ทบ.โชว์ "เรือเหาะ" เหินฟ้าเหนือปัตตานี 2 ชั่วโมง เผยปมฉาวจัดซื้อแพง 350 ล้านบาท (มีคลิป)

ผู้สื่อข่าว "มติชน" รายงานจากจ.ปัตตานี เมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ ว่า ชุดเฝ้าตรวจระวังทางอากาศจากกองพลทหารราบที่ 15 ต.บ่อทอง อ.หนองจิก จ.ปัตตานี นำเรือเหาะขึ้นลอยทดสอบระบบสัญญาณ หลังจากปรับปรุงแก้ไขอุปกรณ์บางส่วนให้ใช้การได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ นำขึ้นลอยไปทางทิศตะวันออกในระดับความสูงประมาณ 500 เมตร ใช้เวลาประมาณ 2 ชั่วโมง แล้วบินกลับฐานที่ตั้งที่กองพลทหารราบที่ 15

 

"เรือเหาะ" ลำดังกล่าวเรียกชื่ออย่างเป็นทางการว่า "ระบบตรวจการณ์ทางอากาศ" กลายเป็นประเด็นร้อนๆทางการเมือง เนื่องจากมีการกล่าวหาว่า การจัดซื้อมูลค่า 350ล้านบาทแพงเกินจริง

 
ขณะที่ปฎิบัติการ”เหาะ”มีปัญหา เพราะตั้งแต่จัดซื้อมาจนกระทั่งถึงปัจจุบันเป็นเวลา3ปีเต็มๆ กองทัพบกปล่อย”เรือเหาะ”ขึ้นไปบนเวหาเพียงไม่กี่ครั้ง แต่ละครั้งใช้เวลาช่วงสั้นๆ ไม่เป็นไปตามแผนปฎิบัติการ"ดวงตาบนฟากฟ้า"เพื่อตรวจจับศัตรูฝ่ายตรงข้ามที่คุกคามพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้

สำหรับที่มาของ "เรือเหาะ" เริ่มขึ้นเมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2552 หลังจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบอนุมัติงบประมาณจำนวน 350 ล้านบาท เจัดหา "ระบบเรือเหาะ" พร้อมกล้องตรวจการณ์ทั้งกลางวันและกลางคืน สำหรับใช้ในกิจการของกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) ในภารกิจตรวจการณ์ทางอากาศ


ราคาจัดซื้อแบ่งเป็น ตัวเรือบอลลูนราคา 260 ล้านบาท กล้องส่องกลางวันและกลางคืน ราคาประมาณ 70 ล้านบาท ส่วนอีก 20 ล้านบาทเป็นอุปกรณ์สื่อสารภาคพื้น ทั้งหมดรวมเป็นระบบเรือเหาะ 1 ชุด (ดูรายละเอียดเพิ่มเติมในเรื่องคุณสมบัติ)

ต่อมาวันที่ 23 เมษายน 2552 กองทัพบกทำสัญญาจัดซื้อเรือเหาะตรวจการณ์กับบริษัทแอเรียล อินเตอร์เนชั่นแนล คอร์ปอเรชั่น จากนั้นในวันที่ 28 มิถุนายน.2552 บริษัทฯส่งเรือเหาะมาถึงท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ

 

อีก5เดือนถัดมา เรือเหาะเข้าประจำการ ที่โรงจอดภายในหน่วยเฉพาะกิจปัตตานี กองพลทหารราบที่ 15 ในเวลานั้นพล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ยังดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) เดินทางไปตรวจความพร้อมของเรือเหาะ

วันที่ 15 มกราคม 2553 กองทัพกำหนดส่งเรือเหาะขึ้นปฏิบัติการบนท้องฟ้าเป็นครั้งแรก แต่ปรากฎว่าเกิดปัญหาทางเทคนิค "เหาะไม่ได้" กองทัพบกจึงเซ็นรับมอบสินค้าอย่างเป็นทางการจากบริษัทผู้ผลิต

ในวันที่ 5 มีนาคม คณะกรรมการตรวจรับเรือเหาะของกองทัพบกจัดทดสอบประสิทธิภาพการใช้งาน โดยไม่อนุญาตให้สื่อมวลชนเข้าไปติดตามทำข่าว ผลการทดสอบพบปัญหาหลายประการ ทั้งในส่วนของกล้องและตัวบอลลูน พบว่า เรือเหาะบินสูงได้เพียง 1 ใน 3 ของสเปคเท่านั้น ทำให้ไม่พ้นระยะยิงจากภาคพื้น

อีก4วันถัดมา คือวันที่ 9 มีนาคม พล.อ.อนุพงษ์ ลงพื้นที่ จ.ปัตตานี อีกครั้ง เพื่อร่วมตรวจสอบประสิทธิภาพของระบบเรือเหาะ พบปัญหาเพิ่มเติมอีกหลายประการ

วันที่ 27 พฤษภาคม คณะกรรมการตรวจรับฯ ลงนามรับมอบ "บอลลูน" ส่วนประกอบสำคัญของเรือเหาะ

ระหว่างนั้นเสียงวิพากษ์วิจารณ์ถึงปัญหา”เรือเหาะ”ดังกระหึ่มอย่างต่อเนื่องจนกระทั่ง พ.อ.วิวรรธน์ สุชาติ รองเจ้ากรมส่งกำลังบำรุงทหารบก ต้องออกมาแถลงข่าวตอบโต้ โดยเฉพาะกรณีเพดานบินของเรือเหาะที่กำหนดสเปคไว้ 10,000 ฟุต หรือราว 3 กิโลเมตร แต่จากการทดสอบหลายครั้งที่ผ่านมาเรือเหาะตรวจการณ์กลับบินได้เพียง 1 กิโลเมตรว่าเพดานบินสูงสุดกำหนดไว้เฉพาะเรือเหาะเปล่าๆ แต่เมื่อติดกล้องเข้าไป และมีเจ้าหน้าที่ขึ้นไปขับ จะทำให้เพดานบินต่ำลง

ในวันที่ 19 สิงหาคม 2553 ในการประชุมสภาผู้แทนฯเพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ.2554 ส.ส.ฝ่ายค้านนำทีมโดยพรรคเพื่อไทยอภิปรายโจมตีการจัดซื้อเรือเหาะตรวจการณ์ ว่าเป็นการทำสัญญาโดยไม่ผ่านการพิจารณาของสำนักงานอัยการสูงสุด มีการเบิกจ่ายงบประมาณจัดซื้อไปแล้วโดยที่ไม่มีการขอให้บริษัทคู่สัญญาส่งสินค้ามาให้ทดลองใช้ก่อน ปรากฏว่าเมื่อนำมาใช้จริงก็ไม่สามารถทำงานได้เต็มประสิทธิภาพ เนื่องจากผ้าใบเสื่อมสภาพและมีรูรั่ว


สิ้นเดือนกันยายน 2553 พล.อ.อนุพงษ์ เกษียณอายุราชการ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ขึ้นเป็น ผบ.ทบ.


วันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2554 กองทัพนำเรือเหาะขึ้นบินเพื่อทดสอบ หลังมีข่าวบริษัทผู้ผลิตเปลี่ยนผ้าใบผืนใหม่ให้แล้ว จากนั้นอีกหนึ่งเดือน พล.อ.ประยุทธ์ ลงพื้นที่ จ.ปัตตานี ตรวจความพร้อมของเรือเหาะครั้งสุดท้ายก่อนใช้งานจริง แต่ถึงที่สุดกองทัพไม่สามารถส่งเรือเหาะขึ้นไปเหาะอย่างที่กำหนดแผนไว้

วันนี้ 5กุมภาพันธ์ 2555 กองทัพบก เพิ่งได้ฤกษ์อีกครั้งในการทดสอบเรือเหาะ หลังจากปล่อยให้เป็นเรือเหี่ยวมานานเกือบ3ปี
 

 

 

--------------------------------------------------------------------------------
 

เปิดคุณสมบัติหรือ(specification)ของเรือเหาะ

 

เรือเหาะของกองทัพบกลำนี้เป็นรุ่น แอโรส์ (Aeros )40D S/N 21 (SKY DRAGON) ผลิตโดยบริษัท เวิลดิ์ไวด์ แอโรส์ คอร์ป ประเทศสหรัฐอเมริกา ขนาดกว้าง 34.8 ฟุต (10.61 เมตร) ยาว 155.34 ฟุต (47.35 เมตร) สูง 48/3 ฟุต (13.35 เมตร) ความจุก๊าซฮีเลี่ยม 100,032 ลูกบาศก์ฟุต (2,833 ลูกบาศก์เมตร)

ระยะความสูงที่สามารถปฏิบัติงานได้ คือ 0-10,000 ฟุต (0-3,084 เมตร) ระยะความสูงปฏิบัติการ 3,000-5,000 ฟุต ความเร็วสูงสุด 88 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ความเร็วเดินทาง 55 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เครื่องยนต์ 2 คูณ 125 แรงม้า 4กระบอกสูบ ความจุเชื้อเพลิง 76 แกลลอน (300 ลิตร) บินได้นาน 6 ชั่วโมง

เกณฑ์การสิ้นเปลือง ความเร็วสูงสุด 50 ลิตรต่อชั่วโมง ระยะทางที่บินได้ไกลสุด ณ ความเร็วสูงสุด 560 กิโลเมตร ความจุห้องโดยสาร 4 นาย (นักบิน 2 นาย ช่างกล้อง 1 นาย เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงาน 1 นาย)

โครงสร้างการควบคุม "เรือเหาะตรวจการณ์" ประกอบด้วย

1.เรือเหาะ (Airship) 2. เฮลิคอปเตอร์ติดกล้องตรวจการณ์ 3 ลำ (HU-1H Helicopter) อยู่ในพื้นที่จังหวัดละ 1 ลำเพื่อสนับสนุนการปฏิบัติงานของเรือเหาะตรวจการณ์

3. ศูนย์บัญชาการประจำสถานี กระจายอยู่ทั่วพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ 26 สถานี (Fixed Command Center) จะใช้หน่วยเฉพาะกิจในพื้นที่เป็นที่ตั้งศูนย์บัญชาการประจำสถานี 4. รถบังคับการ (Glizzly) สนับสนุนการปฏิบัติงานของเรือเหาะในภาคพื้นดิน โดยจะติดตามเรือเหาะทางภาคพื้นดิน


ระบบปฏิบัติการของ "เรือเหาะ" จะใช้ 2 ระบบ คือระบบสัญญาณไมโครเวฟ และระบบสัญญาณดาวเทียม ในการส่งข้อมูลไปยังหน่วยเฉพาะกิจหมายเลข 2 ตัวในพื้นที่ หน่วยเฉพาะกิจระดับจังหวัด และกองบัญชาการกองทัพบก

คุณลักษณะทั่วไปของเรือเหาะ คือควบคุมโดยนักบิน ใช้กล้องตรวจการณ์เวลากลางวันและกลางคืนที่สามารถถ่ายภาพและบันทึกภาพความละเอียดสูง สามารถตรวจจับความร้อน รวมทั้งตรวจจับระยะและชี้เป้าหมายได้ ลอยตัวอยู่ในอากาศได้เป็นเวลานาน หรือลาดตระเวนตามวงรอบเพื่อปฏิบัติงานด้านการข่าวที่ต้องการด้วยเสียงที่เงียบกว่าอากาศยานประเภทอื่น

กรุณา Login เพื่อแสดงความคิดเห็น
ส่ง Scoop ให้เพื่อน
แจ้งลบไม่เหมาะสม
ความคิดเห็น

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Loading...