12 วลีฮิต ติดปากหมอ ที่ต้องขอแปล
เพื่อ ป้องกันปรากฏการณ์ช็อค!!! เมื่อรับฟังคำพูดจากคุณหมอนั้น นพ.กฤษดา อยากขอนำคำพูดติดปากแบบ หมอๆ มาแปลให้ฟังกัน ซึ่งก็อาจไม่เป็นดังนั้นเสมอไป
เริ่มที่วลีว่า "ต้องผ่าตัด" เมื่อใดที่ พูดถึงผ่าๆ เฉือนๆ ขอเตือนไว้ว่าให้ขอ ความเห็นอื่น จากผู้เชี่ยวชาญด้วยจะช่วยได้มาก หากไม่จำเป็นท่านก็ไม่ต้องเอาตัวไปรองเขียงให้เขาสับไม่ดีหรือ ความลับก็คือถ้าไปโรงพยาบาลเอกชนแล้วถูกพิพากษาให้ผ่า ขอให้ถนอมตัวไว้มาหาความเห็นกับหมอที่โรงพยาบาลรัฐอีกทีก็ดี
ต่อมา "เจ็บนิดเดียว" คำ นี้สร้างความเสียวได้มาก เพราะถ้าหมอบอกว่าเจ็บนิดเดียวส่วนใหญ่จะเจ็บเยอะ แต่ก็ไม่แน่เสมอไป บางท่านที่มีขีดความอดทนสูงก็อาจบอกว่าจริงแล้วไม่เจ็บเลยก็เป็นได้ แต่ถ้าให้ดี ท่านก็ถามไปตรงๆ เลยว่าถ้าเจ็บมากคุณหมอจะฉีดยาชาหรือดมยาสลบให้ไหม?
"โรคนี้ไม่หาย" คนป่วยไม่อยากได้ยินคำนี้ จากปากหมอเป็นที่สุด ทั้งที่จริงคำนี้หมายความว่า ไม่หายแต่ดีเป็นปกติได้ เช่น โรคแพ้ภูมิตัวเองที่ไม่มีวันหายแต่ก็มีช่วง อาการสงบ (Remission) ที่คนไข้ใช้ชีวิตได้อย่างปกติ หรืออย่าง เบาหวาน, ความดันสูง และมะเร็ง ที่ไม่หายแต่ก็ต้องรักษาและคุมอาหาร อย่าไปคิดว่าอย่างไรก็ไม่หาย จะกินอะไรก็ได้ตามใจปาก มันจะทำให้ทั้งไม่หายและเพิ่มความทรมานขึ้นมาได้
"รอแป๊บเดียว" ตะเภาเดียวกับเจ็บนิดเดียว ให้รอแป๊บแต่นานเหมือนชั่วกัลป์ อย่าไปคิดเสมอว่าถ้าแป๊บเดียวของหมอจะสั้นเท่ากับเวลาเราทานข้าวกับแฟน ไม่เลย แป๊บเดียวในเคสผ่าตัดบางรายนานนับชั่วโมงหรือเป็นวัน ถ้าเป็นหมอที่นั่งตรวจก็ขึ้นกับชนิดโรคคนไข้ บอกไม่ได้ว่าจะใช้เวลา 15 นาทีเท่ากันหมดเหมือนสั่งไก่ทอด
"ต้อง ใช้เวลา" ถ้าโดนคำนี้ก็ให้บวกเผื่อ(ใจ)ไว้ด้วย จะได้ไม่เครียดจนจิตตก เพราะบางโรคต้องรักษากันเป็นมหากาพย์ อย่างภูมิแพ้ที่เป็นโรครักษาไม่หาย แต่จะมีช่วงที่สบายดีเป็นปกติด้วย หรือว่าโรคผิวหนังบางอย่างก็กินเวลานานในการรักษา ถ้ากังวลใจจริงอาจถามให้คุณหมอช่วยประมาณเวลาให้ด้วยก็จะช่วยลดแรงกดดันได้
"เซลล์ผิดปกติ" ท่านที่ไปตรวจชิ้นเนื้อ ตามองคาพยพต่างๆ ทั้งเต้านม, เนื้องอก, ปากมดลูก ถ้าคุณหมอบอกผลมาว่า เซลล์ผิดปกติอย่าเพิ่งตกตื่นใจไป แม้บางครั้ง worst case จะมีโอกาสเป็นเนื้อร้ายได้ แต่คำว่าเซลล์ผิดปกติก็แค่จำเป็นต้องตรวจเพิ่มเติมให้มั่นใจขึ้นเท่านั้น เอง
"โรคยังหาสาเหตุไม่ได้" มา จากภาษาฝรั่งว่า Idiopathic วลีนี้พบบ่อยเป็นข้อพิสูจน์ว่าใครว่าการแพทย์ ฝรั่งเจริญที่สุด ท้าพิสูจน์ให้ไปเปิดตำราแพทย์หาสมุฏฐานแต่ละโรคเลย จะพบคำว่ายังหาสาเหตุไม่พบนี้จนลายตาเลย คุณหมอไทยเลยเคยชินนำมาใช้บ้างเผยแพร่ความไม่กระจ่างออกไปให้ฝรั่งบ้างไทย บ้างงงกัน ถ้าท่านได้ยินคำนี้ ก็ยังไม่ต้องหัวเสีย บางทีตัวท่านเองจะมีคำอธิบายได้ดีกว่า
"นอนโรงพยาบาล" ได้ยินคำนี้จากโรงพยาบาล เอกชนอย่าเพิ่งยิ้มกริ่มเตรียมนอนเสมอไป ถ้าท่านยังไม่อยากนอนหรือยังสงสัยก็ยังไม่ต้องนอน เพราะยุคนี้เป็นนิดหน่อยก็ เชียร์ ให้นอนกันจัง คนไข้ที่น่าสงสารก็ไม่รู้เลยว่าเป็นการรับเชื้อแบบเน้นๆ ในการนอนโรงพยาบาลแต่ละครั้ง เพราะโรงพยาบาลเขาฉลาด แต่งให้เหมือนโรงแรมแต่เรื่องเชื้อโรคภัยไข้เจ็บน่ามีมากกว่าอยู่แล้ว
"ไม่ร้อยเปอร์เซนต์" คุณหมอส่วนใหญ่ไม่ ฟันธง เพราะไม่มีอะไรร้อยเปอร์เซนต์ทางการแพทย์อยู่แล้ว ปาฏิหาริย์บางครั้งก็เกิดได้ คนที่นอนนิ่งเป็นอัมพาตยังกลับลุกขึ้นมาใหม่ได้เฉย ในทางตรงข้ามคนดีๆ ก็อาจฟุบไปได้เหมือนกัน ฉะนั้นการได้ยินคุณหมอบอกว่า คุณปกติ ไม่ได้แปลว่า สุขภาพดี
"เป็นพันธุกรรม" คำ ที่ถูกใช้กับบางโรค เช่น ความผิดปกติแต่แรกเกิด, เบาหวาน, แพ้ภูมิตัวเอง, มะเร็ง คำนี้ถ้าท่านได้ยินเข้าอย่าเข้าใจผิดว่าพันธุ์เราไม่ดีหรือต้องมีพ่อแม่ปู่ ย่าป่วยด้วยโรคเดียวกัน เพราะมันอาจหมายถึงได้ว่า อณูที่ผลิตเซลล์ในตัวเราไม่ดีเลยสร้างความผิดปกติขึ้นมาเวลาเรายิ่งโตขึ้น เป็นเรื่องเฉพาะบุคคล
"ทานยาให้ครบ" คำ นี้มักใช้พูดกับยาประเภทฆ่าเชื้อหรือยาปฏิชีวนะ คุณหมอพูดทีคุณเภสัชพูดอีกทีย้ำจนเข้าไปก้านสมอง เป็นคำพูดที่ถูกต้องแล้วครับแต่ถ้าท่านทานแล้วเกิดอาการแพ้และไม่แน่ใจให้ หยุดทานได้ แล้วรีบกลับมาถามหมอ อย่ารอทานจนครบ หรือแค่อาการไม่ดีขึ้นท่านก็กลับมาให้คุณหมอดูใหม่
และวลีสุดท้าย "อดอาหารก่อนเจาะเลือด" คำ นี้เป็นคาถาศักดิ์สิทธิ์ที่มักพูดก่อนถูกนัดเจาะเลือด หัวใจสำคัญคือไม่อยากให้น้ำตาล, ไขมันและสารในอาหารอื่นๆ เข้าไปกวนเลือด แต่ไม่จำเป็นต้อง งดน้ำเปล่า ดื่มได้ถ้าเป็นการเจาะเลือดตรวจสุขภาพธรรมดา อย่าเป็นน้ำหวานก็แล้วกัน
ปัญหา สำคัญสุดที่น่าเห็นใจคนไข้คือ "ไม่กล้าถาม" ครับ เพราะอาจเคยมีประสบการณ์โดนดุมา เมื่อความสงสัยมากเข้าก็ไปเปิดฉากถามเอากับคุณพยาบาล, คุณเภสัชกรและคนอื่นที่ไม่ใช่หมอ ดังนั้นคุณหมออาจต้องเป็น นักสื่อสารมวลชน กลายๆ ไปด้วย พูดยังไงไม่ให้คนไข้ป๊อด หรือคุยกับญาติอย่างไรด้วยภาษาง่ายๆ
ขอขอบคุณเนื้อหาข่าว คุณภาพดี โดย: หนังสือพิมพ์เด ลินิวส์
Credit:
เดลินิวส์ดอดคอม