ยุคกดไลก์วัยโพสต์ พื้นที่'สื่อ-ส่วนตัว'

นับตั้งแต่การเต้นโป๊เปลือยบนถนนสีลม จนมาถึงคลิปเด็กมัธยมถอดทีละชิ้นกลางห้องเรียน

กระทั่งล่าสุดภาพถ่ายนู้ดกลุ่มเด็กสาววัยมัธยม ที่เพียงแค่โพสต์ออกไปไม่กี่ชั่วโมง ยอดกดไลก์ก็กระหน่ำไม่หยุด

เด็กไทยยุคไอทีในวันที่มี "พื้นที่สื่อ" กำลังลืม "พื้นที่ส่วนตัว" หรืออย่างไร



นายมนตรี สินทวิชัย

เลขาฯมูลนิธิคุ้มครองเด็ก

ปัญหาที่เกิดขึ้นแทนที่เราจะบอกกับเด็กว่าทำไม่ดี เราควรไปดูพฤติกรรมที่ต้องการโชว์จะมีมุมที่น่าสนใจกว่า

สภาพของสังคมมีตัวอย่างให้เห็นว่าการโชว์เหล่านี้ การโปรโมตนุ่งน้อยห่มน้อยนำไปสู่ความสำเร็จของคนบางคนหรือไม่

เมื่อเป็นแบบนี้ หากสังคมมีทางเลือก มีช่องทางที่สามารถทำให้เขาภูมิใจตัวเองในแง่มุมอื่นก็จะไม่ทำให้เขามาโชว์

ขณะที่การศึกษาที่มักกล่าวว่าดูแลเด็กได้ไม่ทั่วถึงแล้วเราจะปล่อยให้เป็นอย่างนี้อีกนานแค่ไหน โรงเรียนควรกำหนดอัตราส่วนระหว่างนักเรียนและครู บางโรงเรียนมีเด็กมากชี้ให้เห็นว่าการจะทำให้โรงเรียนมีระนาบมาตรฐานเดียวกันควรได้รับการสนับสนุนหรือยัง

กฎหมายกำหนดให้แต่ละโรงเรียนมีแผนกแนะแนวที่ได้มาตรฐาน เพื่อติดตามกลุ่มเด็กนักเรียนที่อาจมีพฤติกรรมสุ่มเสี่ยง แล้ววันนี้เป็นจริงหรือไม่

กรณีที่เกิดขึ้นต้องดูในรายละเอียดมากกว่า เด็กในวัยนี้คิดไม่ถึง แม้เราจะกังวลว่าเด็กเห็นว่าการกระทำเหล่านี้เป็นเรื่องของสิทธิ์ เนื้อตัวของเขา แต่ต้องไม่ลืมว่าเขาควรได้รับการชี้ช่องทางที่ถูกที่ควร และเขาต้องโตเป็นผู้ใหญ่ในวันข้างหน้า แต่สิ่งที่เกิดขึ้นจะดำรงอยู่ ไม่ว่าจะเป็นรูปภาพหรือสิ่งต่างๆ ในโลกออนไลน์

วันนี้เราไม่ใช่แค่ออกระเบียบบังคับอย่าง เดียว แต่ต้องรณรงค์ขนานใหญ่ เพราะสิ่งเหล่านี้อันตรายต่ออนาคต พ่อแม่ ผู้ปกครอง คนที่อยู่ข้างหลังต้องดูแลบุตรหลานของท่านให้รู้เท่าทัน

พวกเราต้องช่วยกัน การให้โอกาสทางเลือกในเวทีต่างๆ แก่เด็ก ไม่ใช่มุ่งผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนอย่างเดียว ต้องเปลี่ยนค่านิยม สร้างความภูมิใจให้เด็กในมุมอื่นอย่างสร้างสรรค์



น.พ.ไกรสิทธิ์ นฤขัตพิชัย

จิตแพทย์โรงพยาบาลมนารมย์

ด้วยเรื่องของวัยและความมั่นคงภาย ใน คนเราต้องการ "การยอมรับ" ทว่าความมั่นคงภายในคือจิตใจและอารมณ์อ่อนแอไม่แข็งแรง ไม่มั่นใจในคุณค่าของตัวเอง ย่อมต้องการการยอมรับจากภาย นอกมาก วัยรุ่นเองก็ต้องการการยอมรับในกลุ่มเพื่อน

กลุ่มเด็กที่แสดงออกโดยพื้นฐานมักมาจากครอบครัวอ่อนแอ จิตใจแข็งแรงน้อย ต้องการการยอมรับจากภายนอก บางคนเลือกซิ่งมอเตอร์ไซค์ส่งเสียงดังรบกวนชาวบ้าน การโชว์ แต่งตัวโป๊ สูบบุหรี่ ติดยาเสพติด

มีเด็กจำนวนมากติดยาเสพติดมักบอกว่าเพื่อนชวน แต่ลึกๆ แล้วเขาไม่แข็งแรง และต้องการให้เพื่อนยอมรับ หรือการมีเพศสัมพันธ์ของวัยรุ่น ถ้าภายในใจแข็งแรงเขาจะไม่ทำเรื่องเหล่านี้ แต่จะมีคนอีกกลุ่มหนึ่งให้คุณค่ากับคนเหล่านี้ ประกอบกับสื่อปัจจุบันกระจายสู่โซเชี่ยลมีเดีย อย่างรวดเร็วและมีแรงจูงใจ ทำให้เราพบเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นใน โซเชี่ยลมีเดีย

การเลี้ยงลูกต้องให้เขามีความมั่นคงในจิตใจ ภูมิใจในคุณค่าของตัวเอง หากเด็กถูกเตรียมตัวมาดีตั้งแต่ต้น สิ่งเหล่านี้จะมีอิทธิพลต่อเขาน้อย พ่อแม่ต้องใกล้ชิดและมีเวลาให้เขา จะนำมาซึ่งความสัมพันธ์อันดีระหว่างครอบครัวที่จะนำไปสู่ความรักความอบอุ่นและการเดินในแนวทางที่เหมาะสม

เมื่อเพื่อนชักชวนไปในทางที่ไม่ดี สัมพันธภาพอันแน่นแฟ้นในครอบครัวจะช่วยลูกหลานของเราได้ หากความสัมพันธ์นี้ไม่มี เขาจะไม่คิด ความยับยั้งชั่งใจจะไม่มี

สิ่งที่เด็กต้องการคือการทำให้เขารู้สึกมีคุณค่า หน้าที่ของผู้ใหญ่ต้องหาทางออก หากิจกรรมที่ทำให้เขารู้สึกมีค่า



ดร.จิตรา ดุษฎีเมธา

ประธานศูนย์พัฒนาความสุข มศว

ด้วยรุ่นต้องการทำอะไรที่แปลก ฉีกกฎ แหวกแนว เพื่อให้ได้รับการยอมรับจากกลุ่มเพื่อน

ปัจจุบันมันไม่ใช่แค่สนุกอย่างเดียว แต่เด็กเห็นภาพจากตัวแบบผ่านสื่อต่างๆ และการตีความของเขาในสภาพสังคมที่หล่อหลอมให้เป็นอย่างนี้

ถ้าเขาเห็นว่าเจ๋ง ดี เยี่ยม จะมีแนวโน้มทำตาม เมื่อผ่านสื่อซึ่งกระพือเร็ว อย่างการเต้นโชว์ ถอดทีละชิ้น และกรณีล่าสุด หากคนที่ได้รับข่าวสารไม่ตื่นเต้นขณะที่คนอีกกลุ่มหนึ่งรู้สึกเท่ ได้เป็นข่าว คิดว่าเจ๋ง คนจะดูกี่ล้านวิว เขามองแค่นั้น แต่ไม่ได้มองลึกลงไปกว่านั้น เมื่อมีการวิพากษ์วิจารณ์เราต้องกลับมาที่การหล่อหลอมเด็ก

เชื่อว่ายังมีอีกหลายคลิปที่กระทำด้วยการยั่วยุ เด็กต้องคิดว่าอะไรควรไม่ควร อะไรที่เล่นไม่ได้ อะไรที่เสื่อมเสียทั้งต่อตัวเอง ครอบครัว และสังคม

ก่อนจะทำสิ่งเพี้ยนๆ เหล่านี้ให้คิดก่อน ถ้าทำแล้วถึงชีวิตและอนาคตไม่ควรทำ ถ้าส่งเสริมการเพี้ยนแหวกแนว ดีขึ้นดีกว่า ต้องรณรงค์ในการสร้างสิ่งใหม่ เช่น กลุ่มนักดนตรีจับกลุ่มร้องเพลงโดยใช้แป้นโทรศัพท์มาเป็นเปียโน สนุกและสร้างสรรค์

โลกปัจจุบันวิวัฒนาการมาก เขาลืมว่าคนเห็นทั้งโลก เช่น การเล่นเฟซบุ๊ก การบอกโลเกชั่น หรือบอกว่าไม่มีใครอยู่บ้าน สิ่งเหล่านี้เขาไม่ทันคิด ทว่าภัยกำลังมาถึงตัว เด็กต้องรู้ ครู พ่อแม่ต้องสอน เพราะปัจจุบันไม่ใช่แค่หน้าต่างมีหู ประตูมีตาอีกต่อไป แต่มันรอบทิศ ไม่ใช่แค่ในบ้านเท่านั้น

ให้นึกทุกครั้งว่าโซเชี่ยลมีเดียคนที่มองไม่ใช่เพื่อน และคนที่มองจะมองอย่างไร จะทำให้เริ่มตระหนัก และต้องปรับเรื่องที่ไม่คิดอะไรให้ต้องคิดการณ์ไกลมากขึ้น ขอฝากให้คิดทั้งเด็กและผู้ใหญ่



สุภาวดี หาญเมธี

บ.ก.นิตยสารรักลูก

โซเชี่ยลเน็ตเวิร์กเป็นเครื่องมือที่เปิดโอกาสให้คนตัวเล็กๆ ที่ "โนบอดี้" เป็น "ซัมบอดี้" แต่เราจะเป็นแบบไหนที่จะสร้าง สรรค์ชีวิต ชุมชนและสังคมโดยรวม

โจทย์นี้ไม่เกี่ยวกับโซเชี่ยลเน็ตเวิร์ก แต่เป็นการบ่มเพาะเด็กในสังคม ถ้าเขาได้รับการเรียนรู้ การเป็นซัมบอดี้ไม่เสียหาย แต่ต้องคัดกรองว่าจะแสดงออกอะไรเป็นประโยชน์หรือไม่

เรื่องนี้ไม่อยากโทษเด็ก แต่สังคมไทยไม่ชวนให้เขาคิด เรื่องนี้เขาก็ไม่รู้ แต่อยากเป็นที่รู้จักจึงทำแบบนี้ เขาไม่เข้าใจว่าชีวิตคนเราควรมีขอบเขตที่เหมาะสม เราควรจะเปิดเผยอย่างไร ให้ใครดูอะไร ได้แค่ไหน กับคนในครอบครัว คนในสังคม เขาจึงแสดงออกไปโดยไม่คิดว่ามันไปไกลได้จนสุดหล้าฟ้าเขียว ผลลบวันนี้ไม่เท่าไหร่ แต่วันหน้าจะรู้สึกต่อตัวเองอย่างไร

เด็กไทยมีโอกาสพบเจอสิ่งต่างๆ เหล่านี้ไม่น้อย เราสื่อสารความคิดกับเขาไม่มากพอจนเขาไม่สามารถแยกแยะได้ว่าแค่ไหนพอเหมาะพอดีในการเป็นซัมบอดี้ และการที่เด็กลุกขึ้นมาทำแบบนี้ถือว่าเขาเป็นเหยื่อ และทำให้เด็กคนอื่นกลายเป็นเหยื่อตามเป็นลูกโซ่

ด้วยสภาพแวดล้อมสังคมไทย มีดาราที่เปิดเผยเนื้อตัว เป็นโมเดลให้เด็กวัยรุ่นในวันนี้ไม่แยกแยะ ไม่รู้ขอบเขต พ่อแม่ ครู อาจารย์ สื่อต้องช่วยกันให้เขามองเห็นมุมต่างๆ ปลูกฝังเรื่ององค์ประกอบในการคิด สื่อมวลชนต้องกรอง เพื่อสร้างสภาพแวดล้อมที่ดีเพราะเด็กมีโอกาส เพลี่ยงพล้ำ เป็นเหยื่อโดยไม่เข้าใจ ด้วยวัยอยากแสดงออก อยากมีที่ยืน อยากได้รับการยอมรับ

 

27 ม.ค. 55 เวลา 00:42 7,413 3 90
แชร์สกู๊ป
กรุณา Login เพื่อแสดงความคิดเห็น
ส่ง Scoop ให้เพื่อน
แจ้งลบไม่เหมาะสม
ความคิดเห็น

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Loading...