13 มี.ค. 55 - เอเอฟพี - กรณีของเด็กชายวัย 8 ปี สูบบุหรี่วันละ 2 ซอง เป็นเครื่องตอกย้ำถึงความล้มเหลวในการควบคุมอุตสาหกรรมยาสูบของรัฐบาล อินโดนีเซีย คณะกรรมการคุ้มครองเด็กของอิเหนาแถลงวานนี้ (12)
ครัวเรือนชาวอินโดนีเซียเสียเงินกับค่าบุหรี่มากเป็นอันดับ 2 รองจากเรื่องอาหารการกิน ขณะที่ประชากรเกือบครึ่งหนึ่งจาก 240 ล้านคน มีรายได้ต่อวันต่ำกว่า 2 ดอลลาร์ (ประมาณ 60 บาท) แต่อินโดนีเซียก็ยังไม่มีกฎหมายกำหนดอายุของผู้ซื้อหรือผู้สูบบุหรี่
“อิลฮามเริ่มสูบบุหรี่ ตอนอายุ 4 ขวบ แกสูบจัดขึ้นทุกวัน จนตอนนี้ต้องสูบถึงวันละ 2 ซอง” สำนักข่าวอันตารา รายงานคำสัมภาษณ์ อุมาร์ บิดาผู้มีอาชีพขี่จักรยานยนต์รับจ้างของเด็กชายอิลฮาม
อิลฮามอาศัยอยู่ที่หมู่บ้านแห่งหนึ่ง ในเมืองซูกาบูมี จังหวัดชวาตะวันตก เขาจะมีอารมณ์เกรี้ยวกราด และลุกขึ้นทำลายข้าวของ หากไม่ได้สูบบุหรี่
“แกไม่อยากเรียนหนังสือ ทั้งวันแกเอาแต่สูบบุหรี่แล้วก็เล่น” อุมาร์ เล่า
ด้าน อาริสต์ เมอร์เดกา ซีเรต ประธานคณะกรรมการคุ้มครองเด็ก แถลงว่า ตัวอย่างล่าสุดนี้ตอกย้ำถึงความล้มเหลวของรัฐบาลในการควบคุมอุตสาหกรรมยาสูบ
“กรณีนี้เป็นหลักฐานอีกชิ้นหนึ่งที่แสดงให้เห็นว่ารัฐบาลพ่ายแพ้แก่ อุตสาหกรรมยาสูบ” ซีเรต กล่าว “จำนวนนักสูบที่เพิ่มขึ้นเป็นผลการตลาดของผู้ผลิตที่เน้นกลุ่มเป้าหมายวัย รุ่นอย่างหนัก”
ตัวอย่างอีกกรณีหนึ่งเป็นเด็กชายวัย 2 ปี เคยสูบถึงวันละ 40 มวน แต่ก็สามารถเลิกบุหรี่ได้ หลังจากได้รับการดูแลเป็นพิเศษในปี 2010
ทั้งนี้ จาการ์ตาประกาศขึ้นภาษีสรรพสามิต แต่ราคาบุหรี่ยังคงต่ำอยู่มาก เมื่อเทียบกับมาตรฐานราคาบุหรี่ในตลาดโลก โดยบุหรี่ซองหนึ่ง 20 มวน มีราคาไม่ถึง 1 ดอลลาร์ (ประมาณ 30 บาท) ขณะเดียวกัน องค์การอนามันโลกรายงานว่า อัตราการสูบบุหรี่ในอินโดนีเซียเพิ่มขึ้น 6 เท่า ในช่วง 40 ปีที่ผ่านมา
การสูบบุหรี่คร่าชีวิตคนอินโดนีเซียอย่างน้อย 400,000 คน ต่อปี และมีเหยื่ออีก 25,000 คน เสียชีวิตจากการสูบบุหรี่มือสอง หรือการสูดดมควันบุหรี่ที่ตนเองไม่ได้เป็นผู้สูบ