ปีนเขาคิชฌกูฏ ไหว้"พระบาทพลวง"

นับตั้งแต่เทศกาลตรุษจีนเป็นต้นมา เรื่อยจนถึงวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 3 หรือ "วันมาฆบูชา" ปีนี้ตรงกับวันที่ 7 มี.ค. บรรยากาศบน "เขาคิชฌกูฏ" หรือ "เขาพลวง" ชื่อเดิมที่ชาวบ้าน อ.เขาคิชฌกูฏ จ.จันทบุรี เรียกขานกัน คลาคล่ำไปด้วยนักท่องเที่ยว

โดยเฉพาะพุทธศาสนิกชนไม่เว้นแม้แต่ผู้เฒ่าผู้แก่ ต่างดั้นด้นขึ้นเขาเพื่อมานมัสการสักการะรอยพระพุทธ บาทบนยอดเขาแห่งนี้ หรืออีกชื่อ "พระบาทพลวง" ตามชื่อเดิมของภูเขา

จากปากต่อปากของผู้คนที่เคยมาต่างพูดถึงความศักดิ์สิทธิ์ของรอยพระพุทธบาทแห่งนี้ จึงส่งผลให้ประชาชนนิยมมานมัสการพระบาท พลวงเป็นจำนวนมากเพื่อเสริมสิริมงคลให้กับตัวเอง ยิ่งตรุษจีนถึงช่วงวันมาฆบูชาของทุกปีมีประชาชนขึ้นมานมัส การกันทั้งกลางวันและกลางคืน

เป็นรอยพระพุทธบาทขนาดใหญ่ กว้าง 1 เมตร ยาว 2 เมตร อยู่บนยอดเขาสูงจากระดับน้ำทะเล 1,000 เมตร ถือเป็นรอยพระ พุทธบาทที่สูงที่สุด ของประเทศไทย

ปัจจุบันอยู่ในพื้นที่ของอุทยานแห่งชาติเขาคิชฌกูฏ มีพื้นที่ครอบคลุม อ.มะขาม และ อ.เขาคิชฌกูฏ จ.จันทบุรี ห่างจากตัวเมืองจันท์ประมาณ 40 กิโลเมตร

เขาคิชฌกูฏยังเป็นต้นน้ำสำคัญของแม่น้ำจันทบุรี ภูมิประเทศเป็นป่าดิบชื้น ป่าดิบเขา และป่าไม้ผลัดใบ มีความหลากหลายทางพันธุ์พืช อุดมไปด้วยสมุนไพร และกล้วยไม้ป่านานาชนิด รวมทั้งพันธุ์ไม้หายากอย่าง "กฤษณา"

วกกลับมาที่รอยพระพุทธบาท สิ่งคู่กันคือ พระครูธรรมสรคุณ (เขียน ขันธสโร) หรือชาวบ้านเรียกว่า "ท่านพ่อเขียน" เจ้าอาวาสวัดกะทิง ต.พลวง อ.เขาคิชฌกูฏ และอดีตเจ้าคณะอำเภอมะขาม จ.จันทบุรี เนื่องจากท่านถือเป็นผู้หนึ่งที่บุกเบิกให้พุทธศาสนิกชน ขึ้นมาสักการะรอยพระพุทธบาท บนยอดเขาคิชฌกูฏ จนกลายเป็นประเพณีสืบมาจนถึงทุกวันนี้

โดยในปีนี้ทางคณะกรรมการวัดกำหนดในระหว่างวันขึ้น 1 ค่ำ เดือน 3 ถึงวันแรม 15 ค่ำ เดือน 4 กำหนดระยะ 60 วัน เริ่มมาตั้งแต่วันที่ 24 ม.ค. ไปจนถึงวันที่ 24 มี.ค. เป็นเทศกาลขึ้นเขาแสวงบุญ

ก่อนจะเปิดให้ขึ้นเขา ท่านพ่อเขียนจะทำพิธีปิดป่าเพื่อเปิดเขาให้พุทธศาสนิกชนขึ้นมานมัสการพระบาทพลวง ซึ่งพิธีนี้ผ่านพ้นไปแล้ว

พิธีปิดป่าในความหมายของท่านพ่อเขียน หมายถึง ปิดตา มิให้ภูตผีปีศาจ หรือสัตว์ร้ายได้มองเห็น หรือเข้ามาในบริเวณเส้นทางเดินขึ้นเขา อีกทั้งยังเป็นการบวงสรวงเทพยดาฟ้าดินเพื่อความเป็นสิริมงคล เพื่อให้ทุกคนที่มาขึ้นเขาคิชฌกูฏแคล้วคลาดปลอดภัยจากอันตรายต่างๆ

สำหรับการเดินทางมานมัสการรอยพระพุทธบาท บนยอดเขาคิชฌกูฏ มาตามถนนสุขุมวิท เมื่อมาถึงหลักก.ม.ที่ 324 เป็นสี่แยกเขาไร่ยา ให้เลี้ยวซ้ายไปเส้นทางถนนพระบำราศนราดูร มุ่งหน้าไปอ.เขาคิชฌกูฏ ระยะทาง 18 ก.ม. ถึงตลาดกะทิง ผ่านสะพานข้ามคลองกะทิง ตรงหน้า วัดกะทิง ต.พลวง อ.เขาคิชฌกูฏ พบสี่แยกให้เลี้ยวขวาไปวัดพลวง ระยะทาง 3 ก.ม.แล้วเลี้ยวซ้ายไปทางขึ้นเขื่อนเก็บน้ำบ้านพลวง จุดนี้ต้องจอดรถยนต์ฝากไว้ที่กรรมการวัดพลวง

จากนั้นต้องใช้บริการรถกระบะโดยสารไม่มีหลังคา เป็นรถขับเคลื่อน 4 ล้อ ไต่เขาขึ้นที่สูงได้ คนขับชาวบ้านที่เป็นลูกศิษย์ท่านพ่อเขียนมีความชำนาญขับขี่รถยนต์ และเส้นทางขึ้นเขาระยะทาง 8 ก.ม.

แต่ต้องจอดรอเพื่อถ่ายรถยนต์คันที่ 2 หรือระยะที่ 2 เส้นทางลาดยาง และมีจุดจอดรถยนต์รอสวนทางกัน ไม่ขับเร็ว จำกัดความเร็ว ราคาไปกลับขึ้น-ลงรวม 200 บาท

การขึ้นเขาพระบาทพลวงเปิดบริการตลอด 24 ช.ม. มีแสงสว่างรายทาง มีเจ้าหน้าที่ตำรวจและอาสาสมัครชาวบ้านสอดส่องดูแลความปลอดภัย จึงมีผู้คนขึ้นลงเขาตลอดเวลา 24 ช.ม.

เมื่อสุดเส้นทางรถยนต์แล้วต้องเดินขึ้นเขาไปตามบันไดปูนอีกประมาณ 1.2 ก.ม. ก็ถึงที่จุดหมาย

นอกจากจะได้นมัสการพระพุทธบาทศักดิ์สิทธิ์แล้ว ยังจะได้ชมความงดงามแปลกอัศจรรย์ของหินลูกพระบาท ก้อนหินกลมใหญ่ริมหน้าผา และได้รับความสดชื่นจากบรรยากาศบนยอดเขาคิชฌกูฏ

นอกจากนี้ หากใครถึงวัดพลวงตอนเย็นสามารถพักค้างคืนเพื่อเริ่มขึ้นยอดเขาในตอนเช้าได้ โดยทางวัดมีที่พักและที่อาบน้ำไว้รองรับคนได้จำนวนมาก

 

3 มี.ค. 55 เวลา 21:24 5,067 4 90
แชร์สกู๊ป
กรุณา Login เพื่อแสดงความคิดเห็น
ส่ง Scoop ให้เพื่อน
แจ้งลบไม่เหมาะสม
ความคิดเห็น

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Loading...