ทูตไทยประจำเวียดนามแนะเทคนิค-องค์ความรู้ลงทุนเวียดนามอย่างไร?

 


นายอนุสนธิ์ ชินวรรโณ

 

เวียดนามตั้งเป้าปี 2563 เป็นประเทศอุตสาหกรรมใหม่ ยกระดับศูนย์กลางการศึกษาในภูมิภาค ตั้งมหาวิทยาลัยสมุนไพร-ยาแผนโบราณ ทูตไทยแนะลงทุนเวียดนามรู้ภาษาเวียดดีกว่าภาษาอังกฤษ

นายอนุสนธิ์ ชินวรรโณ เอกอัครราชทูตไทย ประจำสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม กล่าวบรรยายพิเศษแก่ที่ประชุมคณบดีสาขาเกษตรทั่วประเทศในหัวข้อ "การศึกษาในประเทศสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม" ที่มหาวิทยาลัยนครพนม โดยมีผู้แทนจากสถาบันอุดมศึกษาที่สอนด้านการเกษตร 28 แห่ง ทั่วประเทศร่วมรับฟัง ว่า รัฐบาลเวียดนามตั้งเป้าเป็นประเทศอุตสาหกรรมใหม่ และเป็นผู้นำการศึกษาในภูมิภาค ในปี 2563 โดย เวียดนามได้ยกสถานะเข้าสู่ประเทศรายได้ระดับกลางแล้ว มีรายได้เฉลี่ย ต่อปีต่อคนอยู่ที่ 1,300 เหรียญสหรัฐ ซึ่งความสำเร็จส่วนหนึ่งมาจากการพัฒนาการศึกษาในประเทศ

นายอนุสนธิ์ กล่าวในระดับรัฐบาล ไทยให้ความร่วมมือทางวิชาการแก่เวียดนามมา 20 ปี แล้ว โดยในเบื้องต้นให้ทุนการศึกษา แลกเปลี่ยนการสอน ภาษาไทย ในมหาวิทยาลัยเวียดนาม 6 แห่ง  ในระยะหลังมีสถาบันอื่นๆที่สนใจสอนมากขึ้น ทำให้คนเวียดนามจำนวนมากสนใจภาษาไทยมากขึ้น แผนความร่วมมือทางวิชาการ ฉบับล่าสุด ปี 2553-2556  ทั้งสองฝ่ายให้ความสำคัญกับความร่วมมือทางภาษา และเกษตรกรรม แม้ความช่วยเหลือในรูปตัวเงินจะลดมูลค่าลง เวียดนามยังให้ความสนใจ ร่วมมือ เพราะ วัฒนธรรม และระดับการพัฒนาที่ใกล้กัน ของ 2 ประเทศ  ทำให้เวีนยดนามนำความรู้ไปประยุกต์ใช้ได้จริง

เมื่อถามว่า คนไทยที่จะไปทำงาน หรือ ทำธุรกิจในเวียดนามควรเตรียมตัวด้านใดบ้าง นายอนุสนธิ์ กล่าวว่า คนไทยควรมีความเข้าใจในภาษาเวียดนามบ้าง และมีความเข้าใจที่ถูกต้องแก่วัฒนธรรมของประเทศเพื่อนบ้าน

“ไปเวียดนามไม่รู้อังกฤษก็ได้ แต่ต้องรู้เวียดนาม เพราะ ถ้าไปเวียดนาม ป้ายบอกต่างๆเป็นภาษาเวียดนาม แม้ติดต่อระดับสถานทูตกับหน่วยงานรัฐบาล เวียดนาม  เรื่องที่ไทยไม่สน คือ เรื่อง ความรู้เรื่องเพื่อนบ้าน เราเรียนประวัติศาสตร์เพื่อนบ้านจากไกด์ ที่ไม่ค่อยถูก วัฒนธรรมของเพื่อนบ้าน ที่เราควรรู้อย่างจริงจัง เรารู้จักเพื่อนบ้านลาวดีหรือยัง เรารู้จักเขมร เรื่องพญาละแวก พม่าเรื่องเผากรุง ลาว เรื่องเจ้าอนุวงศ์ เรื่องคุณหญิงโม เราไม่ได้ไปไกลกว่านั้น”นายอนุสนธิ์ กล่าว

นายอนุสนธิ์ กล่าวต่อว่า เพื่อไปสู่เป้าหมายปี 2563 เวียดนามให้ความสำคัญกับพัฒนาการศึกษาอย่างต่อเนื่อง และพัฒนาฝีมือแรงงานขึ้นมาอีก แม้ในขณะนี้ค่าแรงแข่งขันต่ำยังแข่งกับประเทศอื่นได้ ในขณะนี้รัฐบาลเวียดนาม ได้อนุญาตให้มหาวิทยาลัยทั้งของรัฐ และเอกชน เปิดหลักสูตรนานาชาติมากขึ้น ให้เอกชนเปิดโรงเรียนนานาชาติมากขึ้น แต่ไม่อนุญาตให้เอกชนเปิดโรงเรียนสอนสายสามัญหลักสูตรภาษาเวียดนาม

จากสถิติล่าสุดจากทางการเวียดนามพบว่ามีสถาบันการศึกษาระดับวิทยาลัย 209 แห่ง เป็นของเอกชน 30 แห่ง มีมหาวิทยาลัย 160 แห่ง เป็นของเอกชน 35 แห่ง โดยเวียดนามตั้งเป้า เพิ่มสัดส่วนนักศึกษาระดับมหาวิทยาลัยต่อประชากรให้ได้ 450 ต่อ 10,000 คน และ อาจารย์หนึ่งคน ต่อนักศึกษา 20 คน ในปี2563

มหาวิทยาลัยส่วนใหญ่ของเวียดนามอยู่ภาคใต้มีมากสุด ภาคกลางมีน้อยสุด และเน้นการสอนในสาย เศรษฐศาสตร์ บริหารธุรกิจ วิศวกรรม ภาษาต่างประเทศ และ ไอที ที่ได้รับความนิยมมากขึ้น ส่วน วิชาครุศาสตร์ และ นิติศาสตร์ ได้รับความนิยมน้อยลง โดยขณะนี้ยังมีมหาวิทยาลัยที่เน้นด้านการเกษตร เพียง 4 แห่ง เท่านั้น

นอกจากนี้ รัฐบาลเวียดนามได้ออกนโยบายให้มหาวิทยาลัยของรัฐหารายได้จากงานวิจัยมากขึ้น โดยกำหนดให้ร้อยละ25ของรายได้ของมหาวิทยาลัย ต้องมาจากงานวิจัย เวียดนามออกไปร่วมมือกับต่างประเทศมากขึ้น เช่น ร่วมกับองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาติ  ตั้งสถาบันพัฒนาพันธุ์ข้าว ผลไม้ กระจายพันธุ์พืช เทคโนโลยีให้เกษตรกร สามารถส่งออกเทคโนโลยี ไปประเทศในแอฟริกาได้

นายอนุสนธิ์ กล่าวว่า ขณะนี้มหาวิทยาลัยไทยได้เริ่มพัฒนาความสำคัญกับมหาวิทยาลัยของเวียดนามแล้ว และควรพัฒนาความร่วมมือนี้ให้เป็นไปอย่างต่อเนื่อง ไม่จบที่แค่บันทึกความเข้าใจเบื้องต้น  ซึ่งสาขาหนึ่งที่เวียดนามมีความแข็งแกร่ง และยังไม่ได้รับความสนใจจากมหาวิทยาลัยของไทย คือ สมุนไพร ยาแผนโบราณ ที่เวียดนามมีมหาวิทยาลัยโดยเฉพาะ เป็นเรื่องที่เราเรียนรู้จากเขาได้


ประชาชาติธุรกิจออนไลน์
รายงาน

Credit: ประชาชาติธุรกิจออนไลน์
กรุณา Login เพื่อแสดงความคิดเห็น
ส่ง Scoop ให้เพื่อน
แจ้งลบไม่เหมาะสม
ความคิดเห็น

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Loading...