สวัสดีค่ะน้องๆ ชาว Dek-D.com .... ถ้าพูดถึงวิชาเรียนที่ขึ้นชื่อว่ายากของเด็กมัธยมในเมืองไทย คงไม่พ้นวิชาคณิตศาสตร์หรือวิทยาศาสตร์ แม้แต่เด็กสายวิทย์เองบางทียังขอยอมแพ้เลยจริงๆ ส่วนวิชาที่หวานหมูคงไม่พ้นพวกสุขศึกษา พละ ภาษาอังกฤษ (สำหรับบางคน)
แล้วน้องๆ เคยสงสัยมั้ยคะว่า เอ๊ะ แล้วเด็กต่างชาติล่ะ วิชาไหนของเค้าถือว่ายากสุดๆๆ หรือง่ายมากๆ บ้าง ??? จะเหมือนหรือต่างจากบ้านเรามั้ยนะ ? วันนี้ พี่เป้ เลยขอนำตัวอย่างวิชาของเด็กไฮสคูลอังกฤษที่มีเสียงลือเสียงเล่าอ้างมาว่า วิชานี้แหละง่ายสุดๆ แล้ว
ก่อนอื่นต้องขอเกริ่นก่อนว่า ไฮสคูลของอังกฤษนั้น ก่อนจะเข้าเรียนในมหาวิทยาลัย น้องๆ ต้องผ่านการเรียนใน Year 12-13 ซึ่งเรียกหลักสูตรในช่วงนี้ว่า A-Level โดยต้องเก็บวิชาที่สอดคล้องกับคณะที่อยากเรียนในมหาวิทยาลัย เช่น อยากเรียนรัฐศาสตร์ ก็อาจจะลง A-level วิชาปรัชญาอะไรแบบนี้ค่ะ ใครอยากอ่านเกี่ยวกับ A-Level แบบละเอียด คลิกที่นี่
ว่ากันว่าหลักสูตร A-Level นั้นยากมากกกกกก เพราะเมื่อเรียนแล้วต้องสอบวัดความรู้ หากได้ต่ำกว่า C ถือว่าไม่ผ่านค่ะ ดัง นั้นเด็กอังกฤษหลายๆ คนถึงกับกุมขมับในการเลือกวิชาเรียน ไม่รู้จะเลือกเรียนอะไรดี บางคนถึงกับถอดใจว่าขอเลือกวิชาง่ายๆ สอบแล้วได้ A ง่ายๆ ก็แล้วกันเพราะกลัวสอบตก ซึ่งส่วนมากเค้าจะแนะนำกันว่า หากอยากเรียนอะไรที่ไม่ยากไป ให้เลือกเรียนวิชาต่อไปนี้ค่ะ ....
Sociology หรือ สังคมวิทยา วิชา นี้ฟังชื่อแล้วไม่คิดว่าจะง่ายเลยนะคะ 5555 แต่ที่ว่ากันว่าง่ายก็เพราะเป็นเรื่องรอบตัวเราค่ะ เป็นเรื่องของสังคมและมนุษย์ ดังนั้นเวลาสอบก็สามารถใช้คอมมอนเซนส์ได้ (แถไปได้ อิอิ) เนื้อหาการเรียนวิชานี้ เช่น
- ภาพรวมของสังคมวิทยา ความสัมพันธ์ของสังคมวิทยากับสังคมศาสตร์สาขาอื่นๆ สังคมวิทยาเป็นวิทยาศาสตร์หรือไม่ ประโยชน์ของสังคมวิทยา สังคมวิทยากับนโยบายต่างๆ ในสังคม
- ปัจเจกนิยมและสังคม ความสัมพันธ์ระหว่างตัวคนและสังคม พฤติกรรมมนุษย์ ความหลากหลายของวัฒนธรรมในสังคม การควบคุมและการเปลี่ยนแปลงสังคม
- สถาบันต่างๆ ในสังคมและอัตลักษณ์ สถาบันต่างๆ ในสังคม เช่น ครอบครัว การศึกษา สื่อ ศาสนา กลุ่มต่างๆ ความเชื่อ ค่านิยม หน้าที่ เพศ ชนชั้น
- ขั้นตอนการทำวิจัยทางสังคมศาสตร์ การวิจัยเชิงปริมาณและคุณภาพ การสังเกตแบบต่างๆ การใช้สถิติ การทำแบบสอบถาม
Photography หรือ การถ่ายภาพ ไม่แปลกใจที่จะไม่ยาก เพราะส่วนมากคนที่มาเลือกเรียนวิชาถ่ายภาพ ก็ต้องชอบการถ่ายภาพเป็นทุนเดิมอยู่แล้วใช่มั้ยคะ เนื้อหาก็เกี่ยวกับ การใช้กล้องถ่ายรูป การล้างรูป เทคโนโลยีการพิมพ์รูป การใช้ photoshop การพรีเซนต์ภาพถ่ายผ่านแนวคิด ประวัติการถ่ายภาพ .... จะเห็นได้ว่า จริงๆ แล้วการเรียนถ่ายภาพไม่ได้แปลว่าเราจะได้จับกล้องตลอดเวลา เพราะบางทีอาจารย์อาจจะสั่งงานอื่นๆ เช่น ให้เขียนเรียงความ 3,000 คำว่าช่างภาพหรือศิลปินคนไหนที่เป็นแรงบันดาลใจในการถ่ายภาพของเรา !!!
Art and Design หรือ ศิลปะและการออกแบบ วิชานี้ก็เป็นไปในทางเดียวกับวิชาการถ่ายภาพค่ะ คือคนที่มาเลือกเรียนส่วนมากก็ชอบพวกศิลปะอยู่แล้ว ใครหัวใจอาร์ตๆ ล่ะก็หมดเลย ขอให้ส่งงานครบ ทำงานไม่ชุ่ย พรีเซนต์เก่ง ก็ได้ A ไม่ยาก ยิ่งเรียนยิ่งสนุก ได้ลงมือทำของจริงตลอดเวลา เนื้อหาที่ต้องเจอ เช่น
- การวาดภาพ การใช้สีน้ำมัน สีน้ำ สีอะครีลิค สีโปสเตอร์ ดินสอสี
- สิ่งทอ รูปแบบการทอ การเย็บปักถักร้อย ผ้าชนิดต่างๆ
- เซรามิกส์ ประวัติงานเซรามิกส์ การเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์ศิลปะ
- กราฟิคดีไซน์ การออกแบบแพ็คเกจ การออกแบบกราฟิคคอมพิวเตอร์ การออกแบบสามมิติ
สิ่งทอ เซรามิกส์ แฟชั่นดีไซน์ กราฟิคดีไซน์ การถ่ายภาพ เทคนิคการพิมพ์
- แฟชั่นดีไซน์ การออกแบบเสื้อผ้าสำหรับโอกาสหรือออกงานต่างๆ จิตวิทยาในการออกแบบว่าเสื้อผ้าแบบไหนส่งผลยังไงต่อผู้พบเห็น องค์ประกอบการออกแบบ เช่น สี เส้น เนื้อผ้า รูปร่าง
Drama and Theatre Studies การ ละครและละครเวที วิชานี้เหมาะสำหรับชอบแสดงออกค่ะ จะได้เรียนทั้งการแสดง การกำกับการแสดง การออกแบบเวที รวมไปถึงเรียนทฤษฎีต่างๆ ที่เกี่ยวกับการละครด้วย เช่น การวิเคราะห์บทละคร การวิเคราะห์ตัวแสดง ประวัติศาสตร์การละคร อิทธิพลของละครต่อสังคม
ตัวอย่างการเรียนในชั่วโมงต่างๆ
ชั่วโมงการแสดง : แสดงบทบาทอะไรก็ได้ 2 แบบคือ แบบที่แสดงคนเดียว กับ แบบที่แสดงคู่
ชั่วโมงศิลปะหุ่นกระบอก : ออกแบบหุ่นกระบอก 2 ตัว รวมถึงออกแบบการแสดงให้หุ่นกระบอกทั้ง 2 ตัวด้วย
ชั่วโมงการออกแบบเสียง : เลือกฉากของละครมา 1 ฉากที่สามารถใส่เสียงประกอบเข้าไปได้ และออกแบบและควบคุมการใส่เอฟเฟ็คต์เสียงในละคร
ชั่วโมงการออกแบบเสื้อผ้าและการแต่งหน้า : ออกแบบเสื้อผ้า 2 ชุดพร้อมทั้งการแต่งหน้า และพรีเซนต์ได้ว่าเกี่ยวข้องกับละครยังไง
แต่จริงๆ แล้ว การเลือกวิชาเรียนโดยมองแค่ว่าวิชานี้ง่ายเลยเลือก ถือว่าไม่เหมาะสมเท่าไหร่นะคะ ควรมองด้วยว่า เราสามารถนำวิชานั้นไปใช้ได้จริงๆ มั้ย หรือเราถนัดจริงๆ รึเปล่า อีกอย่างที่สำคัญก็คือการเรียนตามเพื่อนค่ะ (เด็กไทยฮิตมาก ฮ่าๆ) ไม่ดีไม่เอานะ ^^ พี่เป้ เคยไปเลือกเรียนวิชาหนึ่งซึ่งแทบไม่มีเพื่อนที่คณะเรียนเลย แต่ขอบอกว่ามีความสุขมากๆๆ ยิ่งเรียนยิ่งสนุก แถมได้รู้จักเพื่อนต่างคณะอีกเยอะมากกกค่ะ ... แล้วที่โรงเรียนน้องๆ ล่ะ ?? วิชาไหนง่ายที่สุด ของ พี่เป้ ตอนมัธยมก็ต้องสุขศึกษาค่ะ แย่งกันท็อปทีเดียว แล้วใครท็อปก็จะถูกเพื่อนๆ แซวว่า เก่งเรื่องเพศใช่มั้ยแก 5555