ย้อนสำรวจ สิ่งที่คุณอาจไม่เคยได้ยิน รวมวิทยาการไอทีเด่น ปี54
ตลอด ทั้งปี 2554 ที่ผ่านมา สำหรับสัปดาห์นี้
นำข้อมูลมาจากนิตยสารวิทยาศาสตร์เล่มดังของสหรัฐอเมริกา
“ป๊อปไซเอินซ์” พาเราย้อนกลับไปทบทวนหัวข้อข่าวหลักๆ
โดยเฉพาะความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยีอวกาศดังนี้
1.ควบคุม”ก๊าซเรือนกระจก”
สำนักงานปกป้องสิ่งแวดล้อมสหรัฐ หรือ “อีพีเอ” ออกกฎควบคุมการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยเฉพาะก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สู่ชั้นบรรยากาศ โดยกฎดังกล่าวมุ่งเป้าบังคับใช้กับบรรดาโรงงานอุตสาหกรรม โรงกลั่นน้ำมัน และอุตสาหกรรมรถยนต์เป็นหลัก นอกจากนี้ยังควบคุมรถนั่งส่วนบุคคลทุกคันในปี 2555 ต้องมีอัตราการปล่อยก๊าซที่มีคาร์บอนเป็นองค์ประกอบที่น้อยกว่า 263 กรัมต่อไมล์อีกด้วย
2.ปิดตำนานเอนเดฟเวอร์
กระสวยอวกาศเอนเดฟเวอร์ ของสำนักงานบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติ สหรัฐอเมริกา หรือ “นาซ่า” ปิดฉากตำนานการบินกับภารกิจ STS-134 ออกบินจากพื้นโลกไปยังสถานีอวกาศนานาชาติครั้งสุดท้าย ในวันที่ 16 พ.ค. 2554 ขณะที่นาซ่ามีแผนการส่งไม้ต่อภารกิจสร้างยานอวกาศรุ่นใหม่ไปให้เอกชนพัฒนา แทน แล้วใช้วิธีซื้อหรือเช่าเหมามาใช้งานแทน ตามนโยบายประหยัดงบประมาณของรัฐบาลสหรัฐ
3.พลังงานมืด
กล้องความละเอียดสูง 570 เมกะพิกเซล ที่ติดตั้งอยู่ในกล้องโทรทรรศน์วิกเตอร์ เอ็ม บลังโก ประเทศชิลี จับภาพแสงจากดาราจักร หรือกาแล็กซี กว่า 300 ล้านแห่งที่อยู่ไกลจากโลก
ใน กลุ่มรูปเหล่านี้อาจช่วยให้นักวิทยา ศาสตร์เข้าใจเรื่องราวเกี่ยวกับ “พลังงานมืด” หรือพลังงานลึกลับที่ทำให้เอกภพขยายตัวอย่างต่อเนื่อง
4.ท่า อวกาศ
“ท่าอวกาศ” แห่งแรกของโลก สร้างขึ้นใกล้กับเมืองอัพแฮม รัฐนิวเม็กซิโก สหรัฐอเมริกา มีทั้งตัวสถานี รันเวย์ อุปกรณ์ควบคุมการบิน-ดูแลความปลอดภัยสำหรับยานอวกาศครบครัน โดยผู้ที่เข้ามาบริหารงานคือ บริษัทเวอร์จิ้นกาแล็กติก ผู้พัฒนายานอวกาศวงโคจรต่ำ รุ่นสเปซชิพ 1-2 อันโด่งดัง หนึ่งในวัตถุประสงค์การก่อสร้างเพื่อรองรับธุรกิจ “ท่องเที่ยวอวกาศ” ที่หมายมั่นปั้นมือว่าจะเฟื่องฟูในอนาคตอันใกล้
5.“จูโน ”บุกดาวพฤหัสฯ
“นาซ่า” ส่งยานพลังงานแสงอาทิตย์ “จูโน” ออกเดินทางจากโลกมนุษย์ของเรา เพื่อมุ่งหน้าไปสำรวจดาวพฤหัสบดี ซึ่งคาดว่าจะบินไปถึงราวๆ ปี 2559
ภารกิจ ของจูโน ได้แก่ การตรวจวัดรังสีที่แผ่ออกมาจากชั้นบรรยากาศดาวพฤหัสฯ และประเมินว่ามีระดับออกซิเจนอยู่เท่าไรในดาวใหญ่ยักษ์ดวงนี้
6.ชาวโลกครบ 7 พันล้านคน
โลกมีจำนวนประชากรมากกว่าเมื่อ 40 ปีก่อนถึง 2 เท่า นั่นคือราว 7 พันล้านคนในปัจจุบัน โดยมีเด็กเกิด 4 คนในทุกๆ 1 วินาที ซึ่งเป็นค่าเฉลี่ยในประเทศกำลังพัฒนาส่วนใหญ่ มีค่าสถิติที่น่าสนใจระบุว่า ประเทศที่มีอัตราการเกิดถี่ที่สุดในโลกคือไนเจอร์ ขณะที่ค่าการเกิดน้อยที่สุดคือที่โมนาโก
7.จีนแบนบุหรี่
ใครเคยไปประเทศจีนคงทราบว่าแดนมังกรนี้คนสูบบุหรี่จัดมาก เยอะมาก และสูบไปทั่วทุกที่ จนล่าสุดปีนี้เอง ทางการจีนต้องประกาศกฎเหล็กสั่งห้ามโฆษณาบุหรี่ และห้ามสูบบุหรี่ภายในอาคารสาธารณะโดยเด็ดขาด เพื่อสุขภาพของคนจีนเอง ทุกวันนี้ประชากรจีนวัยผู้ใหญ่ 1 ใน 4 หรือประมาณ 300 ล้านคนสูบบุหรี่ควันโขมง และผลพวงจากพฤติกรรมสิงห์อมควันก็ทำให้ทุกๆ ปี มีคนจีน 1 ล้านคนต้องจบชีวิต เพราะโรคจากพิษภัยบุหรี่
8.วัคซีนครอบจักรวาล
สถานการณ์เชื้อไข้หวัดใหญ่มรณะหลายสายพันธุ์ผุดขึ้นบนโลกเราแทบทุกปี ส่งผลให้บริษัทยาเอกชน และห้องปฏิบัติการเภสัชกรรมของภาครัฐ หันมามุ่งวิจัยพัฒนาวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ให้ได้ทุกสายพันธุ์ หรือผลิตวัคซีนสู้ไข้หวัดใหญ่แบบครอบจักรวาล ตัวอย่างเช่น ในปีนี้บริษัทโนวาร์ทิส เดินหน้าทดลองสร้างวัคซีนจากการเพาะเลี้ยงเชื้อไข้หวัดใหญ่ในเซลล์เพาะ เลี้ยง แทนที่จะนำไปเพาะใน “ไข่ไก่” เหมือนเช่นในอดีต เพื่อให้การผลิตวัคซีนออกสู่ตลาดได้เร็วขึ้น นอกจากนั้น นักวิจัยมหาวิทยาลัยเอมอรีและมหาวิทยาลัยชิคาโกยังศึกษาปรากฏการณ์ที่ผู้ ป่วยติดเชื้อไข้หวัดมรณะ เอช 1 เอ็น 1 (2009) มีภูมิคุ้มกันขึ้นมาด้วยตัวเอง เพื่อดูว่าจะนำมาต่อยอดใช้พัฒนาวัคซีนรุ่นใหม่ได้อย่างไรบ้าง
9.หลอดไฟแอลอีดี
หลอดไฟที่ผลิตมาจาก “ไดโอดเปล่งแสง” หรือ แอลอีดี กำลังจะกลายเป็นหลอดไฟประจำบ้านของพลเมืองโลก เพราะมีประสิทธิภาพในการให้แสงสว่างดีกว่าหลอดไฟฟลูออเรสเซนต์ธรรมดาทั่วไป ตัวหลอดเองเมื่อทำให้เกิดแสงขึ้นจะกินกระแสไฟฟ้าน้อยมาก และมีอายุการใช้งานที่ยาวนาน ประมาณ 50,000-100,000 ชั่วโมง ขึ้นอยู่กับคุณภาพของแอลอีดี วงจรขับกระแส สภาพภูมิอากาศ ความชื้น และอุณหภูมิ สุดท้ายคือไม่มีรังสีอินฟราเรด รังสีอัลตราไวโอเลต ซึ่งเป็นอันตรายต่อผิวหนัง
10.ไซไฟ-ไฮเทค
กระแสภาพยนตร์ 3 มิติฮิตไปทั่วโลกตลอดปี”54 โดยหนังระทึกขวัญสามมิติโดยผู้กำกับฯ เจมส์ คาเมรอน เรื่อง “แซงทัม” ได้รับคำชมล้นหลาม บอกเล่าเรื่องราวของทีมนักดำน้ำที่ผจญภัยบุกเบิกถ้ำใต้น้ำในเกาะแห่งหนึ่งใน มหาสมุทรแปซิฟิกตอนใต้ ทั้งเรื่องถ่ายในถ้ำโดยใช้กล้องพิเศษมูลค่ากว่า 30 ล้านบาท ห่อด้วยอุปกรณ์กันน้ำอย่างดี การถ่ายทำภาพยนตร์เรื่องนี้แสดงให้เห็นถึงเทคโนโลยีวิทยาศาสตร์กับความ บันเทิงที่พัฒนาไปอย่างไม่หยุดยั้ง
11.รถบินได้
หลังจากใช้เวลาประดิษฐ์คิดค้นมาร่วมๆ 1 ทศวรรษ ในที่สุดรถยนต์บินได้รุ่นแรกของโลก “เทอร์ราฟูเกีย ทรานซิชั่น” ของบริษัทเทอร์ราฟูเกีย ก็ลงตัวออกมาเป็นรูปเป็นร่าง และทดสอบวิ่งบนถนน รวมถึงบินบนฟ้าผ่านฉลุยแล้วในปีนี้ ขณะที่หน่วยงานคมนาคมสหรัฐก็อนุมัติให้ “เทอร์ราฟูเกีย ทรานซิชั่น” วิ่งสัญจรบนถนนเรียบร้อยแล้ว ขั้นตอนต่อไปคือการขออนุมัติใช้ขึ้นบิน สนนราคาคัน/ลำละ 200,000-250,000 เหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 6,000,000-7,500,000 บาท
12.“หัวใจเทียม”สมบูรณ์แบบ
นักวิทยา ศาสตร์ฝรั่งเศสประกาศความสำเร็จในการพัฒนา “หัวใจเทียม” ที่ทำงานได้ด้วยตัวเองอย่างสมบูรณ์แบบ โดยแต่เดิมนั้นหัวใจเทียมต้องการการเชื่อมต่อกับเซ็นเซอร์ภายนอกเพื่อตรวจ สอบความดันเลือด แต่หัวใจรุ่นใหม่นี้มีเซ็นเซอร์ในตัวทำให้มันทำงานได้ด้วยตัวเองจริงๆ และมีจังหวะการเต้นสัมพันธ์กับการไหลเวียนโลหิตของร่างกายมนุษย์ ทั้งชิ้นส่วนยังผลิตจากเนื้อเยื่อสัตว์ผสมกับเนื้อเยื่อสังเคราะห์
13.สุดยอด”ซูเปอร์คอมพ์”
ปี 2554 โลกได้เห็นโฉมหน้าซูเปอร์คอมพิวเตอร์ ที่ประมวลผลเร็วที่สุดในโลก รุ่น บลูวอเทอร์ส ของค่ายไอบีเอ็ม ซึ่งทำงานเร็วกว่าซูเปอร์คอมพิวเตอร์ในยุคปัจจุบันถึง 4 เท่าอัตราการประมวลผลแรงมหากาฬ อยู่ที่ 10 quadrillion หรือ 10,000,000,000,000,000 รอบต่อวินาที
14.ปีแห่ง”แท็บเล็ต”
นวัตกรรมไอทีพุ่งแรงไม่มีใครเกิน นั่นก็คือ เจ้า “แท็บเล็ตพีซี” บางเฉียบ พกพาสะดวก ช่วยให้การเชื่อมต่ออินเตอร์เน็ตสะดวกสบาย ยี่ห้อดังเจ้าตลาดหนีไม่พ้น “ไอแพด” ของค่ายแอปเปิ้ล ส่วนที่จี้ตามมาติดๆ คือ แท็บเล็ตระบบแอนดรอยด์
15.สู่ยุค”ยานเอกชน”
หนึ่งในบริษัทเอกชนที่ได้รับสัมปทาน ทำสัญญากับ “นาซ่า” ให้เข้ามาร่วมพัฒนายานอวกาศเอกชน เพื่อใช้เดินทางออกนอกโลกแทนกระสวยอวกาศ ก็คือบริษัทสเปซเอ็กซ์ ซึ่งสร้าง “ยานดราก้อน” ขึ้นมาใช้บินไปเชื่อมต่อกับสถานีอวกาศนานาชาติ (ไอเอสเอส) นั่นเอง
16.สำรวจดาวพุธ
“นาซ่า” ส่งยานเมสเซนเจอร์ ออกเดินทางในห้วงอวกาศนาน 6 ปี กระทั่งในปีนี้เองก็สามารถเริ่มต้นถ่ายภาพพื้นผิว “ดาวพุธ” ส่งกลับมายังพื้นโลก ซึ่งจะช่วยให้นักวิทยาศาสตร์เข้าใจที่ไปที่มาของดาวพุธมากยิ่งขึ้น ในฐานะที่ดาวดวงนี้เป็นดาวที่มีมวลหนาแน่นที่สุดในหมู่ดาวเคราะห์ทั้ง 9 ในระบบสุริยจักรวาล
17.บินด้วย”ชีวมวล”
แนวคิดและการวางนโยบายนำเชื้อเพลิงประเภท Biofuel หรือชีวมวลมาใช้กับ “เครื่องบิน” ได้รับการพูดถึงอย่างจริงจังในปี 2554 หลายสายการบินชั้นนำของโลกเตรียมปรับเปลี่ยนระบบเครื่องยนต์ฝูงบินของตนให้ เข้ากับเชื้อเพลิงชีวมวล ทั้งนี้ก็เพื่อช่วยลดปริมาณการปล่อย “ก๊าซคาร์บอน” ออกสู่ชั้นบรรยากาศ ช่วยให้วิกฤต “โลกร้อน” ทุเลาเบาบางลง
18.พลัง ไฟฟ้า
ชัดเจนว่าโลกแห่งอนาคตนั้นรถยนต์พลังงานไฟฟ้า เป็นกระแสที่ต้องมาถึงและผลิตป้อนสู่ตลาดมากขึ้น ด้วยเหตุผลหลักจากปัญหาน้ำมันมีแนวโน้มแพงสาหัสยิ่งขึ้นทุกปี และยังเป็นพลังงานยุคเก่าที่สร้างมลพิษผ่านท่อไอเสียอีกด้วย สิ่งที่จะเกิดขึ้นควบคู่กับรถยนต์ไฟฟ้า ได้แก่ปั๊มเติมไฟฟ้า และหัวจ่ายไฟตามท้องถนน ด้วยเทคโนโลยี ณ ปัจจุบัน การประจุไฟฟ้า 1 ครั้งจะทำให้รถวิ่งไปได้ 100 ไมล์(160 กิโลเมตร)