ใครที่เป็นแฟนจุลินทรรีย์แลคโตบาซิลัสคงออกอาการเซ็งเล็กน้อย เมื่อเครื่องดื่มประจำอย่าง "ยาคูลท์" จะปรับราคาขายขึ้นจากเดิมอีก 2 บาท เป็น 7 บาท เป็นครั้งแรกในรอบ 14 ปี
น.ส.กนกพรรณ เหตระกูล กรรมการผู้จัดการ บริษัท ยาคูลท์ (ประเทศไทย) จำกัด ชี้แจงความจริงในการขึ้นราคาสินค้า "ยาคูลท์" ตั้งแต่วันศุกร์ที่ 16 มีนาคมว่า ตลอดระยะเวลากว่า 40 ปีที่ผ่านมา บริษัทฯ มุ่งมั่นผลิตและจำหน่ายสินค้าคุณภาพที่เต็มเปี่ยมไปด้วยจุลินทรีย์แลคโตบาซิลลัส สายพันธุ์ชิโรต้าในราคาที่ทุกคนสามารถดื่มได้ แม้ว่าสถานการณ์แวดล้อมตลอดช่วงเวลากว่า 14 ปี ตั้งแต่ปี พ.ศ.2541 วัตถุดิบต่างๆ จะมีการปรับราคาสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่บริษัทฯ ก็ยังคงราคาขายยาคูลท์ไว้ที่ 5 บาท ในราคาสมาชิก และ 5.50 บาท สำหรับร้านค้าปลีกและจุดจำหน่ายอื่นๆ จนมาในปีนี้ราคาวัตถุดิบได้พุ่งสูงขึ้นมากกว่าเท่าตัว (ดูตารางประกอบ)
ตาราง
เมื่อเปรียบเทียบราคาวัตถุดิบเมื่อปี 2541 กับปีนี้ น้ำตาลทราย นม และเม็ดพลาสติกมีราคาสูงขึ้นมากกว่า 10 บาท ไปจนถง 55 บาท เช่นเดียวกับการเปลี่ยนแปลงทางภาวะเศรษฐกิจที่ทำให้วัตถุดิบและค่าครองชีพต่างๆ เพิ่มสูงขึ้น เช่น ข้าวเปล่าจากราคาถ้วยละ 2 บาท เป็น 10 บาท ไข่ไก่ฟองละ 4-5 บาท น้ำมันปาล์มลิตรละ 42 บาท น้ำมันเชื้อเพลิงราคาสูงขึ้นมากกว่า 200% เป็นต้น
ทุกเหตุการณ์นับเป็นการเปลี่ยนแปลงที่มีผลกระทบมาโดยตลอด จนมาถึงวันนี้เกินกำลังความสามารถที่บริษัทฯ จะควบคุมได้ ทำให้จำเป็นอย่างยิ่งที่จะขอปรับราคาขึ้น 2 บาท เพื่อให้สอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจ และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าสมาชิกและลูกค้าทุกท่านจะเข้าใจในความจำเป็นนี้ และให้การตอบรับยาคูลท์ดีเหมือนที่ผ่านมา
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การปรับราคาขายดังกล่าว ยังส่งผลไปถึงค่าคอมมิชชั่นของสาวยาคูลท์ จากเดิมที่เคยได้ขวดละ 75 สตางค์ ปรับเพิ่มเป็น 1.30 บาท
สำหรับนมเปรี้ยวยาคูลท์ ถือกำเนิดขึ้น ประมาณปี พ.ศ.2473 ที่ประเทศญี่ปุ่น มีประชากรจำนวนมากที่ต้องล้มตายด้วยการขาดสารอาหาร ประสบปัญหาโรคในระบบทางเดินอาหาร ได้แก่ ท้องร่วง การติดเชื้อในลำไส้ อันสืบเนื่องมาจากการสาธารณสุขที่ยังไม่ดีพอ
ดร. มิโนรุ ชิโรต้า จึงมีความสนใจที่จะศึกษาวิจัยเกี่ยวกับแบคทีเรียกรดนม ด้วยแนวความคิดที่จะใช้เเบคทีเรียควบคุมแบคทีเรียด้วยกันเอง เเละได้ประสบความสำเร็จในการคัดเลือกเเบคทีเรียกรดนมที่มีความแข็งแรงที่สุดจากกว่า 300 สายพันธุ์ เป็นแบคทีเรียที่สามารถทนต่อกรดของกระเพาะอาหาร และน้ำดีจากตับที่มีฤทธิ์เป็นด่าง และยังมีชีวิตรอดอยู่ได้ในลำไส้คนเรา ซึ่งสายพันธุ์อื่นทนไม่ได้ ชื่อว่า แลคโตบาซิลลัส คาเซอิ สายพันธุ์ ชิโรต้า
ด้วยแนวคิดที่จะให้ทุกคนมีสุขภาพที่ดี ดร. มิโนรุ ชิโรต้า จึงได้นำแบคทีเรียตัวนี้มาผลิตเป็นผลิตภัณฑ์นมเปรี้ยวให้ชื่อว่า "ยาคูลท์" และเริ่มออกจำหน่ายเป็น ครั้งแรกที่ประเทศญี่ปุ่นเมื่อปี พ.ศ.2478 ในปัจจุบันมีประชากรกว่า 26 ล้านคน
ใน 32 ประเทศทั่วโลกที่ดื่มยาคูลท์เป็นประจำ
ข้อมูลบางส่วนจาก prachachat.net