วันที่ 31 ม.ค. นายนนทิกร กาญจนะจิตรา เลขาธิการคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) เผยว่า ครม.มีมติเห็นชอบในหลักการการปรับขึ้นอัตราเงินเดือนราชการปริญญาตรี-โท-เอก-ปวช.-ปวส. ในปีแรก 2555 มีผลย้อนหลังตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.-30 ก.ย. 2555 (ระยะเวลา 9 เดือน) ใช้งบ 5,600 ล้านบาท พร้อมปรับขึ้นเงินเดือนราชการที่มีอายุงานตั้งแต่ 1-10 ปี ตามฐานเงินเดือนจริง ส่วนที่มีอายุงานเกิน 10 ปีขึ้นไปอยู่ระหว่างพิจารณา สำหรับข้าราชการที่มีฐานเงินเดือนที่ยังไม่ถึง 15,000 บาท จะเพิ่มเงินค่าครองชีพชั่วคราวให้ไม่เกิน 15,000 บาท ซึ่งที่ประชุมครม.มีมติไปแล้วเกี่ยวกับค่าครองชีพชั่วคราว
ทั้งนี้ เงินเดือนที่ปรับฐานใหม่คือ ปริญญาตรี 9,140 บาท เพิ่มเป็น 11,680 บาท, ปริญญาโท 12,600 บาท เป็น 15,300 บาท, ปริญญาเอก 17,010 บาท เป็น 19,000 บาท, ปวช. 6,410 บาท เป็น 7,620 บาท, ปวส. 7,600 บาท เป็น 9,300 บาท ส่วนการพิจารณาการปรับขึ้นอัตราเงินเดือนราชการในปีงบประมาณ 2556 ต้องมีการหารือร่วมกันระหว่างกระทรวงการคลังกับ ก.พ.ก่อน เพื่อไม่ให้กระทบระบบเศรษฐกิจประเทศ และภาคเอกชน
น.ส.อนุตตมา อมรวิวัฒน์ รองโฆษกประจำสำนักนายกฯ แถลงว่า ที่ประชุมครม. ยังมีมติเห็นชอบในหลักการปรับค่าตอบแทนพนักงานข้าราชการ ตั้งแต่ระดับ ม.ต้น/ปลาย ปวช. ปวส. ปริญญาตรี ปริญญาโท ปริญญาเอก โดยใช้งบ 1,395 ล้านบาท มีเป้าหมายให้ผู้ปฏิบัติงานในตำแหน่งที่ใช้วุฒิปวช. มีค่าตอบแทนไม่น้อยกว่า 9,000 บาทต่อเดือน โดยพนักงานข้าราชการที่ได้รับผลกระทบซึ่งมีอายุงานตั้งแต่ 1-10 ปี จะได้ปรับค่าตอบแทนตามคุณวุฒิให้สอดคล้องกัน
ทั้งนี้ เมื่อรวมงบประมาณการปรับขึ้นอัตราเงินเดือนราชการ 5,660 ล้านบาท กับปรับค่าตอบแทนพนักงานข้าราชการอีก 1,395 ล้านบาท ทำให้รัฐบาลต้องใช้งบครั้งนี้ 7,055 ล้านบาท โดยใช้งบกลางของปีงบประมาณ 2555