นักข่าวบนเฮลิคอปเตอร์ของ SkyFox TV บันทึกภาพจรวดโซยูซขณะเข้าสู่บรรยากาศโลกเหนือเมืองเดนเวอร์เมื่อวันที่ 4 มกราคม 2550
อีกเฟรมหนึ่งจากเหตุการณ์เดียวกับภาพบน
จรวดโซยูซนำนักบินอวกาศขึ้นไปยังสถานีอวกาศนานาชาติเมื่อเดือนกันยายน พ.ศ. 2549 เป็นยานอวกาศและจรวดแบบเดียวกับที่นำนักบินอวกาศขึ้นไปเมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2553(ภาพ - NASA/Bill Ingalls)
คืนวันเสาร์ที่ 19 มิถุนายน 2553 เวลาประมาณ 22:10 - 22:20 น. มีรายงานจากหลายจังหวัดในภาคเหนือของประเทศไทย ว่าพบเห็นวัตถุคล้ายอุกกาบาตหลายลูกพุ่งเข้ามาพร้อมกันบนท้องฟ้า ข้อมูลที่รวบรวมได้นำไปสู่ข้อสรุปว่าสิ่งที่เห็นนั้นคือจรวดโซยูซของรัสเซีย ซึ่งใช้นำนักบินอวกาศขึ้นไปยังสถานีอวกาศนานาชาติเมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2553 จรวดโคจรรอบโลกอีก 3 วัน ก่อนจะพุ่งเข้าสู่ชั้นบรรยากาศ
จากกระทู้ในเว็บบอร์ดของสมาคมฯ และห้องหว้ากอของเว็บไซต์พันทิปดอตคอม แสดงว่าเมื่อเวลา 4 ทุ่มเศษของวันเสาร์ที่ 19 มิถุนายน 2553 ประชาชนในหลายจังหวัด ทั้งเชียงใหม่ เชียงราย แม่ฮ่องสอน ลำพูน ลำปาง แพร่ สังเกตเห็นกลุ่มลูกไฟสว่างหลายลูก พุ่งเข้ามาอย่างช้า ๆ และลากเป็นทางยาวบนท้องฟ้าด้านทิศตะวันตก คล้ายกับแตกกระจายขณะผ่านเข้ามาในบรรยากาศโลก โดยเห็นได้เป็นเวลานานเกิน 10 วินาที และมีผู้ถ่ายภาพไว้ได้
จากข้อมูลหลายอย่าง ทั้งเวลาที่สังเกตเห็น ข้อมูลพยากรณ์การเข้าสู่ชั้นบรรยากาศของวัตถุต่าง ๆ โดยแอโรสเปซ และข้อมูลวงโคจรของจรวดโซยูซลำดังกล่าวที่ celestrak.com ทำให้มั่นใจได้ว่าสิ่งที่พบเห็นนั้นไม่ใช่วัตถุตามธรรมชาติ แต่เป็นจรวดที่ใช้ในภารกิจส่งยานอวกาศของรัสเซีย
โซยูซ (Soyuz) เป็นจรวดขับดันของยานโซยูซซึ่งถูกส่งขึ้นสู่อวกาศจากฐานส่งยูริ กาการิน ศูนย์อวกาศไบกอนูร์ ประเทศคาซัคสถาน เมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2553 เวลา 03:35 น. ตามเวลาท้องถิ่น (ช้ากว่าประเทศไทย 1 ชั่วโมง) ยานโซยูซได้นำนักบินอวกาศ 3 คน เป็นชาวรัสเซีย 1 คน และชาวอเมริกัน 2 คน ไปส่งยังสถานีอวกาศนานาชาติเมื่อวันที่ 18 มิถุนายน
หลังจากส่งขึ้นไปในอวกาศ จรวดโซยูซได้แยกตัวออกจากยานโซยูซ และโคจรรอบโลกเป็นวงรี แค็ตตาล็อกดาวเทียมของศูนย์บัญชาการ NORAD (North American Aerospace Defense Command) ในสหรัฐอเมริกา ใช้ชื่อวัตถุนี้ว่า SL-4 R/B (SL-4 เป็นชื่อที่สหรัฐอเมริกาใช้เรียกจรวดชนิดนี้ของรัสเซีย ส่วน R/B คือ Rocket Booster) เป็นดาวเทียมหมายเลข 36604 ในแค็ตตาล็อกดังกล่าว
ข้อมูลวงโคจรแสดงว่าเมื่อเวลา 15 ชั่วโมงก่อนตก จรวดลำนี้อยู่ในวงโคจรที่ความสูง 152-161 กิโลเมตรจากพื้นโลก หลังจากนั้นแรงต้านในชั้นบรรยากาศทำให้จรวดลดระดับลงเรื่อย ๆ ซอฟต์แวร์พยากรณ์วงโคจรของดาวเทียมคาดหมายว่าจรวดลงไปที่ความสูง 116-119 กิโลเมตร ในเวลา 15 นาทีก่อนตก ซึ่งขณะนั้นมันโคจรอยู่เหนือมหาสมุทรอินเดียด้วยความเร็ว 7.8 กม./วินาที (ช้ามากเมื่อเทียบกับดาวตกจากฝนดาวตกสิงโตในกลางเดือนพฤศจิกายนที่เข้าสู่ชั้นบรรยากาศด้วยความเร็ว 71 กม./วินาที)
จรวดมาอยู่เหนือพม่าบริเวณดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำอิระวดีในเวลา 22:10 น. ผู้สังเกตบริเวณนั้น เช่น เมืองย่างกุ้ง จะต้องเห็นชิ้นส่วนจรวดลำนี้ผ่านเหนือศีรษะ ขณะที่ภาคเหนือของไทยอยู่ใกล้พอจะเห็นจรวดเริ่มปรากฏบนท้องฟ้าทิศตะวันตก หลังจากนั้นมันเคลื่อนต่อไปโดยมุ่งหน้าไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ และน่าจะสลายไปหมดหลังจากนั้นไม่นาน ตำแหน่งและทิศทางดังกล่าวสอดคล้องกับรายงานการสังเกตการณ์ในประเทศไทย และอยู่ในกรอบเวลา 16 ชั่วโมง ที่แอโรสเปซคาดหมายว่าจรวดโซยูซจะเข้าสู่ชั้นบรรยากาศ
ขอบคุณข้อมูล: •เกิดอะไรขึ้นบนท้องฟ้าทางทิศตะวันตกของเชียงใหม่ - pantip.com
•อุกกาบาต หรือเปล่าครับ - pantip.com
•วันนี้ใครอยู่เชียงราย เห็นดาวตกหรือวัตถุประหลาด หล่นมาบ้างครับ - pantip.com
•ภาพถ่ายจรวดโซยูซตก - hanaphotoclub.com