โดดเดี่ยวเดียวดาย ไร้คู่กายกว่า 100 ปี
เวียดนามคิดโคลนนิ่ง "ย่าเต่า"
ภาพวันที่ 12 พ.ย.2554 "ย่าเต่า" โผล่เหนือน้ำขึ้นมาให้เห็นถี่ๆ อีกแล้วโดยยังไม่ทราบสาเหตุ แต่เป็นการสางสัญญาณความไม่ปรกติภายในสระคืนดาบ- ฮว่านเกี๊ยม (ho Hoan Kiem) หรือ "สระกระบี่ - โห่เกือม (H Guom) อาศัยอยู่อย่างเดียวดายไร้คู่เคียงในบึงน้ำตำนานแห่งกรุงฮานอยมานานกว่าศตวรรษ และอาจจะจากชาวเวียดนามไปเมื่อไรก็ได้ นักวิทยาศาตร์กลุ่มหนึ่งได้เสนอแนวทาง "โคลน" เพื่อให้เต่าโบราณได้อยู่คู่บึงศักดิ์สิทธิ์แห่งนี้ต่อไปนานเท่านานภาพ: VN Express
ASTVผู้จัดการออนไลน์ -- นักวิทยาศาสตร์เวียดนามจำนวนหนึ่ง กำลังคิดแผนทำโคลนนี่ง "ย่าเต่า" ที่อยู่ในสระกระบี่ สระแห่งตำนานในย่านใจกลางกรุงฮานอยมานานกว่า 100 ปี และ เป็นที่ทราบกันทั่วไปว่าไม่มี "ปู่เต่า" อยู่ด้วย จึงมิอาจจะมีลูกหลานเหลนโหลนสืบวงศ์ต่อไปได้
หลายฝ่ายเริ่มวิตกกังวลว่าเต่าศักดิ์สิทธิ์ แห่งตำนานคู่บ้านคู่เมืองซึ่งเป็นพันธุ์หายาก อาจจะจากทุกคนไปไม่วันใดก็วันหนึ่ง
ความกังวลเพิ่มทวีเมื่อ "ย่าเต่า" ดำผุดดำว่ายขึ้นเหนือน้ำให้เห็นบ่อยครั้งยิ่งขึ้น ไม่ต่างกับเมื่อต้นปีนี้ที่ป่วยหนัก อันเนื่องมาจากมลพิษภายในบึงใหญ่ และทางการต้องระดมสรรพกำลังเข้าช่วยเหลือเยียวยา ทำความสะอาด จัดระบบบำบัดน้ำให้ใหม่ รวมทั้งเติมปลานานาชนิดที่เป็นอาหารโปรดลงไปในบึง แต่ถึงกระนั้นชาวฮานอยก็ยังสมัครใจเรียกขานเป็น "เต่า" (Rùa) ต่อไป และแม้ว่าแท้จริงแล้วไม่ใช่เต่าหากเป็นตะพายน้ำขนาดใหญ่ก็ตาม
นั่นเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ ที่มีการจับเต่าในตำนานขึ้นมาให้ปรากฏแก่สายตาของชาวเวียดนามทั้งประเทศ และเป็นครั้งแรกเช่นกันที่ปรากฏว่า เต่าศักดิ์สิทธิ์มิใช่เพศผู้ แม้จะเรียกกันว่า "ปูเต่า" หรือ "กุหรั่ว" (cụ Rùa) มานานหลายนับร้อยๆ ปี
ตามรายงานของสำนักข่าวเวียดนามเอ็กซ์เพรส มีผู้พบเห็น “ย่าเต่า” โผล่ขึ้นเหนือน้ำอย่างน้อย 12 ครั้งในเดือน พ.ย.ที่ผ่านมา และอีกหลายครั้งในช่วงต้นเดือน ธ.ค.ศกนี้ โดยยังไม่ทราบสาเหตุ
เต่าศักดิ์สิทธิ์อาจจะหิวเนื่องจากจำนวนปลาในสระลดลง หรือ ไม่สามารถออกล่าอาหารได้อีกแล้ว เพราะเคยชินกับการให้อาหารตลอดเวลา 3 เดือนที่ถูกกักบริเวณเพื่อเยียวยารักษาแผลอักเสบเรื้อรัง
หรือบางทีก็อาจจะเป็นเพราะน้ำใน “สระคืนดาบ” (Hoan Kiem) เริ่มเน่าเสียอีกก็เป็นได้
แต่ทั่งนี้และทั้งนั้นมันอาจจะเป็นสัญญาณว่า ถิ่นที่อยู่อาศัยมานานกว่าศตววรรษ อาจจะไม่ใช่บ้านอันอบอุ่นอีกแล้ว และ “ย่าเต่า” อาจจะจากเวียดนามไปได้ทุกเมื่อ ดร.เลดี่งเลือง (Lê Đình Lương) แห่งศูนย์วิเคราะห์ดีเอ็นเอ ในกรุงฮานอยกล่าวว่า การทำโคลนนิ่งเป็นทางเลือกเดียวที่เหลืออยู่และควรจะกระทำอย่างเร่งด่วน
เวียดนามยังไม่เคย “โคลน” อะไรเป็นเรื่องเป็นราว แต่เทคโนโลยีนี้ไม่มีใครหวง และเชื่อว่าสามารถขอความร่วมมือช่วยเหลือจากต่างประเทศได้
นายเหวียนบ่าต๋วน (Nguyen Ba Tuan) ชาวประมงที่อยู่ชานกรุงฮานอย นำตะพาบน้ำ (Amyda Cartilagineus) ซึ่งมีขนาดใหญ่
ชนิดหนึ่ง ที่เขาจับขึ้นมาได้จากแม่น้ำแดง ออกอวดผู้สื่อข่าวในวันที่ 14 ต.ค.2554 วัดความยาวตลอดลำตัว 108 ซม. หนัก 25.6 กก.
ไม่ใช่ตะพาบน้ำพันธุ์ใหญ่ที่สุด หากแต่มีหน้าตาคล้าย "ย่าเต่า"
แห่งสระกระบี่กรุงฮานอย ด้วยคุณลักษณะเช่นนี้เขาขาย "หรั่ว"
ตัวนี้ได้ 4,500 ดอลลาร์ แต่ความจริงแล้ว "ย่าเต่า" ในตำนาน
ยังไม่มีทายาท และอาจจะไม่สามารถมีได้ เพราะอายุกว่า 100 ปีแล้ว REUTERS/Kham
“ตราบเท่าที่ยังไม่อาจจะหาเต่าเพศผู้สายพันธุ์เดียวกันเพื่อเป็นคู่ได้ การทำโคลนนิ่งเป็นทางเลือกเดียว” ดร.เลืองกล่าว
ความคิดนี้ได้รับการสนับสนุนจาก กร.เลซวนแก๋ง (Lê Xuân Cảnh) แห่งสถาบันทรัพยากรทางนิเวศวิทยาและชีววิทยาเวียดนาม ซึ่งเรียกร้องให้ฝ่ายที่เกี่ยวข้อรีบเก็บดีเอ็นเอของย่าเต่าเอาไว้ เพื่อให้สามารถนำไปใช้โคลนได้ทันทีเมื่อถึงคราวจำเป็น
นักวิทยาศาสตร์ในซีกนี้อีกหลายคนบอกว่า ถึงแม้จะมีเต่าเพศผู้พันธุ์เดียวกันเพื่อสืบพันธุเผ่าก็ตาม แต่อาจจะไม่ใช่เรื่องง่ายหรือเป็นไปไม่ได้เลยที่จะผสมพันธุ์เต่าที่มีอายุกว่า 100 ปีแล้ว
อย่างไรก็ตามไม่ใช่ทุกคนที่เห็นด้วย เช่น ศ.ดร.ห่าดี่งดึ๊ก (Hà Đình Đức) ที่เฝ้าติดตามเต่าโบราณในสระแห่งจำนานมานานกว่า 20 ปีกล่าวว่า การโคลนก็อาจจะไม่สามารถช่วยอะไรได้เช่นกัน เพราะการนำเอายีนของเตาอายุ 100 ปีที่ร่างกายอ่อนแอไปโคลนให้ออกมาเป็นตัวใหม่นั้น ก็อาจจะได้ความอ่อนแอแบบเดิมๆ และภูมิต้านทานโรคก็จะยิ่งลดน้อยถอยลง
ดร.ดึ๊กชี้ไปยังแกะ “ดอลลี” สัตว์ตัวแรกของโลกที่เกิดจากการโคลน กับสัตว์อีกหลายชนิดที่เติบโตขึ้นมาและเสียชีวิตลงในอีกไม่กี่ปีเนื่องจากสืบยีนตัวเดิมจากร่างเดิมที่มีอายุมากแล้ว ซึ่งธรรมชาติยังคงรักษากฎเกณฑ์นี้เอาไว้
นักวิทยาศาสตร์อีกจำนวนไม่น้อยเช่นกันที่เริ่มออกคัดค้านการโคลนนิ่งเต่าโบราณคู่บ้านคู่เมือง เพราะมีแต่จะสร้างความยุ่งยากติดตามมา รวมทั้งเงินงบประมาณอีกมหาศาล แต่จะไม่สามารถรักษาย่าเต่าเอาไว้ได้ในที่สุด