งานก่อเจดีทรายที่วัดสิรินธรเทพรัตนาราม ในพระราชูปถัมภ์ ต.อ้อมใหญ่ อ.สามพราน จ.นครปฐม
ได้จัดงานก่อเจดีทราย โดยเอาทรายที่ไม่ได้ใช้จากการที่ใช้ป้องกันน้ำท่วม โดยนำมาถวายวัดแล้วทางวัดก็ได้จัดงาน
ก่อเจดีทราย และมีงานดนตรี และหนังกลางแปลง
ทำไมต้องมีประเพณีนี้ ?
จากคำบอกเล่าของผู้เฒ่าผู้แก่ ทำให้เราทราบว่าการก่อเจดีย์ทราย นี้เกิดจากความเชื่อว่าเป็นการสร้างปราสาทหรือที่อยู่ไว้บนสวรรค์ เวลาที่ตายไปจะได้มีที่อยู่อาศัยซึ่งได้สร้างไว้ก่อนแล้ว เพราะในสมัยก่อนคนจะเชื่อในระบบโลกภูมิเรื่องสวรรค์ ทั้งนี้เพราะความเป็นอยู่ค่อนข้างลำบากยากเข็ญ และมีการแข่งขันกันสูงในสังคม พวกเขาต้องหาที่พึ่งทางใจ การเชื่อเรื่องสวรรค์เป็นหลักประกันกับชีวิตว่าจะมีความสุขเมื่อละสังขารไป อย่างน้อยก็เป็นความสุขทางใจยามมีชีวิตอยู่นั่นเอง
สำหรับการปฏิบัติในอดีตนั้น ชาวบ้านจะพากันไปตักทรายตามแม่น้ำในหมู่บ้าน ถือเป็นการสร้างความสัมพันธ์ของคนในสังคมได้ทางหนึ่ง การขนทรายเข้าวัดเพื่อก่อเจดีย์ทรายนี้ มีภูมิปัญญาของคนในท้องถิ่นแฝงอยู่ด้วย คือทรายที่ได้จะนำไปใช้ประโยชน์ในการก่อสร้างศาสนสถานต่างๆที่ยังสร้างไม่เสร็จภายในวัดนั่นเอง
ผู้เฒ่าผู้แก่จะก่อเจดีย์ทรายของหมู่บ้าน 1 กอง หลังจากนั้นแต่ละครอบครัวแต่ละเครือญาติ ก็จะมาร่วมกันก่อเจดีย์ทรายเป็นของเครือญาติอีก 1 กอง เป็นภาพที่น่าประทับใจมาก สำหรับการก่อเจดีย์ทรายร่วมกันนั้น เพราะจะได้ทำให้คนในเครือญาติได้ใกล้ชิดกัน มีความสัมพันธ์อันดีต่อกัน ก่อให้เกิดการยอมรับและความสงบสุขตามมา
ปัจจุบันนี้วิธีปฏิบัติดังกล่าวได้เปลี่ยนไป ไม่มีการขนทรายเข้าวัดอีกต่อไป เพราะมีผู้นำมาบริจาคให้เป็นลำรถ เพียงเพราะคิดว่าพวกเขาได้ทำบุญที่ยิ่งใหญ่ โดยขาดความเข้าใจว่าการกระทำเช่นนั้นเป็นการทำลายภูมิปัญญาความสัมพันธ์ของคนในสังคม และทำให้ประเพณีก่อเจดีย์ทรายเลือนหายไปจากกิจกรรมที่ในเทศกาลปีใหม่ไทยของเรา