สงครามอินโดจีน เป็นการรบกันระหว่าง ไทย กับ ฝรั่งเศส (28 พฤศจิกายน ค.ศ. 1940 – 9 พฤษภาคม ค.ศ. 1941) ในช่วงปลายของสงครามโลกครั้งที่ 2 สาเหตุเนื่องมาจากการเรียกร้องดินแดนที่เคยเสียให้ฝรั่งเศสไปในยุคล่า อาณานิคมกลับคืนมา ญี่ปุ่นได้เสนอตัวเป็นผู้ไกล่เกลี่ย ข้อพิพาทระหว่างไทย – ฝรั่งเศส ไทยได้ดินแดนที่เสียไปกลับคืนมา แต่ภายหลังก็ต้องคืนให้แก่ฝรั่งเศสอีกครั้งหนึ่ง
ชนวนสงคราม
ตุลาคม ค.ศ. 1940 ได้มีการเดินขบวนสนับสนุนรัฐบาลไทย(รัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงคราม) ให้มีการเรียกร้องเอาดินแดนในอินโดจีนที่เคยถูกฝรั่งเศสยึดไปในยุคล่า อาณานิคม รวมทั้งหมด 5 ครั้ง (ค.ศ. 1867 – 1906) คืน ซึ่งในขณะนั้นอยู่ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 และฝรั่งเศสเป็นผู้แพ้สงคราม แก่เยอรมนี
17 กันยายน ค.ศ. 1940 ฝรั่งเศสปฎิเสธที่จะคืนดินแดนที่เคยยึดไป และได้อ้างว่าปัญหาดังกล่าวยุติแล้ว ตามสนธิสัญญาฝรั่งเศส – สยาม ฉบับลงวันที่ 23 มีนาคม ค.ศ. 1907
เมื่อฝรั่งเศสปฎิเสธที่จะคืนดินแดน และไทยต้องการดินแดนคืน สงครามจึงไม่อาจเลี่ยง
28 พฤศจิกายน ค.ศ. 1940 ฝรั่งเศสได้ส่งเครื่องบินมาทิ้งระเบิดที่จังหวัดนครพนม
6 มกราคม ค.ศ. 1941 กองทัพไทย ซึ่งมี พลตรีหลวงพิบูลสงคราม (จอมพล ป. พิบูลสงครามในขณะนั้น) เป็นผู้บัญชาการทหารสูงสุด ได้ทำการบุกโจมตีฝรั่งเศส ทางด้านกัมพูชา นครจำปาศักดิ์ เวียงจันทร์ และสุวรรณเขต และได้เข้ายึดหลวงพระบาง และปอยเปตไว้ได้
17 มกราคม ค.ศ. 1941 ฝรั่งเศสส่งเครื่องบินมาทิ้งระเบิดที่นครพนม แต่ไทยสามารถป้องกันไว้ได้ และตอบโต้ด้วยการส่งเครื่องบินทิ้งระเบิดในอินโดจีนหลายแห่ง
ยุทธนาวีเกาะช้าง
แผนที่ยุทธนาวีเกาะช้าง
17 มกราคม ค.ศ. 1941 ฝรั่งเศสได้ส่งกองเรือส่วนใหญ่ที่อยู่ในอินโดจีนเข้ามาทางเกาะช้าง จุดประสงค์เพื่อระดมยิงหัวเมืองชายทะเล เพื่อกดดันให้ไทยถอนกำลังทหาร
เรือลามอต์ ปิเกต์
06:10 น. เรือหลวงสงขลา เปิดฉากยิงต่อสู้กับเรือธงลามอตต์ ปิเกต์ของฝรั่งเศส แต่ไม่สามารถต้านทานอนุภาพการทำลายของเรือฝรั่งเศสได้ นาวาตรีชั้น สิงหชาญ ผู้บัญชาการเรือหลวงสงขลา จึงได้สั่งให้สละเรือ ในเวลา 06:45 น. หลังจากที่สละเรือหลวงสงขลาแล้วประมาณ 10 นาทีต่อมา เรือหลวงชลบุรี ที่ทำการยิงต่อสู้กับหมู่เรือสลุปของฝรั่งเศส ภายใต้การนำของ เรือเอกประทิน ไชยปัญญา จำต้องสละเรือเช่นกัน
เรือหลวงธนบุรี
06:38 น. เรือหลวงธนบุรีได้ทำการยิงตอบโต้กับหมู่เรือของฝรั่งเศส แต่เนื่องจากไทยเหลือเรือเพียงลำเดียว จึงทำให้การยิงตอบโต้ของเหลือหลวงธนบุรีเป็นไปด้วยความยากลำบาก แต่เรือหลวงธนบุรีก็ได้สร้างความเสียหายให้แก่เรือธงลามอตต์ ปิเกต์ได้ในที่สุด ภายหลังเรือหลวงธนบุรีได้แล่นเข้าสู่บริเวณน้ำตื้น
07:50 น. กองเรือของฝรั่งเศสได้ถอนตัวออกจากพิสัยการบ เนื่องจากเกรงกำลังกองหนุนของไทย
เรือหลวงธนบุรี สามารถยิงขับไล่เรือของฝรั่งเศสออกไปได้ แต่เรือหลวงธนบุรีก็ได้รับความเสียหายอย่างหนัก
16:40 น. ทหารเรือไทยและชาวบ้านในบริเวณใกล้เคียงพยายามดับไฟที่ไหม้อยู่บนเรือหลวงธนบุรี แต่ไม่สำเร็จ ในที่สุดเรือหลวงธนบุรีก็จมลง
สงครามยุติญี่ปุ่นเข้าไกล่เกลี่ย
28 มกราคม ค.ศ. 1941 ขณะนั้นไทยเข้ายึดพื้นที่อินโดจีนไว้ได้หลายจุด ญี่ปุ่นประเทศมหาอำนาจในเอเชีย ได้เสนอตัวไกล่เกลี่ยให้ไทยกับฝรั่งเศสเลิกรบ ซึ่งไทยและฝรั่งเศสได้ตกลงตามข้อเสนอของญี่ปุ่น
9 พฤษภาคม ค.ศ. 1941 ไทยและฝรั่งเศสได้ลงนามในอนุสัญญาโตเกียว
จากการลงนามในอนุสัญญาโตเกียวฉบับนี้ ทำให้ไทยได้ดินแดนต่าง ๆ กลับคืนมา คือ ดินแดงฝั่งขวาของหลวงพระบาง จำปาศักดิ์ พระตะบอง ศรีโสภณ และดินแดนในกัมพูชา และได้แบ่งแยกเป็น 4 จังหวัดคือ จังหวัดพระตะบอง จังหวัดพิบูลสงคราม จังหวัดจำปาศักดิ์ และจังหวัดลานช้าง
ซึ่งภายหลังสงครามยุติแล้ว พลตรีหลวงพิบูลสงคราม ซึ่งดำรงตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรี และผู้บัญชาการทหารสูงสุด ได้รับพระราชทานยศ “จอมพล” รวมทั้ง กรมหมื่นนราธิปพงษ์ประพันธ์ (ผู้ลงนามในอนุสัญญาโตเกียว) นายควง อภัยวงศ์ (ผู้ลงนามในสัญญารับดินแดนด้านบูรพาและนำธงชาติไทยไปปักที่จังหวัดพระตะบอง) หลวงพรหม โยธี และพันเอกประเสริฐ สุดบรรทัด
ไทยเสียดินแดนคืนให้ฝรั่งเศส
ภายหลังจากสงครามโลกครั้งที่ 2 ยุติแล้ว ฝรั่งเศสได้กลายจากผู้แพ้สงคราม เป็นผู้ชนะสงคราม
12 พฤศจิกายน ค.ศ. 1946 ไทยจำต้องคืน จังหวัดพระตะบอง จังหวัดพิบูลสงคราม จังหวัดจำปาศักดิ์ และจังหวัดลานช้าง ให้แก่ฝรั่งเศสอีกครั้ง ตามสนธิสัญญาวอชิงตัน และได้เข้าเป็นสมาชิกองค์การสหประชาชาติ
อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ
จากสงครามอินโดจีน ไทยสูญเสียทหาร 160 นาย ฝรั่งเศสสูญเสียทหาร 321 นาย และไทยได้สร้าง “อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ” ไว้เป็นอนุสรณ์และที่เก็บอัฐิของทหารไทยที่เสียชีวิตใน สงครามอินโดจีน ครั้งนี้ด้วย