เซนเซอร์กินได้ที่คอยตรวจสอบอาหารให้คุณ
ผ้าไหมถือเป็นวัสดุที่มีประโยชน์มากมายหลายอย่าง ไม่ว่าจะใช้ผลิตเป็นเสื้อผ้าที่มีความหรูหรา หรือใช้เป็นเส้นด้ายเย็บแผลเวลาผ่าตัด, ใช้ในอุปกรณ์อิเลคทรอนิกส์ชนิดที่มีความยืดหยุ่นสูง หรือการนำไปประยุกต์ใช้ด้านๆอื่นๆที่มีความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และในอีกไม่ช้าคุณจะได้พบมันในอาหาร
นักวิทยาศาสตร์จาก Tufts University ได้ใช้หลักทางวิศวกรรมผสมผสานวัสดุต่างๆให้กลายเป็นเซนเซอร์ตรวจอาหารที่สามารถทานได้ เมื่อใช้เซนเซอร์นี้แปะเข้าไปบนเปลือกไข่, ติดเข้ากับผลไม้หรือ ใส่ให้ลอยอยู่บนผิวหน้าของนม มันก็สามารถช่วยเตือนได้ว่าผลไม้นั้นสุกหรือยัง นมเริ่มเสียจนมีรสเปรี้ยวแล้ว เป็นต้น
เซนเซอร์ตัวนี้ใช้หลักในการพัฒนาโดยใช้พื้นฐานมาจากเทคโนโลยี RFID แต่สิ่งที่ต่างออกไปก็คือ มันไม่แข็ง ,มีความยืดหยุ่นและสามารถทานได้ ด้วยการใช้เสาอากาศทองคำ (gold antennae) ฝังลงไปในฟิล์มที่ทำจากเส้นไหมบริสุทธิ์ ซึ่งเสาอากาศทองคำที่ใช้มีความบางกว่าแผ่นทองปิดอยู่บนขนมหวานบางชนิดซะอีก ส่วนฟิล์มที่สกัดมาจากเส้นไหมก็เป็นโปรตีนบริสุทธิ์ที่สามารถย่อยได้ ก็เลยทำให้เซนเซอร์ตัวนี้มีความยืดหยุ่น สามารถโค้งไปตามพื้นผิวของผลไม้ที่ติดลงไปได้ นอกจากนี้ฟิล์มที่ทำจากเส้นไหมยังทำหน้าที่เป็นกาวของเซนเซอร์ตัวนี้อีกด้วย เพียงแค่โดนน้ำก็จะเหนียวขึ้นแล้วก็นำไปติดบนอาหารที่ต้องการติดตามโดยไม่ต้องใช้กาวๆชนิดอื่นๆมาติดเพิ่มเลย
เมื่อผลไม้เริ่มสุกหรือเน่า สารเคมีในตัวมันก็จะเกิดการเปลี่ยนแปลง เมื่อนำมารวมกับกลิ่นที่แตกต่างออกไป เซนเซอร์ก็จะแปลข้อมูลให้กลายเป็น dielectric property เซนเซอร์จะคอยตรวจจับความเปลี่ยนแปลงแล้วส่งเป็นสัญญาณคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าออกไปให้เครื่องอ่านทราบ เซนเซอร์นี้สามารถปรับแต่งความไวในการจับการเปลี่ยนแปลงให้เข้ากับ dielectric property ของอาหารชนิดต่างๆได้ เช่น เซนเซอร์ที่ใช้กับกล้วยจะมีขนาดใหญ่กว่าเซนเซอร์ที่ใช้กับนม
Tao และทีมงานได้ทดสอบเซนเซอร์ตัวนี้โดยนำไปติดกับกล้วย, ไข่, แอปเปิ้ล, ชีส และนม ซึ่งผลการทดลองของเค้าได้ถูกตีพิมพ์ในวารสาร Advanced Materials ถ้าใครสนใจก็ไปหาอ่านดูได้นะ