เส้นทาง "แบล๊กโกลด์" หลังประกาศ "อิสรภาพ" ย้อนดูกรณีศึกษา เมื่อ "ยอดมวย" ฉีกสัญญาค่ายเก่า

(ที่มา หนังสือพิมพ์มติชนรายวัน ฉบับประจำวันที่ 24 มีนาคม 2555)



กรณี "แบล๊กโกลด์" บัวขาว ป.ประมุข ออกมาใช้ท่าไม้ตาย "ยกเขาพระสุเมรุ" หวังเทกระจาดค่ายมวย ป.ประมุข ที่ปลุกปั้นตั้งแต่อายุ 8 ขวบ จนโด่งดังกลายเป็น "ซุปเปอร์สตาร์" เป็นปรากฏการณ์สะท้อนอะไรบางอย่าง...???

หลับตาย้อนลำดับเหตุการณ์ความขัดแย้งระหว่าง "บัวขาว VS ป.ประมุข" เริ่มต้นจากการที่บัวขาวหนีหายออกจากค่ายไปกว่า 10 วัน ทุกคนพยายามตามตัวกันจ้าละหวั่น จู่ๆ บัวขาวโผล่ออกมาบอกว่า ต้องการฉีกสัญญากับค่าย ป.ประมุข และต้องการพักผ่อนร่างกาย หยุดต่อยมวยสักระยะหนึ่ง พร้อมกับยืนยันหนักแน่นว่า ไม่เกี่ยวกับเรื่องเงินๆ ทองๆ ส่วนแบ่งระหว่าง นักมวยกับค่าย ป.ประมุข กระทั่งเริ่มเปิดค่ายมวย

แต่คนรอบข้าง "แบล๊กโกลด์" ดาหน้ากันออกมาฟันธงตรงกันว่า บัวขาวขัดแย้งเรื่องส่วนแบ่งค่าตัวกับทางค่าย และบัวขาวทนแบกรับความกดดันในเชิงธุรกิจที่ว่ากันว่า "อุ ป.ประมุข" หรือธีรพัฒน์ โรจนตัณฑ์ ผู้จัดการค่าย และลูกชาย "กำนันแก๊" - ประมุข โรจนตัณฑ์ เจ้าของค่าย ป.ประมุข นำมาบริหารงานยุคใหม่ไม่ได้อีกต่อไป

คำว่า "ธุรกิจ" กับกีฬา "มวยไทย" ในยุคก่อนอาจไม่เฟื่องฟู แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าในโลกยุคโลกาภิวัตน์ ธุรกิจมวยไทย มันแยกออกจากกันไม่ได้อย่างสิ้นเชิงไปแล้ว ค่ายมวยต่างๆ พยายามปรับเปลี่ยนกลยุทธ์มาสู้กัน มาแข่งขันกันทางธุรกิจเพิ่มมากขึ้น ไม่ต่างอะไรจากบริษัทเอกชนทั่วๆ ไป ที่มีการแข่งขันในเชิงธุรกิจค่อนข้างสูง นักมวยในค่ายก็ต้องปรับเปลี่ยนวิถีการขึ้นชก วิถีการดำรงอยู่ในวงการมวยท่ามกลางการแข่งขันในเชิงธุรกิจ


 



ใครอยู่ได้ก็อยู่ ใครที่อยู่ไม่ได้ก็หายไปจากวงการมวยไทย และธุรกิจมวยไทย

กรณีบัวขาว ป.ประมุข เป็นกรณีศึกษากรณีที่ 3 ของวงการมวยเมืองไทยท่ามกลางการแข่งขันกันทางธุรกิจ

กรณีแรก "โคตรมวยสารคาม" - แสนชัย ส.คำสิงห์ ที่ขอฉีกสัญญากับค่าย "ส.คำสิงห์" ของ "โม้อมตะ" - สมรักษ์ คำสิงห์ ออกมาตั้งค่ายมวยด้วยตนเอง และปัจจุบันใช้ชื่่อขึ้นเวทีมวยว่า "แสนชัย ซินบีมวยไทย" คราวนั้นแสนชัยออกมายอมรับว่า ค่ายดูแลนักมวยไม่ดี ทั้งที่เป็นนักมวยไทยเบอร์หนึ่งของเมืองไทยแห่ง พ.ศ.นี้

กรณีที่ 2 "คมพยัคฆ์ ซีพีเฟชรมาร์ท" หรือ "คมพยัคฆ์ ป.ประมุข" เดิม ไม่ยอมต่อสัญญากับค่าย ป.ประมุข พร้อมกับหันมาจรดปากกาเซ็นกับ "เพชรยินดี บ็อกซิ่ง โปรโมชั่น" จนก้าวขึ้นมาครองเข็มขัดสภามวยโลก (ดับเบิลยูบีซี) ในปัจจุบัน

ทั้ง 2 กรณีข้างต้นพระราชบัญญัติกีฬามวย พ.ศ.2542 เข้าไปมีบทบาทคุ้มครองการถูกเอารัดเอาเปรียบ และให้ความเป็นธรรมกับค่ายมวยต้นสังกัดอย่างมาก...

จึงต้องจับตามองว่า กรณีของบัวขาวขอฉีกสัญญากับต้นสังกัด ขณะที่ฝ่ายค่าย ป.ประมุข ออกมาบอกว่า บัวขาวยังเหลือสัญญาอยู่อีก 5 ปี พ.ร.บ.กีฬามวย พ.ศ.2542 จะเป็นทางออกกรณีดังกล่าวอย่างไร?

ที่แน่ๆ บัวขาวเริ่มนับหนึ่งกับธุรกิจมวยไทย ลงทุนเปิดค่ายมวยของตัวเอง ที่ว่ากันว่าเบื้องหลังการสนับสนุนงบประมาณและอุปกรณ์มวยไทยต่างๆ ไล่เรียงตั้งแต่ มงคลมวยไทย, ประเจียดรัดแขนมวยไทย, ผ้าพันมือ, นวม, ยางกัดฟันมวยไทย, ชุดแข่งขันมวยไทย กางเกงขาสั้น, กระจับมวยไทย, กระสอบทราย, เป้าเตะมวยไทย, เชือกกระโดด, เวทีมวยไทย ฯลฯ จาก "หยกขาว มวยไทย" หรือ "บริษัท หยกขาว บ็อกซิ่ง จำกัด" บริษัทผลิตและจำหน่ายสินค้าอุปกรณ์มวยไทยจากประเทศอิตาลี เจ้าของเป็นชาวอิตาลี

ประเด็นที่สะท้อนชัดเจนคือ มวยไทย นอกจากเป็นการแข่งขันศิลปะแม่ไม้มวยไทยของชนชาติไทย นอกจากในแง่ธุรกิจจะเป็นธุรกิจกีฬามีมูลค่าเกมการแข่งขันแต่ละรายการ มีการมูลค่าจากการถ่ายทอดสด มีมูลค่าจากการสนับสนุนของบรรดาสปอนเซอร์ มีมูลค่าจากการโฆษณาแฝงบนอุปกรณ์มวยไทยทุกชนิดแล้ว

มวยไทย ยังเป็นกีฬาเดียวของไทยที่ดึงดูดชาวต่างชาติทั่วโลกให้เข้ามาสู่ประเทศไทยในรูปแบบนักท่องเที่ยว และนักลงทุน ในแง่นักท่องเที่ยว ร้านอาหาร ผับ บาร์ สถานบันเทิงต่างๆ นิยมนำเวทีมวยไทย หรือมวยคาดเชือก มาต่อยโชว์ เพื่อเป็นกลยุทธ์หนึ่งในการดึงลูกค้าชาวต่างชาติให้เข้าร้าน และถ้ามองในภาพกว้างเป็นการกระตุ้นเศษฐกิจด้วยเม็ดเงินจากชาวต่างชาติได้เป็นอย่างดี

ปัจจุบันค่ายมวยไทยต่างๆ วางแผนกลยุทธ์ในเชิงธุรกิจเปิดสอนทักษะมวยไทยให้ชาวต่างชาติได้ร่ำเรียนศิลปะการป้องกันตัวของไทยอย่าง "มวยไทย" กันแบบเป็นคอร์สๆ ในปีๆ หนึ่งมีนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติแห่มาเรียนมวยไทยกับค่ายมวยต่างๆ นับไม่ถ้วน

ยกตัวอย่างค่ายมวย "แฟร์เท็กซ์" ของ "เสี่ยบรรจง" หรือบรรจง บุษราคัมวงษ์ ที่เน้นบริหารงานธุรกิจมวยไทยกันแบบเต็มตัว

"เสี่ยบรรจง" เล่าว่า ปัจจุบันรูปแบบธุรกิจมวยไทยบูมขึ้นมาในช่วง 4-5 ปีหลัง และมีแนวโน้มจะได้รับความนิยมต่อเนื่องอีก 2-3 ปีเป็นอย่างน้อย รูปแบบคำว่าธุรกิจมวยไทยเมื่อก่อนทำค่ายมวยเพื่อส่งนักมวยไปขึ้นเวทีเพื่อล่าเงินรางวัล หรือให้เซียนพนันเล่นกันรอบเวที แต่เดี๋ยวนี้ทำมวยสร้างชื่อเสียงเพื่อดึงดูดชาวต่างชาติมาฝึกมวยที่ค่ายต่างๆ อย่างที่แฟร์เท็กซ์ปัจุบันมีชาวต่างชาติมาฝึกมวยไทยเป็นประจำประมาณ 30 คนต่อการสอน 1 ครั้ง ซึ่งทางค่ายจะเก็บคนละ 500-800 บาท แต่ที่น่าตกใจข้อมูลล่าสุด ค่ายมวยที่เปิดสอนมวยไทยให้ชาวต่างชาติใหญ่ที่สุดในเมืองไทยอยู่ที่ จ.ภูเก็ต และกำลังจะเปิดสาขา 2 ที่ จ.เชียงใหม่ ลงทุนมหาศาลโดยชาวต่างชาติใช้ชื่อ "ไทเกอร์ยิมส์" การสอน 1 ครั้งมีชาวต่างชาติเรียน 100 คน เก็บค่าเรียน 300-400 บาท

"ศักดิ์ชาย ทัพสุวรรณ" เลขาธิการสภามวยไทยโลก (ดับเบิลยูเอ็มเอฟ) แสดงทรรศนะว่า ไม่ใช่เพียงแต่กรณี บัวขาวกับค่าย ป.ประมุข เท่านั้น แต่กรณีที่นักมวยแตกคอกับค่ายต้นสังกัด มันสะเทือนไปถึงความเชื่อมั่นของทั้ง 2 ฝ่าย แถมยังลุกลามไปถึงวงการมวยไทยโดยทั่ว มวยไทยเป็นศิลปะแม่ไม้มวยไทยที่สื่อถึงเอกลักษณ์ความเป็นไทย ที่คนไทยต้องช่วยกันรักษาไว้ ธุรกิจมวยไทยในยุคปัจจุบันเฟื่องฟูจนคาดเดาตัวเลขเป็นมูลค่าแทบไม่ได้ จังหวัดท่องเที่ยวต่างๆ ผุดค่ายมวยมาดึงเม็ดเงินจากชาวต่างชาติกันอย่างมาก

ว่ากันว่ากรณี "บัวขาว VS ป.ประมุข" เป็นหนึ่งในการต่อสู้กันของทั้ง 2 ฝ่ายในธุรกิจมวยไทยนอกสังเวียน

จับตาดูศึกไฟต์สำคัญนี้

ว่าจะจบลงอย่างไร...!!!

24 มี.ค. 55 เวลา 21:10 4,156 6 100
แชร์สกู๊ป
กรุณา Login เพื่อแสดงความคิดเห็น
ส่ง Scoop ให้เพื่อน
แจ้งลบไม่เหมาะสม
ความคิดเห็น

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Loading...