สวัส ดีค่า... บทความวิทยาศาสตร์วันนี้ อาจทำร้ายจิตใจน้องๆ ที่เกลียดแมงมุม เพราะว่าพี่มิ้นท์จะพูดถึงสัตว์ 8 ขา หน้าตาน่ากลัวอย่างเจ้าแมงมุม ตั้งแต่เริ่มจนจบบทความเลย ตลอดจนไปดูความมหัศจรรย์ของสิ่งที่เรียกว่าใย แมงมุมกัน รับรองว่า จะต้องอึ้ง แน่นอน
สำหรับ แมงมุมคงไม่มีใครไม่รู้จัก เพราะถ้าไม่รู้จักก็คงขึ้นอันดับ 1 เป็นสัตว์ที่ชาวอเมริกันกลัวมากที่สุดไม่ได้ เรียกว่าเป็นโรค arachnophobia หรือ โรคกลัวแมงมุมกันเลยทีเดียว ซึ่งถือเป็น phobia อันดับ1 ของชาวอเมริกันด้วย ส่วนชาติอื่น พี่มิ้นท์ว่าสถิติก็คงไม่แพ้กัน จะว่าไปก็แอบสงสารเจ้าแมงมุม แค่เกิดมาน่าเกลียดก็แย่อยู่แล้ว ดันเป็นสัตว์ที่คนเกลียดอีกอะ
แมงมุม หรือ spider จัด เป็นสัตว์อยู่ในกลุ่มแมง เพราะมี 8 ขา โดยลำตัวจะแบ่งออกเป็น 3 ส่วน คือ ส่วนหัว อก และ ท้อง สำหรับชนิดของแมงมุมนั้น ก็มีทั้งแบบไม่มีพิษและมีพิษ โดยเฉพาะแมงมุมแม่ม่ายดำ ถือว่าเป็นชนิดที่มีพิษร้ายแรงในประเทศไทย สำหรับวิธีการหาอาหารของแมงมุมทั่วๆไป ก็อย่างที่คุ้นเคยกัน คือ สร้างใยขึ้นมาเพื่อดักจับแมลงกินเป็นอาหาร ซึ่งเราแทบจะไม่เคยเห็นแมงมุมออกมาล่าอาหารด้วยตัวเองเลย จะว่าไปมันก็น่าสงสารอีกแล้ว ที่เด็กๆ หรือแม้กระทั่งผู้ใหญ่เอง ชอบไปทำลายใยแมงมุมของมัน
"แมงมุม" จะเริ่มสร้างรังของตัวเองตอนมันโตขึ้น ซึ่งการชักใยนี้จะเป็นสัญชาตญาณที่ติดตัวมา ไม่ต้องมีใครสอน นอกจากนี้แมงมุมในบางสปีชี่ จะมีลักษณะการชักใยเฉพาะเป็นของตัวเองด้วย ใยของแมงมุมจะอยู่ที่ส่วนท้อง เวลาจะชักใยก็จะพ่นใยออกมา จะให้เป็นเส้นใหญ่หรือเล็กก็ได้ จริงๆ แล้วใยดังกล่าว ก็คือโปรตีนชนิดหนึ่งชื่อว่า "ไฟโบรอิน" จะมีลักษณะเหลวๆ เหนียวๆ แต่พอถูกอากาศแล้วจะแข็งตัว หลัง จากนั้นแมงมุมก็จะใช้ขาถักเป็นเส้นใยไปเรื่อยๆ ทั้งแนวตั้งและแนวนอน โดยเส้นใยในแนวตั้งจะแข็งแรงมาก เป็นเส้นใยที่แมงมุมใช้ไต่ไปมา ทำให้ขามันไม่ติดกับใยตัวเอง ส่วนเส้นใยแนวนอนจะยืดหยุ่นและเหนียวมากเพื่อใช้ดักจับแมลง นั่นเอง
น้องๆ เคยสงสัยกันมั้ยว่า ทำไมเราไม่เคยเห็นมันตอนชักใยเลย ก็เพราะว่าแมงมุมจะลัลลากับการชักใยในตอนกลางคืนมากกว่ากลางวันค่ะ จุดที่เราจะพบใยแมงมุมได้บ่อย ส่วนใหญ่จะเป็นบริเวณต้นไม้ หรือแม้แต่บริเวณบ้านเราเอง อย่างพวกซอกผนังที่แตก หรือเพดานก็มีได้เหมือนกัน
วิธี การจัดการกับเหยื่อที่ถึงคราวซวยมาติดกับนั้นไม่ซับซ้อนเลย เพียงแค่มีแมลงมาติดกับ ใยก็จะสั่น เมื่อแมงมุมรู้ก็จะรีบมาชักใยพันแมลงเพื่อไม่ให้ดิ้นหลุดจากนั้นก็เริ่มกิน โดยจะไม่กินทั้งตัวเหมือนกบที่ตวัดลิ้นกินทีเดียวทั้งตัว แต่จะใช้วิธีดูดของเหลวภายในตัวแมลง กินเสร็จก็ปล่อยให้ตกพื้นไป แล้วจัดการซ่อมแซมใยของตัวเอง เผื่อดักจับรอบต่อไป ดูๆ ไปแล้วถือว่าแมงมุมเป็นสัตว์ที่มีความละเอียด ประณีตมากทีเดียว ที่สำคัญมีความอุตสาหะเอามากๆ เพราะถ้าชักใยไม่เสร็จ แมงมุมก็จะไม่หยุดทำงาน
ความมหัศจรรย์ของใยแมงมุม ไม่ใช่เฉพาะแค่เป็นเครื่องมือในการหากินของมันเท่านั้น แต่กลับอยู่ที่คุณสมบัติของใยแมงมุมมากกว่า ซึ่งนักวิทยาศาสตร์หลายท่านได้พูดเป็นเสียงเดียวกันเลยว่า เส้นใยแมงมุมมีความเหนียวมาก โดย มีข้อสังเกตคือ ทำไมแมลงที่บินมาถึงติดกับใยนี้ได้อย่างง่ายดาย บินชนก็ไม่ขาด ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อว่ามันสามารถหยุดผึ้งที่บอนด้วยความเร็ว 20 ไมล์/ชั่วโมงได้ เรียกว่ามีความยืดหยุ่นขั้นสุดยอด
และ ที่น่าทึ่งอีกอย่างนึง คือ มีความแข็งแรงมาก วัสดุที่เอาใช้ทำเกราะในปัจจุบัน คือ kevlar มีความทนทานแค่ 1 ใน 3 ของใยแมงมุมเท่านั้น ดังนั้นใน ปัจจุบัน นักวิทยาศาสตร์ได้เลียนแบบใยแมงมุมไปผลิตเป็นเสื้อเกราะกันกระสุนที่แข็งแรง แต่น้ำหนักเบา โดยแข็งแรงกว่าเหล็กถึง 5 เท่าถ้ามีจำนวนน้ำหนักเท่ากัน นอกจากนี้ ทางการแพทย์ก็สนใจที่จะไปทำผ้าพันแผล เพราะช่วยสมานแผลได้แถมไม่มีพิษอีกด้วย
และก่อนจบบทความนี้ พี่มิ้นท์ขอแทรกด้วยคลิปการสร้างใยของแมงมุมแบบซูมๆ เลย ไปดูว่า กว่าจะเสร็จหนึ่งรังเนี่ย เหนื่อยแค่ไหน
เรียกว่าเป็นสัตว์ที่มีรายละเอียดล้ำลึกกว่าที่คิด ซึ่งพี่มิ้นท์ว่านอกจากจะได้รู้เรื่องของแมงมุมมากขึ้นแล้ว ก็ยังได้ข้อคิดดีๆ จากแมงมุมไปอีกหลายข้อ ไม่ว่าจะเป็นความตั้งใจในการทำหน้าที่ของตัวเอง ตั้งใจอย่างเดียวไม่พอ ต้องมีความพยายามด้วย มีความสุขุม รอบคอบ สารพัดคุณสมบัติที่มนุษย์ควรมีเลยล่ะค่ะ ดูๆ ไปก็เป็นสัตว์ที่น่ายกย่อง จะดูถูกเหมือนเดิมไม่ได้แล้ว เพราะพรสวรรค์ที่ธรรมชาติให้แมงมุมมา มนุษย์อย่างเราๆ ยังต้องเลียนแบบเลย :)