ฎีกาสั่งเมล์ 207-ขสมก.จ่ายร่วม 10 ล้าน ให้ญาติ นศ.เอแบค
นายนำ โชติมนัส บิดาน้องหุย โชว์คำพิพากษา
นายทวิม แสงเดช พนักงานขับรถเมล์สาย 207 คันที่เกิดเหตุ
ศาลฎีกาพิพากษาให้คนขับรถเมล์ 207, นายจ้าง, เจ้าของสัมปทาน และ ขสมก.ร่วมกันจ่ายเงิน 9,856,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี ให้กับบิดามารดา “น้องหุย” อดีตนักศึกษาเอแบค ที่พลัดตกลงมาเสียชีวิต ศาลย้ำถือเป็นความประมาทของจำเลยทุกคน ด้านพ่อน้องหุย เผย ต้องการให้เป็นคดีตัวอย่าง แม้เหตุการณ์จะผ่านมานาน แต่ยังเห็นเกิดอุบัติเหตุจากรถสาธารณะเป็นประจำ
วันนี้ (8 มี.ค.) ที่ศาลแพ่ง ถ.รัชดาภิเษก ศาลอ่านคำพิพากษาศาลฎีกา ในคดีที่ นายนำ และนางลักษณา โชติมนัส สามีภรรยา ร่วมกันเป็นโจทก์ฟ้อง นายทวิม แสงเดช พนักงานขับรถเมล์สาย 207 นายธนสิทธิ์ วรโชติหิรัญศิริ นายจ้างพนักงานขับรถ, นายฤกษ์ชัย เรืองกิตติยศ เจ้าของรถ, บริษัท 207 เดินรถ จำกัด, นายเชาวน์ กระแสชล เจ้าของสัมปทานเดินรถ และองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ เป็นจำเลยที่ 1-6 ตามลำดับฐานละเมิด กรณี น.ส.ปิยะธิดา หรือน้องหุย โชติมนัส นักศึกษามหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ พลัดตกจากรถเมล์สาย 207 วิ่งระหว่าง ม.รามคำแหง 1 - ม.รามคำแหง 2 เสียชีวิต เมื่อวันที่ 14 ก.ย.2547 เรียกค่าสินไหมทดแทน 12 ล้านบาทเศษ คดีนี้ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยร่วมกันใช้เงิน 10,747,000บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 นับแต่วันละเมิด และยกฟ้อง นายฤกษ์ชัย จำเลยที่ 3 เพราะเป็นเพียงผู้มีชื่อเป็นเจ้าของรถอยู่เดิมเท่านั้น คดีนี้ จำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 5 ขาดนัดพิจารณาและไม่ยื่นฎีกา
ศาลฎีกาพิพากษาใจความว่า ศาลพิเคราะห์แล้ว เห็นว่า จำเลยที่ 1 เป็นพนักงานขับรถเมล์สาย 207 วิ่งระหว่างรามคำแหง-หัวหมาก ถึง รามคำแหง-บางนา จำเลยที่ 1 ยอมรับในคดีอาญาว่า กระทำโดยประมาทจริง ศาลอาญาลงโทษจำคุก 1 ปี 6 เดือน คดีถึงที่สุดแล้ว คดีแพ่งจึงจำต้องอาศัยข้อเท็จจริงส่วนอาญา ฟังว่า ในคดีแพ่งจำเลยกระทำโดยประมาทด้วย เห็นว่า จำเลยกระทำละเมิดต่อโจทก์หรือไม่ เห็นว่า นายทวิม จำเลยขับรถเมล์ อันเป็นยานพาหนะเดินเครื่องจักรกลตามกฎหมาย ป.แพ่งมาตรา 437 ย่อมต้องระมัดระวังไม่ให้เกิดความเสียหายกลับปล่อยปละไม่ปิดประตูรถเมล์ จำเลยที่ 2, 4, 6 เป็นนายจ้าง ต้องร่วมรับผิดในการกระทำของลูกจ้าง และแม้พยานจำเลยอ้างว่าผู้เสียหายมีส่วนผิด ก้าวเท้าพลาดตกไปเองก็ตาม แต่ศาลเห็นประตูรถเมล์เป็นสิ่งป้องกันมิให้เกิดอันตราย เมื่อรู้ว่าประตูเสียกลับไม่ซ่อมแซม และไม่ปิดประตูรถ ทำให้ผู้ตายพลัดตกไปตาย จึงเป็นความประมาทของจำเลยที่ 1 และจำเลยอื่นๆ ทุกคน ต้องรับผิดในผลแห่งละเมิดด้วย ซึ่งเป็นค่ารักษาพยาบาล ค่าปลงศพ ค่าขาดไร้อุปการะเป็นเวลา 20 ปี ซี่งเป็นค่าสินไหมทดแทน
พิพากษาว่า จำเลยที่ 1, 2, 4, 5, 6 ต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทน รวมทั้งสิ้น 9,856,000บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันละเมิด และให้ออกหมายบังคับคดี คำบังคับคดี ไปยึดทรัพย์จำเลย มาชำระหนี้แก่โจทก์ต่อไป
นายนำ บิดาผู้เสียชีวิต เปิดเผยว่า ในฐานะพ่อ ได้ต่อสู้เรื่องนี้มานาน และทุกวันยังมีข่าวอุบัติเหตุทำให้คนเจ็บคนตายแทบทุกวัน จนเมืองไทยแทบจะเป็นที่ 1 ในประเทศที่มีอุบัติเหตุสูงสุด จึงขอฝากให้กระทรวงคมนาคม ระมัดระวังการออกใบอนุญาตใบขับขี่สาธารณะให้เข้มงวด และต้องมั่นระมัดระวังผู้ขับรถโดยเฉพาะช่วงเทศกาลสงกรานต์ที่จะถึง และบรรดาผู้ขับรถต้องมั่นตรวจตรารถให้อยู่ในสภาพปลอดภัย ใครที่เคยมีประวัติขับรถเมล์ รถโดยสารชนคนตาย หรือประสบอุบัติเหตุร้ายแรง ก็ให้ยึดใบอนุญาต อย่าปล่อยให้ไปขับอีก คดีนี้จะเป็นข้อเตือนใจให้ผู้ขับขี่รถต้องพึงระมัดระวัง อีกทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพราะหากใช้ความระมัดระวังซ่อมแซมอุปกรณ์ที่บกพร่องก็ไม่ต้องมาจ่ายค่าสินไหมจำนวนมากเช่นนี้ แม้ลูกสาวผมจะตายไปแล้ว แต่ก็ไม่อยากให้ลูกใครต้องมาประสบเคราะห์กรรมอย่างเดียวกันอีก
“ตลอดเวลา 7 ปีที่ผ่านมา ผมก็ยังได้ยินข่าวรถเมล์ รถตู้ ชนคนตายบนท้องถนนอยู่ ส่วนใหญ่ขับรถเร็ว โดยไม่กลัวว่าจะเกิดอุบัติเหตุ จึงอยากให้กระทรวงคมนาคม ตลอดจนกรมการขนส่งทางบก มีความเข้มงวดในเรื่องใบอนุญาตขับขี่ เช่น หากพนักงานขับรถโดยสารชนคนตาย ก็ควรยึดใบอนุญาตขับขี่ ส่วนรถที่เพิ่งเกิดอุบัติเหตุก็ไม่ให้นำออกมาใช้วิ่งรับส่งผู้โดยสารอยู่ เหมือนอย่างปัจจุบัน ดังนั้น คาดหวังว่า การตายของลูกสาวผม จะเป็นบรรทัดฐานให้พนักงานขับรถและผู้ประกอบการรถเมล์ ไม่ประมาท และหามาตรการป้องกันความสูญเสียที่จะเกิดขึ้นกับผู้โดยสารและคนเดินถนน ดีกว่าที่จะต้องมากังวลใจและยังต้องชดใช้เงินให้กับผู้เสียหายในภายหลัง” นายนำ กล่าว