สำรวจต้นทุน"งานศพ" ในสังคมไทย 2555 " จากนาทีสิ้นลมถึงเชิงตะกอน ต้องจ่ายอะไรและเท่าไร ?มาดูกัน!!!

 

หากแต่เมื่อความตายเกิดขึ้นแล้ว สิ่งที่ผู้ที่ยังอยู่ต้องทำให้แก่ผู้จากไปนั่นก็คือ "งานศพ" อาจจะเป็นงานศพหรูหรา หรืองานศพแบบธรรมดา ตามแต่เจ้าภาพจะต้องการ แต่รู้ไหมว่า งานศพแต่ละงานนั้นมีค่าใช้จ่ายไม่ใช่น้อยๆ


วันนี้ มติชนออนไลน์ จะพาคุณผู้อ่านไปดูราคาค่าใช้จ่ายต่างๆสำหรับการจัดงานศพกันว่า ในงานศพแต่ละงานนั้น มีค่าใช้จ่ายอะไรบ้าง ?
 
 
ค่าใช้จ่ายหลังความตายขั้นแรก


 

 

ต่อมา เป็นขั้นตอนของการจัดหาโลงศพ โดยโลงศพแต่ละโลงนั้นราคาจะแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับวัสดุที่นำมาทำเป็นโลงศพ เช่น โลงไม้ยาง โลงไม้เนื้อแข็ง โลงไม้อัด โลงมุก โลงกระจก นอกจากวัสดุแล้ว ลวดลายตกแต่งโลงศพก็ยังมีให้เลือกมากมาย ทั้งแบบเทพพนม แบบแกะสลัก ฯลฯ พร้อมทั้งโลงศพที่ติดตั้งอุปกรณ์เสริมต่างๆเช่น โลงศพติดแอร์ โดยราคาของโลงศพนั้นจะมีราคาเริ่มต้นตั้งแต่ประมาณ 3,000 บาท ไปจนถึงกว่า 200,000 บาทเลยทีเดียว


เมื่อมีโลงศพแล้วก็ต้องมีดอกไม้ประดับหน้าที่ตั้งศพและเมรุ ราคาของดอกไม้จะอยู่ที่ประมาณ 8,000-15,000 บาท ราคาจะเพิ่มมากน้อยกว่านั้นก็ขึ้นอยู่กับดอกไม้ที่นำมาจัดว่าเป็นดอกไม้ชนิดไหน ปริมาณเท่าไร รูปแบบอย่างไร และหากตั้งสวดพระอภิธรรมศพหลายวัน ดอกไม้ที่จัดไว้ก็จะเริ่มเหี่ยวเฉา ทำให้ต้องมีค่าดอกไม้ที่ต้องเปลี่ยนเพิ่มตามมาอีก



ค่าใช้จ่ายช่วงการสวดพระอภิธรรม


แน่นอนว่า สิ่งแรกที่ต้องทำช่วงการสวดพระอภิธรรมก็คือการหา "วัด" ที่จะใช้ตั้งศพ ในอดีตคนมักจะนิยมตั้งศพบำเพ็ญกุศลที่บ้านของผู้เสียชีวิต แต่ปัจจุบันจะนิยมนำศพไปทำพิธีที่วัด เพื่อความสะดวกของทุกๆฝ่าย ทั้งฝ่ายเจ้าภาพและผู้มาร่วมงาน อีกทั้งยังสะดวกต่อการทำตามพิธีกรรมให้ครบถ้วนอีกด้วย ค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ หากเป็นวัดที่อยู่ต่างจังหวัดค่าใช้จ่ายจะถูกกว่าวัดในกรุงเทพฯและจังหวัดใหญ่ๆหลายเท่าตัว


สำหรับวัดที่เป็นพระอารามหลวง ค่าใช้จ่ายในการจัดงานศพจะสูงที่สุด รองลงมาคือวัดขนาดใหญ่ ส่วนวัดขนาดเล็กนั้นค่าใช้จ่ายจะไม่สูงมากนัก นอกจากนี้ ค่าใช้จ่ายในวัดเดียวกันยังแตกต่างกันไปตามขนาดของศาลา นั่นก็คือ ถ้าเป็นศาลาขนาดใหญ่ก็จะมีค่าใช้จ่ายสูงกว่าศาลาขนาดเล็ก และถ้าเป็นศาลาที่มีเครื่องปรับอากาศค่าใช้จ่ายก็จะยิ่งเพิ่มขึ้นไปอีก


เริ่มที่โรงพยาบาล เมื่อเสียชีวิต ทางโรงพยาบาลจะมีบริการอาบน้ำ แต่งตัว ให้ผู้ตายใหม่ในราคาค่าบริการ 300 บาท ค่าฉีดฟอร์มาลีน 950 บาท (รวมค่ายาแล้ว) หากต้องการฝากร่างผู้เสียชีวิตไว้ในห้องเก็บศพของทางโรงพยาบาล ก็จะมีราคาค่าเช่าห้องอีกวันละ 300 บาท แต่ถ้าต้องการฝากไว้นานหลายวัน สามารถต่อรองลดราคากับทางโรงพยาบาลได้  (ราคานี้เป็นราคาของโรงพยาบาลรัฐบาลตามระเบียบกระทรวงการคลัง)


แต่ถ้าใช้บริการของทางภาคเอกชนหรือตามร้านที่ให้บริการด้านงานศพนั้น ค่าฉีดฟอร์มาลีน พร้อมแต่งหน้าศพจะอยู่ที่ประมาณ 1,500 บาทขึ้นไป แต่หากเป็นศพที่ประสบอุบัติเหตุหรือศพติดเชื้อ ราคาจะเพิ่มขึ้นตามปริมาณยาที่ใช้ในการฉีดศพ


 

 

นอกจากนั้นแล้ว ปัจจัยสำคัญในการเลือกวัดเพื่อตั้งบำเพ็ญกุศลยังมีตั้งแต่ วัดใกล้บ้านผู้เสียชีวิต, มีที่จอดรถเพียงพอ, มีศาลากว้างพอจะรับรองแขกได้, มีเมรุเผาศพอยู่ในวัดเรียบร้อย (แต่หากเป็นวัดทางภาคเหนือ วัดจะไม่มีเมรุเผาศพหรือสุสาน ต้องนำศพเคลื่อนไปทำพิธีฌาปนกิจที่สถานที่สำหรับเผาศพที่แยกออกมาต่างหาก)

ด้านค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวกับวัดนั้น ค่าใช้จ่ายแรกก็คือ ค่าบำรุงในการสวดอภิธรรม หากเป็นวัดขนาดเล็ก มักกำหนดอัตราค่าศาลา 500 บาทต่อคืนขึ้นไป ส่วนวัดขนาดใหญ่ มักเรียกเก็บค่าบำรุงประมาณ 1,000 บาทต่อคืนหรือมากกว่านั้นตามขนาดของศาลา แต่ถ้าศาลาติดเครื่องปรับอากาศด้วย จะมีค่าบำรุงประมาณ 2,500 บาทต่อคืนขึ้นไป


นอกจากนี้ยังมีเรื่องของอาหารที่จะใช้เลี้ยงแขกที่มาร่วมงาน ว่าจะจัดหาอาหารอะไร เจ้าภาพสามารถจัดหามาเลี้ยงเองได้ หรือจะใช้บริการของธุรกิจแคทเทอริ่ง ซึ่งปัจจุบันกำลังได้รับความนิยมอย่างมาก โดยธุรกิจนี้จะรับจัดเลี้ยงอาหารคาวหวานตามงานต่างๆ หรือรับทำเบเกอรี่กล่อง โดยราคาต่อกล่องนั้นจะอยู่ที่ประมาณกล่องละ 25-200 บาท แต่ถ้าไม่อยากยุ่งยากก็สามารถให้ทางวัดจัดการแทนก็ได้เช่นกัน โดยทางวัดจะคิดค่าอาหารเป็นรายหัว และชนิดอาหารที่นำมาเลี้ยง รวมแล้วคืนหนึ่งราคาค่าอาหารตกประมาณ 2,000-5,000 บาท


 

 

ค่าใช้จ่ายต่อมาคือ ค่าธรณีสงฆ์ หากญาติต้องการเก็บร่างผู้เสียชีวิตไว้ก่อน ยังไม่นำไปประกอบพิธีเผาหรือฝัง ก็สามารถนำร่างไปเก็บได้ที่ "โกดังเก็บศพ" ภายในบริเวณวัด โดยสามารถเก็บได้ไม่เกิน 100-150 วันตามแต่วัดนั้นๆจะกำหนด โดยบริจาคเป็นค่าบำรุงวัดประมาณ 500-1,000 บาท


ค่าใช้จ่ายที่ 3 คือ ค่าบำรุงในการเผาศพ ค่าบำรุงเมรุ ประมาณ 500-2,000 บาท โดยค่าเผาศพจะเรียกค่าบำรุงตามวิธีการเผา โดยวิธีการเผาแบบเตาถ่านจะถูกที่สุด ตามมาด้วยวิธีการเผาโดยใช้น้ำมัน และปัจจุบันนี้ยังมีเตาเผาศพไฟฟ้าเพิ่มมาอีกด้วย
       

นอกจากนั้นยังมีค่าสัปเหร่อประมาณ 1,000 บาท ค่าผ้าบังสุกุล ค่าเครื่องไทยธรรม/ดอกไม้ธูปเทียนที่ใช้ในการถวายพระประมาณ 1,000 บาทต่อคืน ค่าดอกไม้จันทน์ ถุงละ 80-100 บาท (1 ถุงมี 100 ดอก) และค่าใช้จ่ายเบ็ดเตล็ดอื่นๆ เช่น ค่าเครื่องตราสัง ค่ารถรับศพ ค่าแรงงานผู้มาช่วยงาน ค่าของชำร่วยที่มีหลากหลายทั้งหนังสือที่ระลึกงานศพ หนังสือธรรมะ ผ้าเช็ดหน้า แก้วน้ำ ยาหม่อง ยาดม ฯลฯ ซึ่งค่าใช้จ่ายต่างๆเหล่านี้ ราคาจะขึ้นอยู่กับจำนวน โดยในปัจจุบัน มีร้านรับจัดทำของชำร่วยทั้งแบบไปสั่งเอง สั่งผ่านร้านตัวแทนที่เกี่ยวกับธุรกิจงานศพ หรือจะสั่งผ่านทางอินเตอร์เน็ตจำนวนมาก



ค่าใช้จ่ายในงานศพแบบจีน


ค่าใช้จ่ายข้างต้นนั้นเป็นค่าใช้จ่ายในงานพิธีศพแบบไทย แต่หากงานศพที่จัดเป็นแบบจีนนั้นก็จะมีรูปแบบที่ต่างออกไป คือจะมีพิธีกงเต็กและต้องนำศพไปฝัง ซึ่งแน่นอนว่าเมื่อมีพิธีเพิ่มมากขึ้น ค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ก็จะเพิ่มตามขึ้นมาด้วย


สำหรับการทำพิธีกงเต็กนั้น เจ้าภาพจะมีค่าใช้จ่าย 2 ส่วน คือ ค่าใช้จ่ายแก่คณะพิธีกงเต็กและค่าใช้จ่ายเพิ่มแก่ทางวัด โดยค่าใช้จ่ายที่ต้องจ่ายให้คณะพิธีกงเต็กนั้นขึ้นอยู่กับว่าเป็นกงเต็กใหญ่หรือเล็ก ถ้าเป็นกงเต็กใหญ่ค่าใช้จ่ายจะตกประมาณ 20,000 บาท หากเป็นกงเต็กเล็กจะมีค่าใช้จ่ายประมาณ 10,000-18,000 บาท ซึ่งค่าใช้จ่ายดังกล่าวนั้น ไม่รวมถึงเครื่องกระดาษและของไหว้ที่ต้องจ่ายเพิ่มประมาณ 3,000-20,000 บาท เจ้าภาพยังต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มให้แก่วัดสำหรับค่าอนุญาตทำพิธี ค่าบำรุงเตาเผาเครื่องกงเต็ก และค่าตำรวจรักษาการณ์คืนทำกงเต็ก ค่าใช้จ่ายส่วนนี้จะตกอยู่ที่ประมาณ 500-1,000 บาท


นอกจากค่าพิธีกงเต็กแล้ว ยังมีค่าหลุมฝังศพ โดยราคาจะขึ้นอยู่กับทำเลที่ตั้งซึ่งมีตั้งแต่ราคา 10,000-100,000 บาทขึ้นไป และค่าเสื้อผ้าของญาติในพิธีกงเต็ก ค่าทำพิธีกงเต็ก ค่าของไหว้ ค่าเครื่องกระดาษ และค่าดูฮวงจุ้ยเพิ่มมาอีก

แต่ปัจจุบันนี้ชาวไทยเชื้อสายจีนบางส่วนก็ไม่ได้ทำพิธีกงเต็กหรือฝังศพอีกต่อไป โดยหันมาใช้วิธีเผาศพผู้เสียชีวิตเช่นเดียวกับพิธีศพแบบไทยมากขึ้น ซึ่งบางครั้งก็เป็นความต้องการของผู้ที่เสียชีวิตเองที่ไม่ต้องการให้เป็นภาระกับลูกหลาน



เมื่อมีงานศพก็ต้องมีพวงหรีด


หากพูดถึงงานศพ ทุกคนก็ต้องนึกถึงภาพพวงหรีดหลายประเภทแขวนประดับลานตาไปทั่วศาลาสวดพระอภิธรรม มีทั้งอันใหญ่บ้าง เล็กบ้าง ถ้างานไหนเป็นงานใหญ่ จำนวนพวงหรีดก็แทบจะเต็มล้นไปทุกตารางนิ้วของศาลา จนเจ้าภาพต้องนำพวงหรีดที่เริ่มเหี่ยวไปทิ้ง รวมแล้วมูลค่าของพวงหรีดที่ถูกทิ้งไปเปล่าๆนั้นก็มีมูลค่าไม่น้อยเลยทีเดียว


สำหรับราคาของพวงหรีดในปัจจุบันนั้น พวงหรีดดอกไม้สดมีราคาตั้งแต่ประมาณ 500 บาท ไปจนถึง 3,000 บาท พวงหรีดดอกไม้แห้งมีราคาตั้งแต่ 500 - 1,500 บาท และพวงหรีดที่ทำจากผ้านั้นมีราคาที่ประมาณ 300-1,500 บาท 

แต่ปัจจุบันนี้ นอกจากพวงหรีดยอดนิยมทั้ง 3 แบบอย่างที่เอ่ยถึงไปแล้วนั้น ยังมีพวงหรีดแบบใหม่ที่เน้นการรักษ์โลก ไม่ทำลายธรรมชาติและมีประโยชน์อีกด้วย นั่นก็คือ พวงหรีดพัดลมที่มีราคาตั้งแต่ 600 บาทขึ้นไป พวงหรีดหนังสือราคาเริ่มต้นตั้งแต่ 800-2,000 บาท พวงหรีดกล่องนาบุญที่ภายในจะบรรจุอุปกรณ์การศึกษาต่างๆ ราคาเริ่มต้นตั้งแต่ 800-10,000 บาท พวงหรีดต้นไม้ที่เมื่อเสร็จงานศพแล้วก็สามารถนำต้นไม้นั้นไปปลูกต่อได้จริง สำหรับราคาของพวงหรีดต้นไม้นั้นขึ้นอยู่กับชนิดของต้นไม้ว่าเป็นต้นไม้อะไร สูงเท่าไร ราคาจะมีตั้งแต่ 800-2,000 บาท นอกจากนี้แล้วยังมีพวงหรีดของใช้ต่างๆ อีกหลายรูปแบบที่มีผู้สร้างสรรค์ออกมามากมายนับไม่ถ้วน ถือเป็นทางเลือกใหม่ที่น่าสนใจไม่น้อยทีเดียว

แม้ว่าในตอนนี้ พวงหรีดชนิดใหม่ดังกล่าวยังได้รับความนิยมไม่มากเท่าพวงหรีดดอกไม้แบบเดิมนัก แต่หากผู้อ่านท่านใดที่จะต้องสั่งพวงหรีดเพื่อเคารพศพก็น่าจะลองสั่งพวงหรีดแบบเหล่านี้ ดู เพื่อเป็นการช่วยกันอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ทั้งยังมีประโยชน์ที่เมื่อเสร็จงานแล้วก็สามารถนำไปใช้ประโยชน์ต่อได้  



สำรวจค่าใช้จ่ายวัดดังในกรุงเทพฯ


ตามวัดต่างๆ การจัดงานศพแต่ละครั้งมักจะรวมค่าใช้จ่ายทั้งหลายไปในลักษณะเหมารวมเรียบร้อย ตั้งแต่ค่าศาลา ค่าบำรุงเมรุ ค่าอาหารและค่าจิปาถะต่างๆ วันนี้ มติชนออนไลน์จะขอนำเสนอราคาค่าใช้จ่ายของวัดดังภายในกรุงเทพฯให้ผู้อ่านได้ทราบกันว่า วัดใดมีราคาเท่าไร วัดไหนถูก วัดไหนแพงกว่ากัน


เริ่มต้นที่ วัดพระศรีมหาธาตุวรวิหาร ฌาปนสถานกองทัพอากาศ มีการให้บริการครบวงจร คิดค่าศาลาธรรมดาคืนละ 2,000 บาท ศาลาปรับอากาศคืนละ 2,500 บาท ค่าบำรุงเมรุ 4,000 บาท ค่าน้ำ ค่าไฟในวันเผา 2,000 บาท ค่าเจ้าหน้าที่วันละ 440 บาท และค่าของถวายพระคืนละ 1,040 บาท ค่าใช้จ่ายอื่นๆ ได้แก่ ค่าโลงศพเทพนม ข้างในบุนวมมีราคาตั้งแต่ 3,450 บาทขึ้นไป ดอกไม้หน้าโลงศพนั้นราคาเริ่มต้นที่ 4,500 บาท สำหรับอาหารมีให้เลือก อาทิ กาแฟ โอวัลติน ไม่มีขนม ชุดละ 13 บาท กาแฟ โอวัลติน มีขนม 2 อย่าง ชุดละ 45 บาท หรืออาหารถ้วยละ 25-30 บาท สั้งขั้นต่ำ 50 ถ้วย

สรุปรวมหากจัดงาน 3 คืน จะมีค่าใช้จ่ายประมาณ 60,000–90,000 บาท, 5 คืน ประมาณ 80,000–120,000 บาท และ 7 คืน ประมาณ 100,000–150,000 บาท


 

 

วัดโสมนัส: สำหรับวัดโสมนัสนั้นมีหน่วยงานฌาปนสถานกองทัพบกเป็นผู้ให้บริการ โดยฌาปนสถานจะเป็นคนกลางติดต่อกับร้านค้าภายนอก อาหารว่างจะสั่งมาจากสวนดุสิตโฮม, เอสแอนด์พี และการบินไทย โดยมีเมนูให้เลือก ส่วนอาหารคาวมีเจ้าประจำ แต่เจ้าภาพสามารถนำอาหารมาเองได้ ทางฌาปนสถานจะมีจาน ชาม ช้อนไว้ให้บริการ นอกจากนี้ยังมีสินค้าฝากขาย เช่น บริการถ่ายภาพและวีดีโอ บริการลอยอังคาร จอมอนิเตอร์ และของชำร่วย โดยมีแผ่นพับ โบรชัวร์ ให้เจ้าภาพเลือกใช้บริการ


โลงศพที่ใช้นั้นมาจากร้านพรนิมิต มีหลายแบบหลายราคาให้เลือก ขนาดของโลงขึ้นอยู่กับผู้เสียชีวิต โดยมีทั้งหมด 3 ขนาดให้เลือกตั้งแต่ 20, 22 และ 24 นิ้ว ส่วนของดอกไม้นั้นมีหลายแบบให้เลือก พร้อมทั้งโกฐพระราชทานราคาเริ่มต้นที่ 2,500 บาท โดยต้องใช้ดอกไม้ 2 ชุดคือหน้าหีบศพ 1 ชุดและหน้าเมรุอีก 1 ชุด ของที่ระลึกมีให้เลือก เช่น พัด ร่ม หนังสือ ยาดม หรือเจ้าภาพสามารถเลือกของชำร่วยตามวัตถุประสงค์ที่ต้องการได้ และที่วัดยังมีบริการลอยอัฐิ เริ่มต้นที่ราคา 4,500 บาท สามารถเลือกสถานที่ในการลอยอัฐิได้

สรุปรวมค่าใช้จ่าย หากจัดงาน 3 คืน มีค่าใช้จ่ายประมาณ 50,000 บาท, 5 คืน ประมาณ 60,000 บาท และ 7 คืน ประมาณ 70,000 บาท


วัดเสมียนนารี: ให้บริการงานศพครบวงจร มีศาลาทั้งหมด 11 ศาลา เป็นศาลาแอร์ 7 ศาลา ศาลาธรรมดา 4 ศาลา โลงศพสั่งจากร้านสุริยาหีบศพ (แคราย) อาหารว่างมีให้เลือกทั้ง กาแฟ ไมโล โอวัลติน ในกรณีไม่มีขนมคิดชุดละ 10 บาท ถ้ามีขนมคิดชุดละ 20 บาท กาแฟ ไมโล โอวัลตินพร้อมขนมของ เอสแอนด์พี ชุดละ 35 บาท ข้าวต้มหม้อเล็ก 1,000 บาท หม้อใหญ่ 1,500 บาท กระเพาะปลา ก๋วยเตี๋ยวและอาหารประเภทอื่นๆ จะคิดราคาที่หม้อเล็ก 1,500 บาท สำหรับแขก 60-70 คน หม้อใหญ่ 2,000 บาท สำหรับแขก 100-120 คน


สรุปรวมค่าใช้จ่ายในการจัดงาน 3 คืนประมาณ 40,000 บาท,  5 คืนประมาณ 60,000 บาท และ 7 คืนประมาณ 70,000 บาท


วัดมกุฏกษัตริยาราม: วัดนี้มีอุปกรณ์ไว้บริการหลากหลาย ตั้งแต่หีบศพราคาเริ่มต้นที่ 2,300-5,500 บาท ดอกไม้ ราคาตั้งแต่ 6,000-20,000 บาท (หากเจ้าภาพนำร้านดอกไม้จากภายนอกมาจัดหน้าศพ ทางวัดคิดค่าบำรุงวัด 1,000 บาท) เครื่องไทยธรรมสามารถเช่าซื้อจากวัดได้ ชุดละ 220 บาท อาหารและเครื่องดื่มมีไว้บริการ แต่ถ้าเจ้าภาพต้องการอาหารและเครื่องดื่มของเอสแอนด์พีหรือการบินไทย เจ้าภาพต้องติดต่อหาซื้้อเอง


สำหรับอาหารว่างของทางวัดชุดละ 45 บาท ในหนึ่งกล่องมีขนม 2 ชิ้น และน้ำ 1 แก้วพลาสติก เจ้าภาพสามารถเลือกขนมและน้ำได้ตามเมนูขนมที่มีให้เลือก 26 รายการ มีน้ำให้เลือกอีก 4 รายการ ถ้าต้องการเป็นชา กาแฟ หรือโอวัลติน คิดถ้วยละ 20 บาท ถ้ามีของว่างด้วย 45 บาท ของว่างต้องสั่งขั้นต่ำ 30 ชุด อาหารถวายพระมี 5 อย่าง ของหวาน 1 อย่าง ผลไม้ตามฤดูกาล 3 อย่าง อาหารถวายพระ 9-10 รูปคิดราคา 250 บาทต่อรูป


สรุปรวมค่าใช้จ่ายในการจัดงาน 3 คืนประมาณ 60,000 บาท, 5 คืนประมาณ 80,000 บาท และ 7 คืนประมาณ 100,000 บาท


วัดหัวลำโพง ค่าใช้จ่ายในการจัดงาน 3 คืนประมาณ 60,000 บาท, 5 คืนประมาณ 80,000 บาท และ 7 คืนประมาณ 100,000 บาท

วัดเทพศิรินทร์ ค่าใช้จ่ายในการจัดงาน 3 คืน ประมาณ 50,000 บาท, 5 คืนประมาณ 70,000 บาท และ 7 คืนประมาณ 90,000 บาท


จากค่าใช้จ่ายทั้งหมดนั้น หากใครที่ไม่อยากวุ่นวายกับการจัดหาโลง จัดหาวัดและข้าวของจิปาถะทั้งหลาย ปัจจุบันนี้ก็มีร้านที่ทำแพ็คเกจสำเร็จรูปสำหรับการจัดหาโลง ฉีดยาศพ แต่งหน้าศพ นำศพไปส่ง จัดหาวัด หาอุปกรณ์ที่ใช้ในการตั้งหน้าศพ ของชำร่วย ดอกไม้ประดับต่าง จนกระทั่งถึงพิธีการนำกระดูกไปลอยอังคาร เรียกได้ว่าบริการครบเสร็จสรรพโดยที่ญาติไม่ต้องตระเตรียมสิ่งใด ซึ่งราคาสำหรับแพ็คเกจต่างๆนั้นจะมีราคาตั้งแต่ 9,000 บาท ไปจนถึงกว่า 200,000 บาท ขึ้นอยู่กับบริการต่างๆที่มีให้ ที่ยิ่งแพงเท่าไร บริการก็ยิ่งดีและครบวงจรมากขึ้นเท่านั้น


อ่านแล้วรู้สึกอย่างไรกันบ้าง? บางคนอาจจะบอกว่าทำไมแพงจัง? บางคนอาจจะบอกว่า ไม่เป็นไร ราคาเท่าไรก็จ่ายได้ เพื่อเป็นการให้เกียรติแก่คนตายครั้งสุดท้าย


แต่สิ่งที่สำคัญกว่างานศพที่ยิ่งใหญ่หรือหรูหรานั่นคือ ก่อนตายเราได้ทำอะไรดีๆให้แก่โลกใบนี้แล้วหรือยัง ? เราได้ให้ความรัก เอาใจใส่ แสดงความกตัญญูแก่คนสำคัญของเราแล้วหรือยัง ?


ไม่ใช่แค่ว่า เราจะมาทำดีให้ในวันที่สายไป ด้วยการจัดงานศพหรูหรา ที่คนตายไม่ได้รับรู้ในสิ่งนี้ด้วยเลย ...

17 ม.ค. 55 เวลา 10:12 4,205 2 30
แชร์สกู๊ป
กรุณา Login เพื่อแสดงความคิดเห็น
ส่ง Scoop ให้เพื่อน
แจ้งลบไม่เหมาะสม
ความคิดเห็น

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Loading...