ดร.คิมเบอร์ลี ยัง (Kimberly Young) จากมหาวิทยาลัยการแพทย์พิตซ์เบิร์ก (University of Pittsburgh Medical School) นำเสนองานวิจัยเรื่อง ′การติดเน็ต : การเกิดของโรคชนิดใหม่′ (Internet Addiction : The Emergence of a New Disorder) ต่อที่ประชุมประจำปีของสมาคมจิตแพทย์อเมริกัน เมื่อประมาณ 16 ปีที่ผ่านมา แต่ไม่เป็นที่ยอมรับในวงการจิตแพทย์ในขณะนั้น และยังถูกวิจารณ์ว่าไม่ใช่อาการป่วยเหมือนการติดเหล้า บุหรี่หรือการพนัน แต่ปัจจุบันประเทศที่มีผู้ใช้อินเตอร์เน็ตเป็นจำนวนมาก เช่น สหรัฐอเมริกา เกาหลี จีน ต่างยอมรับตรงกันว่าการติดอินเตอร์เน็ตเป็นปัญหาด้านสาธารณสุข
โรค ติดอินเตอร์เน็ต (Internet Addiction Disorder หรือ IAD) เป็นกลุ่มอาการทางจิตอย่างหนึ่ง ซึ่งเกิดจากการใช้อินเตอร์เน็ตในการเสพข้อมูลข่าวสารมากเกินไป แตกต่างกับการติดสื่ออื่นๆ คือผู้ที่ใช้อินเตอร์เน็ตจะสามารถโต้ตอบกับผู้ที่เข้ามาใช้คนอื่นๆ ได้ทันที ซึ่งทำให้โลกของอินเตอร์เน็ตเป็นเหมือนโลกอีกโลกหนึ่งที่ทำให้ผู้ใช้รู้สึก ว่าตัวเองมีตัวตนในโลกนั้นได้โดยปราศจากกฎเกณฑ์ไร้ขอบเขตในการเดินทาง และสร้างตัวตนตามที่ต้องการได้
บริการเครือข่ายสังคมออนไลน์ในอินเตอร์เน็ตที่มีลักษณะการสร้างเป็นสังคมเสมือน(Virtual Community) เช่น เฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ โปรแกรมแช็ต เว็บบอร์ด หรือแม้กระทั่งเกมออนไลน์ ถ้าหากผู้ใช้ยึดติดกับสังคมในโลกของอินเตอร์เน็ตจนแยกไม่ออกระหว่างโลกของความจริงและโลกเสมือน จะนำมาซึ่งสาเหตุของโรคติดอินเตอร์เน็ตได้ ก่อให้เกิดผลเสียกับระบบร่างกาย กระทบต่อการเรียน สภาพสังคม ทำให้เสียเวลา เสียสุขภาพ เสียความสัมพันธ์กับคนในครอบครัว เพื่อนฝูง และหน้าที่การงาน บางคนเป็นหนักมีอาการเช่นเดียวกับติดยาเสพติด
ตามการวิเคราะห์ของดร.คิมเบอร์ลี หากในเวลามากกว่าหนึ่งปีบุคคลใดมีอาการต่อไปนี้อย่างน้อย 4 ข้อน่าจะเข้าข่ายการเป็นโรคติดอินเตอร์เน็ต คือ
1.หมกมุ่นกับอินเตอร์เน็ต แม้ในเวลาที่ไม่ได้ต่อเข้าระบบอินเตอร์เน็ต
2.ต้องการใช้อินเตอร์เน็ตเป็นเวลานานขึ้นเรื่อยๆ
3.ควบคุมการใช้อินเตอร์เน็ตไม่ได้
4.รู้สึกหงุดหงิดเมื่อใช้อินเตอร์เน็ตน้อยลงหรือหยุดใช้
5.คิดว่าเมื่อใช้อินเตอร์เน็ตแล้ว ทำให้ตนเองรู้สึกดีขึ้น
6.ใช้เป็นอินเตอร์เน็ตในการหลีกเลี่ยงปัญหา
7.หลอกคนในครอบครัว หรือเพื่อน เรื่องการใช้อินเตอร์เน็ตของตนเอง
8.มีอาการผิดปกติเมื่อเลิกใช้อินเตอร์เน็ต เช่น หดหู่ กระวน กระวาย
มีข้อแนะนำจากหนังสือคู่มือและแนวทางการประเมินและรักษาการติดอินเตอร์เน็ต ระบุว่าวิธีการบำบัดที่ได้ผลคือการพูดคุยเพื่อปรับเปลี่ยนทัศนคติ อาจคุยกับพ่อแม่ การเข้ากลุ่ม หรือเข้าศูนย์ฟื้นฟู นอกจากนี้ยังมีผู้แนะนำกลยุทธ์พิชิตอาการติดเน็ตไว้ดังนี้คือ
1.ถามตัวเองว่า ′ฉันพลาดอะไรไปบ้างเมื่อเล่นเน็ต′ จดลงกระดาษ และลดชั่วโมงการเล่นเน็ตลงเพื่อไปทำกิจกรรมนั้น
2.กำหนดเป้าหมายการใช้อินเตอร์เน็ตอย่างสมเหตุสมผลแล้วทำตามนั้นให้ได้
3.เปลี่ยนกิจวัตรประจำวัน
4.มองหาเพื่อนและคนรู้จักที่ไม่ติดเน็ตเพื่อจะได้รู้ว่าชีวิตนี้ไม่ได้มีแค่โลกออนไลน์เท่านั้น
5.อยู่กับโลกแห่งความจริงมากขึ้น เดินตามร้านหนังสือ เยี่ยมพิพิธภัณฑ์ หรืออ่านหนังสือดีๆ ที่หาไม่ได้ในโลกออนไลน์
6.ให้อินเตอร์เน็ตเป็นแค่เครื่องมือแต่อย่าตกเป็นเครื่องมือของอินเตอร์เน็ตวางแผนให้ดีว่าจะใช้เพื่อหาข้อมูลหรือเพื่อความบันเทิง