คนขี่พายุ (Rider on the Storm)

 

 

 

 

 

คนขี่พายุ (Rider on the Storm)

 

ร่างของเขาร่วงลงสู่กลุ่มเมฆฝนฟ้าคะนอง อุณหภูมิลดอย่างรวดเร็วถึงระดับต่ำกว่าจุดเยือกแข็งหลายสิบองศา ก้อนเมฆหนาทึบจนแสงอาทิตย์ส่องเข้ามาไม่ถึง ลูกเห็บปลิวเข้าปะทะตามร่างกายอย่างไม่ขาดสาย ขณะที่แสงสว่างจากสายฟ้าผ่าอยู่รอบๆตัวเป็นระยะๆ



ฤดูร้อนปี 1959 พันโทวิลเลี่ยม แรนกิน (William Rankin) และร้อยโทเฮอร์เบิร์ต โนแลน (Herbert Nolan) ปฏิบัติภารกิจนำเครื่องบินขับไล่ F-8 Crusader 2 ลำ บินขึ้นจากสนามบินกองทัพเรือเซาท์เวย์เมาท์ รัฐแมสซาชูเซตส์ ออกลาดตระเวนตามแนวชายฝั่งรัฐแคโรไลนา

พายุฝนก่อตัวขึ้นระหว่างที่นักบินทั้งสองกำลังมุ่งหน้าไปยังเมืองบิวฟอร์ต รัฐเซาท์แคโรไลนา พันโทวิลเลี่ยมจึงนำเครื่องบินเชิดหัวไต่ระดับขึ้นที่ความสูง 47,000 ฟุตเพื่อหลบกลุ่มเมฆฝนฟ้าคะนอง พันโทวิลเลี่ยมมองดูก้อนเมฆที่อยู่ต่ำลงไปราวครึ่งไมล์และคิดในใจว่าเขาคงเปียกปอนเมื่อนำเครื่องบินลงจอด

พันโทวิลเลี่ยม แรนกิน (William Rankin)

        ขณะที่เครื่องบินทำความเร็วเกือบเท่าความเร็วเสียง จู่ๆเครื่องยนต์ก็เกิดเสียงดังสะท้าน เข็มวัดระดับต่างๆบนหน้าปัดตกลง แสงไฟเตือนกะพริบถี่ๆ ทันใดนั้นเองเครื่องยนต์ก็หยุดทำงาน วิลเลี่ยมดึงคันโยกเปลี่ยนไปใช้แหล่งพลังงานสำรอง แต่คันโยกก็หักติดมือเขาออกมา

แม้สถานการณ์จะคับขันอย่างยิ่งยวด แต่จากประสบการณ์การบินในสงครามโลกครั้งที่ 2 และสงครามเกาหลี ทำให้วิลเลี่ยมมีสติพอที่จะแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า เขาส่งวิทยุบอกกับเฮอร์เบิร์ต “เครื่องยนต์ขัดข้อง ต้องดีดตัวออก”

สูงสุดขั้ว

เนื่องจากวิลเลี่ยมนำเครื่องบินขึ้นหลบเหนือกลุ่มเมฆฝนฟ้าคะนอง เครื่องบินจึงอยู่ในระดับความสูงเกินกว่าปรกติและวิลเลี่ยมก็ไม่ได้สวมชุดปรับแรงดันอากาศ แต่เขาไม่มีทางเลือก จำเป็นต้องเสี่ยงดีดตัวออกจากเครื่องบินที่กำลังจะปักหัวดิ่งลงสู่พื้นโลก

มือทั้ง 2 ข้างจับคันโยกเหนือศีรษะ ทันทีที่เครื่องบินปักหัวลงสู่กลุ่มเมฆ วิลเลี่ยมก็ดึงคันโยกอย่างแรง ฝาครอบห้องนักบินกระเด็นออก เก้าอี้นักบินถูกดีดออกจากตัวเครื่องบินพร้อมกับเครื่องจุดระเบิดขนาดจิ๋วใต้เบาะนั่งถีบให้เก้าอี้นักบินออกห่างจากตัวเครื่องบิน ร่มคันเล็กกางออก ทำหน้าที่กระชากเก้าอี้ออกจากตัวนักบิน


                   วิลเลี่ยมลอยปลิวอยู่กลางท้องฟ้าตามลำพัง ถุงมือข้างซ้ายถูกแรงเหวี่ยงกระชากจนหลุดออกจากมือ เขามีเพียงหน้ากากออกซิเจนและร่มชูชีพเท่านั้นซึ่งมันถูกตั้งโปรแกรมเอาไว้ให้กางร่มออกอัตโนมัติที่ความสูงระดับ 10,000 ฟุต แต่ขณะนี้วิลเลี่ยมอยู่ที่ระดับความสูงกว่า 40,000 ฟุต ความเบาบางของอากาศในที่สูงทำให้เขารู้สึกเหมือนลำตัวพองออกและกำลังจะระเบิด

ความกดอากาศที่เปลี่ยนแปลงอย่างกะทันหันส่งผลให้เกิดอาการเจ็บปวดรวดร้าวไปทั่วตัว เลือดไหลรินออกตามทวารหู ตา จมูก ปาก เวลาผ่านไป 30 วินาทีแต่วิลเลี่ยมรู้สึกว่ามันเป็นช่วงเวลาแสนทรมานที่เนิ่นนาน อุณหภูมิภายนอกลดต่ำกว่า -50 องศาเซลเซียส เขาคงจะเสียชีวิตกลางอากาศก่อนที่ร่างจะสัมผัสพื้นโลกอีกครั้ง
มืดแปดด้าน

ร่างของวิลเลี่ยมร่วงลงสู่กลุ่มเมฆฝนฟ้าคะนอง ความหนาแน่นของก้อนเมฆบดบังแสงอาทิตย์จนมองไม่เห็นอะไรเลย อากาศที่เย็นจัดเริ่มกัดกินผิวหนังโดยเฉพาะมือข้างซ้ายที่ปราศจากถุงมือ เสียงลมดังขรมเล็ดลอดเข้ามาในหมวกนักบิน

ในสถานการณ์ปรกติ นักบินจะกระตุกร่มชูชีพหลังจากลอยอยู่ในอากาศราวสามนาทีครึ่ง ซึ่งตอนนั้นเขาจะอยู่ในระดับความสูงที่มีความหนาแน่นนของอากาศเพียงพอให้หายใจได้โดยไม่ต้องพึ่งถังออกซิเจน แต่วิลเลี่ยมไม่ได้อยู่ในสถานการณ์ปรกติ หากเขากระตุกร่มเร็วเกินไป กระแสลมจะดึงร่างเขาลอยสูงขึ้น เคว้งคว้างอยู่ในชั้นบรรยากาศเบาบางนานเกินกว่าจะอยู่ได้ด้วยปริมาณอากาศในถังออกซิเจนฉุกเฉิน หรืออาจเสียชีวิตลงเพราะความหนาวเย็น


                  “อย่านะ อย่าดึงร่มชูชีพ” วิลเลี่ยมบอกกับตัวเอง เขาต้องบังคับตัวเองให้เอามือออกห่างจากเชือกกระตุกร่มเพราะกลัวว่าจะเผลอไปกระตุกร่มก่อนเวลาอันควร เมื่ออยู่ในระดับความสูงที่ปลอดภัยร่มชูชีพจะทำงานเอง

ร่างของวิลเลี่ยมถูกกระแสลมโยนขึ้นโยนลงอยู่ในกลุ่มเมฆเป็นเวลาร่วม 10 นาที แต่ร่มชูชีพก็ยังไม่กางออกอัตโนมัติ “มันเกิดอะไรขึ้น หรือว่าระบบกางร่มอัตโนมัติเกิดขัดข้อง” หากกางร่มช้าเกินไปร่างของเขาก็ต้องกระแทกพื้นโลกอย่างแรง

ผ่ากลางพายุ
วิลเลี่ยมเอื้อมมือมากุมเชือกกระตุกร่มชูชีพ ความหนาวเย็นอย่างสุดขั้วอาจทำให้เขาคำนวณระยะเวลาผิดพลาดไป เวลาอาจจะผ่านพ้นไปไม่กี่นาที แต่เขาจะรู้ได้อย่างไรว่าระบบกางร่มอัตโนมัติยังคงทำงานเป็นปรกติ หรือว่าเขาควรจะกระตุกเชือกกางร่มตอนนี้ ระหว่างที่กำลังตัดสินใจว่าจะกระตุกเชือกดีหรือไม่ วิลเลี่ยมก็รู้สึกถึงแรงกระชากที่ด้านหลัง

วิลเลี่ยมแหงนหน้าดู มันมืดมากจนเขามองไม่เห็นอะไรเลย แต่ความรู้สึกว่าร่างเขาถูกดึงสูงขึ้นหมายความว่าร่มกางออกเรียบร้อย แต่สิ่งหนึ่งที่เขาไม่รู้คือ วิลเลี่ยมยังอยู่ในระดับความสูงที่ห่างไกลกับระยะปลอดภัย ความชื้นจนแฉะทำให้อุปกรณ์ตรวจระดับความสูงทำงานผิดพลาดและสั่งงานให้ร่มชูชีพกางออกก่อนเวลา

วิลเลี่ยมมองเห็นสายฟ้าผ่ารอบๆตัว เขาไม่ได้ยินเสียงฟ้าร้องแต่รู้สึกสัมผัสกับมันเลยทีเดียว ร่างของเขาถูกกระแสลมพัดปลิวลงสู่เบื้องล่างไปปะทะกับกระแสลมไหลขึ้น ทำให้ร่างเขาถูกยกกลับเข้ากลุ่มเมฆฝนฟ้าคะนองอีกครั้ง ซึ่งรู้จักกันในชื่อปรากฏการณ์เมฆสูบ (Cloud Suck)


                 กระแสลมไหลขึ้นยังหอบเอาลูกเห็บมาปะทะวิลเลี่ยมและร่มชูชีพจนทำให้ร่างของของวิลเลี่ยมเข้าไปม้วนห่ออยู่ในร่มชูชีพทำให้ร่มชูชีพไม่อยู่ในสภาพที่จะพยุงร่างเขาไว้ในอากาศได้ วิลเลี่ยมร่วงลงสู่เบื้องล่าง แต่กระแสลมไหลขึ้นก็หอบเขากลับไปอยู่ในกลุ่มเมฆอีกครั้ง เหตุการณ์วนเวียนอยู่อย่างนี้หลายครั้ง จนกระทั่งวิลเลี่ยมเกือบจะสูญเสียสติสัมปชัญญะ
จมน้ำกลางอากาศ

ร่างของวิลเลี่ยมบอบช้ำไปด้วยลูกเห็บที่โถมกระหน่ำเข้าใส่ แต่ที่พิสดารไปกว่านั้นคือสภาพอากาศที่ชุ่มฉ่ำไปด้วยน้ำฝนทำให้วิลเลี่ยมสำลักน้ำหลายต่อหลายครั้ง และมันอาจทำให้เขาถึงกับจมน้ำตายกลางอากาศได้ และยังมีสิ่งอื่นที่น่าเป็นห่วงอีกนั่นคือลูกเห็บที่แหลมคมอาจกรีดให้ร่มชูชีพฉีกขาดเสียหายทำให้ร่างของเขาร่วงลงกระแทกพื้นโลก

ขณะที่วิลเลี่ยมเริ่มสิ้นหวังในโชคชะตา เขาก็รู้สึกว่าแรงเหวี่ยงจากกระแสลมลดน้อยลง อากาศอบอุ่นขึ้นและน้ำฝนมีอยู่แต่เพียงบนเหนือศีรษะเท่านั้น ไม่กี่นาทีต่อมาเขาก็มองเห็นทุ่งหญ้าอยู่เบื้องล่าง รอบๆบริเวณไม่มีวี่แววสิ่งปลูกสร้าง มันเป็นพื้นที่รกร้างว่างเปล่า แต่อย่างน้อยเขาก็กลับลงสู่พื้นโลกอย่างปลอดภัย

ชะตากรรมของวิลเลี่ยมยังไม่จบลงเพียงแค่นั้น กระแสลมแรงตามมาทำร้ายวิลเลี่ยมเป็นครั้งสุดท้าย ขณะที่วิลเลี่ยมอยู่สูงจากพื้นดินไม่กี่ร้อยเมตร กระแสลมหวนกระชากร่างวิลเลี่ยมเข้าไปในป่ารกชัฏทำให้ศีรษะกระแทกเข้ากับต้นไม้อย่างแรง เดชะบุญที่เขายังคงสวมหมวกนักบินอยู่ จึงได้รับบาดเจ็บเพียงเล็กน้อย

วิลเลี่ยมปลดตัวเองออกจากร่มชูชีพ มันเป็นเวลา 18.40 น. เขาล่องลอยอยู่ในอากาศนานถึง 40 นาที วิลเลี่ยมใช้เวลา 40 นาทีสำรวจพื้นที่รอบๆตัวตามที่ได้ฝึกฝนมาจนกระทั่งพบถนน เขาพยายามโบกรถขอความช่วยเหลือ มีรถยนต์กว่า 10 คันแล่นผ่านไปโดยไม่ยอมจอดรับ

ร่างกายวิลเลี่ยมมอมแมมเปียกโชก เสื้อผ้าเปรอะเปื้อนคราบเลือด คราบสำรอก หน้าตาซูบซีด มีบาดแผลฟกช้ำ ซึ่งนั่นอาจเป็นสาเหตุทำให้ไม่มีคนกล้าจอดรถรับ จนกระทั่งมีรถคันหนึ่งแล่นผ่านมา เขาได้ยินเสียงเด็กชายตะโกนบอกบิดาซึ่งเป็นคนขับ “จอดๆ นั่นมันนักบินนี่”

วิลเลี่ยมถูกนำตัวมาในเมือง เขาหมดเรี่ยวแรงสิ้นสติในร้านของชำระหว่างรอรถพยาบาลมารับตัว วิลเลี่ยมถูกส่งไปยังโรงพยาบาลฮอสกี้ รัฐนอร์ทแคโรไลนา วิลเลี่ยมได้รับบาดเจ็บเพียงเล็กน้อยจากการถูกกระหน่ำด้วยลูกเห็บและการตกกระแทกต้นไม้และกลับเข้าประจำการในอีกไม่กี่สัปดาห์ต่อมา

วิลเลี่ยมได้รับฉายาว่า “คนขี่พายุ” เพราะเป็นนักกระโดดร่มคนแรกและคนเดียวในโลกที่กระโดดร่มลงไปในกลุ่มเมฆฝนฟ้าคะนองแล้วสามารถรอดชีวิตกลับมาได้

ที่มา: http://www.damninteresting.com/rider-on-the-storm/

Credit: http://www.mythland.org/v3/thread-4185-1-1.html
24 ธ.ค. 54 เวลา 13:33 3,770 1 20
แชร์สกู๊ป
กรุณา Login เพื่อแสดงความคิดเห็น
ส่ง Scoop ให้เพื่อน
แจ้งลบไม่เหมาะสม
ความคิดเห็น

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Loading...