ความจริงแล้วคำว่า ′พลัดถิ่น′ ในกรณีของคนเชื้อสายไทยแห่งเกาะกงต้องทำเข้าใจอยู่พอสมควร โดยปกติแล้ว เรามักเข้าใจกันโดยทั่วๆไปว่า การพลัดถิ่น คือ การจากถิ่นกำเนิดเพื่อโยกย้ายไปตั้งถิ่นฐานในดินแดนอื่น แต่กรณีของคนพลัดถิ่นเชื้อสายไทยจากเกาะกง เราต้องทำความเข้าใจเพิ่มขึ้นตรงที่ว่า ดินแดนที่พวกเขาจากมานั้น คือจังหวัดประจันตคีรีเขตร์หรือเกาะกงซึ่งเป็นจังหวัดชายแดนภาคตะวันออกของสยามในสมัยรัชกาลที่ 4-5 ซึ่งจริงอยู่ในเวลานั้นสยามยังไม่ถือว่าเป็นรัฐสมัยใหม่ตามนิยามของชาติตะวันตก แต่รัฐบาลสยามในเวลานั้นก็ปกครองจังหวัดปัจจันตคีรีเขตร์อย่างเป็นทางการ หลังจากการลงนามในอนุสัญญาฝรั่งเศสสยาม เมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 1904 ชาวบ้านสยามที่เกาะกงส่วนใหญ่ก็ไม่ได้โยกย้ายกลับเข้าสู่แผ่นดินสยาม แต่ยังคงอยู่ติดแผ่นดินเช่นเดิม ชาวบ้านยังคงใช้ชีวิตในหมู่บ้านตามปกติโดยประกอบอาชีพหลักก็คือการทำนา ทำประมง และทำกะปิ สิ่งที่เปลี่ยนแปลงไปก็คงมีแต่แผ่นดินที่พวกเขาอาศัยและทำมาหากินอยู่นั้นไม่ใช่แผ่นดินสยามอีกต่อไป ในประเด็นแรกการพลัดถิ่นของคนเชื้อสายไทยเกาะกงก็คงจะเป็นการพลัดจากแผ่นดินสยามแต่ยังไม่ได้พลัดจากถิ่นกำเนิดที่จังหวัดปัจจันตคีรีเขตร์หรือเกาะกง แต่ในประเด็นต่อมาอันเป็นประเด็นหลักของบทความชิ้นนี้ก็คือ การพลัดออกจากถิ่นกำเนิดที่จังหวัดปัจจันตคีรีเขตร์หรือเกาะกง ซึ่งอดีตเคยเป็นส่วนหนึ่งของสยามโดยกลับเข้ามาสู่ประเทศไทย ซึ่งในบทความชิ้นนี้จะบรรยายถึงเรื่องราวการพลัดถิ่นอย่างย่อของคนเชื้อสายไทยจากเกาะกงที่เกิดขึ้นในยุคระบอบเขมรแดง (1975-1979 หรือ 2518-2522)
ชาวบ้านเชื้อสายไทยเกาะกงส่วนใหญ่จะอาศัยอยู่ตามหมู่บ้านต่างๆตามคลองและลุ่มแม่น้ำ เช่น ลุ่มแม่น้ำเกาะปอ แม่น้ำครางครืน แม่น้ำตาไต แม่น้ำบางกระสอบ แม่น้ำตะปังรุง แม่น้ำคลองพิพาท อ่าวเกาะกะปิ คลองแพรกกษัตริย์ อ่าวยายแสน อ่าวพลีมาศ อาหนี (1) และอาจเลยไปถึงนาเกลือ (Sre Ambel) ตามคำบอกเล่าของชาวบ้าน สภาพภูมิศาสตร์ของหมู่บ้านและระยะห่างจากชายแดนไทยจึงถือเป็นปัจจัยสำคัญมากสำหรับการอพยพโยกย้ายของคนเชื้อสายไทยจากจังหวัดเกาะกงกลับมาสู่แผ่นดินไทย ยุคแรกที่ชาวบ้านเชื้อสายไทยจากเกาะกงเริ่มตัดสินใจทิ้งเรือกสวนไร่นาและบ้านเรือนที่เกาะกงนั้นคือหลังจากที่ฝรั่งเศสเข้าปกครองในพื้นที่ได้สักระยะหนึ่ง แต่ยุคที่มีการอพยพของคนเชื้อสายไทยมากที่สุดนั้นเกิดในยุคของเขมรแดง ซึ่งถือได้ว่าเป็นจุดเริ่มต้นของการอพยพยกครัวครั้งใหญ่ของคนเชื้อสายไทยจากเกาะกงเข้าสู่แผ่นดินไทย
ชาวบ้านเชื้อสายไทยเกาะกงเรียกเขมรแดงว่า พวกดำหรือพวกกาดำ เนื่องจากสีดำเป็นสีเครื่องแต่งกายของทหารเขมรแดง ในช่วงแรกๆ ที่ทหารเขมรแดงเข้าสู่หมู่บ้านต่างๆ ในจังหวัดเกาะกงนั้น ชาวบ้านส่วนมากนิ่งนอนใจต่อการเข้ามาของทหารเขมรแดงในหมู่บ้าน ไม่ได้มีความต้องการจะย้ายไปที่อื่นหรืออพยพหนีกลับสู่ประเทศไทยด้วยประโยคๆ หนึ่งของเขมรแดงที่ประกาศว่า บ้านเมืองเป็นเอกราชแล้ว ชาวบ้านยังคงมีอิสระในการประกอบอาชีพตามปกติ ข้าวของเครื่องใช้ต่างๆ ยังไม่ถูกยึดเข้าสู่ส่วนกลาง
แต่ในระยะต่อมา ทหารเขมรแดงจะเริ่มให้ชาวบ้านร่วมกันทำนารวม ข้าวของเครื่องใช้ต่างๆ เริ่มถูกยึดเข้าเป็นของกลาง ชาวบ้านหลายคนเล่าให้ฟังว่า ความน่ากลัวเริ่มเข้าสู่หมู่บ้านเมื่อเริ่มมีการประกาศเคลื่อนย้ายชาวบ้านเพื่อไปทำงานในหมู่บ้านอื่นไกลๆ ชายฉกรรจ์และหญิงสาวส่วนมากจะถูกเกณฑ์ออกจากหมู่บ้านเพื่อไปใช้แรงงานที่อื่น ซึ่งส่วนมากมักไม่ค่อยมีโอกาสรอดชีวิตกลับมา ชาวบ้านอธิบายว่าคนในพื้นที่เกาะกงทั้งคนเขมรและคนไทยถือว่าเป็นประชาชนใหม่สำหรับระบอบเขมรแดง คำว่า ประชาชนใหม่ก็หมายถึง ประชาชนที่ไม่ได้เข้าไปมีส่วนร่วมในการเข้ายึดอำนาจรัฐบาลลอนนอลร่วมกับเขมรแดงตั้งแต่แรก กลุ่มประชาชนที่เข้าอยู่ภายใต้การปกครองของเขมรแดงหลังวันที่ 17 เมษายน 1975 ก็จะถูกรับรู้กันว่าคือ กลุ่มประชาชนใหม่ ซึ่งกลุ่มนี้มีหน้าที่หลักคือการทำงานใช้แรงงานหนัก หลังจากที่ข้าวของเครื่องใช้ของชาวบ้านถูกยึดเข้าสู่ส่วนกลาง ชาวบ้านถูกห้ามสวมใส่เครื่องแต่งกายปกติ โดยทั้งหมดได้รับแจกเครื่องแต่งกายสีดำจำนวนสองชุดพร้อมกับผ้าขาวม้าพันคอ ผู้หญิงต้องตัดผมสั้น ถ้าโชคดี สมาชิกในครอบครัวก็ไม่โดนพรากจากกัน แต่ส่วนมากแล้วผู้หญิง ผู้ชาย และเด็กจะถูกแยกที่พักอาศัยออกจากกัน จะมีโอกาสมาเจอกันบ้างก็ในระหว่างการทำงานเท่านั้น อาหารที่รับประทานจะถูกปรุงจากส่วนกลาง ชาวบ้านเล่าว่าในช่วงแรกๆ ยังมีเนื้อสัตว์และผลไม้ให้พอได้รับประทานอยู่บ้าง แต่ต่อมาอาหารที่รับประทานเป็นประจำก็คือ ข้าวต้มกับเกลือเม็ด หนักเข้าหน่อยข้าวสารที่ได้รับแจกก็ปนไปด้วยกลอย หัวมันและเมล็ดพืชอื่นๆ เป็นส่วนมาก ของหวานถือว่าเป็นสิ่งที่ใฝ่ฝันสาหรับชาวบ้านในยุคเขมรแดง นาข้าวและพืชผลอื่นๆ ที่ร่วมกันผลิตนั้น ชาวบ้านไม่มีสิทธิ์ได้รับประทาน การขโมยอาหารถือเป็นสิ่งต้องโทษ จึงไม่ต้องแปลกใจว่าทำไมในยุคเขมรแดงจึงมีการแลกเปลี่ยนสร้อยทองกับเกลือหรือข้าวสาร ทองกลายเป็นสิ่งที่ไม่มีค่าเท่ากับอาหาร และเงินเขมรก็ไม่สามารถช่วยเหลือชาวบ้านในการอพยพได้เท่ากับเงินไทย
ชาวบ้านเชื้อสายไทยที่เกาะกงทำการค้าการประมงกับชาวบ้านที่เมืองไทยจึงพอทำให้ชาวบ้านเชื้อสายไทยจากเกาะกงมีเงินไทยใช้ในการหลบหนีและตั้งตัวในเมืองไทยอยู่บ้าง ชาวบ้านท่านหนึ่งเล่าให้ฟังว่า เนื่องจากปริมาณข้าวที่ได้รับแจกจากทหารเขมรแดงนั้นไม่พอกับความต้องการ จึงเห็นคนที่มีโอกาสทำงานในนาข้าวจำเป็นต้องแอบขโมยเมล็ดข้าวใส่ไว้ในกางเกงในเพื่อเอากลับมาต้มให้ลูกๆ กิน (2) หรือ ชาวบ้านบางคนก็แอบเอาปลาตัวเล็กๆ ที่จับได้ตามนาข้าวใส่กระเป๋ากลับมาต้มกิน (3) ความอดยาก การสูญเสียคนที่รักไปต่อหน้าต่อตา โรคระบาด และการกดขี่จากทหารเขมรแดงเป็นปัจจัยผลักดันในคนเชื้อสายไทยจำเป็นต้องอพยพจากจังหวัดเกาะกง ประเทศกัมพูชา เข้าสู่ประเทศไทย
โดยทั่วไปแล้ว ชาวบ้านเชื้อสายไทยจากเกาะกงจะอพยพมาในลักษณะยกครัวหรือยกหมู่บ้าน คือ มีจำนวนตั้งแต่หลักสิบคนจนไปถึงหลักร้อยคน การอพยพมาสู่ประเทศมีสองทางคือ หนึ่ง การเดินเท้า โดยเริ่มออกจากหมู่บ้านที่เกาะกง ข้ามแม่น้ำครางครืนและเดินข้ามภูเขาบรรทัดมาลงที่ฝั่งไทย และ สอง เดินเรือมาทางทะเล ทั้งนี้จะใช้วิธีใดขึ้นอยู่กับที่ตั้งของหมู่บ้านเดิม การอพยพยกครัวของชาวบ้านนั้นจำเป็นที่ต้องนัดแนะวันและเวลาอย่างรอบคอบ รวมทั้งต้องปิดเป็นความลับเพราะถ้าทหารเขมรแดงรู้ พวกเขาจะโดนตามฆ่าทันที ระยะเวลาในการเดินทางจากหมู่บ้านที่เกาะกงเข้าสู่ประเทศไทยของชาวบ้านแต่ละคนนั้นแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับว่า หมู่บ้านของพวกเขาอยู่ไกลจากเขตแดนไทยแค่ไหน มีผู้นำที่รู้เส้นทางในการเดินทางหรือไม่ ในกลุ่มที่มาด้วยกันนั้น มีผู้หญิง คนแก่และเด็กมากแค่ไหน ถ้ามีมากการเดินทางก็จำเป็นต้องทำให้ช้าลง จากการสัมภาษณ์ชาวบ้าน ระยะเวลาในการเดินทางเท้าและทางเรือเข้าสู่ประเทศไทยในยุคนั้นมีตั้งแต่สองสามวันจนกระทั่งถึงแปดเดือนเลยทีเดียว ในกรณีหลังนี้ ผู้เขียนพบคุณป้าคนหนึ่งที่พยายามหนีเข้าประเทศไทยกับครอบครัว แต่เนื่องจากถูกทหารเขมรแดงตามมา สมาชิกในครอบครัวคนอื่นๆ จึงถูกยิงเสียชีวิตทั้งหมด เหลือเพียงคุณป้าและเพื่อนอีกคนเท่านั้น แต่เนื่องจากทั้งสองไม่รู้เส้นทางจึงได้แต่อาศัยคำพูดของคนแก่ๆ ในหมู่บ้านที่เคยบอกว่า ถ้าจะมาประเทศไทยให้เดินตามดวงอาทิตย์และสายน้ำ คุณป้าพยายามทำทุกอย่างเพื่อเอาชีวิตรอดในป่าแห่งเทือกเขาบรรทัดจนกระทั่งสามารถเข้าเขตประเทศไทยได้ โดยสิ่งที่ทำให้คุณป้าทราบได้ว่าตนได้เดินทางเข้าสู่เขตแดนแล้วนั่นคือ การปืนต้นไม้เพื่อมองลงมาข้างล่างแล้วพบว่าถนนลาดยาง รถยนต์ที่วิ่งบนถนน และเสียงดนตรีที่แว่วมาจากวิทยุนั้นเป็นสัญญาณบอกได้ว่าคุณป้าได้รอดจากยุคเขมรแดงแล้ว (4)
การอพยพทางเรือก็สร้างความลำบากให้แก่ชาวบ้านเชื้อสายไทยไม่น้อยไปกว่ากันเพราะในทะเลก็มีเรือของทหารเขมรแดงคอยลาดตระเวนอยู่ด้วย ชาวบ้านที่มีโอกาสอพยพทางเรือนั้นนอกจากจะเป็นเพราะว่าหมู่บ้านอยู่ติดทะเลแล้ว ยังเป็นเพราะว่าชาวบ้านเหล่านี้มีหน้าที่ทำประมงภายใต้การควบคุมของทหารเขมรแดง การมีโอกาสได้ใช้เรือเป็นประจำประกอบกับความชำนาญเส้นทางการเดินเรือระหว่างเกาะกงและคลองใหญ่ ทำให้ชาวบ้านมีโอกาสแอบนำเรือที่ถูกยึดโดยทหารเขมรแดงไปแล้วมาใช้เป็นพาหนะในการหลบหนี คุณปู่ท่านหนึ่งเล่าให้ฟังว่าแอบเอาเรือพาครอบครัวหนี โดยการพายเรืออพยพนี้สามารถทำได้แค่ในเวลากลางคืนเท่านั้น พอใกล้รุ่งสางคุณปู่จำเป็นต้องเอาครอบครัวขึ้นไปแอบทหารเขมรแดงอยู่ตามชายฝั่งพร้อมกับจมเรือทิ้งในช่วงกลางวัน และจะเริ่มต้นพายเรือหนีอีกครั้งโดยการกู้เรือขึ้นมาใหม่เมื่อตะวันจมดิน (5) ชาวบ้านเชื้อสายไทยที่อาศัยอยู่ในหมู่บ้านที่ไม่ได้ห่างไกลมากนักจากชายแดนบวกกับการที่สามารถหาโอกาสหนีจากการควบคุมของทหารเขมรแดงได้ก็จะสามารถอพยพข้ามพรมแดนหนีตายมาสู่ฝั่งไทยได้ แต่ก็ยังมีชาวบ้านเชื้อสายไทยอีกจำนวนไม่น้อยทีเดียวที่ไม่สามารถหนีรอดจากการเข้าควบคุมของทหารเขมรแดงได้ เนื่องจากหมู่บ้านที่ตนอยู่นั้นห่างไกลจากเขตแดนไทย มีอุปสรรคและความยากลำบากในการอพยพมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าชาวบ้านไม่สามารถหนีออกจากหมู่บ้านก่อนที่ทหารเขมรแดงจะย้ายชาวบ้านไปทำงานยังหมู่บ้านอื่นหรือเมืองอื่นด้วยแล้ว โอกาสในการหนีจากทหารเขมรแดงก็เท่ากับศูนย์ ด้วยเหตุนี้จึงมีชาวบ้านเชื้อสายไทยจากเกาะกงจำนวนหนึ่งติดอยู่ภายใต้ระบอบเขมรแดงจนกระทั่งสิ้นสุดยุคดังกล่าว
อย่างไรก็ดี หลังจากการสิ้นสุดระบอบเขมรแดง ชาวบ้านเชื้อสายไทยที่ผ่านความทุกข์ทรมานจากการทำงานอย่างหนัก ความหิวโหย ความอดอยาก การพลัดพรากและการสูญเสียครอบครัวอันเป็นที่รักในยุคเขมรแดง ต่างก็ตัดสินใจละทิ้งที่ดิน บ้านเรือน เรือกสวนไร่นาที่ครอบครองมาตั้งแต่ครั้งบรรพบุรุษ เพื่ออพยพย้ายถิ่นจากเกาะกงเข้ามาอาศัยอยู่ที่อำเภอคลองใหญ่ จังหวัดตราดในประเทศไทย ลองจินตนาการว่า ถ้าแผ่นดินเขมรไม่มีสงคราม ไม่มียุคเขมรแดง การพลัดถิ่นของชาวบ้านเชื้อสายไทยจากเกาะกงอาจจะไม่ได้เกิดขึ้นก็ได้ แต่ยุคเขมรแดงที่เกิดขึ้นนั้นกลับเป็นปัจจัยผลักดันที่มีอิทธิพลที่สุดที่ทำให้เกิดการพลัดถิ่นครั้งใหญ่ของชาวบ้านเชื้อสายไทยจากเกาะกง The Nation Review ปี 1982 รายงานว่ามีผู้อพยพเชื้อสายไทยจากจังหวัดเกาะกงเข้าสู่ประเทศไทยราวๆ 8,000 คน เมื่ออพยพเข้ามาสู่ประเทศไทยแล้ว ชาวบ้านเชื้อสายไทยจากเกาะกงยังไม่สามารถเข้าไปอาศัยอย่างเป็นทางการอยู่ในตัวอำเภอคลองใหญ่ได้ แม้ว่าจะมีญาติพี่น้องของตัวเองอยู่ที่นั่น ในระยะแรกผู้อพยพบางส่วนยังต้องอาศัยอยู่ในค่ายผู้อพยพที่จัดไว้โดยรัฐบาลร่วมกับผู้อพยพชาวกัมพูชาที่ศูนย์ผู้อพยพที่เขาล้าน ตำบลไม้รูด (6) ชาวบ้านบางส่วนก็ตั้งบ้านเรือนอยู่ตรงชายแดนที่เขาวงตรงหลักเขตแดนที่ 71 ในปัจจุบัน
ยุคเขมรแดงจึงถือว่าเป็นช่วงเวลาประวัติศาสตร์ที่สำคัญอีกช่วงหนึ่งของชีวิตคนเชื้อสายไทยจากเกาะกง เพราะหนึ่งคือ ก่อให้เกิดการแตกสลายของกลุ่มคนเชื้อสายไทยในจังหวัดเกาะกงมากที่สุด สองคือ ก่อให้เกิดการลดจำนวนลงของกลุ่มชาติพันธุ์ไทยในจังหวัดเกาะกงอย่างรวดเร็วที่สุดและมากที่สุด มีการคาดประมาณกันว่า ก่อนยุคเขมรแดง ในปี ค.ศ. 1971 (พ.ศ. 2514) คนเชื้อสายไทยในเขมรน่าจะมีอยู่ราวๆ ประมาณ 40,000 คน แต่มีจำนวนลดลงเหลือประมาณ 8,000 คนในปีค.ศ.1980 (พ.ศ.2523) หลังจากสิ้นสุดยุคเขมรแดง (7) สามคือ ก่อให้เกิดการอพยพเข้าสู่ประเทศไทย ทำให้คนเชื้อสายไทยจากเกาะกงกลายเป็นผู้พลัดถิ่นในอดีตแผ่นดินของบรรพบุรุษตนเอง อันนำมาซึ่งปัญหาอื่นที่ตามมาคือปัญหาเรื่องของสัญชาติไทย
หลังจากการสิ้นสุดของยุคเขมรแดง ชาวบ้านเชื้อสายไทยส่วนมากตัดสินใจที่จะไม่กลับไปใช้ชีวิตที่เกาะกงอีกต่อไปแล้ว ด้วยความหวาดกลัวและเข็ดขยาดต่อระบอบเขมรแดง ที่สำคัญมากไปกว่านั้น บ้านเรือน ที่ดินเรือกสวนไร่นาของชาวบ้านที่ยึดครองกันมาตั้งแต่ครั้งบรรพบุรุษนั้นก็มีชาวเขมรเข้ามายึดครองไปหมดแล้ว ชาวบ้านไม่ได้มีเอกสารสิทธิ์อะไรที่จะแสดงความเป็นเจ้าของ การพยายามที่จะหนีเอาชีวิตให้รอดจากทหารเขมรแดงทำให้ชาวบ้านส่วนมากไม่คิดที่จะนำเอกสารที่สำคัญอะไรมาจากเกาะกง แม้กระทั่งรูปถ่ายของพ่อแม่พี่น้องก็มีอันต้องสูญไปภายใต้การปกครองของระบอบเขมรแดง