ตำนาน "ปืนใหญ่นางพญาตานี"

 

 

 

 

 

ตำนาน "ปืนใหญ่นางพญาตานี"

 

สถานที่หล่อปืนใหญ่



สถานที่ตั้ง        ตั้งอยู่ที่บ้านกรือเซะ  ตำบลตันหยงลูโละ  อำเภอเมือง   จังหวัดปัตตานี

ประวัติความเป็นมา
         
สถานที่หล่อปืนใหญ่  เป็นสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ เป็นที่หล่อปืนพญาตานี ซึ่งเป็นปืนที่รู้จักกันมาแพร่หลายทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ   ด้วยเป็นปืนโบราณที่มีลักษณะเด่นน่าสนใจอยู่หลายประการคือ หล่อด้วยทองสัมฤทธิ์ที่ใหญ่ที่สุด และสวยงามยิ่งกว่าปืนกระบอกใดที่มีอยู่ในประเทศขณะนี้ เป็นฝีมือของช่างหล่อชาวปัตตานีในอดีต
         
ประวัติความเป็นมาของปืนใหญ่นี้มีผู้เขียนไว้หลายฉบับ   แต่ข้อความแตกต่างกัน   โดยเฉพาะชื่อของผู้สร้างปืน และนายช่างผู้หล่อปืน ดังนี้
         
จากหนังสือสยาเราะห์เมืองตานี  ของนายหะยีหวันหะซัน เขียนไว้ว่า นายเรือสำเภาจีนได้นำปืนกระสุนมาถวายแก่พญาอินทิรา ทำให้พญาอินทิราเกิดความละอายต่อชาวจีนผู้นั้น เนื่องจากพระองค์มีฐานะเป็นเจ้าผู้ครองนคร แต่หาได้มีอาวุธปืนไว้ป้องกันบ้านเมืองไม่  จึงเรียกประชุมมุขมนตรี  ให้จัดหาช่างและทองเหลืองมาหล่อปืนให้ได้ภายในระยะเวลา ๓ ปี และห้ามพ่อค้านำทองเหลืองออกนอกเมือง เมื่อได้ทองเพียงพอแล้ว พญาอินทิราได้ให้นายช่างชาวโรมัน ชื่อ อับดุลซามัด เป็นผู้ทำการหล่อปืนเมื่อ "วันอังคาร ขึ้น ๓ ค่ำ เดือนรอมดอน ปีชวด นักษัตร ฮัจยาเราะห์ ๗๘" ได้ปืนใหญ่มา ๓ กระบอก คือ

          กระบอกที่ ๑ มีชื่อว่า          ซือรีนัครี
          กระบอกที่ ๒ มีชื่อว่า          โต๊ะโบะ
          กระบอกที่ ๓ มีชื่อว่า          นางเลียว
         
หนังสือประชุมพงศาวดารภาค ๓ พงศาวดารเมืองตานี ซึ่งพระยาวิเชียรคีรี (ชม ณ สงขลา เป็นผู้เรียบเรียงในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้า) กล่าวถึงการสร้างปืนใหญ่ ความว่า นางพญาตานี ได้หล่อปืนทองเหลืองขึ้น ๓ กระบอก นายช่างผู้หล่อเป็นชาวจีน ฮกเกี้ยน แซ่หลิม ชื่อเคี่ยม มาได้ภรรยาเป็นชาวเมืองปัตตานี จึงได้นับถือศาสนาอิสลาม ชาวเมืองเรียกชื่อว่า "หลิมโต๊ะเคี่ยม"


         
การหล่อปืนกระบอกที่หนึ่ง  และที่สองผ่านไปด้วยความเรียบร้อย แต่ปืนกระบอกที่สาม เมื่อเร่งไฟสุมทองเหลืองแล้วกลับเททองเหลืองไม่ลงเบ้า หลิมจึงตั้งพิธีบวงสรวงเทวดาขอเอาร่างกายเป็นเครื่องเซ่นสังเวย ในที่สุดหลิมก็สามารถเททองเหลืองหล่อได้สำเร็จและยอมอุทิศชีวิตดังที่ได้ปฏิภาณไว้ โดยไปยืนตรงหน้ากระบอกที่สามแล้วสั่งให้คนยิงปืน แรงของดินปืนหอบพาร่างของหลิมหายสาปสูญไป
         
สยาเราะห์กรียาอันมลายูปัตตานี ซึ่งนายอิบราฉิมซากรี ชาวกลันตัน เป็นผู้เขียนได้กล่าวว่า นางพญาบีรูทราบข่าวว่ากองทัพสยามจะยกมาตีเมืองตานี จึงให้มุขมนตรีจัดหาทองเหลืองและนายช่างมาหล่อปืนไว้เพื่อต่อสู้กับกองทัพกรุงสยาม ได้นายช่างชาวจีน ชื่อโกเคี่ยม ภายหลังเข้ารีตเป็นมุสลิม เรียกกันว่า โต๊ะเคี่ยม มาเป็นคนหล่อปืนใหญ่ได้ปืนรวม ๓ กระบอก มีชื่อเรียกดังนี้

          ๑. ศรีนัครา
          ๒. ศรีปัตตานี
          ๓. มหาเสลา
         
จากประวัติตามตำนานพื้นบ้านที่กล่าวไว้นั้น ไม่สามารถสรุปได้ว่าปืนกระบอกนี้สร้างขึ้นเมื่อใดแน่ ถ้าพิจารณาลักษณะปืนพญาตานี จะเห็นได้ว่าเป็นแบบรูปปืนโบราณเนื้อทองสัมฤทธิ์  ลำกล้องเรียบ มีวงแหวนรัดปากลำกล้องหนา ๖ เซนติเมตร วงแหวนรัดท้ายปืนหนา ๑๐ เซนติเมตร และวงแหวนรัดกลางกระบอกปืนเป็นระยะๆ  อีก  ๔  วงแหวน ปากลำกล้องปืนกว้าง ๔๔ เซนติเมตร ตัวปืนยาว ๖ เมตร ๘๙ เซนติเมตร บรรจุกระสุนทางปากกระบอก ใช้ดินดำเป็นดินระเบิด  จุดดินระเบิดผ่านทางสายชนวน ที่ผิวกระบอกปืนมีสัมฤทธิ์รูปสี่เหลี่ยมเล็กๆ อุดอยู่ทั่วไป อันเป็นกรรมวิธีที่ช่างหล่อโบราณนิยมใช้กัน ดังนั้นปืนกระบอกนี้ ควรจะทำการหล่อก่อนสมัยนางพญาบีรู คือยุคแรกๆ ของการนำปืนเข้ามาใช้ในแหลมมลายู
         
เมืองตานีสมัยนั้นเป็นเมืองท่าที่มั่งคั่งเมืองหนึ่งในแหลมมลายูด้วยที่พ่อค้ามุสลิมรังเกียจชาวโปรตุเกส จึงอพยพกันมาทำการค้าขายที่เมืองตานีเป็นจำนวนมาก  ดังนั้นเมืองตานีก็ควรจะมีอาวุธปืนใช้แล้วเช่นเดียวกับที่เมืองมะละกามีเพราะปืนเป็นอาวุธที่มีอานุภาพร้ายแรงกว่าอาวุธอื่นใด และเป็นของที่เพิ่งเกิดใหม่ๆ ใครๆ ก็อยากได้ไว้ประดับบารมีบ้านเมืองของตน  ครอเฟริดว่า "พวกมลายูรู้จักใช้ปืนไฟแล้ว เมื่อพวกโปรตุเกสเข้ามาถึงหมู่เกาะแห่งนี้" ด้วยเหตุนี้จึงเชื่อว่า ปืนพญาตานี  ควรจะสร้างขึ้นในสมัยของพญาอินทิราผู้เป็นปู่ของพญาบีรูมากกว่า หากนางพญาบีรูเป็นผู้สร้าง สมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกก็คงไม่รับสั่งให้ "จารึกนามลงไว้กับกระบอกปืนว่า "พญาตานี" เป็นแน่

ลักษณะทั่วไป
         
เป็นแหล่งชุมชนโบราณ  รูปร่างเป็นเนินดิน กว้างจากทิศตะวันตกถึงทิศตะวันออก ยาวด้านละ ๔๑.๐๐ เมตร ยาวจากทิศเหนือถึงทิศใต้  ยางด้านละ  ๔๒๐ เมตร พื้นที่ ๑ ไร่ ๒๒ ตารางเมตร สภาพปัจจุบันเป็นเนินดินที่มีซากเถ้าถ่านจากการหลอมโลหะ จนเนินดินนี้สุกและหญ้าไม่ขึ้นอยู่ในสภาพเดิม  ปัจจุบันเป็นที่โล่ง

หลักฐานที่พบ
         
เป็นแหล่งถลุงโลหะที่ทำการหล่อปืนใหญ่พญาตานี  มีลักษณะเป็นลานกว้าง  มีกร่อนตะกอนของทองเหลืองอยู่มาก

เส้นทางเข้าสู่สถานที่สำคัญ
         
อยู่ติดกับทางหลวงแผ่นดินสายปัตตานี  -  นราธิวาส  ห่างจากตัวจังหวัดประมาณ  ๘  กิโลเมตร

 

Credit: http://www.siamsouth.com/smf/index.php?topic=24925.0
10 ก.พ. 55 เวลา 12:56 20,478 40
แชร์สกู๊ป
กรุณา Login เพื่อแสดงความคิดเห็น
ส่ง Scoop ให้เพื่อน
แจ้งลบไม่เหมาะสม
ความคิดเห็น

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Loading...