สรรพากรไล่บี้ภาษี3,000บริษัทยักษ์ จี้ยื่นผ่านเน็ต-สาวถึงธุรกิจปลายน้ำ

สรรพากรไล่บี้ภาษี3,000บริษัทยักษ์ จี้ยื่นผ่านเน็ต-สาวถึงธุรกิจปลายน้ำ

Share7



 


สาธิต รังคสิริ

 

P { MARGIN: 0px }

 

 


กรมสรรพากรปฏิบัติการอุดช่องโหว่บริษัทยักษ์ถ่ายโอนกำไรเลี่ยงภาษี ตั้งทีมศึกษากฎหมายบังคับ "นิติบุคคล" เสียภาษีทางอินเทอร์เน็ต ล้วงลึกตรวจสอบเอกสารตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ ดีเดย์ใน 6 เดือน ประเดิมต้อนบริษัทใหญ่ทั่วประเทศเข้าระบบ จี้รัฐหนุนกำลังคน-ลงทุนไอที มั่นใจอุดรูรั่วเก็บภาษีได‰เพิ่มเท่าตัวเป็นกว่า 3 ล้านล้านบาท ภายใน 2 ปี

นายสาธิต รังคสิริ อธิบดีกรมสรรพากร เปิดเผยกับ "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า ในปีงบประมาณ 2555 กรมสรรพากรได้รับเป้าจัดเก็บรายได้ 1.625 ล้านล้านบาท สูงกว่าปีก่อนประมาณ 7.8% ขณะที่การจัดทำงบประมาณปี 2556 อยู่ระหว่างเจรจาเป้าหมายรายได้กับทางกระทรวงการคลัง จากที่มีการตั้งเป้าเบื้องต้นไว้กว่า 1.7 ล้านล้านบาท พร้อมกันนี้กรมสรรพากรมีแผนเพิ่ม ประสิทธิภาพจัดเก็บภาษีนิติบุคคลมากขึ้น โดยเมื่อ 16 ก.พ.ได้มีคำสั่งตั้งคณะทำงาน 4 ชุด ศึกษาแนวทางการกำหนดให้นิติบุคคลต้องยื่นแบบแสดงรายการชำระภาษีผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์เป็นภาคบังคับ เพื่อให้กรมสรรพากรสามารถตรวจสอบรายงานบัญชีภาษีและเอกสารต่าง ๆ ได้ตั้งแต่ต้นน้ำไปถึงปลายน้ำ

"คณะทำงานที่ตั้งขึ้นมา 4 ชุด ชุดใหญ่ผมกำกับเอง และมีชุดย่อยดูเรื่องกฎหมาย เรื่องไอที และเรื่องบัญชี โดยให้ศึกษาว่าเหมาะจะใช้กับใครบ้างในช่วงเริ่มต้น และจะขยายให้กับทุกบริษัทได้ภายในเมื่อไหร่ ข้อมูลในรายงานภาษีต้องมีอะไรบ้าง การแมตชิ่งข้อมูลเพื่อตรวจสอบต้องทำอย่างไรบ้าง เรื่องไอทีต้องลงทุนเพิ่ม ซอฟต์แวร์ต้องสามารถทำงานร่วมกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ" นายสาธิตกล่าว

อธิบดีกรมสรรพากรกล่าวว่า เรื่องนี้ถือเป็นนโยบายเร่งด่วน เพราะจะเป็นก้าวสำคัญในการอุดช่องโหว่การจัดเก็บภาษี ซึ่งคาดว่าเมื่อนำระบบดังกล่าวมาใช้ภายใน 2 ปี กรมจะสามารถจัดเก็บภาษีเพิ่มขึ้นได้เท่าตัว คือจากปีนี้ 1.6 ล้านล้านบาท เป็นกว่า 3 ล้านล้านบาท แต่ทั้งนี้หมายความว่า รัฐบาลต้องให้การสนับสนุนเต็มที่ ทั้งเรื่องอัตรากำลังคนและระบบไอที ซึ่งหากรัฐบาลเห็นความสำคัญ ระบบนี้จะช่วยปิดช่องว่างทำให้การเลี่ยงภาษีทำได้ยาก ส่งผลให้จัดเก็บภาษีได้มากขึ้น ขณะที่รัฐบาลสามารถลดอัตราภาษีนิติบุคคลให้แข่งขันกับต่างประเทศได้มากขึ้นได้ด้วย

"ถ้าระบบนี้ทำงานจะสามารถ cross check ได้ โอกาสเลี่ยงแทบไม่มีเลย แต่รัฐต้องสนับสนุน จะให้ผมจับปลา ต้องให้แห ให้อวน ถ้าให้จับมือเปล่า จับได้ตัวหนึ่งก็เก่งแล้ว ได้เบ็ดมา วันละ 5 ตัวก็เก่งแล้ว แต่ถ้าให้แห ให้อวน จะเอาร้อยตัว พันตัวก็ทำได้ ไม่ยาก และถ้ารัฐสนับสนุนตรงนี้ก็ไม่จำเป็นต้องไปขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่ม"

อุดช่องโหว่รายใหญ่ถ่ายโอนกำไร

อธิบดีกรมสรรพากรกล่าวต่อว่า ปัจจุบันการเลี่ยงภาษียังมีมาก หากเป็นรายเล็ก ๆ ก็จะใช้ใบกำกับภาษีปลอม หลบยอดรายรับ ทำรายจ่ายปลอม และถ้าเป็นรายใหญ่ก็จะใช้วิธีการถ่ายโอนกำไรกับธุรกิจในเครือที่เสียภาษีอัตราต่ำ หรือได้รับส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) หรือเป็นบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ แต่เสียภาษีต่ำหรือขาดทุนมาก แต่ถ้ายื่นภาษีนิติบุคคลและแวตทางอินเทอร์เน็ตจะทำให้สามารถตรวจสอบข้อมูลการเลี่ยงภาษีในวิธีการต่าง ๆ ได้สะดวกขึ้น

โดยเบื้องต้น ถ้าโฟกัสผู้เสียภาษีรายใหญ่ที่อยู่ในสำนักผู้เสียภาษีขนาดใหญ่ (แอลทีโอ) คือกลุ่มมีรายได้มากกว่า 2,000 ล้านบาทต่อปี ซึ่งมีอยู่ประมาณ 2,460 ราย โดยเป็นผู้จ่ายภาษีประมาณ 50% ของภาษีที่จัดเก็บทั้งหมด และถ้าดึงผู้เสียภาษีรายใหญ่จากทั่วประเทศ โดยคัดสรร 10 รายแรกของแต่ละจังหวัด แต่ละพื้นที่สรรพากรเพื่อให้มาเข้าระบบจ่ายภาษีทางอินเทอร์เน็ต ก็เชื่อว่าจะทำให้สัดส่วนภาษีเพิ่มไปถึง 75% ของรายได้ทั่วประเทศ หมายความว่า ถ้าลงแรงสำหรับผู้ค้ารายใหญ่ได้ดี ภาษีส่วนใหญ่ก็จะอยู่ในมือ

นายสาธิตกล่าวว่า นโยบายการบริหารจัดการของกรมสรรพากรในยุคนี้จะดูแลรายใหญ่ ๆ พวกนี้เป็นพิเศษ เพราะมีฐานธุรกิจใหญ่ และเชื่อว่าการยื่นภาษีทางอินเทอร์เน็ตจะทำให้การตรวจสอบมีประสิทธิภาพ และการจัดเก็บภาษีเป็นธรรมมากขึ้น

ปัจจุบันกรมสรรพากรประสบความสำเร็จในการให้ประชาชนยื่นแบบฯเสียภาษีบุคคลธรรมดาทางอินเทอร์เน็ต โดยผู้เสียภาษีที่มี 9 ล้านราย ยื่นอินเทอร์เน็ตประมาณ 7 ล้านราย แต่ภาษีอื่น ๆ ทั้งนิติบุคคล ภาษีแวต ภาษีหัก ณ ที่จ่าย ซึ่งเป็นเงินส่วนใหญ่ยังยื่นกระดาษอยู่ ถ้าทำตรงนี้ได้ทั้งหมดนอกจากจะทำให้กระบวนการจัดเก็บมีประสิทธิภาพมากขึ้น ยังจะประหยัดต้นทุนสารพัด ซึ่งตอนนี้ได้ให้เตรียมกระบวนการแก้กฎหมายรอไว้แล้ว ซึ่งเป็นการแก้กฎหมายลูก อธิบดีมีอำนาจในการออกประกาศทำได้อยู่แล้ว

มาตรการรัฐฉุดภาษีวูบ 2 แสน ล.

นายสาธิตกล่าวว่า ผลกระทบจากภาวะน้ำท่วมที่ผ่านมาส่งผลกระทบต่อเนื้อภาษีที่หายไปประมาณ 7-8 หมื่นล้านบาท นอกจากนี้ยังมีส่วนที่ต้องเสียไปจากมาตรการภาษีเพื่อช่วยเหลือน้ำท่วมต่าง ๆ อาทิ ค่าลดหย่อนซ่อมบ้าน-ซ่อมรถ รวมถึงมาตรการบ้านหลังแรก รวม ๆ ในปีนี้คงมีผลประมาณ 7 หมื่นล้านบาท นอกจากนี้ยังมีผลกระทบจากการลดภาษีนิติบุคคล จาก 30% เหลือ 23% อีกประมาณ 7-8 หมื่นล้านบาท รวมกันกว่า 2 แสนล้านบาท

ดังนั้นเป้ารายได้ของกรมที่ต้องเพิ่มขึ้น 7.8% แต่ถ้าดูจากมาตรการลดภาษี ต่าง ๆ แล้วแสดงว่าการจัดเก็บรายได้ ของกรมต้องโตมากกว่านั้น น่าจะเป็น 20-30% เพื่อชดเชยกับภารกิจที่เพิ่มขึ้น

นอกจากนี้ยังมีภาษีจากการส่งกำไรกลับประเทศของบริษัทต่างประเทศที่ลดลง เช่น บริษัทญี่ปุ่นที่ทุก ๆ ปีจะมีการส่งกำไรกลับประเทศต้องยื่นแบบ ภงด.54 ถูกหักภาษี 10% ส่วนนี้พบว่าหายไปมาก โดยตัวเลขช่วง 4 เดือนแรกจัดเก็บได้ 1.93 หมื่นล้านบาท จากช่วงเดียวกัน ปีก่อนที่จัดเก็บได้ 2.13 หมื่นล้านบาท ซึ่งหมายความว่า บริษัทเหล่านี้อาจต้องใช้เงินในการสร้าง ซ่อมแซม อุตสาห กรรมขึ้นมาใหม่ ที่เสียหายจากน้ำท่วม และบางส่วนอาจจะต้องใช้เงินจำนวนนั้นในการป้องกันน้ำท่วม

สำหรับปีงบประมาณ 2555 ช่วง 4 เดือนแรก การเก็บภาษีของกรมสรรพากรในภาพรวมยังเกินเป้ากว่า 3 พันล้านบาท ถือว่าพอใจในสภาวะเช่นนี้ โดยส่วนที่มาชดเชยส่วนที่หายไป ก็มีทั้งกระบวนการขยายฐานภาษี และธุรกิจที่ได้ประโยชน์จากเหตุการณ์น้ำท่วม เช่น สินค้าอุปโภคบริโภค ที่ใครสามารถผลิตได้ก็ขายดีในช่วงนั้น จนถึงธุรกิจซ่อมแซมบ้าน ซ่อมรถยนต์ที่ได้ประโยชน์ก็มีรายได้มาเสียภาษีมากขึ้น

รุกหนักขยายฐานภาษีอีคอมเมิร์ซ

นายสาธิตกล่าวว่า กรมสรรพากร ได้พยายามผลักดันขยายฐานภาษีในกลุ่มธุรกิจขายสินค้าผ่านอินเทอร์เน็ต (อีคอมเมิร์ซ) ซึ่งเป็นธุรกิจที่น่าส่งเสริม แต่ก็ต้องทำให้ถูกต้อง เพราะต่อไปการค้าผ่านอินเทอร์เน็ตจะเป็นไฮไลต์ของประเทศไทย โดยเฉพาะเมื่อมีการเปิด เออีซี ไม่มีกำแพงภาษี จะทำให้การค้าระหว่างกันใน 10 ประเทศจะคล่องตัวมากขึ้น ลูกค้าเปลี่ยนจาก 66 ล้านคน ในประเทศไทยขยายเป็น 600 ล้านคน แต่ปัญหาคือ ขณะนี้ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ไม่มีการยื่นแบบเสียภาษี

"ตอนนี้เจ้าหน้าที่เข้าไปตรวจ 10 รายก็เจอปัญหาทั้ง 10 ราย เพราะเขาคิดว่าค้าขายผ่านอินเทอร์เน็ตแล้วเราไม่รู้ ก็เลยไม่ยื่นแบบเสียภาษี ทั้งภาษีเงินได้และภาษีมูลค่าเพิ่ม (แวต) แต่ด้วยเทคโนโลยีและพัฒนาการของกรมสรรพากรในวันนี้สามารถตรวจสอบการทำธุรกรรมจากแหล่งข้อมูลต่าง ๆ ได้ เช่น การขาย กระเป๋าแบรนด์เนม เว็บของใครที่มีคนเข้าไปดูมากที่สุด เราก็ไล่ตั้งแต่รายที่มีธุรกรรมมาก ๆ ซึ่งถ้าเราใส่คนเข้าไปเท่าไหร่ก็ได้มากขึ้นเท่านั้น ปัญหาคือ เรามีคนจำกัด แต่ก็เป็นการเริ่มต้นที่ดี" อธิบดีกรมสรรพากรกล่าวและว่า

อย่างไรก็ดี ช่วงแรกกรมเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการปรับตัว โดยให้นโยบายไปทุกพื้นที่ทั่วประเทศว่า ถ้าผู้ประกอบการมายื่นแบบฯด้วยตัวเอง แล้วขอปรับปรุงแบบฯให้ถูกต้อง กรมจะคิดภาษีย้อนหลังแค่ 2 ปี และลดค่าปรับให้เหลือ 20% จากปกติต้องโดนปรับ 2 เท่า เป็นการเดินไปด้วยกัน แต่หากไม่เข้ามาเอง แล้ว กรมไปตรวจสอบเจอ ล้วงออกมาก็จะให้จัดการตามกฎหมายเต็มที่ คือถ้าเป็นกรณีไม่เคยยื่นแบบฯเลย ตามกฎหมายก็สามารถเรียกเก็บย้อนหลังได้ 10 ปี

อธิบดีกรมสรรพากรกล่าวว่า ขณะนี้กำลังให้สำนักงานตรวจสอบภาษีกลางเข้าไปดู จัดวางระบบให้เรียบร้อย ก่อนจะส่งโมเดลวิธีการทำงานแบบนี้ไปทั่วประเทศ ให้ทุกสำนักงานสรรพากรพื้นที่ทำพร้อมกัน ซึ่งจะเข้มข้นมากขึ้นเรื่อย ๆ

นอกจากนี้กรมยังได้ดำเนินการไล่ล่าพวกที่ทำใบกำกับภาษีปลอม ซึ่งตนได้อนุมัติเงินพิเศษเพื่อล่อซื้อ เร็ว ๆ นี้อาจจะมีการประกาศให้ทราบ

ลุ้นรื้อภาษีบุคคลธรรมดา

นายสาธิตกล่าวด้วยว่า อีกภารกิจในปีนี้ คือกรมสรรพากรต้องนำเสนอกระทรวงการคลัง เรื่องการปรับโครง สร้างภาษีบุคคลธรรมดา ซึ่งจริง ๆ ต้องปรับโครงสร้างภาษีทั้งระบบ ทั้งบุคคลธรรมดา นิติบุคคล วิธีการคำนวณเกณฑ์ เงินสด การรวมยื่น แยกยื่น การอุดช่องโหว่ของกฎหมาย การทำกฎหมายให้สอดคล้องกับเออีซี ให้แข่งขันกับต่างประเทศได้ เพราะกฎหมายนี้ไม่ได้เปลี่ยนมา 20 ปีแล้ว นับตั้งแต่ปี 2535 แต่คง ฉีกเป็นเรื่องย่อย ๆ เพราะถ้ารวมเป็นแพ็กเกจเดียวกันก็จะช้าไปทั้งหมด

เรื่องแรกที่กรมสรรพากรจะผลักดัน คือขยายขอบเขตการแยกยื่นภาษีของสามีภรรยา จากเดิมที่แยกได้เฉพาะเงินเดือน สำหรับเรื่องการปรับโครงสร้างภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาต้องให้นายทนุศักดิ์ เล็กอุทัย รมช.คลัง ที่กำกับดูแลกรมภาษี และนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.คลัง พิจารณารายละเอียดก่อน ว่าจะตัดสินใจอย่างไร ซึ่งกรมสรรพากรได้จัดทำข้อเสนอไปแล้ว ที่มีการซอยขั้นบันไดการเสียภาษีให้ถี่ขึ้น รวมถึงในแง่การลดเพดานสูงสุดจากปัจจุบันจัดเก็บ 37% ขณะที่ค่าลดหย่อนนั้น ก็เสนอให้มีการกำหนดเพดานวงเงินลดหย่อน ว่าทุกรายการต้องไม่เกินเท่าไหร่

"ค่าลดหย่อนของเราเยอะมาก และคนที่ได้ประโยชน์ก็คือคนรวยที่มีรายได้สูง ๆ วันนี้แค่ค่าลดหย่อนรายจ่ายส่วนบุคคลเงินเดือน 2 หมื่นบาทถึงจะเริ่มเสียภาษีบาทแรก แล้วถ้าไปหักค่าลดหย่อนที่มีอีกประมาณ 20 รายการ ก็ไม่รู้เมื่อไหร่จะต้องเสียภาษี จึงทำให้คนเสียภาษีจริง ๆ เหลือจำนวนน้อย แค่กว่า 3 ล้านราย และรายการลดหย่อนก็เพิ่มทุกปี รัฐบาลใหม่มาก็ให้เพิ่ม การจำกัดวงเงินลดหย่อนโดยรวมเอาไว้ ต่อไปรัฐบาลจะเพิ่มค่าลดหย่อนอะไรก็ได้ ไม่ใช่ปัญหา" นายสาธิตกล่าว

 





 

Credit: ประชาชาติธุรกิจ
กรุณา Login เพื่อแสดงความคิดเห็น
ส่ง Scoop ให้เพื่อน
แจ้งลบไม่เหมาะสม
ความคิดเห็น

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Loading...