ยังไม่ทันได้รู้จัก...ก็จะสูญพันธุ์เสียแล้ว !!!

 

คำสั่งซื้อสัตว์น่ารักๆ ในตลาดค้าสัตว์ผิดกฎหมายทำให้ประชากรลิงลมหน้าตาจิ้มลิ้มในอินโดนีเซียลดลงอย่างรวดเร็ว แต่ไม่เพียงแค่สัตว์ที่เราเคยเห็นหน้าค่าตาเท่านั้น ยังมีสัตว์ตะกูลลิงอีกหลายชนิดที่เราอาจไม่เคยรู้จักมาก่อน ก็กำลังจะสูญพันธุ์ไป บางชนิดอาศัยอยู่ในพื้นที่จำเพาะอันโดดเดี่ยว ซึ่งการเปลี่ยนแปลงถิ่นที่อยู่หรือประชากรเพียงเล็กน้อยก็ส่งผลกระทบมหาศาล  มีสัตว์ตระกูลไพรเมท (primate) หรือตระกูลลิงตัวใดบ้างกำลังจะสูญพันธุ์ไปโดยที่เรายังไม่ทันจะได้ทำความรู้จัก? บีบีซีนิวส์ได้รวบรวมไว้ ดังนี้

 

 

 

1.ลิงลม (Slow lorises) หรือชื่อวิทยาศาสตร์ นิคติซีบัส เอสพีพี (Nycticebus spp)

   

ด้วยความน่ารักคล้ายทารก รูปร่างเหมือนเด็กอ่อน มีดวงตากลมโตและมือเล็กจิ๋วเกือบเหมือนมือของคน แอนนา เนการิส (Anna Nekaris) ผู้เชี่ยวชาญเรื่องลิงลมจากมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ดบรูกส์ (Oxford Brookes University) ในอังกฤษ ให้ความเห็นว่าเป็นเหตุผลที่คนจากโลกตะวันตกหลงเสน่ห์สัตว์ชนิดนี้ และเป็นความเอ็นดูที่นำไปสู่การสูญพันธุ์ และทันทีที่ปรากฏคลิปความน่ารักของลิงลมใน “ยูทูป” ก็ส่งผลให้คำสั่งซื้อลิงลมเพิ่มสูงลิ่ว

   

ลิงลมเป็นสัตว์หากินกลางคืนและเป็นสัตว์กินเนื้อ พบได้ทั่วภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีหางยาว มีกระดูกสันหลังพิเศษ และมีมือที่เก็บซ่อนนิ้วเพื่อให้มันจับเหยื่อและเคลื่อนที่ไปทั่วได้โดยไม่เป็นที่สังเกต นอกจากนี้ยังมีพิษที่ซ่อนอยู่ในข้อศอก ที่ลิงลมจะใช้ผสมกับน้ำลายเมื่อกัด ซึ่ง ศ.คอลิน โกรฟส์ (Professor Colin Groves) จากมหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลีย (Australian National University) กล่าวว่าเมื่อนำไปเป็นสัตว์เลี้ยง จึงต้องถอนฟันหน้าและเขี้ยวของลิงลมออก

   

   

“ผู้จัดหาสัตว์อย่างผิดกฎหมายจะใช้คีมดึงฟันออก ซึ่งเป็นวิธีที่สร้างความเจ็บปวดอย่างมาก และหมายความว่าลิงลมจะไม่สามารถกินอาหารเองได้ ดังนั้น ปกติแล้วพวกมันก็จะตายในเวลาไม่นานหลังจากมีการซื้อขายกันแล้ว” ศ.โกรฟส์กล่าว

   

อนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศ ซึ่งชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้จะสูญพันธุ์ (The Convention on International Trade in Endangered Species of Wild Fauna and Flora) หรือไซเตส (CITES) กำหนดว่าห้ามซื้อขายสัตว์ชนิดนี้อย่างเด็ดขาด แต่เนการิสก็พบว่าลิงลมถูกจับใส่กล่องและถูกขายอย่างไร้มนุษยธรรมบนถนนในกรุงจาร์กาตา อินโดนีเซีย โดยสัตว์ชนิดนี้ถูกขายให้คนรวยในอินโดนีเซีย รัสเซีย จีนและญี่ปุ่น

   

เนการิสกล่าวว่าเกาะชวาเป็นจุดที่มีความหลากหลายทางชีวภาพสูง และมีคนร่ำรวยจำนวนมากที่พยายามและอยากได้ลิงลมไว้เป็นสัตว์เลี้ยงแปลกๆ ตอนนี้มีลิงลม 5 ชนิดหรือสปีชีส์ที่ถูกค้นพบแล้ว โดยลิงลมชวา (Javan slow loris) เป็นชนิดที่เสี่ยงสูญพันธุ์มากที่สุด ส่วนลิงลมชนิดอื่นก็ถูกคุกคามจากการค้าสัตว์ผิดกฎหมายเช่นกัน

 


 

2. ลิงแคระกาลาโกรอนโด (Rondo dwarf galago) หรือ กาลาโก รอนโดเอนซิส (Galago rondoensis) 

   

 “เมื่อผู้คนนึกถึงสัตว์ตระกูลไพรเมทก็จะนึกถึงลิงชิมป์และกอริลลา แต่ลืมลิงกาลาโกเหล่านี้ แต่สัตว์หากินกลางคืนจากแทนซาเนียชนิดนี้ก็มีดำรงชีวิตบนสายวิวัฒนาการที่เร่งด่วน โดยแยกสายจากลิงลมเมื่อ 40 ล้านปีก่อน สัตว์หากินกลางคืนชนิดนี้เล็กจิ๋วมาก และหนักไม่ถึง 100 กรัม อีกทั้งยังมีเสียงร้องที่ไพเราะ สามารถกระโดด ซึ่งลิงลมทำไม่ได้ และถึงแม้ไม่ถูกล่าแต่ก็เสี่ยงสูญพันธุ์ เนื่องจากประชากรของลิงชนิดนี้อาศัยอยู่ในพื้นที่ไม่ถึง 100 ตารางกิโลเมตร พวกมันกำลังทุกข์ร้อนจากการสูญเสียที่อยู่อาศัย

 

 


 

3.ลิงทาร์เซียร์ส (Tarsiers) หรือ ทาร์เซียส เอสพีพี (Tarsius spp) 

  

สัตว์หากินกลางคืนตัวนี้เป็นไพรเมทที่มีขนาดเล็กสุดบนโลกใบนี้ แต่มีชนิดที่รู้จักแล้วถึง 10 สปีชีส์ หนึ่งในนั้นคือลิงทาร์เซียร์สเกาะเซียอู (Siau Island tarsier) กำลังอยู่ในวิกฤตใกล้สูญพันธุ์ และติดอยู่ในบัญชีแดงวิกฤตเสี่ยงสูญพันธุ์ของสหพันธ์นานาชาติเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ (International Union for Conservation of Nature)

ลิงทาร์เซียสดังกล่าวที่มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า ทราเซียส ทัมปารา (Tarsius tumpara) ซึ่งไมรอน เชเกลเล (Myron Shekelle) นักไพรเมทวิทยา กล่าวว่า ลิงทราเซียสชนิดกำลังเสี่ยงสูญพันธุ์จากการสูญเสียที่อยู่อาศัย และบอกด้วยว่าทั้งลิงทราเซียสและลิงลมต่างเคลื่อนที่อย่างเชื่องช้า กลับขั้วกับการสูญเสียถิ่นที่อยู่อย่างสิ้นเชิง และเขายังกล่าวถึงความยากลำบากในการทำให้คนจำนวนมากเข้าใจว่าเรื่องนี้ยากแค่ไหน การออกกฏหมายและบังคับให้เป็นพื้นที่อนุรักษ์ไม่ใช่เรื่องที่ทำได้โดยง่าย บางพื้นที่ประสบความสำเร็จในการอนุรักษ์แต่ก็เป็นพื้นที่ส่วนน้อย ในขณะที่การทำลายล้างกลับเป็นฝ่ายมีชัยเสมอ

ด้วยพื้นที่อาศัยของลิงลมที่อยู่ในเขตภูเขาไฟที่ยังคุกรุ่น และหากเกิดการปะทุขึ้นมาก็สามารถกวาดล้างสิ่งมีชีวิตให้หายไปได้อย่างมาก แต่นักอนุรักษ์ก็ยังต้องเผชิญปัญหาอื่นอีกนั่นคือ “พรานในท้องถิ่น” โดยลิงจิ๋วชนิดนี้จะถูกล่าไปทำเมนูย่างที่เสิร์ฟพร้อมด้วยซอสรสจัดจ้าน ซึ่งเป็นอาหารพื้นเมืองที่เรียกว่า “โตลา-โตลา” (tola-tola) ซึ่งจากสิ่งที่เชเกลเลรู้นั้นคนท้องถิ่นจะให้ความสนใจอาหารพื้นเมืองจากสัตว์ป่านี้ในฐานะเมนูเพิ่มความเป็นชาย

 


 

4.ลิงจมูกเชิดพม่า (Burmese snub-nosed monkey) หรือ ไรโนพิเธคัส (Rhinopithecus strykeri) 

   

นักวิทยาศาสตร์จำแนกลิงชนิดนี้ได้เมื่อพบพรานท้องถิ่นทางตอนเหนือของพม่าพร้อมกับหนังและกระโหลกของลิง ซึ่งลักษณะพิเศษของลิงชนิดนี้คือมีกระจุกขนสีขาวที่หู และมีหนวดที่คาง มีริมฝีปากยื่นออกมาและกว้างผิดปกติ แล้วก็มีรูจมูกเชิดขึ้น

วินเซนต์ นิชมัน (Vincent Nijman) ผู้เชี่ยวชาญไพรเมทจากมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ดบรูกส์ กล่าวว่าผู้ที่ทำการจำแนกลิงชนิดนี้เชื่อว่ามีลิงดังกล่าวเหลือไม่เกิน 200 ตัว โดยเพิ่งมีการพบและจำแนกชนิดเมื่อปี 2010 และภายใน 5 ปีก็มีโอกาสสูญพันธุ์ได้ โดยเขาเชื่อว่าเมื่อ 2-3 ร้อยปีก่อนน่าจะมีลิงชนิดนี้อยู่หลายพันตัวอยู่ทั่วภาคเหนือของพม่า นอกจากนี้ลิงจมูกเชิดสกุลอื่นๆ ซึ่งเป็นสัตว์ประจำถิ่นในจีนและเวียดนามก็ตกอยู่ในภาวะเสี่ยงเช่นกัน

 


 

5. ลิงคีปันจิ (Kipunji) หรือ รุงเวเซบัส คีปันจิ(Rungwecebus kipunji)

   

ดร.ทิม ดาเวนพอร์ท (Dr.Tim Davenport) ผู้อำนวยการสมาคมอนุรักษ์สัตว์ป่า (Wildlife Conservation Society: WCS) ในแทนซาเนีย กล่าวว่าลิงชนิดมีความพิเศษและคาดว่าเหลือในธรรมชาติไม่เกิน 1,200 ตัว และเป็นลิงสกุล (genus) ใหม่ที่ถูกค้นพบเมื่อ 80 ปีที่แล้ว และแม้ว่าจะเป็นญาติใหล้ชิดกับลิงบาบูน แต่ลิงคีปันจิไม่ได้อาศัยอยู่ในทุ่งหญ้าสวันนาเหมือนกัน หากแต่อาศัยอยู่บนต้นไม้ และเพื่อปรับตัวอาศัยอยู่ป่าที่มีต้นไม้สูง ลิงชนิดนี้จึงวิวัฒนาการให้มีขนที่หนายาว มีเครายาว และมีโหนกสูงที่หัว

 

ดร.ดาเวนพอร์ทกล่าวว่าปลายหางสีขาวของลิงอาจใช้เพื่อการสื่อสารบนยอดไม้ และลิงชนิดนี้ยังคงมีบางพฤติกรรมคล้ายคลึงกับลิงบาบูน นอกจากนี้ยังมีเสียงร้องเห่าหอนอันดังและแตกต่างไปจากลิงอื่นๆ ส่วนถิ่นที่อยู่นั้นเป็นป่า 2 แห่งที่ครั้งหนึ่งเคยเชื่อมกัน โดยมีพื้นขวางกั้นกว้าง 350 กิโลเมตร แต่ลิงเหล่านี้ก็กำลังถูกคุกคามจากการสูญเสียพื้นที่ป่าไปเพื่ออุตสาหกรรมการตัดไม้ การเกษตร การผลิตถ่านกิน รวมถึงการถูกล่า สถานการณ์ของไพรเมทชนิดนี้คล้ายกับไพรเมทขนาดเล็กๆ ทั้งหลาย ซึ่งตกอยู่ในความเสี่ยงที่จะสูญพันธุ์ก่อนที่เราจะได้รู้จัก

Credit: http://atcloud.com/stories/103668
#สัตว์
Messenger56
1st Asst. Director
สมาชิก VIPสมาชิก VIP
27 ม.ค. 55 เวลา 11:30 6,293 9 120
แชร์สกู๊ป
กรุณา Login เพื่อแสดงความคิดเห็น
ส่ง Scoop ให้เพื่อน
แจ้งลบไม่เหมาะสม
ความคิดเห็น

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Loading...