วันนี้ (6 ก.พ.) เวลา 14.30 น. ที่ห้องประชุมกองบังคับการตำรวจภูธรจังหวัดชลบุรี พล.ต.ท.ปัญญา มาเม่น ผบช.ภ.2 พล.ต.ต.จำนงค์ รัตนกุล ผบก.ภ.จว.ชลบุรี พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่สืบสวน ฝ่ายรักษาความปลอดภัย ธนาคารแห่งประเทศไทย นายวรพงศ์ หรือเฮียหยู๋ โรจน์สัตตรัตน์ อายุ 60 ปี อยู่บ้านเลขที่ 191/12 หมู่ 1 ต.คลองกิ่ว เจ้าของห้างทองรุ่งเจริญ ที่เปิดร้านจำหน่ายทองรูปพรรณใหญ่ที่สุดในตลาดหัวกุญแจ และนายวรพันธ์ หรือเบิร์ด โรจน์สัตตรัตน์ อายุ 30 ปี ลูกชายที่เป็นผู้ก่อคดีสุดพิลึกฉีกธนบัตรใบละ 1 พันบาท เป็นเงิน 1.3 ล้านบาท และนำมาทิ้งในถังเก็บขยะของเทศบาลตำบลหัวกุญแจ ริมถนนเทศบาลสาย 3 หมู่ 1 ต.คลองกิ่ว อ.บ้านบึง มาเปิดแถลงข่าวถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น
นายวรพันธ์ กล่าวด้วยน้ำเสียงอ่อยๆ ว่า เป็นผู้ทำลายธนบัตรทั้งหมดด้วยการใช้กรรไกรตัด บางส่วนนำไปเผาไฟ จากนั้นได้นำเศษธนบัตรทั้งหมดใส่ถุงกระดาษแล้วนำไปทิ้งในถังขยะของเทศบาล สาเหตุเพราะน้อยใจ และไม่พอใจที่บิดาได้นำเงินจำนวนมากไปช่วยเหลือร้านทองของพี่ชายและพี่สะใภ้ ที่ไปเปิดร้านทองสาขาใหม่ที่พัทยา จึงเกิดความคิดชั่ววูบแอบนำเงินบางส่วนมาเก็บไว้ เพราะเกรงว่าเงินสำหรับใช้จ่ายภายในบ้านจะหมดไป โดยได้เก็บสะสมมาเรื่อยๆ นานกว่า 2 ปี คาดว่ามีประมาณ 1 ล้านบาทเศษ ต่อมาเกิดความกลัวว่าพ่อจะจับได้จึงนำธนบัตรมาทำลายทิ้งดังกล่าว
ด้านนายวรพงศ์ กล่าวว่า ยอมรับว่าความผิดของตนเอง เนื่องจากได้เปิดร้านทองอีกแห่งที่พัทยา โดยให้พี่ชายของนายวรพันธ์และลูกสะใภ้ไปดูแล แต่ร้านทองเปิดใหม่ต้องใช้เงินลงทุนมาก ตนเป็นพ่อจึงต้องช่วยเหลือ ที่ผ่านมานายวรพันธ์ ลูกชายคนเล็กเคยบ่นน้อยใจเหมือนกันว่า ตนเอาเงินไปช่วยพี่ชายจนเงินไม่เหลือใช้ในบ้านแล้ว แต่ไม่คิดว่าจะเกิดเรื่องนี้ขึ้น “ผมถือว่าแล้วไปแล้ว ไม่เป็นไร ผมเคยทำงานที่ธนาคารมาก่อน จะพยายามนำธนบัตรที่ตัดแล้วนำมาต่อกันใหม่ เพื่อแลกเงินคืน คาดว่าน่าจะแลกได้ซักประมาณ 1 ล้านบาท”นายวรพงศ์ กล่าว
ด้าน พล.ต.ท.ปัญญา กล่าวว่า หากมองในเรื่องของเจตนาแล้วพบว่าการฉีกธนบัตรนั้นเกิดจากความน้อยใจผู้เป็นพ่อและเป็นเรื่องภายในครอบครัว ส่วนในเรื่องของการลักเงินพ่อนั้น จากการตรวจสอบแล้วพบว่านายวรพงศ์ให้อำนาจนายวรพันธ์เก็บเงินและใช้จ่ายได้ ถือว่าเป็นคนในบ้าน ไม่ใช่การลักทรัพย์แต่อย่างใด เมื่อคดีคลี่คลายแล้วถือว่าเรื่องจบกันไป
ขณะที่ นายชาญชัย บุญฤทธิ์ไชยศรี ผู้ช่วยผู้ว่าการสายช่วยงานบริหาร ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า การฉีกธนบัตรมูลค่าใดก็ตามไม่ถือว่าเป็นความผิดทางกฎหมายอย่างแน่นอน ถ้าธนบัตรเป็นทรัพย์สินของบุคคลนั้นๆ แต่ทั้งนี้ หากบุคคลใดก็ตามฉีกหรือทำลายธนบัตรของบุคคลอื่น จะเข้าข่ายผิดกฎหมายข้อหาทำให้ผู้อื่นเสียทรัพย์.