แฟนเพจคําหยาบอื้อ ชี้แค่บันเทิง-ระบายอารมณ์!!!

 

แฟนเพจคำหยาบอื้อ ชี้แค่บันเทิง-ระบายอารมณ์



เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม
ขอขอบคุณภาพประกอบจาก เฟซบุ๊ก มั่นใจพ่องมั่นใจแม่งอะไรกันหนักหนา, เฟซบุ๊ก แถวนี้แม่งเถื่อน บอกตรงๆนะถ้าไม่แน่จริงอยู่ไม่ได้

          กระแสสังคมออนไลน์อย่าง "เฟซบุ๊ก" นอกจากจะเป็นช่องทางในการติดต่อสื่อสารแล้ว ยังเป็นพื้นที่ที่ให้แต่ละคนได้แสดงความคิดอย่างอิสระเสรี และได้มีการตั้ง "แฟนเพจ" ขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง นอกเหนือจากแฟนเพจคนดัง แฟนเพจสินค้าแล้ว ยังมีกลุ่มคนบางกลุ่ม ที่ตั้ง "แฟนเพจ" ในถ้อยคำหยาบคายเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ทุก ๆ วัน

          เกี่ยวกับเรื่องนี้ นักศึกษาชั้นปีที่ 3 สาขาวิชาวารสารศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยหอการค้า ได้ทำการสำรวจและสอบถามโดยเข้าไปสมัครเป็นสมาชิกแฟนเพจเหล่านั้น เช่น "มี__อะไรมาปรึกษากูได้", "มั่นใจพ่องมั่นใจแม่งอะไรกันหนักหนา" เป็นต้น

          และจากการสำรวจเพจดังกล่าวพบว่า ข้อความที่แอดมิน (ผู้ดูแล) ได้โพสต์ให้สมาชิกแฟนเพจได้แสดงความคิดเห็นนั้น มักจะเป็นคำหยาบคาย นอกจากนั้นแอดมินจะโพสต์รูปอนาจาร เพื่อให้สมาชิกได้แสดงความคิดเห็นกันอย่างสนุกสนานและแน่นอนว่า ความคิดเห็นเหล่านั้นส่วนมากเป็นคำที่หยาบคายทั้งหมด... แถมจำนวนสมาชิกในแต่ละวันยังเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ โดยเฉพาะ "มั่นใจพ่องมั่นใจแม่งอะไรกันหนักหนา" ที่ ณ วันนี้ (8 กุมภาพันธ์) มีจำนวนสมาชิกทั้งสิ้น "56,448 คน"


          ทั้งนี้ จากการพิมพ์ค้นหาแฟนเพจดังกล่าว พบว่า มีแฟนเพจคำหยาบจำนวนมากขึ้นเรียงกันมากมาย และเมื่อเข้าไปในแฟนเพจดังกล่าวยังพบว่า สามารถคลิกกดเข้าไปยังแฟนเพจอันอื่นอีกได้ อาทิ   "แถวนี้แม่งเถื่อน บอกตรงๆนะถ้าไม่แน่จริงอยู่ไม่ได้",  "การซ่ำมันเป็นศิลปะ คนเราเกิดมาต้องซ่ำกัน",  "ทวงคืนหัวนมให้ชิซูกะ" "เห___ดดดดด" เป็นต้น

          ผู้ทำการสำรวจ ยังเปิดเผยอีกว่า จากการตรวจสอบพบว่า สมาชิกแฟนเพจส่วนมากเป็นเยาวชน ที่เข้ามาระบายอารมณ์ในถ้อยคำหยาบคาย นอกจากนี้ยังมีบางแฟนเพจที่เปิดให้เพื่อน ๆ สมาชิกเข้ามาระบายอารมณ์ไม่ว่าจะเป็น "เชิญ)ระบายอารมณ์ มึงเครียดอะไรมาระบายในนี้เลย"  "มึงจงหยาบ หยาบคาย สบายอารมณ์" อีกด้วย ซึ่งแตกต่างจากแฟนเพจข่าวสารวิชาการที่มีสมาชิกเพียงไม่กี่พันคนเท่านั้น

          ส่วนสาเหตุที่ผู้ใช้เฟซบุ๊กกดไลค์เป็นแฟนเพจในเพจ "มั่นใจพ่องมั่นใจแม่งอะไรกันหนักหนา" ดังกล่าวนั้น จากการที่ได้ลองสัมภาษณ์ผู้ใช้เฟซบุ๊กคนหนึ่ง ในช่องทางข้อความ (Chat) พบว่า ตอนแรกเห็นชื่อแฟนเพจค่อนข้างแรง แต่ตนก็ติดตามความเคลื่อนไหวมาตลอด สักระยะหนึ่งตนจึงกดไลค์เพื่อเป็นสมาชิกแฟนเพจดังกล่าว และพบว่า การสนทนาบนเพจมีคำหยาบคายจริง แต่ก็เพียงแค่พูดคุยกับเฉย ๆ ไม่ได้ไปด่าอะไรใครจริงจัง เปรียบเสมือนการคลายเครียด เอาไว้ระบายอารมณ์กันมากกว่า

          ทางด้าน ด.ช.คนหนึ่ง ที่เป็นสมาชิกแฟนเพจดังกล่าว กล่าวถึงข้อดีข้อเสียของแฟนเพจนี้ว่า ข้อดีคือตนได้ระบายอารมณ์ แต่ข้อเสียนั้นคือตนอาจจะติดคำหยาบคายไปใช้กับเพื่อนในชีวิตจริงบ้าง

          ส่วนสมาชิกอีกคน กล่าวว่า ตนสมัครเข้าไปเป็นแฟนเพจ แต่ไม่เคยสนทนาหรือแสดงความคิดเห็นใด ๆ เลย ตนเพียงแค่อยากเข้าไปดูและติดตามเพื่อความบันเทิงเท่านั้น และคิดว่าเป็นเรื่องตลกคลายเครียด


          เมื่อได้สำรวจไปยัง "ผู้ปกครอง" เกี่ยวกับแฟนเพจหยาบคาย ซึ่งผู้ปกครองได้ระบุว่า ตนก็เล่นอินเทอร์เน็ต และเข้าเล่นเฟซบุ๊กเป็นประจำ แต่ตนไม่รู้จักแฟนเพจหยาบคาย และคิดว่าไม่ควรมีแฟนเพจเหล่านี้ ส่วนการสนทนาด้วยคำหยาบนั้น ตนคิดว่าเป็นเรื่องที่ไม่เหมาะสม เพราะเพจดังกล่าวจะกลายเป็นการส่งเสริมให้เยาวชนแสดงออกในทางที่หยาบคาย แล้วอีกอย่างแฟนเพจดังกล่าวกลายเป็นช่องทางที่ทำให้เด็กและผู้ปกครองห่างเหินกัน เนื่องจากเด็กไประบายอารมณ์ในแฟนเพจ แทนที่จะมาปรึกษาผู้ปกครอง

          ขณะที่ นางสาวเมทินี อิ่มด้วยสุข "นักจิตวิทยา" สำนักอนามัย ให้สัมภาษณ์ว่า  ถึงแม้ว่าการพูดจาหยาบคายหรือระบายอารมณ์ในแฟนเพจนั้น จะไม่ชี้ชัดในการทำให้บุคคลนั้นนำพฤติกรรมดังกล่าวมาพูดในชีวิตจริง แต่ก็มีแนวโน้มที่เป็นปัญหาทางพฤติกรรม เนื่องจากเมื่อเครียดแล้วไม่รู้จักการเก็บอารมณ์ กลับนำไประบายในเว็บ แทนที่จะระบายให้กับเพื่อน ผู้ปกครองที่วางใจได้แต่อย่างไรก็ตาม การแสดงความคิดเห็นดังกล่าว ก็ไม่ได้ทำให้ใครเดือดร้อน ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับวิจารณญาณและวุฒิภาวะของผู้เล่น แต่ถ้าหากมองในมุมนักจิตวิทยา ถือว่าเป็นเรื่องที่ไม่เหมาะสม เพราะเด็กขวนขวายหนทางระบายอารมณ์ในโลกไซเบอร์ หรืออาจจะเป็นผู้ปกครองห่างเหินจนเด็กไม่มีที่พึ่งก็เป็นได้

          ส่วนทางด้าน "นักกฏหมาย" ได้กล่าวเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า เป็นคำหยาบเป็นเรื่องที่ควบคุมยาก และขณะนี้ก็มุ่งดูแลเรื่องเว็บหมิ่นฯ ที่วัน ๆ หนึ่งแจ้งมากว่าหมื่นเรื่อง ซึ่งทำให้อาจจะละเลยเรื่องแฟนเพจคำหยาบเหล่านี้ไป แต่ทั้งนี้เมื่อพบเพจที่ไม่เหมาะสม ทางกระทรวงไอซีทีจะตักเตือน จากนั้นจะบล็อก หรือปิดก็แล้วแต่กรณี แต่การสนทนาด้วยข้อความหยาบคายนั้น ไม่เป็นการผิดกฎหมาย ซึ่งต้องให้ผู้ปกครองช่วยดูแลเยาวชนเหล่านี้ด้วย



          อย่างไรก็ตาม บรรดาผู้ใช้เฟซบุ๊ก หรือสมาชิกแฟนเพจต่าง ๆ ออกมาแสดงความคิดเห็นในข้อความกึ่งประชด เกี่ยวกับกรณีดังกล่าว อาทิ...


           "ต่อไปคนไทยต้องสื่อสารกันด้วยภาษาดอกไม้เท่านั้นสินะ อืม..."

          "ว้ายย พูดคําหยาบผิดกฎหมายด้วยเหรอคะสั__"

          "__เลอะเทอะ คำหยาบมันก็พูดอยู่ทุกวัน กับเพื่อนฝูงสนิท ไม่ใช่เรื่องแปลก ทำไมต้องตัดสินคนจากแค่คำพูดเหล่านี้"

          "มั่นใจพ่องมั่นใจแม่งอะไรกันนักหนา ไม่ได้มีดีแค่หยาบคาย
           แอดมินเองก็ไม่ได้หยาบหรืออะไรจนเกินไป สาระก็มีบ้าง เตือนสติบ้าง อะไรแบบนี้
           กรุณามาดู มาอ่าน ก่อนตัดสินใจนะครับ"

          "คนมันจะหยาบ มันไม่เกี่ยวกับแฟนเพจหรอก ในเฟซบุ๊กตัวเองก็หยาบได้ มันอยู่ที่จิตใต้สำนึก และกาลเทศะ"

          "ถึงไม่มีเพจนี้ ผมก็หยาบคายครับ แต่ผมก็หยาบคายกับเพื่อน  เยาวชนเค้าก็มีสมองนะครับ ถ้าไปหยาบคายใส่เพจพ่อแม่ เพจครูบาอาจารย์ก็ว่าไปอย่าง"

          "ถ้าคุณว่างมากถึงขนาดจะมาปิดเพจพวกเรานะครับ
           ไปเอาเวลาดูพวกเพจหมื่นเชื้อพระวงค์ไม่ดีกว่าอีกเหรอครับ ตอนนี้มันระบาดเกลื่อนเลยนะครับ"




อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก
Credit: กระปุกดอดคอม
#คําหยาบ #เพจ
THEPOco
ผู้กำกับภาพ
สมาชิก VIP
9 ก.พ. 55 เวลา 06:12 2,132 20
แชร์สกู๊ป
กรุณา Login เพื่อแสดงความคิดเห็น
ส่ง Scoop ให้เพื่อน
แจ้งลบไม่เหมาะสม
ความคิดเห็น

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Loading...