เมื่อลูกรักเป็นปฏิปักษ์กับคุณ

 

 

 

 

 

เมื่อลูกรักเป็นปฏิปักษ์กับคุณ

 

เมื่อพฤติกรรมที่บ่งบอกว่าอยู่ตรงข้ามกับคุณทุกอย่างกำลังเกิดขึ้นกับลูกคุณ คุณแม่จะสามารถทนเห็นลูกตั้งหน้าตั้งตาปฏิเสธว่า "ไม่" ลูกเดียวได้หรือไม่ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการกิน การนอน การทำกิจวัตรอีกสารพัดอย่างในชีวิตประจำวัน จะทำอย่างไรให้จอมปฏิปักษ์ตัวน้อยมาอยู่ข้างเดียวกันกับเรา เรามีวิธีจัดการมากระซิบบอกต่อค่ะ

1.รู้จักรู้ใจลูกก่อน เพื่อสร้างความเข้าใจถึงพัฒนาการ เพราะลูกช่วงวัยนี้กำลังต้องการอิสระ ต้องการแสดงความเป็นตัวของตัวเอง และต้องการที่จะดูแลตัวเองให้ได้ดั่งใจ จึงไม่ยอมรับการช่วยเหลือจากคุณแม่ แล้วก็พร้อมปฏิเสธและต่อต้านทุกอย่าง ด้วยการไม่ทำตามที่คุณแม่บอกหรือสั่งด้วยเหตุนี้เองคำว่า “ไม่” จึงกลายเป็นคำยอดฮิตที่ติดปากของนักปฏิปักษ์ตัวน้อยค่ะ

2.อย่าทำตัว "ใหญ่" กว่าลูก เพื่อป้องกันพฤติกรรมก้าวร้าวในอนาคต อย่าใช้ความเป็นพ่อแม่แสดงให้ลูกเห็นว่าพ่อแม่ต้องใหญ่กว่าลูกเสมอ ลูกต้องเชื่อฟังคำสั่งอย่างเดียว ยิ่งถ้าไปเอาชนะลูก โต้แย้งหรือทะเลาะกับลูก แล้วทำให้ลูกตกอยู่ในสถานการณ์แพ้พ่าย จะยิ่งทำให้ลูกรู้สึกกดดันไม่พอใจ และมีพฤติกรรมก้าวร้าวยิ่งขึ้นค่ะ

3.เสนอทางออกให้กับลูก เพื่อสร้างความรู้สึกดีให้ลูกยอมรับ หลีกเลี่ยงสถานการณ์ที่เสี่ยงต่อคำว่าแพ้ชนะ ระหว่างคุณกับลูก ด้วยการถามว่าลูกต้องการจะทำอย่างไร เช่น ถ้าให้กินข้าวแล้วลูกไม่กิน "แล้วหนูอยากกินอะไรจ๊ะ" หรือเสนอทางเลือก เช่น "กินข้าวหรือสปาเกตตีดีเอ่ย" หรือเสนอเรื่องอื่น ๆ เช่น "หนูจะเอาเสื้อผ้าไปใส่ตะกร้าตอนนี้ หรือก่อนช่วงที่แม่จะเล่านิทานให้ฟังดีจ๊ะ"ซึ่งการเสนอทางเลือกจะช่วยให้ลูกรู้สึกดีขึ้น เพราะทำให้ลูกรับรู้ว่าตัวเองก็มีอำนาจในการตัดสินใจได้ด้วยเหมือนกัน

4.อย่าใส่ใจกับคำว่า "ไม่ ของลูก เพื่อให้ลูกรับรู้ว่าคำคำนี้ไม่มีความหมาย จงทำเป็นไม่รู้ไม่ชี้ดีกว่าค่ะ เพราะความจริงแล้วลูกก็ไม่ได้ปฏิเสธแล้วตั้งใจจะทำจริงตามนั้น ลูกเพียงต้องการแสดงความเป็นตัวของตัวเอง ด้วยการทดสอบปฏิกิริยาของพ่อแม่ว่าจะเป็นอย่างไร ถ้าพ่อแม่แสดงความโกรธ ไม่พอใจ หรือความรู้สึกต่าง ๆ ออกมา นั่นเท่ากับคำว่า "ไม่" ที่ลูกใช้ก็ได้ผลแล้ว และจะยิ่งใช้คำนี้บ่อยครั้ง

5.วางแผนเวลาให้ลูกรู้ล่วงหน้า เพื่อให้ลูกรู้จักเตรียมตัวเตรียมใจไว้ก่อน ให้เวลาลูกได้เตรียมตัวเตรียมใจกับทุกเรื่องที่คุณแม่จะทำกับลูก โดยวางแผนกะตารางเวลาไปเลย แล้วบอกให้ลูกรู้ว่าจะทำอะไรก่อนหลังไปก่อนที่จะทำจริง เช่น "เดี๋ยวอาบน้ำเสร็จแม่จะทาแป้งให้หนูนะคะ ตัวจะได้หอม ๆ" หรือ "อีก 5 นาทีได้เวลาหม่ำข้าวแล้วนะจ๊ะ มีของโปรดของหนูด้วยนะ" คุณแม่ควรทำกิจวัตรประจำวันให้ลูกเป็นเวลา เพื่อฝึกให้ลูกมีวินัยไปในตัวด้วยค่ะ

6.พูดจูงใจด้วยเพลงสนุก เพื่อให้ลูกยอมให้ความร่วมมืออย่างเต็มใจ การใช้คำพูดผ่านเสียงเพลง เป็นสิ่งหนึ่งที่จะช่วยให้กิจวัตรประจำวันของลูกผ่านไปได้โดยราบรื่น และมีความสุขด้วยกันทุกฝ่าย เช่น เมื่อจะเข้านอนให้คุณแม่ร้องเพลงกล่อม เมื่อจะถอดเสื้อผ้าอาบน้ำ ก็หาเพลงหรือแต่งเพลงสนุก ๆ ที่มีเนื้อร้อง เรื่องการถอดเสื้อผ้า หรือถ้าจะล้างหน้าให้ลูกก็ใช้เพลงเชิญชวนให้ลูกอยากล้างหน้า เหล่านี้จะช่วยจูงใจให้ลูกรู้สึกรื่นรมย์ และมีแนวโน้มที่ลูกจะให้ความร่วมมือในการทำกิจวัตรประจำวันได้โดยไม่ก่อปัญหาน่าปวดหัวได้อีกด้วยค่ะ

 

Credit: http://www.toptenthailand.com/news_detail.php?id=10553
24 ธ.ค. 54 เวลา 10:09 1,323
แชร์สกู๊ป
กรุณา Login เพื่อแสดงความคิดเห็น
ส่ง Scoop ให้เพื่อน
แจ้งลบไม่เหมาะสม
ความคิดเห็น

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Loading...