เจ้า หมายเลข 8531 ลำนี้คุ้นหน้าคุ้นตา เพราะเป็นจ่าฝูงบินนำหน้าเสมอเมื่อขึ้นจากฐานทัพอากาศฟานราง ในภาคกลางตอนล่างเวียดนาม เป็น SU-30MK2 หนึ่งใน 4 ลำแรกที่ได้รับมอบในปี 2547 หมายเลขซีรีส์นี้ไปด้วนลงที่ 8534 หรือลำที่ 4 ในลอตเดียวกัน แต่สัปดาห์ต้นเดือน ม.ค.นี้สื่อกลาโหมในรัสเซียได้เผยแพร่ภาพ Su-30 ลอตใหม่อีก 8 ลำ เป็น MK2V ที่มีหมายเลขตั้งแต่ 8535 ขึ้นไปจนถึง 8542 ซึ่งเมื่อรวมากับ 4 ลำแรกก็จะเป็น 12 แต่นักวิเคราะห์ในรัสเซียกล่าวว่า เวียดนามได้รับมอบไปมากกว่านั้น จนถึงสิ้นปีอาจจะได้ไปแล้ว 20-30 ลำ ซึ่งหมายความว่าหมายเลขประจำเครื่องจะต้องวิ่งขึ้นไปจนถึง 8560 หรือ 8570 หรือกว่านั้น ถ้าหากเป็นเช่นนั้นจริงเวียดนามซ่อนเครื่องบินรบจำนวนที่เหลือเอาไว้ที่แห่ง ใด? หรือทั้งหมดคือความลับทางทหาร.
ASTVผู้ จัดการออนไลน์ -- บรรดาผู้รู้เรื่องดีในรัสเซียยังคงขัดแย้งกันเกี่ยวกับจำนวนเครื่องบินรบที่ กองทัพอากาศเวียดนามได้รับมอบจากผู้ผลิตในรัสเซีย ตัวเลขจากบางแหล่งบอกว่า จนถึงสิ้นปี 2554 ได้รับไปแล้วทั้งหมด 16 ลำ ขณะที่อีกหลายแหล่งระบุว่ามี 20 ลำ เป็นอย่างน้อย และกำลังจะส่งมอบอีกลอตหนึ่งในปีนี้
หากตัวเลขเหล่านี้ถูกต้องก็เป็นปริศนาว่า เวียดนามทำอย่างไรกับเครื่องบินรบใหม่ป้ายแดงเหล่านี้ หรือ เก็บไว้ที่ใดจึงปิดเป็นความลับได้มิดชิดขนาดนี้
แต่ไม่ว่าจะกี่ลำก็ตาม นายแอนตัน เชร์นอฟ (Anton Chernov) นักวิเคราะห์การเมืองด้านกลาโหมในรัสเซียกล่าวว่า Su-30MK2V ที่ซูคอยผลิตให้ตามความต้องการของเวียดนาม ปัจจุบันเป็นเครื่องบินรบทันสมัยที่สุดในเอเชีย เหนือกว่ารุ่นที่จำหน่ายให้จีนและมาเลเซียก่อนหน้านี้
นายเชร์นอฟได้อ้างข้อมูลของกระทรวงกลาโหมรัสเซียเกี่ยวกับระบบควบคุมและ ระบบอาวุธที่ติดตั้งให้กับ Su-30MK2 ภายใต้รหัส "V" ของเวียดนาม ซึ่งแตกต่างจาก Su-30MK ที่จำหน่ายให้กับประเทศอื่นๆ ก่อนหน้านี้ รวมทั้ง อินโดนีเซีย มาเลเซีย และ แอลจีเรีย โดยเฉพาะอย่างยิ่งระบบควบคุมการบิน ระบบนำร่อง รวมทั้งระบบต่อต้านการรบกวนด้วยคลื่นความถี่สูงของฝ่ายข้าศึก ที่เรียกกันว่าระบบต่อต้านการรบกวนทางอิเล็กทรอนิกส์ หรือ ECM (Electronic Countermeasure)
"โดยติดตั้งระบบที่ก้าวหน้าต่างๆ เหล่านี้ กองทัพอากาศเวียดนามจึงได้รับ Su-30 รุ่นที่ทันสมัยที่สุดในเอเชีย" นายเชร์คอฟ เขียนลงในเว็บไซต์ข่าวกลาโหมรัสเซียในวันอังคาร 31 ม.ค.นี้
ถึงแม้ค่ายนาโต้จะจัดให้ Su-27 หรือ "แฟล็งเคอร์" (Flanker) อยู่ในระดับเดียวกับ F-15 ของค่ายสหรัฐฯ แต่ Su-30 หรือ "แฟล็งเคอร์-จี" ที่พัฒนามาเป็นแบบ 2 ที่นั่ง กับเครื่องยนต์รุ่นใหม่ให้ความเร็วมากกว่าเดิม ติดอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ทันสมัย และติดเขี้ยวเล็บต่างๆ ได้มากกว่าถึงเท่าตัว จึงทำให้ Su-30 เป็นเครื่องรบอีกรุ่นหนึ่งโดยสิ้นเชิง
แล้วในตอนนี้เวียดนามมีกี่ลำกันแน่?
ถึงแม้จะมีรายงานหลากหลายเกี่ยวกับการซื้ออาวุธของกองทัพเวียดนาม ในนั้นก็ยังมีความลับมากมายเช่นกัน เป็นเรื่องยากที่จะรู้ข้อเท็จจริงได้ทั้งหมด นอกเสียจากจะต้องจ้างสายลับหรือจ้างหน่วยจารกรรมล้วงความลับให้เป็นเรื่อง เป็นราว
นายเชร์คอฟอ้างข้อมูลของกระทรวงกลาโหมรัสเซียว่า เวียดนามแสดงความสนใจจะซื้อ Su-30 เพิ่มอีก 30 ลำ หลังจากส่งมอบครบทั้ง 12 ลำที่เซ็นซื้อในปี 2553 และ ถ้าหากซื้อเต็มจำนวนดังที่กล่าวมาแล้ว กองทัพอากาศเวียดนามก็จะมีเครื่องบินรบแบบต่างๆ ประจำการอยู่ทั้งหมด 253 ลำ
จีนเป็นประเทศแรกในเอเชียที่ซื้อ Su-27 โดบเซ็นสัญญาซื้อจำนวน 27 ลำในปี 2535 ปีถัดมาเวียดนามทุ่ม 200 ล้านดอลลาร์ซื้อ Su-27SK แบบที่นั่งเดี่ยว 5 ลำ กับ Su-27UBK แบบ 2 ที่นั่ง หรือ แฟล็งเคอร์-ซี (Flanker C) 1 ลำ โดยได้รับมอบทั้งหมดในวันที่ 5 เม.ย.2538 เป็น "ซู" รุ่นใหม่ 6 ลำแรกของเวียดนาม และ ต่อมาเดือน ธ.ค.2539 ก็ได้รับมอบ Su27SK อีก 2 ลำ กับ Su-27UBK อีก 4 ลำ
[/color]
สื่อกลาโหมของจีนเสนอข้อมูลลึกยิ่งกว่านั้น..
หนังสือพิมพ์ของกระทรวงกลาโหมจีนระบุว่า วันที่ 12 พ.ค.2539 เวียดนามเซ็นซื้อ Su-27 อีกลอตหนึ่งเป็น SK จำนวน 2 ลำ กับ UBK อีก 4 ลำ และ วันที่ 10 ม.ค.2540 บริษัทผู้จัดจำหน่ายอาวุธและอากาศยานของกระทรวงกลาโหมรัสเซียคือ Komsomolsk Russia ได้ส่งมอบ Su-27SK ให้ 2 ลำ แรก และ เวียดนามส่งไปประจำที่กองบิน 935
แต่การส่งมอบลอตที่ 2 มีปัญหา Su-27UBK จำนวน 2 ลำ ที่กำลังนำไปส่งให้เวียดนามเสียหายย่อยยับ เนื่องจากเครื่องบินลำเลียงขนส่ง An-124 เกิดขัดข้องและตกลง หลังบินขึ้นจากสนามบินเออร์คุตซ์ได้ไม่นาน
ทั้ง 2 ลำ ที่เสียหายติดหมายเลข 8524 กับ 8525 ซึ่งต่อมาวันที่ 6 พ.ค.2541 รัสเซียจึงได้ส่งให้เวียดนามอีก 2 ลำ เป็น Su27PU หมายเลข 8526 กับ 8527
รายงานของสื่อจีนดูจะไม่ผิดพลาด เพราะหากดูจากซีรีส์ที่ใช้เป็นหมายเลขเครื่องบินรบ Su-27 ในเวียดนาม ก็จะพบว่ามี 2 หมายเลข ขาดหายไปจากระบบคือ 8524 และ 8525
สัปดาห์ต้นเดือน ม.ค.นี้ สื่อกลาโหมในรัสเซียนำภาพ Su-27 และ Su-30 กองทัพอากาศเวียดนามออกเผยแพร่หลายลำ ซึ่งมีทั้งหมายเลข 600+ สำหรับ Su-27 รุ่นแรกๆ และ 58++ สำหรับ SU-27UBK คือ 5820, 8521, 8522, 8523 และ 8526, 5827, 8528 กับ 8529 จากนั้นจึงข้ามไป Su-30MK2 กับ MK2V ทั้งหมด ที่เริ่มจาก 8531
.....................
ตามรายงานของสื่อในรัสเซีย เวียดนามเริ่มซื้อ SU-30 ลอตแรกในปี 2546 โดยเซ็นซื้อ 4 ลำเมื่อวันที่ 11 พ.ค. เป็น MK2 เครื่องบินรบอเนกประสงค์ 2 ที่นั่ง สำหรับนักบินและพลปืนซึ่งทำหน้าที่บังคับอาวุธต่างๆ และ มีการปรับปรุงระบบสื่อสารใหม่ ต่อมาเดือน พ.ย.2547 เวียดนามก็ได้รับมอบครบทั้ง 4 ลำ
ทั้ง 4 ลำ คือ หมายเลข 8531, 8532, 8533 และ 8534 ประจำการที่ฐานทัพอากาศฟานราง เป็นที่คุ้นหน้าคุ้นตากันดี เพราะมีภาพเผยแพร่ผ่านสื่อต่างๆ อยู่บ่อยๆ ทั้งในและต่างประเทศ
ต่อมาเดือน ม.ค.2552 เวียดนามเซ็นซื้อ Su-30 อีก 8 ลำ เป็น "MK2V" ทั้งหมด ซึ่งอักษร V บ่งบอกการเป็นรุ่นจำเพาะของเวียดนาม ที่ติดตั้งระบบต่างๆ รวมทั้งระบบอาวุธที่เน้นการโจมตีและป้องกันทางทะเลเป็นหลัก เช่นเดียวกับ MKI ของอินเดีย และ MKM ของมาเลเซียที่ติดตั้งอุปกรณ์แตกต่างกันไปตามวัตถุประสงค์
[/color]
ตาม รายงานของสำนักข่าวในรัสเซียก่อนหน้านี้ บริษัทผู้ผลิตได้ส่งมอบ SU-30MK2V ที่เซ็นซื้อในปี 2552 ให้เวียดนามในช่วงกลางปี 2554 โดยแบ่งเป็น 2 ลอตๆ ละ 4 ลำ นั่นคือช่วงเดือนที่กำลังตึงเครียดอย่างรุนแรงกับจีน และ ไม่เคยมีรายงานเกี่ยวกับการส่งมอบเครื่องบินทั้ง 8 ลำมาก่อน
ต่อมาในเดือน ธ.ค. ก่อนสิ้นปีไม่กี่วันรัสเซียส่งมอบอีก 4 ลำ เป็นลอตที่สั่งซื้อในปี 2553 ซึ่งทำให้เวียดนามมีเครื่องบินรบทันสมัยรุ่นนี้เป็นทั้งหมด 16 ลำ
อย่างไรก็ตาม นายเชร์คอฟได้อ้างแหล่งข่าวกลาโหมในรัสเซียหลายคนซึ่งยืนยันว่า จนถึงสิ้นปี 2554 เวียดนามได้รับมอบ Su30-MK2 กับ Su-30MK2V ไปแล้วระหว่าง 20-30 ลำ ไม่ใช่ 16
ขณะเดียวกันเจ้าหน้าที่ผู้บริหารของซูคอยให้สัมภาษณ์สำนักข่าวอินเตอร์ แฟ็กซ์เมื่อต้นปีนี้ระบุว่า เวียดนามมีแผนจัดซื้อ Su-30 ทั้งหมด 44 ลำ หรือ "3 ฝูง +++" ภายในปี 2558
แต่สำนักข่าวกลาโหมในญี่ปุ่นได้รายงานในช่วงปลายปีที่แล้ว อ้างการเปิดเผยของแหล่งข่าวในบริษัทซูคอยที่ระบุว่าผู้ผลิตได้เสนอให้ เวียดนามเปลี่ยนจาก Su-30 เป็น Su-35 แทนในลอตที่เหลือ เพื่อให้มีเครื่องบินรบทันสมัยล้ำยุค หรือ "ยุคที่ 4" ไว้ประจำการ
ยังไม่มีผู้ใดทราบการตัดสินใจของเวียดนามเกี่ยวกับเรื่องนี้ ตลอดจนข้อเท็จจริงและรายละเอียดต่างๆ เกี่ยวกับเครื่องบินรบที่ได้รับมอบแล้ว เรื่องราวเกี่ยวกับอาวุธกับการกลาโหมยังเป็นความลับอยู่เสมอ.