วิถีคนรุ่นใหม่ ติดเฟสบุ๊ค ยิ่งกว่าเหล้าบุหรี่ ส่งผลมนุษยสัมพันธ์แย่
Mthainews: หลายครั้งที่รู้สึกเบื่อหน่าย ไร้หัวข้อคุยในวงสนทนา ในปัจจุบันจะเห็นว่าจะมีคนกลุ่มหนึ่ง เลือกที่จะหยิบโทรศัพท์มือถือขึ้นมาพร้อมกับล็อคอินเข้าโซเชียลเน็ตเวิร์ค เพื่อเป็นอีกทางเลือกหนึ่งในการพูดคุยกับเพื่อนๆ ในสังคมออนไลน์ ก็นับว่าเป็นข้อดีในการที่จะสามารถติดต่อ พูดคุยแก้เหงากับเพื่อนเก่าและเพื่อนใหม่ได้อย่างต่อเนื่อง เชื่อมความสัมพันธ์ แสดงทรรศนะ
แต่ทว่า ในกลุ่มสนทนาในชีวิตจริง กลับจะทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลแย่ลง จนกลายอาจกลายเป็นคนที่ไร้มนุษยสัมพันธ์ เพราะให้เวลากับการใช้อินเทอร์เน็ตในปริมาณมากเกินไป และนี่อาจทำให้เข้าข่าย ติดเฟสบุ้ค โดยไม่รู้ตัว
ด้วยพฤติกรรมของมนุษย์ในปัจจุบัน มีลักษณะเปลี่ยนแปลงภายใต้การพัฒนาของเทคโนโลยี ทั้งคอมพิวเตอร์ แบล็คเบอรรี่ โทรศัพท์มือถือ ที่ออกแบบมาให้เข้าถึงเฟสบุ้คได้ง่าย จนกลายเป็นการเสพติดมากกว่าการดื่มแอลกอฮอล์หรือสูบบุหรี่เสียอีก ดังจะเห็นได้จากข้อมูลการสำรวจ จากมหาวิทยาลัยธุรกิจแห่งชิคาโก พบว่า ปัจจุบันสิ่งที่จะต้องทำเป็น กิจวัตรประจำวัน อย่างหนึ่งก็คือ การล็อกอินเข้าไปติดตามข่าวสาร เรื่องราวต่าง ๆ ของเพื่อน ๆ ในเฟสบุ้ค
ซึ่งหากต้องเลือกอย่างใดอย่างหนึ่งระหว่าง ดื่มแอลกอฮอล์ กับการล็อกอินเข้า เฟซบุ๊กและทวิตเตอร์ กลับพบว่า กลุ่มตัวอย่างเลือกอย่างที่สองมากกว่า นั่นแสดงว่า มันเป็นสิ่งจำเป็นที่ขาดไม่ได้ในชีวิตประจำวันไปซะแล้ว
สอดคล้องกับคำพูดของนักประสาทวิทยาหลายท่านของสหรัฐอเมริกาที่กล่าวไว้ว่า การเล่น เฟสบุ้ค จะทำ ให้เกิด ความรู้สึกอบอุ่น มีความสุข เหมือนกับเวลาพบเพื่อนสนิทในชีวิตจริง แต่ผู้ที่เสพติดเฟสบุ้คส่วนใหญ่เป็นผู้ที่มีอาการของโรคสมาธสิสั้น มีพฤติกรรมหวาดกลัว ไม่ชอบเข้าสังคม และมีอาการซึมเศร้า
ผลกระทบจากการติดเฟสบุ้ค จะมีผลโดยตรงต่อ สุขภาพ สมาธิสั้น หงุดหงิดง่าย เกิดปัญหาการเรียนการทำงาน ที่มีประสิทธิภาพต่ำลง สถานที่ทำงานบางแห่งถึงกับห้ามไม้ให้พนักงานเข้าเฟสบุคในระหว่างการทำงาน อีกทั้งยังเป็นปัญหาด้านความสัมพันธ์กับบุคคลอื่น ไม่ว่าจะเป็นความสัมพันธ์กับเพื่อน หรือครอบครัว โดยผู้เสพติดจะไม่สนใจครอบครัว เลือกที่จะจดจ่อกับการสนทนาออนไลน์
อย่างไรก็ดี เฟสบุ้ค เปรียบเสมือนดาบสองคม หากใช้ไปในทางที่ถูกต้องเหมาะสมก็จะได้รับประโยชน์จากการใช้อินเทอร์เน็ตอย่างมากมาย แต่หากใช้ในทางที่ไม่ถูกไม่ควรอาจเกิดปัญหาและพิษภัยอย่างมหันต์ ซึ่งผู้ใช้ต้องแบ่งเวลา แยกแยะให้เหมาะสม มิเช่นนั้น เพื่อนในชีวิตจริง จะตัดความสัมพันธ์ หรือลดความสัมพันธ์ลงก็เป็นได้
วิธีตรวจตัวเอง 5 ประการว่า เรามีอาการเสพติดเฟสบุ๊คหรือไม่ ดังนี้
1.ยอมอดหลับอดนอนเพื่อเพิ่มเวลาเล่นเฟสบุ๊ค
2.เสียเวลาเล่นเฟสบุ๊คมากกว่าวันละ 1 ชั่วโมงขึ้นไป และอยากเพิ่มเวลาการเล่นเฟสบุ๊คมากขึ้นเรื่อยๆ
3.เวลาทำกิจกรรมเข้าสังคมจริงๆ จะลดน้อยลง หรือย้ายมาพบปะกันบนเฟสบุ๊คแทน
4.ไม่ว่าจะเจอบัญชีเฟสบุ๊คของใครก็กดรับเป็นเพื่อนทั้งหมด โดยไม่เคยรู้จักกันมาก่อน และมีเพื่อนในบัญชีมากเกินไปแต่ 8 ใน 10 กลับไม่ใช่เพื่อนที่รู้จักกันในชีวิตจริง
5.เสียสมาธิระหว่างทำงาน เพราะใจจดจ่ออยู่กับเฟสบุ๊ค เลือกใช้เวลาท่องเฟสบุ๊คมากกว่าการตั้งใจทำงาน และชอบบอกกับคนอื่นๆ ว่า “ถ้าอยากติดต่ออะไรให้ไปเจอกันในเฟสบุ๊ค”
6.ถ้าต้องลดเวลาการเล่น หรือหยุดเล่นไม่ว่าจะด้วยสาเหตุใดๆ จะรู้สึกกังวล กระสับกระส่าย เครียด และวิตกกังวลเฝ้าแต่คิดว่าตอนนี้มีใครโพสอะไรลงในเว็บบ้าง