ฉลามบาสกิ้น(Basking shark) อาจจะเคยได้ยินชื่อปลาฉลามชนิดนี้มาบ้างในบทความ กล็อบเตอร์ ก้อนเนื้อลึกลับจากท้องทะเล วันนี้มารู้จักฉลามบาสกิ้นกันให้ลึกขึ้น
ปลาฉลามบาสกิ้น(basking shark การที่พวกมันถูกเรียกว่าฉลามบาสกิ้น เนื่องมาจากการที่มันจะพบเห็นมันหาอาหารบริเวณใกล้ผิวน้ำเนื่องจากพวกมันว่ายน้ำเชื่องช้า ทำให้เห็นเหมือนพวกมันกำลังนอนอาบแดด) มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Cetorhinus maximus โดยคำว่า Cetorhinus มาจากคำว่า Ketos ซึ่งมีความหมายว่า สัตว์ประหลาดแห่งท้องทะเล หรือวาฬ(marine monster or Wale) และคำว่า rhinos ที่มีความหมายว่า จมูก ส่วนคำว่า maximus มาจากภาษาลาติน มีความหมายว่า ใหญ่ยักษ์ ฉลามบาสกิ้นเป็นปลาขนาดใหญ่ที่สุดในโลกอันดับที่ 2 เป็นรองก็เพียงแต่ฉลามวาฬ(Whale shark)เท่านั้น โดยเฉลี่ยฉลามบาสกิ้นมีความยาวประมาณ 6 - 8 เมตร น้ำหนักประมาณ 5.2 ตัน โดยฉลามบาสกิ้นตัวใหญ่ที่สุดที่จับได้ที่แคนนาดาในปี 1851 มีความยาวถึง 12.27 เมตร มีน้ำหนักประมาณ 19 ตัน พวกมันสามารถพบได้ในทุกมหาสมุทร ในบริเวณที่มีน้ำอุ่นอุณหภูมิตั้งแต่ 8 - 14.5 องศาเซลเซียส และแพลงตอนหนาแน่น ในบริเวณผิวน้ำหรือบางครั้งอาจพบได้ที่ความลึกถึง 910 เมตร อาจจะปรากฏตัวลำพังตัวเดียว หรือเป็นเป็นฝูงเล็กๆ ในฤดูผสมพันธุ์ที่อ่าว Fundy โดยจะว่ายวนเป็นวงกลม ถึงขนาดจะใหญ่โตแต่พวกมันก็ไม่เป็นอันตรายต่อมนุษย์ เนื่องจากพวกมันกินแพลงตอน และสิ่งมีชีวิตขนาดเล็ก พวกมันเคลื่อนไหวเชื่องช้า เวลาหาอาหารก็จะอ้าปากขนาดใหญ่ให้น้ำไหลผ่านเหงือกที่จะทำหน้าที่กรองอาหาร ฉลามบาสกิ้น โดยทั่วไปจะมีร่างกายสีเทาออกน้ำตาล มีปลายจมูกเป็นรูปกรวย มีปากขนาดใหญ่ มีเหงือกสีดำมีลักษณะเป็นซี่คล้ายขนแข็งขนาดใหญ่ที่พัฒนามาเป็นอย่างดีสำหรับกรองอาหาร มีริ้วเหงือกภายนอกตั้งแต่ส่วนบนหัวถึงด้านล่างหัว ฉลามบาสกิ้น มีฟันนขนาดเล็กรูปกรวยโค้งเข้าด้านในปากเหมือนกันทั้งด้านบน และล่างจำนวนมากโดยแต่ละแถวจะมีฟันจิ๋วๆนี้มากถึง หนึ่งพันซี่ พวกมันถูกล่าเพื่อการพาณิชย์มามาตั้งแต่อดีต เพื่อนำไปทำอาหารของทั้งคนและสัตว์เลี้ยง ครีบนำไปทำหูฉลาม และน้ำมันตับปลา(Shark liver oil พบน้ำมันตับปลามากถึง 25%ของน้ำหนักตัว) จนปัจจุบันลดจำนวนลงอย่างมากจนในบางพื้นที่ไม่สามารถพบเห็นพวกมันแล้ว
ภาพฉลามบาสกิ้นแบบเต็มตัว เปรียบเทีบบกับขนาดนักประดาน้ำ
ในอดีตที่ยังไม่มีการตรวจวิเคราะห์เนื้อเยื่อ และดีเอ็นเอ มีการพบก้อนเนื้อลึกลับขนาดยักษ์ ที่ถูกเรียกว่า กล็อบสเตอร์(Globster) หรือ บล็อบ(Blob) แต่ปัจจุบันเมื่อนำเนื้อเยื่อในอดีตมาตรวจสอบก็พบว่า บล็อบ ในอดีตหลายตัวอย่างคือ ฉลามบาสกิ้น ภาพที่เห็นนี้เมื่อนำรูปของปลาฉลามบาสกิ้นที่ถูกจับได้กำลังถูกยกขึ้นด้วยเครน เปรียบเทียบกับซากของ นิวเนสซี จะเห็นว่ามีความคล้ายคลึงกันอย่างมาก