กรมประมงสุดเจ๋งเพาะพันธุ์ปลาทูครั้งแรกโลก



ประมงสุดเจ๋งเพาะ‘ปลาทู’ครั้งแรกโลก (ไทยโพสต์)

          ทึ่ง! นักวิจัยกรมประมงเพาะพันธุ์ปลาทูสำเร็จครั้งแรกของโลก ใช้เวลาทดลอง 2 ปี จับพ่อแม่พันธุ์มาเพาะเลี้ยงในระบบปิด มีน้ำหมุนเวียน ปรับสภาพการเลี้ยงให้เหมาะสมกับระบบนิเวศในทะเล พบปลาทูวางไข่มากถึง 3 หมื่นฟอง หวังช่วยทดแทนการจับปลาทูมากเกินไป

           เมื่อวันที่ 11 มกราคม ดร.วิมล จันทรโรทัย อธิบดีกรมประมง เปิดเผยว่า จากความต้องการปลาทูจำนวนมหาศาลนี้ ทำให้ชาวประมงมีการพัฒนาเครื่องมือการทำประมงปลาทูให้มีประสิทธิภาพในการจับ ที่สูงขึ้นจนเกินกำลังการผลิตของธรรมชาติ ส่งผลให้แนวโน้มของประชากรปลาทูในปัจจุบันเริ่มลดน้อยลง ที่ผ่านมากรมประมงได้ใช้มาตรการในการป้องกันและแก้ไขปัญหาดังกล่าวด้วยการ ห้ามจับปลาทูในฤดูวางไข่ระหว่างวันที่ 15 กุมภาพันธ์ถึง 15 พฤษภาคมของทุกปี ในเขตทะเลอ่าวไทยตั้งแต่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ถึงสุราษฎร์ธานี เพื่อเป็นการอนุรักษ์พันธุ์ปลาทูในช่วงฤดูวางไข่

           "ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา กรมประมงมีความพยายามในการศึกษาวิจัยการเพาะขยายพันธุ์ปลาทูเพื่อทดแทน การจับจากธรรมชาติ โดยได้วางแนวทางและกำหนดนโยบายให้นักวิชาการประมงผลิตงานวิจัยที่มีคุณภาพ เน้นการพัฒนาเทคนิคการเพาะเลี้ยงสัตว์ทะเลที่มีศักยภาพทางเศรษฐกิจสูงและ เป็นที่ต้องการของตลาด ล่าสุดศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงชายฝั่งสมุทรสาครประสบความสำเร็จเพาะพันธุ์ ปลาทูในระบบปิดได้เป็นครั้งแรกของโลก" อธิบดีกรมประมงเผย

           ศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงชายฝั่งสมุทรสาครริเริ่มการศึกษาวิจัยเพาะเลี้ยง ปลาทู โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อผลิตปลาทูทดแทนการใช้ทรัพยากรจากแหล่งธรรมชาติอย่าง เกินความพอดี แต่เนื่องจากปลาทูเป็นปลาที่มีความอ่อนแอ ใจเสาะ จึงเป็นเรื่องยากที่จะนำขึ้นจากทะเลมาเพาะเลี้ยง จึงต้องเริ่มดำเนินการจากการรวบรวมข้อมูลทางด้านชีววิทยา ฤดูกาลวางไข่ ลักษณะของนิเวศที่อยู่อาศัย ชนิดของอาหารที่พบในกระเพาะอาหารของปลาทู เพื่อใช้ประโยชน์ในด้านวิชาการ และประยุกต์ในการผลิตปลาทูเชิงพาณิชย์ ด้วยการพัฒนาเทคนิคการเพาะเลี้ยงพ่อแม่พันธุ์ด้วยการให้อาหารที่มีคุณภาพและ ใช้ระบบน้ำหมุนเวียน

           น.ส.พรรณติยา ใจอ่อน นักวิชาการประมงปฏิบัติการ และทีมเพาะเลี้ยงปลาทู ศูนย์วิจัยและพัฒนาชายฝั่งสมุทรสาคร กรมประมง บอกว่า เลี้ยงปลาทูพ่อแม่พันธุ์ที่มีความสมบูรณ์แข็งแรงที่ได้มาจากทะเลในกระชังที่ ขึงไว้ในบ่อดินนาน 6 เดือน จนปลาเติบโตถึงวัยเจริญพันธุ์ จึงย้ายปลาขึ้นมาเลี้ยงในถังเลี้ยงพ่อแม่พันธุ์ในโรงเพาะฟัก โดยให้อาหารสูตรเฉพาะของศูนย์ฯ และเลี้ยงในระบบกรองน้ำแบบชีวภาพด้วยเครื่องโปรตีนสกิมเมอร์ เพื่อให้ได้คุณภาพน้ำที่เหมาะสมปราศจากเมือกโปรตีนที่ตกค้าง มีการควบคุมความเค็มที่ระดับ 27-30 ส่วนใน 1,000 และควบคุมอุณหภูมิให้มีค่าคงที่อยู่ระหว่าง 29-32 องศา

           "จากความพยายามมานานกว่า 2 ปี ก็ได้เกิดผลสำเร็จขึ้นเมื่อวันที่ 11 กันยายน 2554 โดยปลาทูได้วางไข่และสามารถอนุบาลในระบบปิดได้สำเร็จ ทั้งนี้ แม่ปลาทูวางไข่ครั้งละประมาณ 15,000-30,000 ฟอง และมีพฤติกรรมวางไข่แบบรวมฝูง แม่ปลาทั้งฝูงจะวางไข่เป็นระยะ ๆ ต่อเนื่องกันหลายวันไปจนหมดฤดูผสมพันธุ์" น.ส.พรรณติยา

           สำหรับไข่ของปลาทูเป็นแบบไข่ครึ่งจมครึ่งลอยน้ำ มีหยดน้ำมันและถุงไข่แดงเพื่อใช้เป็นแหล่งพลังงานให้กับระบบร่างกาย ไข่มีขนาดประมาณ 0.80 - 0.96 มิลลิเมตร ใช้ระยะเวลาในการฟักประมาณ 16-17 ชั่วโมง ถุงไข่แดงของลูกปลาเริ่มยุบและหมดไปภายใน 3 วัน ลูกปลาตั้งแต่วันแรกที่ฟักออกจากไข่ถึงอายุ 7 วัน อนุบาลด้วยแพลงก์ตอนที่ประกอบไปด้วยทั้งสาหร่ายสีเขียวและสีน้ำตาล ร่วมกับโรติเฟอร์ โคพิพอต และหลังจากนั้นลูกปลาจะสามารถกินอาร์ทีเมียแรกฟักและอาหารเม็ดได้

           สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ โทร.0-3485-7136 หรือ 0-3442-6220 ในวันเวลาราชการ

          ทั้งนี้ ปลาทูเป็นสัตว์น้ำซึ่งเป็นอาหารที่อยู่คู่กับวิถีชีวิตของคนไทยมาช้านาน หลายคนคงคุ้นเคยกับการรับประทานปลาทูเป็นอย่างดี ด้วยรสชาติที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว และคุณค่าทางโภชนาการที่มีอยู่มากมาย ทำให้ในแต่ละปีชาวประมงต้องจับปลาทูจากท้องทะเลไทยมากถึง 6 หมื่นตัน แต่ก็ยังไม่เพียงพอต่อความต้องการบริโภค จึงต้องมีการออกไปจับเพิ่มจากน่านน้ำของประเทศเพื่อนบ้าน

           สำหรับในน่านน้ำไทยพบปลาทูได้ทั้งฝั่งทะเลอ่าวไทยและอันดามัน ซึ่งมีอยู่ 3 ชนิด คือ 1.ปลาทู 2.ปลาลัง หรือปลาทูโม่ง และ 3.ปลาทูปากจิ้งจก โดยปลาที่ชาวประมงจับได้ส่วนใหญ่จะเป็นปลาทูและปลาลัง ซึ่งทั้งสองชนิดนี้มีรูปร่างลักษณะคล้ายคลึงกันมาก แต่ปลาทูตัวแบนกว้างกว่าปลาลัง และส่วนหัวความกว้างกับความยาวของหัวปลาทูจะเท่ากัน แต่หัวของปลาลังความยาวมากกว่าความกว้าง เมื่อโตเต็มที่ปลาลังจะมีขนาดใหญ่กว่าปลาทูมาก ชาวประมงจึงเรียกกันว่าปลาทูโม่ง ส่วนปลาทูปากจิ้งจกมีลำตัวเรียวยาว ซึ่งพบน้อยมาก

เครดิต http://hilight.kapook.com/view/66424
Credit: http://www.thailandsusu.com/
กรุณา Login เพื่อแสดงความคิดเห็น
ส่ง Scoop ให้เพื่อน
แจ้งลบไม่เหมาะสม
ความคิดเห็น

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Loading...