10ข่าวเด่นศาสนา-วัฒนธรรมปี2554
สงกรานต์โชว์นม
ปี 2554 สำหรับวงการศาสนา-วัฒนธรรมมีเหตุการณ์หวือหวาน่าหวาดเสียว แถมโศกสลด แต่เนื้องานด้านศาสนาและวัฒนธรรมไม่มีอะไรโดดเด่น หรือคืบหน้าอย่างจริงๆ จังๆ แม้จะมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม (รมว.วธ.) เข้ามาบริหารงานถึง 2 คน จาก 2 พรรคการเมืองใหญ่ที่อาจจะเรียกได้ว่านโยบายทางการเมืองต่างกันสุดขั้ว
ช่วง ต้นปีรับหน้าที่โดย “นิพิฏฐ์ อินทรสมบติ ” แห่งพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) สมัยรัฐบาล "อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ" เป็นนายกรัฐมนตรี ช่วงท้ายปีรับหน้าที่โดย "สุกุมล คุณปลื้ม" แห่งพรรคเพื่อไทย สมัยรัฐบาล "ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร" เป็นนายกรัฐมนตรี
1.“สมเด็จวัดชนะสงครามมรณภาพ” ข่าวเศร้าต้นปี 11 มีนาคม สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ แจ้งว่า สมเด็จพระมหาธีราจารย์ วัดชนะสงคราม กรรมการมหาเถรสมาคม ได้มรณภาพลงแล้ว สิริอายุ 88 ปี 1 เดือน ที่คณะ 1 กุฏิเจ้าอาวาสวัดชนะสงคราม ยังความเศร้าโศกแก่ศิษยานุศิษย์ และถือเป็นการสูญเสียบุคลากรครั้งสำคัญของคณะสงฆ์ไทย
2.“สงกรานต์โชว์นม” เกือบจะผ่านไปด้วยดีสำหรับสงกรานต์ปีนี้ แต่กลับมีคลิปกลุ่มหญิงสาวใจกล้า บ้าบิ่นด้วยแรงยุ หรืออ้างเป็นเหตุคึกคะนองจากฤทธิ์เหล้า หรือด้วยสันดานในตนเผยแพร่ไปทั่วโลก หลังเล่นสาดน้ำกลางถนนสีลมจนกลายเป็นโรงจ้ำบ๊ะ แก้ผ้าโชว์นมไม่อายคน ร้อนถึง “นิพิฏฐ์ อินทรสมบติ” รมว.วัฒนธรรมขณะนั้นต้องออกมาท้วงติง สุดท้ายกลุ่มหญิงสาวก็ถูกสังคมรุมประณาม ท่าน ว.วชิรเมธี เรียกว่า "เป็นความสุขสนุกเฉพาะที่ แต่เป็นกาลีที่เป็นแบบสากลจริงๆ"
3.“เอาแก้กรรม” แม่ชีชื่อดัง “แม่ชีทศพร” แพร่คลิปสอนลูกศิษย์ที่มาแก้กรรมที่วัดพิชยญาติการาม อาทิตย์ละ 1,000-7,000 คน ด้วยการมีเพศสัมพันธ์กับผู้ชาย “รมว.วัฒนธรรม” เต้นหอบหลักฐานบุกถึงวัดให้เปลี่ยนแนวการสอน ด้าน “แม่ชีทศพร” ยอมรับพูดให้กอด จับจริง แต่ไม่ได้ให้มีเพศสัมพันธ์กัน เป็นกุศโลบายแก้กรรมเท่านั้น พร้อม “กราบขอโทษ” สังคม หากทำให้พระพุทธศาสนาเสื่อมเสีย
4."เรยา ดอกส้มสีทอง" 28 เมษายน อากาศที่ว่าร้อน แต่ก็ไม่เท่าความร้อนแรงของตัวละครที่ชื่อ “เรยา” ในละครดอกส้มสีทอง ที่มีพ่อแม่ผู้ปกครองทนไม่ไหวกับพฤติกรรม (ในจอ) ที่ด่าแม่ มีสามีหลายคน ก้าวร้าว ฟุ้งเฟ้อ เพราะหวั่นว่าลูกหลานจะเลียนแบบ ร้องเรียนมายัง วธ. แน่นอนมีทั้งผู้เห็นด้วย ไม่เห็นด้วย หลายแง่มุม แต่สุดท้าย “เรยา” ก็นำไปสู่การขับเคลื่อนจัดเรตติ้งละครใหม่ให้เหมาะกับผู้ชม ผู้จัดให้ความร่วมมือ ขณะที่เด็กไทยได้เรียนรู้การ “รู้เท่าทันสื่อ” มากขึ้น
6.“ดังและดับแบบพระเกษม” การยกเท้า พูดจาก้าวร้าว วางตัวไม่เหมาะสมในแบบพระเกษม อาจิณณสีโล แห่งวัดป่าสามแยก อ.น้ำหนาว จ.เพชรบูรณ์ แล้วนำมาเผยแพร่ผ่านเว็บ “ยูทูบ” นั้นในทัศนคติของพระเกษมคือความถูกต้อง และทำให้ดังสมใจจริง แต่ก็ “ดับ” ทันตาเห็น เพราะทั้งหมดคือ “ความวิบัติ” ในความรู้สึกของคณะสงฆ์ พระผู้ใหญ่ สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ และชาวพุทธ ทั้งหมดประกาศไม่สังฆกรรมกับพระเกษมอีกต่อไป
7.“เขมรขโมยท่ารำไทย” โลกออนไลน์วิพากษ์เรื่องยูเนสโก เมื่อปี 2544 และ 2546 ประกาศมรดกวัฒนธรรมของกัมพูชาให้เป็นงานชิ้นเอกในฐานะมรดกทางมุขปาฐะและที่ จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ 2 รายการ 1. The Royal Ballet of Cambodia มีลักษณะคล้ายกับโขนและละครรำของไทย 2. Sbek Thom, Khmer Shadow Theater ซึ่งมีลักษณะคล้ายกับหนังใหญ่ของไทย ว่าทั้งหมดเป็นขโมยท่ารำและศิลปะไทยไปหรือไม่ ทางกรมส่งเสริมวัฒนธรรมได้ชี้แจงว่า ศิลปวัฒนธรรมไทยกับกัมพูชา มีบางอย่างคล้ายคลึงกัน ถือเป็นวัฒนธรรมร่วมอาเซียน แต่เมื่อดูอย่างละเอียดจะมีความแตกต่างกัน แม้ไทยยังไม่ได้เข้าร่วมภาคีดังกล่าว แต่ได้ขึ้นทะเบียน โขน หนังใหญ่ เป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมเมื่อปี 2552 แล้ว
9.”น้ำท่วมมรดกโลก” เหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ปลายปี 2554 ไม่เพียงยังความเสียหายชีวิต ทรัพย์สินของประชาชนคนไทยหลายจังหวัด ยังรวมถึงโบราณสถานอายุเก่าแก่หลายพันปี 312 แห่งทั่วประเทศ อันเป็นสมบัติของชาติถูกน้ำท่วมขัง บางแห่งแตกร้าว ทรุดโทรมอย่างหนัก โดยเฉพาะในพื้นที่จ.พระนครศรีอยุธยาแหล่งมรดกโลก เช่น วัดไชยวัฒนาราม วัดพระศรีสรรเพชญ์ ป้อมเพชร เบื้องต้นคณะรัฐมนตรียุคยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อนุมัติงบประมาณการบูรณะมาแล้ว 1,470 ล้านบาท ตามที่ "สุกุมล คุณปลื้ม" รมว.วัฒนธรรม เสนอ
10. “พ.ร.บ.เผด็จการ” พอน้ำลดตอผุด กรณี ครม.มีมติเห็นชอบร่างแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติจดแจ้งการพิมพ์ (ฉบับที่..) พ.ศ. ....เมื่อวันที่ 18 ตุลาคม เสนอโดย วธ. มีเนื้อหาหลายประการที่เป็นการลิดรอนเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของบุคคล และสื่อมวลชน อีกทั้งขัดแย้งต่อบทบัญญัติรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 อย่างชัดแจ้ง โดยเฉพาะได้เปลี่ยนแปลงไปจากหลัก “ส่งเสริมคุ้มครอง” มาเป็นหลัก “ควบคุม” ถ่ายโอนหน้าที่ของกรมศิลปากร มาเป็นอำนาจของผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ในร่างมาตราที่ 10 ให้ผู้บัญชาการตํารวจแห่งชาติมีอํานาจออกคําสั่ง ห้ามพิมพ์ เผยแพร่ สั่งเข้า หรือนำเข้าเพื่อเผยแพร่ในราชอาณาจักรซึ่งสิ่งพิมพ์ใดๆ ที่เป็นการหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือ ผู้สําเร็จราชการแทนพระองค์ หรือกระทบต่อความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร หรือความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ซึ่งทางสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ไม่เห็นด้วยเสนอให้มีการทบทวน
ทว่าเมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2554 ครม.มีมติถอนร่างพระราชบัญญัติจดแจ้งการพิมพ์ (ฉบับที่..) พ.ศ. ออกจากครม.และกฤษฎีกา และให้วธ.กลับมาพิจารณาใหม่ และเรื่องราว พ.ร.บ.เผด็จการดังกล่าว คงจะเป็น “ระเบิด” ลูกใหญ่ที่กำลังรอ วธ. อยู่ในปี 2555 อย่างแน่นอน