"ประเวศ-สะพานสูง-ลาดกระบัง-มีนบุรี" ขีดเส้นเมืองสีเขียวคู่ฟลัดเวย์ตะวันออก
เหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ครั้งที่ผ่านมา ทำให้สำนักผังเมืองกรุงเทพ มหานคร (กทม.) เริ่มให้ความสำคัญกับการพัฒนาพื้นที่แบบยั่งยืนและสอดรับกับมาตรการป้องกันน้ำท่วมในอนาคตที่อาจจะเกิดขึ้นโดยเฉพาะทำเล "ฝั่งตะวันออกและตะวันตก" พื้นที่รับน้ำจากภาคเหนือตอนล่างและภาคกลางลงสู่อ่าวไทยที่มีการโฟกัสเป็นพิเศษ
ล่าสุดสำนักผังเมือง กทม.ทุ่มเม็ดเงินหลายล้านบาท ออกแบบการพัฒนาพื้นที่ 4 เขตชานเมืองฝั่งตะวันออก ไล่ตั้งแต่ "ประเวศ-สะพานสูง-ลาดกระบัง-มีนบุรี" ซึ่งปัจจุบันส่วนใหญ่ถูกกำหนดให้เป็นสีเขียว (เกษตรกรรม) และสีเขียวลายขาว (ชนบทและอนุรักษ์เกษตรกรรม) เนื่องจากเป็นพื้นที่สำคัญในการระบายน้ำช่วงฤดูน้ำหลาก
เป้าหมายหลักจะพัฒนาพื้นที่เดิมให้เป็นที่อยู่อาศัยสีเขียวหรือ green residential ซึ่งผสมผสานระหว่างการเป็นเมืองอีโคที่เน้นเรื่องสิ่งแวดล้อม และการพัฒนาระบบโครงข่ายคมนาคมเชื่อมโยงเข้าถึงกันได้สะดวกขึ้น ขณะเดียวกันจากเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ทำให้มีการออกแบบบางพื้นที่รองรับกับสถานการณ์น้ำท่วมด้วย
"ม.ร.ว.เปรมศิริ เกษมสันต์"ผู้อำนวยการสำนักผังเมือง กทม. กล่าวกับ "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า โครงการนี้เป็นการเสริมและปรับปรุงภูมิทัศน์ให้ครบองค์ประกอบเป็นพื้นที่สมบูรณ์ แบบ จะไม่เน้นการพัฒนาที่อยู่อาศัย เนื่องจากใน 4 เขตเป็นพื้นที่รับน้ำ (ฟลัดเวย์) ที่ไหลจากตอนเหนือลงสู่ทะเลอ่าวไทย
"โครงการนี้ริเริ่มก่อนเกิดน้ำท่วมใหญ่ เมื่อเกิดน้ำท่วมแล้วให้ที่ปรึกษาใส่เรื่องของการป้องกันน้ำท่วมเข้าไปด้วย เพื่อแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน จะได้ไม่เสียงบประมาณไปโดยเปล่าประโยชน์" ผู้อำนวยการสำนักผังเมืองกล่าวย้ำ
หลังพิจารณาสภาพและศักยภาพทั้ง 4 เขต เพื่อให้โครงการเกิดขึ้นเป็นรูปธรรมโดยเร็ว บริษัทที่ปรึกษาได้คัดพื้นที่ 7 แห่ง ใน 4 เขตที่ กทม.สามารถดำเนินการได้ทันทีเป็น โปรเจ็กต์นำร่อง หากเป็นไปตามแผน ทุกอย่างจะเริ่มดำเนินการในปีงบประมาณ 2556 หลังสำนักผังเมืองจะศึกษารูปแบบการพัฒนาแล้วเสร็จ จะส่งมอบให้ 4 เขตนำไปดำเนินการต่อ คาดว่าจะใช้งบประมาณดำเนินการร่วม 100 ล้านบาท
สำหรับพื้นที่ 7 แห่งที่จะนำมาพัฒนา จะออกแบบให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์การพัฒนา 4 ด้านที่สำนักผังเมืองวางกรอบไว้คือ 1) การจัดหาพื้นที่รองรับกิจการบริการสาธารณะ 2) การพัฒนาและดำรงรักษาทรัพยากรทางธรรมชาติอย่างยั่งยืน
3) ปรับปรุงและฟื้นฟูพื้นที่วัฒนธรรมชุมชนละแวกบ้าน และ 4) การพัฒนาโครงข่ายสัญจรเชื่อมโยงพื้นที่บริการสาธารณะ
พื้นที่แรก "โรงพยาบาลสิรินธร" ในเขตประเวศ จะปรับปรุงถนนทางเข้า โรงพยาบาล ระยะทาง 300 เมตร จากสภาพเดิมที่มีการรุกล้ำที่สาธารณะตั้งสิ่งกีดขวางทางเดิน เพื่ออำนวย ความสะดวกแก่ผู้เดินทางเข้าออก เพิ่มสิ่งอำนวยความสะดวกและความปลอดภัยทางเท้าและถนน ปรับปรุงพื้นที่ลานจอดรถเดิม จัดการจราจรใหม่เพื่อลดความสับสนโดยการใช้ระบบเดินรถทางเดียว
"สวนมณีวารีรมย์" หรือที่คุ้นเคยในชื่อเดิม "สวนนกพัฒนาเดิม" เขตสะพานสูง บนพื้นที่ 4 ไร่ ด้วยสภาพ เดิมเป็นพื้นที่ลุ่มและน้ำมาก จะปรับปรุงภูมิทัศน์ใหม่ให้เป็นสวนน้ำและเปิดโล่ง แต่จะไม่ทำลายระบบนิเวศเดิม โดยถมดินบางบริเวณให้น้อยที่สุด และพัฒนาเป็นพื้นที่ลานกิจกรรม พื้นที่พักผ่อน สนามเด็กเล่น ปรับปรุงอาคารศาลาและสะพานทางเดินเดิมให้มี ความสวยงามแข็งแรง ตลอดจนพัฒนาหนองน้ำเดิมให้มีสภาพแวดล้อมที่สมบูรณ์ขึ้น
"บึงกระเทียม" ติดถนนรามอินทราด้านบน เขตมีนบุรี ขนาดพื้นที่ 800 เมตร ด้วยข้อจำกัดของพื้นที่คือ เป็นพื้นที่อ่อนไหวต่อการระบายน้ำ มีลักษณะแคบและยาว
ดังนั้นบริเวณนี้ การออกแบบพื้นที่ต่อการพัฒนาในแง่ของประโยชน์สังคม เช่น กิจกรรมนันทนาการ งานปรับปรุงสะพานเดิม
นอกจากนี้ จะปรับปรุงทางเดินริมน้ำใหม่ ขยายทางเดินให้กว้าง 2.50 เมตร และยกระดับสูงขึ้นอีก 50 เซนติเมตรจากระดับน้ำท่วมปกติ เพื่อป้องกันน้ำท่วมไปในตัวด้วย พื้นที่ป้ายรถเมล์และลานโล่งหน้าทางเข้าด้านถนนรามอินทราให้สวยงาม พร้อมสิ่งอำนวยความสะดวกทางเข้าหลัก และจุดพักผ่อน
"ด้านหน้าวัดสุทธาโภชน์" เขตลาดกระบัง เนื้อที่ประมาณ 1 ไร่ครึ่ง ปัจจุบันเป็นพื้นที่จอดรถและพื้นที่ริมน้ำ และใช้ทำกิจกรรมทางเรือ จะพัฒนาลานจอดรถเดิมเป็นอีโคซิตี้ สามารถ รับน้ำได้ และปลูกต้นไม้ใหญ่ให้ร่มเงา ปรับปรุงลานจอดรถภายในให้เข้าออกง่ายและขยายถนนทางเข้าหน้าวัดให้กว้างขึ้น
"ถนนฉลองกรุง" ช่วงจากถนนลาดกระบัง-คลองประเวศฝั่งใต้ เขตลาดกระบัง จะปรับปรุงภูมิทัศน์ของถนนใหม่ รวมระยะทาง 600 เมตร ปรับผิวทางเดินและขยายให้กว้างขึ้น ให้อยู่ระนาบเดียวกันเพื่อให้การเดินมีความต่อเนื่อง ทาสีอาคารโดยรอบใหม่ให้เป็นสีเดียวกัน เพิ่มระบบสาธารณูปโภค เช่น ไฟฟ้า ประปา ตู้โทรศัพท์ ป้ายผู้โดยสารรถประจำทาง
"ด้านหลังศูนย์บริการสาธารณสุข" มีพื้นที่ 4 ไร่ อยู่ในเคหะร่มเกล้า เขตลาดกระบัง ปัจจุบันเป็นพื้นที่ป่าละเมาะรกร้างและทิ้งขยะเศษวัสดุเหลือใช้ จะปรับพื้นที่ใหม่ให้สอดรับกับพื้นที่ใกล้เคียง พัฒนาเป็นลานกิจกรรมเกี่ยวกับ สุขภาพ พร้อมทางเดินเชื่อมกับศูนย์ สาธารณสุขได้ เช่น ลานอเนกประสงค์ ให้ทำกิจกรรมสำหรับผู้สูงอายุ เช่น รำไท้เก๊ก
และ "หน้าโรงเรียนอรรถญาสาธิต" ในเขตลาดกระบัง ใกล้กับบ้านเคหะชุมชนร่มเกล้า มีพื้นที่ประมาณ 1 ไร่ เน้นให้เป็นสวนพักผ่อนขนาดย่อม เพิ่มพื้นที่สีเขียว ต้นไม้ใหญ่ให้ร่มเงา ปรับปรุงที่พักผู้โดยสารของนักเรียนให้สะดวกขึ้น
ถึงจะเป็นแค่งานปรับภูมิทัศน์เล็ก ๆ นับว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี ที่ กทม.จะเติมความสุขให้กับคนในย่านนั้นให้ยั่งยืนต่อไป