การอนุรักษ์และพัฒนาป่าชายเลน
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ได้พระราชทานพระราชดำริแก่รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตร และสหกรณ์ (นายโฆษิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์) ในพระราชพิธีแรกนาขวัญหว่านข้าว บริเวณสวนจิตรลดา
สรุปแนว พระราชดำริว่า “…ป่าชายเลนมีประโยชน์ต่อระบบนิเวศน์ของพื้นที่ชายทะเลและอ่าวไทย แต่ปัจจุบัน ป่าชายเลนของประเทศไทย กำลังถูกบุกรุกและถูกทำลายไป โดยผู้แสวงหาผลประโยชน์ส่วนตน จึงควรหาทางป้องกันอนุรักษ์และขยายพันธุ์เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะต้นโกงกาง เป็นไม้ชายเลนที่แปลก และขยายพันธุ์ค่อนข้างยาก เพราะต้องอาศัยระบบน้ำขึ้นน้ำลงในการเติบโตด้วย จึงขอให้ส่วนราชการ ที่เกี่ยวข้อง คือกรมป่าไม้ กรมประมง กรมชลประทาน และกรมอุทกศาสตร์ ร่วมกันหาพื้นที่ที่เหมาะสม ในการทดลองขยายพันธุ์โกงกาง และปลูกสร้างป่าชายเลนกันต่อไป…”
ป่าชายเลน เรียกชื่อกันหลายอย่างว่า ป่าชายเลนน้ำเค็ม หรือป่าเลน หรือป่าโกงกาง เป็นป่าที่เกิดขึ้นตามชายฝั่งทะเล และปากแม่น้ำ ของประเทศไทย ป่าชายเลนจัดเป็นป่าไม้ผลัดใบ มีต้นไม้ขึ้นหนาแน่น แต่ละชนิดมีรากค้ำยัน หรือรากหายใจ ตามแต่ชนิดของต้นไม้นั้นๆ
ปัจจุบันประเทศไทยมีพื้นที่ป่าชายเลนอยู่ประมาณ 1,679,335 ไร่ โดยลดลงประมาณเกือบร้อยละ 50 จากที่เคยมี 2,229,375 ไร่ ในปี พ.ศ. 2504 ป่าชายเลนพบแถบชายฝั่งทะเลด้านอ่าวไทยและด้ายทะเลอันดามัน สภาพป่าชายเลนโดยทั่วไปพบว่า ทางภาคใต้ของประเทศไทยแถบ ฝั่งทะเลอันดามันมีสภาพค่อนข้างอุดมสมบูรณ์มากที่สุด ส่วนทางภาคใต้ฝั่งตะวันออกของอ่าวไทย และภาคกลางบริเวณปากอ่าวไทยมีสภาพ ค่อนข้างเสื่อมโทรม ประกอบด้วยไม้ขนาดเล็กและถูกรบกวนจากมนุษย์ ในการเปลี่ยนสภาพป่าชายเลนมาเป็นนากุ้ง นาเกลือ และแหล่งอุตสาหกรรม เช่นเดียวกับภาคตะวันออก การทำนากุ้งได้ส่งผลกระทบต่อความเสื่อมโทรมของป่าชายเลนเป็นอย่างมาก นอกจากนี้ป่าชายเลนยังถูกทำลาย ด้วยเหตุอื่นอีก เช่น การทำเหมืองแร่ การเกษตรกรรมประเภทขยายตัวของชุมชน การสร้างท่าเทียบ หรือการสร้างถนนและพาดสายไฟฟ้า รวมทั้งการสร้างโรงงานอุตสาหกรรมต่าง ๆ เหล่านี้ ทำให้จำนวนป่าชายเลนลดลงอย่างที่มิอาจประมาณการได้
[แก้ไข] การสนองพระราชดำริด้านอนุรักษ์และพัฒนาป่าชายเลน
โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ที่บังเกิดขึ้นด้วยกระแสพระราชดำริร่วมกับสมเด็จพระศรีนครินทรา บรมราชชนนี เมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม พ.ศ. 2536 โดยได้พระราชทานพระราชกระแสกับหม่อมราชวงศ์ดิศนัดดา ดิศกุล เลขาธิการมูลนิธิแม่ฟ้าหลวง และนายสุเมธ ตันติเวชกุล เลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา ให้ร่วมกันเป็นแกนกลางในการดำเนินการปลูกป่าพระราชทานแก่ประชาชนทั้งมวลในวโรกาส พระราชพิธีกาญจนาภิเษกเฉลิมฉลองสิริราชสมบัติเป็นปีที่ 50 ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ภูมิพลอดุลยเดชโดยทรงตั้งมั่นในพระราชหฤทัย ที่จะฟื้นฟูสภาพแวดล้อมและพัฒนาทรัพยากรธรรมชาติให้มีสภาพยั่งยืนยาวนาน ป่าพระราชทานมูลนิธิชัยพัฒนา-มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง มี 3 โครงการ ได้แก่
โครงการชุมชนพัฒนาป่าชายเลน ตำบลหัวเขา อำเภอสิงหนคร จังหวัดสงขลา โครงการศูนย์ศึกษาธรรมชาติป่าชายเลนยะหริ่ง อำเภอยะหริ่ง จังหวัดปัตตานี โครงการศึกษาความเป็นไปได้ในการฟื้นฟูป่าชายเลน อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี[แก้ไข] โครงการชุมชนพัฒนาป่าชายเลน ตำบลหัวเขา อำเภอสิงหนคร จังหวัดสงขลา
มีเป้าหมายในการพัฒนาชุมชนให้ตระหนักและมีความเข้าใจธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่ชุมชนนี้เคยพึ่งพิง อาศัยทรัพยากรธรรมชาติใน ทะเลสาป สงขลาและอ่าวไทยมาเป็นเวลาช้านาน นับเป็นมิติหนึ่งของการพัฒนาป่าไม้ที่อาศัยความเกี่ยวพันและเกื้อกูลซึ่งกันและกันของมนุษย์และธรรมชาติ มีวิธีการดำเนินงานหลายรูปแบบ อาทิ สร้างความเชื่อมั่นให้ชุมชนยอมรับและเข้าร่วมงานปลูกป่าโดยการสร้างความรู้ความเข้าใจผ่านทาง การประชาสัมพันธ์และการเยี่ยมเยียนสร้างความคุ้นเคยอย่างสม่ำเสมอ จัดการประชุมเพื่อหาข้อยุติร่วมกัน ก่อตั้งชมรมโดยการรวมตัวของประชาชน โครงการนี้ได้ปลูกป่าชายเลนไปแล้วกว่า 300 ไร่
[แก้ไข] โครงการศูนย์ศึกษาธรรมชาติป่าชายเลนยะหริ่ง อำเภอยะหริ่ง จังหวัดปัตตานี
พื้นที่ป่าชายเลนในโครงการนี้มี 9,080 ไร่ สภาพป่าทั่วไปจัดเป็นป่าชายเลนที่ยังคงความสมบูรณ์มาก เป้าหมายของโครงการนี้มุ่งการพัฒนาประสิทธิภาพในด้านการจัดการและการสงวนรักษาป่าชายเลน หน้าที่หลักของศูนย์จึงมุ่งการสร้างความรู้ความเข้าใจให้แก่ประชาชนเกี่ยวกับสภาพแวดล้อมที่ชุมชนตั้งอยู่ เป็นแหล่งการเรียนรู้และร่วมกันทำกิจกรรม เช่น ร่วมกันปลูกป่าชายเลนให้มีปริมาณเพิ่มขึ้น ให้มีการจัดการ ด้านป่าชายเลนที่ถูกต้องเหมาะสมกับท้องถิ่น นอกจากนี้ศูนย์ ฯ ยังมีหน้าที่เผยแพร่ข้อมูลที่ได้จากการศึกษา วิจัยเกี่ยวกับป่าชายเลน เพื่อให้สาธารณชนทั่วไปได้ทราบ มีการสร้างทางเดินป่าชายเลน (mangrove trail) ระยะทางยาวประมาร 1,500 เมตร สำหรับเป็นจุดเข้าไปศึกษาเรียนรู้ธรรมชาติป่าชายเลน
[แก้ไข] โครงการศึกษาความเป็นไปได้ในการฟื้นฟูป่าชายเลน อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี
สภาพพื้นที่ป่าชายเลนแห่งนี้เสื่อมสภาพมาก มีความพยายามพัฒนามากว่า 12 ปีแล้วยังไม่ได้ผล มีพื้นที่ที่คาดว่าสามารถพัฒนาได้เพียง 213 ไร่เท่านั้น พื้นที่ดังกล่าวนี้จึงไม่มีที่ป้องกันลม เมื่อเกิดภัยธรรมชาติก็จะมีความรุนแรงมาก ดังนั้นตามโครงการนี้จะได้นำวิธีการต่างๆ เข้ามาใช้เพื่อพัฒนาฟื้นฟูสภาพความเสื่อมโทรมของป่าชายเลนให้ได้ความอุดมสมบูรณ์กลับคืนมา เช่น มีการขุดแพรกเพื่อให้น้ำหล่อดิน รักษาความชุ่มชื้นในดินไว้ตลอดเวลา