"ทุกก้าวคือตำนาน" คือ สโลแกน ผลิตภัณฑ์รองเท้าแบรนด์ "นันยาง" ซึ่งดำเนินการผลิตสินค้ารองเท้ามายาวนานกว่า 57 ปี
ล่าสุด สามารถเรียกรอยยิ้ม เสียงหัวเราะ ยอดคลิก "ไลท์" และ "แชร์" มากมาย เมื่อมีการนำเอาคำตอบของข้อสอบโอเน็ตวิชาสุขศึกษาที่เด็กชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ใช้สอบเมื่อวันเสาร์ที่ 19 กุมภาพันธ์ มาเป็นโปสเตอร์โฆษณาสินค้าใน www.facebook.com/Nanyang.co.th
ขอฝากตอนหนึ่งจากบทความชื่อ "จำอวด ′โอเน็ต′ ของ" ของ นิธิ เอียวศรีวงศ์ ซึ่งตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์มติชนรายวัน เมื่อวันที่ 5 มีนาคม ที่ผ่านมา
"ความล้าหลังของการศึกษาไทยก็อยู่ตรงที่ไม่สนใจจะให้นักเรียนคิดวิเคราะห์เป็นนี่แหละ ความมุ่งหมายของคณะกรรมการออกข้อสอบจึงนับว่าน่าสรรเสริญ แต่ไม่มีทางจะประสบความสำเร็จได้เป็นอันขาด เพราะเครื่องมือที่คณะกรรมการมี คือการออกข้อสอบเป็นแค่ไม้จิ้มฟัน ย่อมไม่อาจไปงัดไม้ซุงความล้าหลังของระบบการศึกษาไทยได้อย่างแน่นอน งัดไปก็เป็นที่ขบขันของคนทั่วไปอย่างที่เกิดขึ้นทุกปี
"ข้อสอบเช่น หากเกิดความต้องการทางเพศแล้ว วัยรุ่นควรทำอย่างไร คำตอบมีให้เลือกนับตั้งแต่เล่นกีฬาไปถึงชวนกิ๊กไปดูหนัง ไม่ใช่สิ่งน่าขำในตัวเอง แต่ไม่ว่านักเรียนจะเลือกคำตอบข้อไหน ก็ไม่มีทางที่ผู้ตรวจจะรู้ได้เลยว่า เด็กคิดวิเคราะห์เป็นหรือไม่ เพราะการคิดวิเคราะห์เป็นกระบวนการคิด ไม่ใช่คำตอบที่ถูกต้อง (ไม่ว่าจะมีข้อเดียวหรือหลายข้อ) ไม่ว่าจะเลือกตอบข้อไหน ก็ขึ้นอยู่กับว่าเขาสำนึกถึงเงื่อนไขต่างๆ ถี่ถ้วนสักเพียงไร (ในวัยของเขา) และนำเงื่อนไขเหล่านั้นมาคำนวณผลได้ผลเสียจากการตัดสินใจของเขามากน้อยเพียงไร ฉะนั้นแม้นักเรียนจะตอบว่า ควรพากิ๊กไปดูหนัง พลาดพลั้งจะได้พาเข้าโมเตลให้สิ้นเรื่องสิ้นราวไป ก็อาจแสดงการคิดวิเคราะห์ที่ดีได้ เพราะได้นำเงื่อนไขทุกประเภทมาไตร่ตรองจนรอบคอบแล้ว และสรุปว่าในสถานการณ์ของเขา นี่คือคำตอบที่เหมาะสุด
"เขาคิดอย่างไร สำคัญกว่าเขาเลือกจะทำอะไร"