หนัง "โดนๆ" ในเทศกาลภาพยนตร์โลกแห่งกรุงเทพครั้งที่ 9

ช่วงสองสามเดือนแรกในปี 2555 คงเป็นช่วงเวลาทองของคนรักหนัง ที่เบื่อการเข้าไปในโรงหนังแล้วมีแต่หนังโปรแกรมใหญ่ๆเรียงเต็มพรืดในโปรแกรม

 

เพราะมีเทศกาลหนังมากมายจ่อให้เข้ามาชมให้ตาปรือกันไปข้าง

 

ในช่วงวันที่ 24 ม.ค – 5 ก.พ ก็มี "เทศกาลหนังทดลองกรุงเทพ ครั้งที่ 6" (Bangkok Experimental Film Festival) จัดที่ไหน? เมื่อไหร่? อย่างไร? ดูข้อมูลได้ที่ http://beffbeff.com/

 

ส่วนคนรักหัวหิน พอๆกับรักหนัง ต้องไม่พลาด "เทศกาลภาพยนตร์นานาชาติหัวหิน ปี 2555" ระหว่างวันที่ 26 – 27 ม.ค. (คลิกดูรายละเอียดที่ www.huahinfilmfest.com)

 

ทั้งยังมี เทศกาลภาพยนตร์ฝรั่งเศส(9-18 มี.ค.) และช่วงเวลาสำคัญในการไล่ดูหนังออสการ์ซึ่งจะประกาศผลในวันที่ 26 ก.พ.นี้

 

แต่ที่ใกล้จะถึงอีกไม่กี่อึดใจ คือ เทศกาลภาพยนตร์โลกแห่งกรุงเทพครั้งที่ 9 (The 9th World Film Festival of Bangkok) ที่จะเริ่มต้นระหว่างวันที่ 20-27 มกราคม นี้ ที่โรงภาพยนตร์เอสพลานาด ซีนีเพล็กซ์ รัชดา

 

อันที่จริง งานนี้ถูกเลื่อนมาจากปลายปีที่แล้ว เนื่องจากสถานการณ์น้ำท่วม

 

พอน้ำลด เทศกาลหนังนี้จึงผุดให้เราได้ชมกันอีกครั้ง

 

มาดูกันดีกว่าว่า สัปดาห์แห่งเทศกาลนี้ มีหนังเรื่องไหนที่ต้องใส่ตัวหนาว่า ห้ามพลาดชม โดยเด็ดขาด!

 


I Carried You Home

 

"จะพาเธอกลับบ้าน"(I Carried You Home) นี่เป็นหนังไทยที่ร่วมทุนกับสิงคโปร์ ที่ได้รับเกียรติเป็นภาพยนตร์เปิดของเทศกาลนี้ กำกับโดย ต้องปอง จันทรางกูร โดยได้สองดาราสาวสวยอย่าง สายป่าน-อภิญญา สกุลเจริญสุข และ จั๊กจั่น-อคัมย์สิริ สุวรรณศุข แสดงนำ หนังเรื่องนี้เล่าถึงครอบครัวหนึ่งจากจังหวัดสงขลา ประกอบด้วยคุณแม่และลูกสาว 2 คน ลูกสาวทั้ง 2 คนต่างออกเดินทางจากบ้านเกิด และได้แยกย้ายกันไปตามหนทางของตัวเอง แต่แล้ววันหนึ่งทั้ง 2 ต้องกลับมาพบกันอีกครั้งเพื่อที่จะต้องนำศพของคุณแม่กลับไปทำพิธีที่บ้านเกิด

 

 

 

Dance Town

 

หนังเกาหลีผลงานกำกับของ Jeon Kyu-Hwan ที่พูดถึงเรื่องของ จุงนิม ที่จำต้องลี้ภัยจากเกาหลีเหนือไปยังเกาหลีใต้ หลังจากที่สามีของเธอถูกเจ้าหน้าที่คอมมิวนิสต์จับกุมข้อหาชมและมีภาพยนตร์โป๊ภายในบ้าน

ด้วยชีวิตตัวคนเดียวในเมืองที่แสนวุ่นวาย ความเหงา และความคิดถึงสามีสุดที่รักทำให้เธอต้องพบกับแต่ความปวดร้าว

 

 


Leaving Baghdad

 

คราวนี้มาดูเรื่องราวที่พูดถึงกรุงแบกแดด อิรักกันบ้าง จากงานกำกับของ Koutaiba Al-Janabi

 

Leaving Baghdad เป็นภาพยนตร์ที่พาคุณเดินทางหลบหนีออกจากกรุงแบกแดด พร้อมๆไปกับ ซาดิค อดีตตากล้องประจำตัวของอดีตเผด็การ ซัดดัม ฮุสเซน หลังจากทางรัฐบาลเริ่มกวาดล้างผู้ที่เคยเกี่ยวข้องกับซัดดัม ฮุสเซน

 

ซาดิคต้องตกอยู่ในความหวาดกลัวตลอดเวลา เขาพยายามขอความช่วยเหลือจากภรรยาของเขาที่อยู่ในกรุงลอนดอน แต่ก้ได้รับการปฏิเสธ

 

เขาสิ้นหวังและความอ้างว้าง ทำให้เขาตัดสินใจเขียนจดหมายถึงเซเมียร์ ลูกชายของเขา เป็นครั้งสุดท้ายเพื่อบอกเรื่องราวทุกอย่างในอดีตของเขา

 

 


Lung Neaw Visits His Neighbours

 

"ลุงนิ่วไปเยี่ยมเพื่อนบ้าน" หรือ "Lung Neaw visits his neighbour" เป็นภาพยนตร์ไทยอีกเรื่องในเทศกาลนี้ ผลงานภาพยนตร์ยาวเต็มตัวเรื่องแรก ของ ฤกษ์ฤทธิ์ ตีระวนิช ศิลปินไทยที่โด่งดังในระดับโลก ด้วยผลงานอย่างเช่นการนำผัดไทมาตีความในงานศิลปะของเขา น่าสนใจว่า งานนี้ได้รับคัดเลือกให้เข้าร่วมประกวดในเทศกาลภาพยนตร์เมืองเวนิช ประเทศอิตาลีเมื่อปีที่แล้วด้วย

 

หนังสารคดีเรื่องนี้ พูดถึง ลุงนิ่วชาวนาวัย 60 ปี ที่อยู่ประจำหมู่บ้านเล็กๆ ในจังหวัดเชียงใหม่ผู้พบว่างานทำนาหนักเกินไปสำหรับเขาแล้ว ห่างออกไปจากความสับสนวุ่นวายและความรุนแรงทางการเมืองที่เกิดขึ้นในกรุงเทพ เราตามไปดูชีวิตประจำวันของลุงนิ่ว การใช้ชีวิตของเขาในดินแต่ที่เขารู้จักมาตั้งแต่เกิด และเติมเต็มเวลาว่างๆ ของเขาด้วยการจับกลุ่มคุยกับเพื่อบ้าน จนเราต้องถามว่า “อะไรมากไปกว่านี่ที่คนจะต้องการ ถ้าเขาได้ใช้ชีวิตอยู่ในสวนสวรรค์แล้ว?”

 

 

Return Ticket

 

หนังจีนเรื่องนี้ เข้ากับเทศกาลตรุษจีนที่จะถึงนี้เป็นอย่างยิ่ง ผลงานกำกับของ Teng Yung-Shing

ไกลออกไปจากบ้าน สาวแม่บ้านย้ายถิ่นฐานเข้ามาที่เซี่ยงไฮ้เพื่อเข้าร่วมแผนการของเพื่อนเธอที่จะทำเงินจากการขายตั๋วให้ผู้หญิงที่ต้องการจะกลับบ้านในช่วงตรุษจีน มีเพียงความคิดถึงบ้านที่เธอต้องเผชิญหน้าทีละน้อย ทีละน้อย

แล้วเรื่องจะเป็นอย่างไรต่อ น่าติดตาม?

 

 


La Acacias

 

นี่เป็นหนังจากแดนลาติน ประเทศอาร์เจนติน่าที่น่าลิ้มลอง

 

ผลงานกำกับของ Pablo Giorgelli ที่นำพาเราไปสู่เรื่องราวเกิดขึ้นบนทางหลวงระยะทาง 1,500 กิโลเมตร ระหว่าง กรุงอะซุนซิออน ประเทศปารากวัย ถึงกรุงบัวโนสไอเรส ประเทศอาร์เจนติน่า ที่คนขับรถบรรทุกมีหน้าที่พาผุ้หญิงที่เขาไปเคยรู้จักมาก่อนไปส่ง

 

 


George The Hedgehog

 

หนังแอนิเมชั่นจากดินแดนโปแลนด์ที่สะท้อนปัญหาสังคมผ่าน เจ้าเม่น ที่จุ่ๆได้กลายเป็นคนดัง และถูกแสวงหาผลประโยชน์จากนักวิทยาศาสตร์อัจฉะริยะแต่ความคิดชั่วร้าย นำดีเอ็นเอของเจ้าเม่น ไปดัดแปลงจนกลาบเป็นตัวเม่นอีกตัว ที่สุดแสนจะสกปรก หยาบคาย เพื่อนำไปเป็นเครื่องมือที่จะทำให้เขาได้เข้าปกครองประเทศด้วยระบบเผด็จการ

ซึ่งสภาพบ้านเมืองที่เต็มไปด้วยปัญหาที่คนระดับผู้นำมักไม่อยากพูดถึง จะสะท้อนอะไรในสังคมบ้านเราได้บ้าง? น่าคิดนะ

 

 


Once Upon A Time In Anatolia

 

หนังร่วมทุนระหว่างตุรกี กับ บอสเนียและเฮอร์เซโกวีน่า ผลงานกำกับของ Nuri Bilge Ceylan ที่เคยกำกับงานที่แสนเหงาอย่าง Distant(2002)

 

หนังเรื่องนี้ มากับลีลาของ ชีวิตในเมืองเล็กๆ ที่เต็มไปด้วยทุ่งหญ้าโล่งๆ ผู้คนมักจะมองหาสิ่งใหม่และแตกต่างอยู่เสมอ

 

สุดท้ายมันก็แทบจะไม่มีอะไรที่เปลี่ยนแปลงไปมากนัก ก็ยังเป็นเส้นทางที่น่าเบื่อหน่าย

 

 


500 Years Siam – Portugal’s Relationship

 

หนังสารคดีเรื่องนี้ กำกับโดย ยุวดี วัชรางกูร นักคิดนักเขียนสาวไทย พูดถึงความสัมพันธ์ของไทย(สยาม)-โปรตุเกส ที่ครบรอบ 500 ปีเมื่อปีพ.ศ.2554(ค.ศ.2011)ที่ผ่านมา

 

สยาม กับ โปรตุเกส เริ่มติดต่อมีความสัมพันธ์กันอย่างเป็นทางการ ตั้งแต่ปี 1511 คือช่วงของกรุงศรีอยุธยา ในสมัย สมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 โปรตุเกสถือได้ว่าเป็นชาติตะวันตกชาติแรกที่เข้ามาเจริญสัมพันธไมตรีกับสยาม และ กับประเทศทางตะวันออก

 

นอกเหนือจากทางด้านของการค้า และการเผยแพร่ศาสนาคริสตร์แล้ว โปรตุเกส กับ สยาม ยังได้แบ่งปันความรู้วิทยาการในด้านต่างๆอีกมาก เช่น เรื่องของการทหาร การสร้างอาวุธ การเดินเรือ โหราศาสตร์ หรือ แม้กระทั่งวัฒนธรรมทางภาษา หรือ ขนมหวานที่เราได้รับมา เช่น ทองหยิบ ทองหยอด ฝอยทอง ยังรวมไปถึงสถาปัตยกรรมต่างๆที่เราได้รับมาที่เห็นได้ในทางภาคใต้ของประเทศไทย

 

ในปี 2011 จึงถือเป็นการครบรอบ 500 ปีของความสัมพันธ์ระหว่างไทยและโปรตุเกส และ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในทางประวัติศาสตร์ ทางโปบราณคดี และทางวัฒนธรรม

 

 


Cave Of Forgotten Dreams

 

สารคดีสุดทรงพลังจากยอดผุ้กำกับชาวเยอรมัน แวร์เนอร์ แฮโซก

การติดตามทีมงานนักวิทยาศาสตร์ในการค้นพบงานภาพเขียนก่อนประวัติศาสตร์ในถ้ำแห่งใหม่ทางตอนใต้ของประเทศฝรั่งเศส

 

ภาพเขียนผนังถ้ำที่ย้อนอายุกลับไปนานถึง 30,000 ปี ซึ่งเป็นภาพเขียนที่ถือว่าเก่าแก่ที่สุดในวินาทีนี้

 


My Rohingya

 

ภาพยนตร์สารคดี เรื่องราวของชาวโรฮิงยา ที่ต้องผจญอยู่กับการเป็นบุคคลไร้สัญชาติในประเทศพม่ามาตลอดชีวิต พวกเขาพยายามและดิ้นรนที่จะออกไปจากประเทศเพื่อชีวิตที่ดีกว่า และประเทศที่เขามุ่งหวังและพอให้ความช่วยเหลือคือประเทศไทยและบังคลาเทศ กว่า 3 ทศวรรษที่ผ่านมาความฝันยังคงมืดมิด ที่ปลายทางออกอุโมงค์แห่งชีวิตแสงแห่งความหวังยังมองไม่เห็น

 

 

 

Turin Horse

 

หนังฮังกาเรียนที่น่าจับตา ผลงานกำกับร่วมของBela Tarr และ Agnes Hranitzky

 

ในปี 1889 ฟรีดริช นีตซ์เช่(Friedrich Nietzsche) นักปรัชญาชาวเยอรมันได้ออกท่องเที่ยวไปยังเมืองตูริน ประเทศอิตาลี ได้พบกับม้าตัวหนึ่งซึ่งบาดเจ็บจากการโดนแส้ฟาด เขาได้เข้าไปช่วยประคองมันไว้ก่อนที่มันจะล้มลงด้วย สองแขนของเขา หลังจากนั้นประมาณ 1 เดือน นีตซ์เช่ได้ถูกวินิจฉัยว่าเขามีอาการป่วยทางจิตอย่างหนัก ทำให้เขาพูดไม่ได้ ซึ่งสร้างความทุกข์ทรมานกับเขาเป็นอย่างมาก เพียงแค่ 11 ปี หลังจากนั้นเขาก็เสียชีวิตลง แล้วม้าล่ะ เกิดอะไรขึ้นกับม้าบ้าง ในภาพยนตร์เรื่องนี้ ผู้กำกับได้สร้างปมข้อสงสัยไว้ในตอนท้ายของเรื่อง โดยชายผู้ที่ใช้แส้ฟาดม้า เป็นชาวนาที่มาจากชนบท เขาจะใช้ชีวิต กิน นอน อยู่บนเกวียนโดยใช้ม้าลากเกวียน ไปเรื่อยๆ ม้าตัวนั้นทั้งแก่ และสุขภาพไม่แข็งแรง แต่มันก้ได้ทำหน้าที่ของมันอย่างดีที่สุดเพื่อเจ้านายของมันแล้ว ชาวนาและลูกสาวของเค้าจึงต้องทำความเข้าใจว่ามันไม่สามารถร่วมทางไปกับพวกเขาได้อีกต่อไปแล้ว


 

20 ม.ค. 55 เวลา 14:48 2,094 1 20
แชร์สกู๊ป
กรุณา Login เพื่อแสดงความคิดเห็น
ส่ง Scoop ให้เพื่อน
แจ้งลบไม่เหมาะสม
ความคิดเห็น

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Loading...