ผลวิจัยล่าสุด ‘ผู้ชาย’ ไม่สูญพันธุ์ง่าย ๆ
ก่อนหน้านี้เคยมีงานวิจัยว่า โครโมโซมวาย ซึ่งมีเฉพาะในผู้ชายเท่านั้น กำลังหดสั้นลงเรื่อย ๆ และจะสูญพันธุ์ไปอย่างรวดเร็วในอีก 5 ล้านปี แต่การศึกษาล่าสุดในสหรัฐฯ ตามรายงานของบีบีซีนิวส์พบว่า การสลายทางพันธุกรรมดังกล่าวได้หยุดลงแล้ว
ทั้งนี้ ศาสตราจารย์ เจนนิเฟอร์ เกรฟส์ (Prof. Jennifer Graves) จากมหาวิทยาลัยแห่งออสเตรเลีย (Australian National University) เคยระบุว่า โครโมโซมวาย (Y chromosome) ซึ่งเป็นโครโมโซมที่มียีนผลิตฮอร์โมนและลักษณะความเป็นผู้ชายนั้นจะสูญพันธุ์ภายใน 5 ล้านปี โดยพิจารณาจากอัตราการสูญยีนในโครโมโซม
ส่วน ไบรอัน ซีคส์ (Brian Sykes) ศาสตราจารย์ทางด้านพันธุศาสตร์ ผู้เขียนหนังสือเกี่ยวกับโลกที่ปราศจากผู้ชายเมื่อปี 2003 ได้พยากรณ์ว่า โครโมโซมวายจะหดเล็กลงภายใน 100,000 ปี ซึ่งการพยากรณ์ดังกล่าว อ้างอิงจากการเปรียบเทียบระหว่างโครโมโซมเอกซ์ (X) และโครโมโซมวาย โดยเชื่อว่าในยุคแรกเริ่มของประวัติศาสตร์สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมนั้น โครโมโซมทั้งสองชนิดนี้มีความคล้ายกัน แต่ตอนนี้โครโมโซมวายมียีนประมาณ 78 ยีน ขณะที่โครโมโซมเอกซ์มี 800 ยีน
หากแต่ เจนนิเฟอร์ ฮิวจ์ส (Jennifer Hughes) และคณะจากสถาบันไวท์เฮด (Whitehead Institute) ในเมืองเคมบริดจ์ (Cambridge) รัฐแมสซาชูเซตส์ (Massachusetts) สหรัฐฯ ได้เริ่มค้นหาว่าข่าวลือเกี่ยวกับการสูญสิ้นของโครโมโซมวายนั้นเกินจริงไปเพียงใด โดยรายงานในวารสารเนเจอร์ (Nature) ที่ตีพิมพ์เมื่อปี 2005 ได้จับโครโมโซมวายของคนและลิงชิมแปนซี (Chimpanzee) มา ซึ่งแยกสายวิวัฒนาการจากมนุษย์เมื่อ 6 ล้านปีก่อนมาเปรียบเทียบ และตอนนี้พวกเขาก็หาลำดับพันธุกรรมในโครโมโซมวายของลิงวอก (Rhesus Macaque) ซึ่งแยกสายวิวัฒนาการจากมนุษย์เมื่อ 25 ล้านปีก่อน
ผลสรุปจากการศึกษาเปรียบเทียบนี้ ทำให้ทราบถึงการสูญสลายทางพันธุกรรมเพียงเล็กน้อยในยุคแรก ๆ โดยที่โครโมโซมของมนุษย์ไม่เคยสูญเสียยีนเลยในช่วง 6 ล้านปีที่ผ่านมา และสูญเสียยีนไปเพียง 1 ยีนเมื่อ 25 ล้านปีก่อน ซึ่ง ฮิวจ์ส บอกทางบีบีซีนิวส์ว่า โครโมโซมวายไม่ได้หายไปไหน และการสูญเสียกำลังหยุดลง แต่ทีมวิจัยก็ไม่อาจฟังธงได้ว่า การสูญสลายจะเกิดขึ้นอีกหรือไม่ แต่ตอนนี้ยีนที่หลงเหลืออยู่ในโครโมโซมวายยังคงอยู่ โดยยีนเหล่านี้สร้างหน้าที่สำคัญบางอย่างที่เรายังไม่เข้าใจมากนัก แต่ถูกเก็บรักษาไว้อย่างดีโดยการคัดสรรของธรรมชาติ
เซลล์ของคนส่วนใหญ่มีโครโมโซม 23 ชุด ซึ่งรวมถึงคู่ของโครโมโซมเพศ โดยในผู้หญิงนั้นมีโครโมโซมเพศเป็น 2 โครโมโซมเอกซ์ ขณะที่ผู้ชายมีโครโมโซมหนึ่งเป็นเอกซ์และอีกโครโมโซมเป็น Y ซึ่งยีนในโครโมโซมวายนี้กระตุ้นการพัฒนาในตัวอ่อนของอัณฑะผู้ชายและการหลั่งฮอร์โมนเพศชาย
สำหรับการถดถอยทางพันธุกรรมของโครโมโซมที่เกิดขึ้นนั้น เพราะในช่วงการสืบพันธุ์นั้นมีการแลกเปลี่ยนวัตถุทางพันธุกรรมระหว่างโครโมโซมเอกซ์และวายเพียงเล็กน้อย ต่างจากการแลกเปลี่ยนระหว่าง 2 โครโมโซมเอกซ์ในผู้หญิง ทำให้มีการส่งต่อการกลายพันธุ์และการหลุดหายของโครโมโซมวายระหว่างรุ่นสู่รุ่นในเพศชาย
ทางด้าน ศาสตราจารย์ มาร์ก ปาเกล (Prof. Mark Pagel) นักชีววิทยาวิวัฒนาการจากมหาวิทยาลัยรีดิ้ง (University of Reading) ในอังกฤษ ผู้แสดงความเห็นว่า งานวิจัยดังกล่าวแสดงให้เห็นว่ามีการสูญเสียยีนในโครโมโซมวายอย่างรวดเร็วในช่วงแรก ๆ แล้วก็มาถึงจุดที่กระบวนการดังกล่าวหยุดชะลอลง