครับ)

ปรอท ถูกนำมาใช้ตั้งแต่ขั้นตอนการทำเหมืองเลยทีเดียว โดยใช้ปรอทในการเอาทองออกมาจากแร่ที่มีทองอยู่ ปรอทจะเปลี่ยนเป็นอะมัลกัม (amalgam) รวมกับทอง (มีความคล้ายคลึงกับอะมัลกัมที่มีปรอทและเงินผสมอยู่ที่ใช้อุดฟัน) เพื่อจะแยกเอาทองออกจากส่วนประกอบอื่นๆ เช่นหินและดิน จากนั้นทองก็จะถูกเอาออกมาจากอะมัลกัมโดยการต้มเพื่อแยกปรอทออกมา ปรอทจะถูกนำกลับมาใช้ใหม่โดยทำภายในตู้ที่ปิดอย่างดี

งานเครื่องถมทองของไทย ก็ใช้ปรอทในการลงถมเช่นกัน โดยรีดทองคำบริสุทธิ์ให้เป็นแผ่นบาง ตัดเป็นฝอยเล็ก ๆ และบดจนเป็นผง ผสมกับปรอท กวนให้เข้ากันเป็นเนื้อเดียว เรียกว่า "ทองเปียก" แล้วนำวัตถุที่จะแตะทองมาทำความสะอาดให้หมดความเค็ม ด้วยน้ำส้มมะขามหรือน้ำมะนาว เช็ดทำความสะอาดแล้ว ตะทองบริเวณลวดลายที่ต้องการตกแต่ง เมื่อถูกความร้อนปรอทจะระเหย เหลือแต่ทองคำที่แตะแต่งไว้ตามลาย ต้องทำซ้ำกันเช่นนี้หลายครั้ง จนได้ความหนาตามต้องการ

งานกะไหล่ หมายถึง เคลือบภาชนะและของใช้ต่าง ๆ ด้วยทองหรือเงิน ด้วยวิธีการใช้ปรอททา ทำให้ร้อนแล้วจึงปิดแผ่นทองหรือแผ่นเงิน กะไหล่ เป็นคำที่มาจากภาษาเปอร์เซีย ว่า kalayi. ปัจจุบันช่างทำเครื่องใช้ที่เป็นเงินเป็นทองมักใช้วิธีชุบแทนกะไหล่ เพราะทำได้เร็วกว่าถูกกว่า แต่การชุบนั้นทองจะเคลือบผิวบางมาก ผิวทองจึงไม่ติดทนเท่ากะไหล่. คำว่า กะไหล่ บางคนเรียกว่า กาไหล่ หรือ ก้าไหล่ (พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.๒๕๔๒ ให้ใช้ว่า กะไหล่ แต่ก็เก็บคำว่า กาไหล่ ไว้ด้วย) วิธีการทำก็คล้ายวิธีการทำทองเปียกโดยใช้ปรอทเช่นเดียวกัน แต่ใช้วิธีการชุบ แทนการทา

การเคี่ยวทองรวมกับปรอท ไม่ใช่เรื่องยากเลย แค่นำผงทองลงไปคน อาจใช้ไฟอ่อนช่วย ก็สามารถทำให้ทองรวมตัวกับปรอทได้แล้ว เช่นนี้เอง ปรอทจึงถูกนำมาใช้ในขั้นตอนการทำทองตั้งแต่สมัยโบราณ เพราะการรวมตัวกันที่ง่าย ดังนั้น เมื่อทองรูปพรรณที่เราสวมใส่ ไปถูกกับสารที่ใช้ในชีวิตประจำวันที่มีส่วนประกอบของสารปรอท เราจึงพบทองกลายเป็นสีขาว กลายเป็นที่มาของความเข้าใจผิดนั่นเอง

มาดูกันว่า ชีวิตประจำวันเราเจออะไรบ้างที่มีสารปรอท สำหรับร้านทองเอง มักเจอมากที่สุดคือพวกพยาบาลกับร้านทำฟัน

ร้านทำฟันนั้น ตัวหลักที่ถูกใช้งานทุกวัน และมีส่วนผสมของปรอทอย่างมากคือ อะมัลกัม (amalgam) ที่ใช้อุดฟันนั่นเอง โดยมีส่วนผสมประมาณ ถึง 50% ที่เหลือคือ โลหะเงินเป็นหลัก ตามด้วย ตะกั่ว ทองแดง สังกะสี ตามแต่สูตรของผู้ผลิตจะคิดค้นกันมา
เมื่อทองที่สวมใส่ไปทำฟันด้วย( ไม่รู้ว่าจะใส่ไปทำไม) โดนน้ำกรอฟันที่อุด ซึ่งวัสดุอุดฟันหรือ อะมัลกัม นั่นเอง กระเด็นใส่ ปรอทที่ปนเปื้อนมากับน้ำกรอฟัน ก็เหมือนพบเนื้อคู่ โดดเข้าจับติดหนับไม่ปล่อย เห็นเป็นดวงๆ ตามรอยที่กระเด็นมา

ยารักษาฝ้าบางชนิด ที่ทำให้หน้าขาววอก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ยาที่โฆษณาว่าทำให้หายได้ทันที มักมีส่วนผสมของสารปรอท ซึ่งสามารถใช้ได้ผลจริง แต่อาจมีอันตรายจากการสะสมปรอทที่ผิวหนัง และในร่างกายได้ สำหรับผมเอง ยังไม่เคยเจอกรณีทองโดนยารักษาฝ้าครับ แต่คิดว่า ถ้าโดนก็คงเป็นเรื่องเช่นกัน

ยาแดง หรือ เมอร์คิวโรโครม (mercurochrome) ถือเป็นยาสามัญคู่บ้านมาช้านาน ปัจจุบันลดความนิยมลง หันมาใช้ตัวอื่นที่ได้ผลเช่นกันแต่ไม่แสบ ไม่เป็นอันตรายเท่า เช่น โพวิโดน-ไอโอดีน (เบทาดีน)
ยาแดง ใช้ทาพวกแผลสดที่เป็นถลอกตื้นๆไม่ลึก เพราะว่ามันจะทำให้เกิดสะเก็ดแผลแห้งเร็วคลุมแผลไว้ไม่ให้เชื้อโรคเข้าแผล ไม่ควรทาลงบนแผลโดยตรง เพราะกลายเป็นแผลจะหายยากและอาจเป็นอันตรายจากสารปรอทแทน
ยาแดงใช้สารปรอทเป็นหลัก ซึ่งมีผลในการฆ่าเชื้อโรคเป็นอย่างดี ถ้าใครเคยสังเกต หลังการทายาแดง จะเห็นว่า มีเงาสะท้อนให้เห็นชัดเจนเพราะมีโลหะหนักเช่นปรอท เป็นส่วนประกอบในอัตราค่อนข้างสูงนั่นเอง

ทิงเจอร์ใส่แผลสด (merthiolate) ได้ใช้เป็นยาฆ่าเชื้อแบคทีเรียมานานแล้ว บางทีคุณอาจจะเคยใช้ทาที่บริเวณแผลเพื่อฆ่าเชื้อในตอนเด็กก็เป็นได้ ประเทศสหรัฐอเมริกาได้หันมาใช้ทิงเจอร์ที่ไม่มีส่วนผสมของปรอทแทนตั้งแต่ปี 1999 แล้ว แต่ผมเชื่อเหลือเกินว่า เมืองไทย น่าจะยังคงใช้กันอยู่

ส่วนตัวผม พยาบาลทั้งที่ทำปรอทแตก และที่ไม่ได้ทำแตก ยังมีวนเวียนมาถาม หรือ แม้กระทั่งมาด่าก่อนก็มี ผมจึงเชื่อว่า ยังคงมีการใช้ยาที่มีส่วนประกอบของปรอทอยู่ในงานรักษาพยาบาลอย่างแน่นอนครับ

Credit: http://www.thaigold.info/Board/
กรุณา Login เพื่อแสดงความคิดเห็น
ส่ง Scoop ให้เพื่อน
แจ้งลบไม่เหมาะสม
ความคิดเห็น

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Loading...